“…โจทย์ของเรา คือ ต้องทำ Policy normalization หรือปรับนโยบายให้กลับสู่สภาวะปกติ ซึ่งต้องทำ ทั้งฝั่งนโยบายการเงิน คือ เรื่องดอกเบี้ย แต่ต้องทำในรูปแบบทำ ‘แบบค่อยๆเป็นและค่อยๆไป’ และต้องทำให้เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ และฝั่งมาตรการการเงินที่ต้องปรับจากเดิมที่ทำแบบ ‘ปูพรม’ มาเป็นแบบเฉพาะ ‘เจาะจงตรงจุด’ มากขึ้น…”
......................................
หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2565 เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง ‘ทิศทาง’ หรือ ‘หางเสือ’ การขับเคลื่อนนโยบายของ ธปท. ในปี 2566
หางเสือแรก หรือทิศทางแรกที่เราจะไปสำหรับปีหน้า
เริ่มด้วยบริบทเศรษฐกิจก่อน เศรษฐกิจของเราอยู่ในช่วงกำลังฟื้นอยู่ แต่ฟื้นช้ากว่าชาวบ้าน โดยเราคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
ดังนั้น โจทย์ของเรา คือ ทำอย่างไรให้การฟื้นตัวไปได้ และฟื้นได้อย่าง smooth take off
โจทย์เราไม่เหมือนกับที่อื่น หลายประเทศไม่ใช่ smooth take off เศรษฐกิจเขาฟื้นไปไกลแล้ว เขาพยายามหา smooth landing เพราะเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป เงินเฟ้อสูง แต่ของเราไม่ใช่ เราอยู่ในช่วงการฟื้น ดังนั้น การตอบสนองทางนโยบายของไทยจึงต้องแตกต่างจากชาวบ้าน
เมื่อโจทย์ของเรา คือ การทำให้ take off มัน smooth ก็ต้องถามว่า อะไรที่จะทำให้การ take off สะดุด
อันแรกเลย ถ้าเงินเฟ้อเริ่มอยู่นอกเหนือการควบคุม หรือวิ่งสูงเกินไป อันนี้จะทำให้การฟื้นตัวสะดุด หรือถ้าเกิดภาวะการเงินตึงจนเกินไป ภาคการเงินไม่เล่นบทบาทในการสนับสนุนการฟื้นตัว ก็ทำให้การฟื้นตัวสะดุดอีก
“สองเรื่องพวกนี้ เราจะทำให้มั่นใจว่า การ take off มัน smooth”
อีกโจทย์ของเรา คือ ต้องทำ Policy normalization หรือปรับนโยบายให้กลับสู่สภาวะปกติ ซึ่งต้องทำทั้งฝั่งนโยบายการเงิน
คือ เรื่องดอกเบี้ย แต่ต้องทำในรูปแบบทำ ‘แบบค่อยๆเป็นและค่อยๆไป’ และต้องทำให้เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ ขณะที่ฝั่งมาตรการการเงินก็ต้องปรับจากเดิมที่ทำแบบ ‘ปูพรม’ มาเป็นแบบเฉพาะ ‘เจาะจงตรงจุด’ มากขึ้น
หางเสือที่สอง เมื่อ take off ไปแล้ว ก็ต้องทำให้มั่นใจว่า เราบินต่อได้
และถ้าจะให้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน เราต้องมั่นใจว่า ไม่มีอะไรที่จะทำให้การฟื้นตัวไม่ยั่งยืน
เราจึงมาดูเรื่องหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน เพราะหนี้ครัวเรือนที่วิ่งจาก 50% ของจีดีพี มาเป็น 80% ต่อจีดีพี และพีคที่ 90% ต่อจีดีพี แม้ว่าตอนนี้จะลดลงมาอยู่ที่ 88-89% ต่อจีดีพี ถือว่า ‘สูงไป’ เมื่อเทียบกับระดับที่เราคิดว่าเหมาะสมกับความยั่งยืน
"ถ้าจะโตไปอย่างนี้ โอกาสที่จะเกิดปัญหามีอยู่แล้ว แต่คงไม่มีตัวเลขวิเศษอะไรที่จะบอกว่าเท่านี้ มันคือ ใช่ แต่เกณฑ์สากลปกติของพวกองค์กร BIS (ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ) เขาดูกัน คือ หนี้ครัวเรือนน่าจะอยู่ระดับประมาณไม่ควรเกิน 80% ต่อจีดีพี ดังนั้น ถ้าไม่ทำให้มันกลับมาสู่ระดับที่ยั่งยืน การฟื้นก็สะดุดได้"
ส่วนการแก้ปัญหาตรงนี้ ต้องยึด 3 องค์ประกอบ
อันแรก คือ ต้องทำแบบครบวงจร โดยต้องดูทั้งช่วงชีวิตของการมีหนี้ ตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ เช่น การให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงิน ช่วงระหว่างที่ก่อหนี้ว่า ควรทำอย่างไร และสุดท้ายตอนที่มีปัญหากับหนี้แล้ว จะต้องแก้หนี้อย่างไร
“ในเรื่องการก่อหนี้ ถ้าไปเข้มงวดเรื่องการปล่อยหนี้ตั้งแต่แรก ก็คงไม่เหมาะ เพราะเราอยากให้คนเข้าถึงสินเชื่อ ไม่อยากให้ทุกอย่างอึมครึม แต่ในท้ายที่สุด ถ้าเราจะแก้ตัวนี้ให้หนี้ครัวเรือนกลับมาสู่ระดับที่ยั่งยืน ก็ต้องดูเรื่องการปล่อยหนี้ หรือการสร้างหนี้ต่างๆ”
อันที่สอง ต้องทำให้ถูกหลักการ หรือที่เราเรียกว่า ‘อะไรที่ควรทำ อะไรที่ไม่ควรทำ’ คือ การแก้หนี้ต้องยึดหลักการที่ถูกต้อง ต้องไม่สร้างแรงจูงใจที่ผิดเพี้ยน (moral hazard) ซึ่งจะทำให้พังทั้งระบบ และการแก้ควรเป็นแนว ‘ตรงจุด’ มากกว่า ‘ทอดแห’ เพราะว่าทรัพยากรเรามีจำกัด
อันที่สาม การแก้หนี้ ต้องไม่ใช่การผลักภาระหนี้ไปในอนาคต และไม่ทำให้ภาระหนี้ลด ซึ่งมาตรการสไตล์ ‘พักตรงโน่น พักตรงนี้’ คงไม่ใช่ เพราะหนี้ยังวิ่งอยู่ ดอกยังวิ่งอยู่ และภาระหนี้ยังคูณเข้าไปใหญ่ ดังนั้น การที่เราเตะปัญหาไปเรื่อยๆ ไม่ใช่วิธีที่ทำให้หนี้ครัวเรือนกลับมาสู่ความยั่งยืน
“ต้องย้ำว่าการแก้หนี้ครัวเรือน ไม่เร็ว ต้องใช้เวลา แต่จำเป็น เพื่อให้การฟื้นตัวไปได้ และฟื้นมาแล้ว บินไปได้ต่อเนื่อง”
หางเสือที่สาม คือ กระแส Green หรือกระแสของความยั่งยืน
เพราะถ้าเครื่องบินของเรา บินไปแล้ว พ่นมลพิษตลอดเวลา ก็ไปไม่ได้ และตัวเลขมันฟ้องยิ่งกว่าฟ้องว่า เราเป็นประเทศที่จะถูกกระทบจากเรื่องกระแสโลกร้อน ไม่ว่าจะโดยสภาพภูมิอากาศ หรือมาตรการตอบโต้ที่ประเทศพัฒนาแล้วกำลังจะใส่เข้ามา
“30% ของแรงงานเรา หรือ 1 ใน 3 ของแรงงานอยู่ในภาคการเกษตร เจอท่วม เจอแล้ง ครึ่งหนึ่งของส่งออกอยู่เซ็กเตอร์ชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาป เรื่องชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กระแส Electronic Waste ก็มา แต่เรายังไม่ตื่นตัว และพระเอกส่งออกของเรา คือ ปิโตรเคมี กระแสการลดการใช้พลาสติกและฟอสซิล ก็จะมากระทบตรงนี้
เศรษฐกิจเรา พึ่งท่องเที่ยวเยอะมาก มีแรงงานคิดเป็น 1 ใน 5 ของแรงงานทั้งหมด และมีสัดส่วน 12% ของจีดีพี ในขณะที่ความมั่งคั่งของประเทศที่จะกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯนั้น ถ้าดูแผนที่เขาคาดการณ์ว่าอีก 20-30 ปีข้างหน้า พื้นที่กรุงเทพฯและชายฝั่ง รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก จะถูกกระทบจากน้ำท่วม”
เป้าหมายของเรา คือ ทำอย่างไรให้ภาคการเงินช่วยสนับสนุนให้เราเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนกว่านี้ ซึ่งหลายเรื่องต้องการแรงผลักดันของรัฐบาลหรือของประเทศในการแก้ไขปัญหานี้ โดยมีโจทย์สำคัญ คือ ความเร็วที่เหมาะสม และดูแลเรื่องสมดุล ถ้าไปเร็วไป ก็ไม่ดี และไปช้าไปก็ไม่ดี
หางเสือที่สี่ เรื่อง ดิจิทัล
คำถามที่ผมโดนบ่อยๆ คือ เศรษฐกิจควรไปทางไหน และ growth (การเติบโตทางเศรษฐกิจ) จะมาจากไหน ซึ่งผมตอบว่า 'ไม่มีใครรู้หรอก'
แต่สิ่งที่เราต้องทำ คือ ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเอื้อให้ของใหม่ๆเกิดขึ้นได้ ส่วนของใหม่ที่จะเกิดขึ้นคืออะไรนั้น ก็ตอบยาก แต่เป็นหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ต้องวางโครงสร้างต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ของพวกนี้เกิดขึ้นได้
“ผมอยากให้มองว่า เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ สร้าง Digital Infrastructure ใหม่ๆ ของประเทศ เพื่อให้โอกาสใหม่ๆเกิดขึ้น เหมือนสมัยก่อน รัฐสร้างถนนหนทางออกไป แต่ถ้ารัฐไปบอกว่า ธุรกิจควรมาสร้างตรงนี้ ตรงนี้ต้องมีคอนโด ต้องมีโรงงาน คงไม่ใช่ เพราะรัฐไม่รู้หรอก และถ้ารัฐทำก็มีโอกาสเจ๊งสูง”
ทางที่ดี คือ รัฐต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และถ้าให้ดีเลย ต้องสร้าง eco system เพื่อให้ของพวกนี้เกิดขึ้น และอันนี้คือหัวใจ เพราะทำเพื่อสร้างโอกาส สร้างของใหม่ๆให้เกิดขึ้น และเท่าที่ดูเราไม่ได้ล้าหลังในเรื่องนี้ เรามี Promptpay มีการใช้คิวอาร์โค้ด และเราเป็นประเทศแรกที่มีระบบ fast payment system เป็นต้น
หางเสือที่ห้า หรือหางเสือสุดท้าย การทำให้ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เกิดขึ้น หางเสืออีกอันที่เราดู คือ เรื่องภายในของ ธปท. นั่นก็คือการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากๆ เพราะองค์กรนี้อยู่มา 80 ปี ถ้าไม่เปลี่ยน การผลักดันภารกิจทั้ง 4 เรื่อง ก็ทำได้ยากลำบาก เราจึงต้องทำให้องค์กรมีความพร้อม
อ่านประกอบ :
กลับสู่ความยั่งยืน!‘ธปท.’เล็งออกมาตรการคุม‘หนี้ครัวเรือน’-ไตรมาส 2 หนี้ทะยาน 14.7 ล้านล.
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : โครงสร้างเศรษฐกิจไทย....ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่
รัฐย้ำคุม‘ดอกเบี้ย’สินเชื่อเช่าซื้อ‘มอเตอร์ไซค์’-‘คลัง-ธปท.’เปิดงานไกล่เกลี้ยหนี้ออนไลน์
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : ‘แก่น’ ของ ‘ธนาคารกลาง’ มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : 'ความเหลื่อมล้ำมีสูง เศรษฐกิจจะเปราะบาง เราจะไม่มี Growth'
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :เศรษฐกิจไทยไม่ 'resilient' เหลื่อมล้ำสูง-สังคมขัดแย้งฝังลึก
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : ชูนโยบาย 'countercyclical' เยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : ฉายภาพ‘อนาคตโลกการเงิน’-บทบาท ธปท. ยุค'แพลตฟอร์ม-คริปโตฯ'
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :'หลุมรายได้'อาจมีขนาด 2.6 ล้านล.-จำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้น