‘พาณิชย์’ แถลงตัวเลข 'เงินเฟ้อทั่วไป' พ.ย.67 โต 0.95% จากปัจจัยราคา ‘ดีเซล-ผลไม้สด-เครื่องประกอบอาหาร’ สูงขึ้น คาดทั้งปี 67 ขยายตัวไม่เกิน 0.5% มองแนวโน้ม CPI ปี 68 ขยายตัวได้ 0.3-1.3% ค่ากลาง 0.8%
..................................
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้า เดือน พ.ย.2567 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน พ.ย.2567 เท่ากับ 108.47 ขยายตัว 0.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล เป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีก่อน และราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการขยายตัวเป็นรายหมวดสินค้าในเดือน พ.ย.2567 พบว่า หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว 1.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการสูงขึ้นของราคาเนื้อสุกร ไก่สด กลุ่มผลไม้สด เช่น เงาะ มะม่วง กล้วยน้ำว้า แตงโม มะพร้าวผลแห้งและผลขูด ข้าวสารเหนียว และกาแฟผงสำเร็จรูป ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง เช่น ไข่ไก่ ผักสด ผักคะน้า มะนาว มะเขือ ผักกาดขาว และผักชี
ส่วนหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ขยายตัว 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน รวมค่าเช่าบ้าน และค่าโดยสารเครื่องบิน เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง เช่น แก๊สโซฮอล์ 95 แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว น้ำยาล้างจาน และน้ำยาล้างห้องน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อเทียบราคาสินค้าและบริการในเดือน พ.ย.2567 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน (พ.ย.2566) พบว่าสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมีจำนวน 265 รายการ จากสินค้าทั้งหมด 430 รายการ เช่น ปลานิล นมสด กล้วยน้ำว้า เงาะ มะม่วง ขนมหวาน กาแฟผงสำเร็จรูป ค่าโดยสารเครื่องบิน และน้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล) เป็นต้น
สินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 54 รายการ เช่น ชุดนอนเด็ก รองเท้ากีฬาสตรี ค่าบริการขนขยะ ค่าน้ำประปา ค่าโดยสารเรือ ค่าเบี้ยประกันทรัพย์สิน ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ และหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงมีจำนวน 111 รายการ เช่น ไก่ย่าง ปลาทู ไข่ไก่ มะเขือ ผักคะน้า มะนาว ผักชี หัวหอมแดง กระเทียม แชมพู และน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์) เป็นต้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ในช่วง 11 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.2567) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยขยายตัว 0.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน พ.ย.2567 เท่ากับ 105.36 ขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 11 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.2567) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยขยายตัว 0.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายพูนพงษ์ กล่าวด้วยว่า สนค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค.2567 จะขยายตัว 1.2-1.3% ส่งผลให้ทั้งปี 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 0.4-0.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน
“ถ้าพูดเรื่องการบริโภค ผมว่าภาคประชาชนน่าจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็น เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจเรายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่ก็ไม่ถึงกับว่ากำลังซื้อมันลดลงมากขนาดไหน เพียงแต่ว่าน่าเป็นเรื่องการจับจ่ายใช้สอยที่เน้นความจำเป็นมากขึ้น” นายพูนพงษ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่าขณะนี้กำลังซื้อของประชาชนเป็นอย่างไรบ้าง
ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2568 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2567 โดย สนค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2568 จะอยู่ระหว่าง 0.3-1.3% (ค่ากลาง 0.8%) โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีนี้ ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น
2.ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2567 และ 3.การใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นจาก “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท”
ขณะที่ปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ประกอบด้วย 1.ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซ 2.ฐานราคาผักและผลไม้สดในปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก
3.การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ จะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด และ4.สินค้าสำคัญมีแนวโน้มปรับขึ้นราคาอย่างจำกัด จากปัจจัยด้านต้นทุนสำคัญที่มีแนวโน้มปรับลดลง เช่น อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมันในตลาดโลก
อ่านประกอบ :
เงินเฟ้อทั่วไป ต.ค.67 ขยายตัว 0.83%-เฉลี่ย 10 เดือน 0.26% 'สนค.'คาดทั้งปีโตไม่เกิน 0.5%
เงินเฟ้อทั่วไป ก.ย.67 โต 0.61% หั่นเป้าทั้งปี 0.2-0.8% เผยแจก‘หมื่น’ไม่กระทบราคาสินค้า
ราคา'ผัก-อาหาร'เพิ่มขึ้น ดันเงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.67 ขยายตัว 0.35%-เฉลี่ย 8 เดือนโต 0.15%
เงินเฟ้อทั่วไป ก.ค.67 ขยายตัว 0.83%-‘พาณิชย์’เชื่อ‘ดิจิทัลวอลเลต’ไม่ทำราคาสินค้าขยับขึ้น
‘พาณิชย์’เผย‘เงินเฟ้อทั่วไป’พ.ค.67 ขยายตัว 1.54% สูงสุดในรอบ 13 เดือน-คงเป้าทั้งปี 0-1%
‘พาณิชย์’เผย‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ เม.ย.67 ขยายตัว 0.19% พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.67 ติดลบ 0.47%-ปรับคาดการณ์ทั้งปีเป็นขยายตัว 0-1%
‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.67 ติดลบ 0.77% หดตัวเป็นเดือนที่ 5-'Core CPI'ยังโต 0.43%
หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ม.ค.67 ติดลบ 1.11%-Core CPI บวก 0.52%
หดตัวเดือนที่ 3! เงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.66 ลบ 0.83%-‘พาณิชย์’ย้ำยังไม่ถึงจุดเป็นภาวะเงินฝืด
ต่ำสุดรอบ 33 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.66 หด 0.44%-ธ.ค.ส่อลบอีก แต่ไม่เข้านิยาม‘เงินฝืด’
ยันไม่ใช่เงินฝืด! เงินเฟ้อ พ.ย. ลบ 0.31% หดตัวครั้งแรกรอบ 25 เดือน รับอานิสงส์มาตรการรัฐ