‘สคบ.’ แจงดอกเบี้ยเช่าซื้อ ‘รถยนต์-มอเตอร์ไชค์’ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ‘ฉบับใหม่’ ไม่ได้คิดแบบ ‘ลดต้นลดดอก’ ให้คิดตามดอกเบี้ยที่แท้จริง แต่ต้องไม่เกิน 10-23% ต่อปี พร้อมแจงมาตรการใหม่ลดเอาเปรียบผู้บริโภค
.......................................
เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จัดสัมมนาโครงการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565’ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ต.ค.2565 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ อาทิผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อรถรถยนต์และจักรยานยนต์ สมาคมที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนของผู้บริโภค เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นต้น
โดย พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯฉบับปี 2561 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ โดยประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯฉบับนี้ มีสาระสำคัญหลักใน 4 ประเด็น
ประเด็นแรก การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ โดย ‘รถยนต์ใหม่’ กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อไม่เกิน 10% ต่อปี ส่วน ‘รถยนต์ใช้แล้ว’ กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อไม่เกิน 15% ต่อปี และ ‘รถจักรยานยนต์’ ทั้งรถจักรยานยนต์ใหม่และรถจักรยานยนต์ใช้แล้ว กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อไม่เกิน 23% ต่อปี ขณะที่การคิดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงรายปี (Effective Interest Rate)
“เรื่องอัตราดอกเบี้ยมีการพูดกันเยอะว่า เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบ ‘ลดต้นลดดอก’ แต่ถามว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกหรือเปล่านั้น ก็ขอชี้แจงว่าความจริงแล้ว อัตราดอกเบี้ยตามประกาศฯฉบับนี้ เป็นการคำนวณแบบลดต้นลดดอก แต่คำว่าลดต้นลดดอกนั้น จะต้องไปยึดโยงกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงรายปี (Effective Interest Rate) เช่น กรณีดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Rate) นั้น จะต้องยึดโยงกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงรายปี
คือ การคิด ‘อัตราดอกเบี้ยคงที่’ นั้นๆ จะต้องไม่เกินกว่า ‘อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงรายปี’ ที่กำหนดไว้ โดยผู้เช่าซื้อสามารถตรวจสอบได้จากตารางแสดงภาระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อท้ายสัญญา ซึ่งจะดูได้ว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นเท่าไหร่ และคำนวณเป็นดอกเบี้ยรายเดือนเท่าไหร่ ถ้าผู้เช่าซื้อไปดูดอกเบี้ยตามสัญญาแนบท้าย แล้วมาคำนวณ ดอกเบี้ยเบ็ดเสร็จจะต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด หากเกินเพดาน ก็ถือว่าผู้ให้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้” พ.ต.อ.ประทีป ระบุ
ประเด็นที่สอง การเลิกสัญญาและการยึดรถ ประกาศฯฉบับเดิมเขียนไว้ว่า หนี้ที่ยังขาดอยู่ เจ้าหนี้เช่าซื้อสามารถเรียกเก็บจากผู้เช่าซื้อได้ โดยสามารถเรียกเก็บได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ประกาศฯฉบับใหม่ จะให้คำนวณเฉพาะส่วนหนี้ที่ยังขาดชำระเท่านั้น ไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระได้
ส่วนการประมูลหรือการขายทอดตลาด กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งต้องกำหนดวัน เวลา และสถานที่ประมูลทรัพย์ให้ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกันทราบ และให้ขยายระยะเวลาเป็น 15 วัน จากเดิม 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อมีเวลามากขึ้น และห้ามปรับลดราคาประมูลลดลง เนื่องจากในอดีตปรากฏว่ามีผู้ประกอบธุรกิจที่มีนิติสัมพันธ์หรือมีความผูกพันกับผู้เช่าซื้อ มีการปรับราคาโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบ ทำให้ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกันเสียประโยชน์
ประเด็นที่สาม การปิดบัญชีชำระก่อนกำหนด ได้มีการกำหนดให้ลดดอกเบี้ยให้ผู้เช่าซื้อเป็นขั้นบันได คือ กรณีชำระค่างวดเกินกว่า 1 ใน 3 ของค่างวดทั้งหมด ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลดดอกเบี้ยให้ผู้เช่าซื้อไม่น้อยกว่า 60% ,กรณีชำระค่างวดเกินกว่า 1 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ใน 3 ของค่างวดทั้งหมด ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลดดอกเบี้ยให้ผู้เช่าซื้อไม่น้อยกว่า 70% และกรณีชำระค่างวดเกินกว่า 2 ใน 3 ของค่างวดทั้งหมด ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลดดอกเบี้ยให้ผู้เช่าซื้อทั้ง 100% หรือไม่คิดดอกเบี้ย
ประเด็นที่สี่ เรื่องเบี้ยปรับ เดิมประกาศปี 61 มีการกำหนดไว้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้เขียนเรื่องยอดหนี้ผิดนัด ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นำหนี้ทั้งก้อนไปคิดเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้เช่าซื้อ ดังนั้น ประกาศฯฉบับใหม่ จึงกำหนดให้คิดเบี้ยปรับได้ไม่เกิน 5% ต่อปี และให้คิดเบี้ยปรับจากยอดหนี้ที่ผิดนัดชำระเท่านั้น ส่วนหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถนำมาคิดเป็นเบี้ยปรับได้
พ.ต.อ.ประทีป ระบุว่า ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 ม.ค.2566 เป็นต้นไป ส่วนสัญญาเช่าซื้อฯที่ทำขึ้นก่อนวันที่ 10 ม.ค.2566 จะยังคงเป็นไปตามประกาศฯฉบับปี 2561
ด้าน นายกิตติ อึ้งมณีภรณ์ ผู้อำนวยการส่วนประสานงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัด สคบ. กล่าวว่า ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ไม่เกิน 10-23% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ประกาศฯฉบับนี้ กำหนดให้มีการทบทวนอัตราดอกเบี้ยได้ทุกๆ 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น
ขณะเดียวกัน ประกาศฯฉบับปี 2565 ได้กำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้กรณีผิดนัดชำระหนี้เช่นเดียวกับประกาศฯฉบับปี 2561 โดยให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ คือ หากค้างชำระ 1 งวด ให้เรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ได้ไม่เกิน 50 บาท และหากค้างชำระตั้งแต่ 2 งวดขึ้นไป ให้เรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ได้ไม่เกิน 100 บาท ส่วนกรณีลงพื้นที่เพื่อติดตามทวงถามหนี้ ให้เรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ได้ครั้งละไม่เกิน 400 บาท และไม่ใช่ว่าจะเรียกเก็บได้ทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ประกาศฯฉบับปี 2565 มีการกำหนดเงื่อนไขพิเศษที่แตกต่างจากประกาศฯฉบับปี 2561 คือ กรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อมีการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ ให้ผู้ให้เช่าซื้อจัดทำหลักฐานหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ และส่งเอกสารให้ผู้เช่าซื้อด้วย เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการติดตามทวงถามหนี้จริง เนื่องจากในอดีตมีผู้บริโภคร้องเรียนว่าไม่เคยได้รับเอกสารเอกสารหลักฐานการทวงถามหนี้จากผู้ให้เช่าซื้อเลย และค่าทวงถามหนี้ที่เรียกเก็บก็สูงเกินไป
นายกิตติ กล่าวต่อว่า ประกาศฯฉบับปี 2565 ยังกำหนดว่า ในระหว่างการเช่าซื้อนั้น หากผู้เช่าซื้อร้องขอให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้เช่าซื้อ โดยให้บุคคลอื่นเข้ามาเป็นคู่สัญญาเช่าซื้อแทนตนเอง ผู้ให้เช่าซื้อจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงคู่สัญญาเช่าซื้อได้ไม่เกิน 2,500 บาท และต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวเอาไว้ ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อคิดค่าใช้จ่ายจากผู้เช่าซื้อในส่วนนี้ค่อนข้างสูง
ส่วนกรณีการให้สิทธิ์บอกเลิกสัญญา ประกาศฯฉบับปี 2565 กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อใน 2 ลักษณะ คือ 1.กรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่างวดติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 งวด และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือแจ้งให้มาชำระหนี้ภายในเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน หากผู้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญา หรือให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาได้ และ2.กรณีผู้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญาและเป็นเหตุสำคัญ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาได้
ทั้งนี้ หลังจากบอกเลิกสัญญา และรถกลับสู่ความคุ้มครองของผู้ให้เช่าซื้อแล้ว ก่อนที่ผู้ให้เช่าซื้อจะนำรถดังกล่าวออกประมูลขายทอดตลาด ประกาศฯฉบับปี 2565 กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อต้องให้สิทธิ์ผู้เช่าซื้อ ผู้ค้ำประกัน และบุคคลที่ 3 หรือบุคคลอื่น ในการปิดบัญชีและได้รับส่วนลดดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 50% ได้ เพื่อไม่ให้รถเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด ซึ่งทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่าย จากเดิมที่ให้สิทธิ์เฉพาะผู้เช่าซื้อ และผู้ค้ำประกันเท่านั้น
อย่างไรก็ดี หากผู้เช่าซื้อ ผู้ค้ำประกัน และบุคคลที่ 3 ไม่ใช่สิทธิ์ปิดบัญชี ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งวัน เวลา สถานที่ และราคารถที่จะประมูลขายทอดตลาดให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบ ไม่น้อยกว่า 15 วัน จากเดิมที่กำหนดไว้ 7 วัน และต้องไม่มีการปรับลดราคาประมูลขายรถลงมา เนื่องจากในอดีตมีปัญหาว่า ผู้ให้เช่าซื้อแจ้งว่าราคารถที่ประมูลขายทอดตลาดมีราคาประมูลที่ 100 บาท แต่เมื่อประมูลจริงกลับตั้งราคาไม้แรกที่ 80 บาท ไม่ใช่ 100 บาท ตามที่แจ้งในหนังสือ
นายกิตติ กล่าวว่า ประกาศฯฉบับปี 2565 ยังกำหนดว่า ในกรณีที่ทรัพย์หรือรถถูกนำไปประมูลขายทอดตลาดแล้วนั้น หากจำนวนเงินที่ได้จากการประมูล บวกกับจำนวนเงินที่ผู้เช่าซื้อได้ผ่อนชำระไปแล้ว สูงกว่ามูลหนี้ตามสัญญา ให้ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนส่วนที่เกินให้ผู้เช่าซื้อ แต่หากต่ำกว่ามูลหนี้ตามสัญญา ผู้เช่าซื้อยังคงต้องรับผิดในมูลหนี้ที่ขาดอยู่ หรือที่เรียกว่า ‘ติ่งหนี้’ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิ์เรียกเก็บค่างวดที่ขาดเฉพาะเงินต้นเท่านั้น ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดได้
อ่านประกอบ :
สภาองค์กรของผู้บริโภค จี้ สคบ.แจงข้อเท็จจริง‘ประกาศเช่าซื้อรถ’ สร้างความชัดเจน
แพร่ประกาศคุมเช่าซื้อ‘รถยนต์-มอ’ไซค์’ ให้คิดดบ.10-23%-ห้ามเขียนสัญญาเอาเปรียบผู้บริโภค
รัฐย้ำคุม‘ดอกเบี้ย’สินเชื่อเช่าซื้อ‘มอเตอร์ไซค์’-‘คลัง-ธปท.’เปิดงานไกล่เกลี้ยหนี้ออนไลน์
‘ธปท.’เล็งประกาศแนวนโยบายแก้ปัญหา‘หนี้ครัวเรือน’ หวังกำกับปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ
‘ธปท.’เปิดรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.ฎ.กำกับดูแลธุรกิจ‘เช่าซื้อ-ลีสซิ่ง’รถยนต์-มอเตอร์ไซค์
แกะปมเช่าซื้อ'มอเตอร์ไซค์' คิดดอกเบี้ย 50-70% ต่อปี 'สคบ.'ขยับคุมสัญญา-ชง SFI ปล่อยกู้
ชำแหละปัญหา ‘หนี้เช่าซื้อ’ กรณี ‘ลุงทองเสาว์’ ถึงเวลารัฐออกกฎคุ้มครองลูกหนี้