สภาองค์กรของผู้บริโภค เร่ง สคบ.แจงข้อเท็จจริง ‘ประกาศเช่าซื้อรถ’ จี้ถามคิดดอกเบี้ยลดต้น-ดอกได้หรือไม่ สร้างความชัดเจนให้ ปชช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออก ‘ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565’ ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 12 ต.ค. 2565 นั้น
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2565 นายจิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า จากประเด็นที่สื่อต่าง ๆ ได้นำเสนอและเผยแพร่ประกาศธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ฯ ของ สคบ. ออกมาว่า ‘ประกาศฯ ดังกล่าวให้ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยแบบอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) หรือที่เข้าใจกันว่าเป็นการ ‘ลดต้น ลดดอก’ และกำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อสำหรับรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ส่วนรถยนต์ที่ใช้งานมาแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 23 ต่อปี ทั้งนี้ หากมีการปิดบัญชีก่อนต้องให้ ‘ส่วนลด’ กับผู้เช่าซื้อด้วย’
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2565 สมาคมคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ได้ออกประกาศชี้แจง เรื่อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิธีการคำนวณดอกเบี้ย ตามประกาศธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ฯ ของ สคบ. ว่า ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้สินเชื่อเช่าซื้อมีการคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ตลอดอายุสัญญา (Flat Rate) ส่วนเรื่องการโปะหนี้สินเชื่อเช่าซื้อ สมาคมฯ อ้างว่า สคบ. ประกาศชัดว่า ผู้เช่าซื้อไม่สามารถโปะหนี้เหมือนสินเชื่อบ้านได้ แต่การโปะหนี้ได้จะทำได้ในกรณีชำระหนี้คราวเดียวเพื่อปิดบัญชีเท่านั้น
“ประกาศธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ฯ ดังกล่าว ของ สคบ. และประกาศของสมาคมฯ ยังมีความขัดแย้งกันหรือไม่สอดคล้องกันในเรื่องของการ ‘ลดต้น ลดดอก’ ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และเกิดคำถามต่อประกาศฯ ของ สคบ. ว่ามีสภาพบังคับใช้จริงได้มากน้อยเพียงใด เพราะหลังจาก สคบ. ออกประกาศฯ ดังกล่าวมานั้น ทำให้ผู้บริโภคหลายรายเข้าใจว่าสามารถคิดดอกเบี้ยแบบลดต้น ลดดอกได้” นายจิณณะ กล่าว
นายจิณณะ ระบุว่า เพื่อป้องกันความสับสนของทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค จึงเรียกร้องให้ สคบ. ออกมาชี้แจ้งข้อเท็จจริงโดยเร็ว เพื่อความกระจ่างชัดเจน และเพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ไม่ละเมิดสิทธิหรือลิดรอนสิทธิของผู้บริโภค