ธปท.เผยร่าง พ.ร.ฎ.กำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อ-การให้เช่าแบบลีสซิ่ง ‘รถยนต์-รถจักรยานยนต์’ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ‘สนง.กฤษฎีกา’
............................................
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่ง ธปท. อยู่ระหว่างเตรียมการรองรับการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว เช่น การทยอยหารือกับผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ธปท. จะสามารถเข้ากำกับดูแลฯ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและดูแลเสถียรภาพด้านการเงินได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าในรายละเอียด ธปท. จะแจ้งให้ทราบต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 พ.ศ. ... เพื่อให้มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อและการให้เช่าแบบลิสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยให้ ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกันหารือเพื่อกำหนดแนวทางให้เกิดความเท่าเทียมในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจต่อไป
สำหรับ ร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว ให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีสาระสำคัญแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่
1.การกำกับผู้ประกอบธุรกิจ อาทิ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งข้อมูลและแสดงรายละเอียดการคำนวณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ค่าบริการต่างๆ ส่วนลด และข้อมูลอื่นๆ ให้ลูกค้าทราบ พร้อมทั้งรายงานต่อ ธปท. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดย ธปท. มีอำนาจประกาศกำหนดวิธีการคำนวณอัตราค่าบริการรายปี ให้ผู้ประกอบธุรกิจถือปฏิบัติได้ ,กำหนดให้ ธปท.ประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามในเรื่องต่อไปนี้ เช่น การทำนิติกรรมสัญญากับประชาชน โดยกำหนดเนื้อหาสาระ วิธีการคำนวณผลประโยชน์ หรือแบบสัญญา เป็นต้น
นอกจากนี้ ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ธปท.อาจประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติในเรื่องต่างๆ อาทิ เรื่อง ดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่อาจเรียกได้ ,ค่าบริการที่อาจเรียกได้ ,เงินมัดจำที่อาจเรียกได้ ,หลักประกันเป็นทรัพย์สินที่ต้องเรียก ,ผลประโยชน์ที่อาจเรียกได้จากการทำธุรกรรม และเบี้ยปรับที่อาจเรียกได้
2.การตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจ โดยให้ ธปท. มีอำนาจแต่งตั้งพนักงาน ธปท. หรือบุคคลภายนอกเป็นผู้ตรวจการ เพื่อตรวจสอบกิจการสินทรัพย์และหนี้สินของผู้ประกอบธุรกิจ ตลอดจนลูกหนี้ และบุคคลที่เกี่ยวข้องของผู้ประกอบธุรกิจนั้น โดยผู้ตรวจการที่ ธปท. แต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่ เช่น สั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของผู้ประกอบธุรกิจ ,เข้าไปตรวจสอบในสถานที่ประกอบธุรกิจ ,ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และตรวจสอบการดำเนินงานในสถานที่ประกอบการของลูกหนี้
3.การแก้ไขการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจ กรณีผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามร่าง พ.ร.ฎ.นี้ ให้ ธปท. มีหนังสือเตือนไปยังผู้ประกอบธุรกิจหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ระงับการกระทำอันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม หรือมีคำสั่งห้ามกระทำการ
4.บทกำหนดโทษ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ปฏิบัติตามร่าง พ.ร.ฎ.นี้ ต้องระวางโทษปรับตามที่กำหนด หากไม่ได้มีการฟ้องต่อศาลภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ ธปท. พบการกระทำผิด หรือภายใน 5 ปี นับแต่วันกระทำผิด ถือเป็นอันขาดอายุความ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2565 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯฉบับปี 2561 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ โดยประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯฉบับดังกล่าว ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์
โดย ‘รถยนต์ใหม่’ กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อไม่เกิน 10% ต่อปี ส่วน ‘รถยนต์ใช้แล้ว’ กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อไม่เกิน 15% ต่อปี และ ‘รถจักรยานยนต์’ ทั้งรถจักรยานยนต์ใหม่และรถจักรยานยนต์ใช้แล้ว กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อไม่เกิน 23% ต่อปี ขณะที่การคิดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงรายปี (Effective Interest Rate) เป็นต้น
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.ฎ.กำกับธุรกิจเช่าซื้อรถฯ ให้อำนาจ'ธปท.'กำหนด'ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ'
ไม่ใช่ลดต้นลดดอก! 'สคบ.'แจงยิบประกาศคุมสัญญาเช่าซื้อ'รถ-มอเตอร์ไซค์'ลดเอาเปรียบผู้บริโภค
สภาองค์กรของผู้บริโภค จี้ สคบ.แจงข้อเท็จจริง‘ประกาศเช่าซื้อรถ’ สร้างความชัดเจน
แพร่ประกาศคุมเช่าซื้อ‘รถยนต์-มอ’ไซค์’ ให้คิดดบ.10-23%-ห้ามเขียนสัญญาเอาเปรียบผู้บริโภค
รัฐย้ำคุม‘ดอกเบี้ย’สินเชื่อเช่าซื้อ‘มอเตอร์ไซค์’-‘คลัง-ธปท.’เปิดงานไกล่เกลี้ยหนี้ออนไลน์
‘ธปท.’เล็งประกาศแนวนโยบายแก้ปัญหา‘หนี้ครัวเรือน’ หวังกำกับปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ
‘ธปท.’เปิดรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.ฎ.กำกับดูแลธุรกิจ‘เช่าซื้อ-ลีสซิ่ง’รถยนต์-มอเตอร์ไซค์
แกะปมเช่าซื้อ'มอเตอร์ไซค์' คิดดอกเบี้ย 50-70% ต่อปี 'สคบ.'ขยับคุมสัญญา-ชง SFI ปล่อยกู้
ชำแหละปัญหา ‘หนี้เช่าซื้อ’ กรณี ‘ลุงทองเสาว์’ ถึงเวลารัฐออกกฎคุ้มครองลูกหนี้