“…เราต้องทำให้กติกาเช่าซื้อเป็นธรรมมากขึ้นด้วยวิธีต่างๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งภาครัฐจะต้องมีข้อเสนอหรือมีทางเลือกอื่นๆให้ประชาชน เช่น รัฐบาลจะต้องให้ SFI (สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ) ลงมาทำสินเชื่อผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ออกมาสู้ ไม่อย่างนั้น เราก็อาจจะถูกขู่ว่า ถ้าไปลดดอกเบี้ยเขา เขาจะไม่ปล่อยกู้…”
..............................
ในแต่ละปีคนไทยซื้อ ‘รถจักรยานยนต์’ ประมาณ 1.8 ล้านคัน ในจำนวนนี้ 80% หรือ 1.44 ล้านคัน เป็นการ ‘เช่าซื้อ’ ซึ่งคิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 60,000-72,000 ล้านบาทต่อปี
แต่ปรากฎว่า ‘ผู้เช่าซื้อ’ กลับต้องแบกรับภาระ ‘ดอกเบี้ย’ ในอัตราที่สูงถึง 40-70% ต่อปี เมื่อเทียบกับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต ที่คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 16% ต่อปีเท่านั้น
ข้อมูลจาก คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ระบุว่า บรรดาลิสซิ่งต่างๆ จะคิดดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ‘มือหนึ่ง’ แบบดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) โดยเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตรา 2-3% ต่อปี หรือคิดเป็น 24-36% ต่อปี แต่หากคำนวณแบบลดต้นลดดอกจะพบว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR : Effective Interest Rate) ที่ผู้เช่าซื้อต้องจ่าย จะสูงถึง 40-50% ต่อปีเลยทีเดียว
เช่น กรณีเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ‘มือหนึ่ง’ ที่มียอดจัดไฟแนนซ์ 51,000 บาท เมื่อลิสซิ่งคิดดอกเบี้ยจากผู้เช่าซื้อแบบ Flat Rate ในอัตรา 2.1% ต่อเดือน หรือคิดเป็นอัตรา 25.2% ต่อปี และมีระยะเวลาผ่อน 24 เดือน จะพบว่าผู้เช่าซื้อต้องเสียดอกเบี้ยเดือนละ 1,071 บาท หรือเสียดอกเบี้ยรวม 25,704 บาท หรือคิดเป็น 50.4% ของยอดจัดไฟแนนซ์
ที่สำคัญหากคิดแบบลดต้นลดดอก จะพบว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) ที่ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายจะอยู่ที่ 42.72% ต่อปี
เช่นเดียวกัน กรณีการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ‘มือสอง’ จะพบว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือหนึ่งเป็นอย่างมาก
เช่น กรณีการเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซด์ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งมีราคา 35,900 บาท มีการระบุให้ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายเงินดาวน์ 15,900 บาท หรือคิดเป็น 44% ของราคารถ และมียอดจัดไฟแนนซ์ 20,000 บาท โดยลิสซิ่งจะให้ผู้เช่าซื้อผ่อนค่างวดเดือนละ 1,598 บาท เป็นเวลา 24 เดือน หรือคิดเงินที่ผู้เช่าซื้อต้องจ่าย คือ 38,352 บาท
เท่ากับว่าผู้เช่าซื้อจะต้องจ่าย 'ส่วนต่าง' ดอกเบี้ย 18,352 บาท หรือคิดเป็น 92% ของยอดจัดไฟแนนซ์ และหากคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก พบว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะสูงถึง 72.5% ต่อปี
@ไม่เคยบอก ‘ผู้เช่าซื้อ’ ดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นเท่าไหร่
“เขาไม่เคยบอกอะไรประชาชนเลย บอกแต่เพียงว่าดอกเบี้ย 2-3% ต่อเดือน หรือให้ผ่อนค่างวดเดือนละ 2,000-3,000 บาท ทั้งๆที่ในความเป็นจริงดอกเบี้ยที่ผู้เช่าซื้อเสียจะอยู่ที่ 50-70% หากคิดแบบลดต้นลดดอก” ขจร ธนะแพสย์ กรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
กรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยรายนี้ กล่าวต่อว่า จนถึงปัจจุบันผู้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะผู้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน เช่น วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือแม้แต่ครูที่อยู่ในต่างจังหวัด ยังคงได้รับความเดือดร้อนจากการที่ลิสซิ่งคิดดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แบบดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate)
“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะเข้าไปดูแลดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ” ขจร กล่าว
พร้อมทั้งระบุว่า การที่ลิสซิ่งเรียกเก็บดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในอัตราที่สูงถึง 50-70% ต่อปี เป็นสิ่งที่ผิดเพี้ยนไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ที่บัญญัติว่า “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี”
“ธุรกรรมเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันประเภทหนึ่ง ซึ่งเจ้าของรถเป็นลิสซิ่ง แต่ทำไมดอกเบี้ยจึงแพงกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน แต่คิดดอกเบี้ยเพียง 16%” ขจร ตั้งคำถาม และเห็นว่า “สิ่งที่ควรจะทำ คือ การทำให้สินเชื่อผ่อนรถ เป็นเหมือนกับสินเชื่อบ้าน ที่เราเป็นเจ้าบ้าน แต่เอาบ้านไปจำนอง”
(ขจร ธนะแพสย์)
@เสนอรัฐให้ SFI ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์ ดบ. 5% ต่อปี
ขจร เสนอว่า เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้เช่าซื้อที่จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ถูกลง รัฐบาลต้องสนับสนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ลงมาปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์
“เราต้องทำให้กติกาเช่าซื้อเป็นธรรมมากขึ้นด้วยวิธีต่างๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งภาครัฐจะต้องมีข้อเสนอหรือมีทางเลือกอื่นๆให้ประชาชน เช่น รัฐบาลจะต้องให้ SFI (สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ) ลงมาทำสินเชื่อผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ออกมาสู้ ไม่อย่างนั้น เราก็อาจจะถูกขู่ว่า ถ้าไปลดดอกเบี้ยเขา เขาจะไม่ปล่อยกู้
และตอนนี้เรา (คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ) ได้มีข้อตกลงกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการช่วยเหลือครูกว่า 9 แสนคน ให้เช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ในอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี เหมือนเช่นที่สหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงยุติธรรมมีการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ให้กับสมาชิก โดยคิดดอกเบี้ยแค่ 4.95% ต่อปีเท่านั้น” ขจร กล่าว
ขจร ยังระบุว่า “สินเชื่อเช่าซื้อ มีรถมอเตอร์ไซค์เป็นหลักประกันอยู่แล้ว จึงไม่ได้เสี่ยงอะไร และเมื่อเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เราก็สามารถตัดเงินจากบัญชีเขาได้อยู่แล้ว”
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการเช่าซื้อบอกว่า สาเหตุที่ต้องเรียกเก็บดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในอัตราที่สูง เพราะมีหนี้เสีย (NPL) 30% นั้น ขจร ตั้งข้อสังเกตว่า “ที่เขาบอกว่ามีหนี้เสีย 30% เป็นเพราะไปเรียกเก็บดอกเบี้ย 70% ต่อปี ใช่หรือไม่ และถ้าเก็บดอกเบี้ยต่ำจะเป็นหนี้เสียหรือไม่ หรือที่เป็นหนี้เสีย เพราะไปเก็บดอกเบี้ยแพงๆ”
ขจร ย้ำว่า ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่มีไม่ได้มีความเสี่ยงสูงเช่นที่ผู้ประกอบการบอกกัน เพราะมีรถจักรยานยนต์เป็นหลักประกัน เมื่อผู้เช่าซื้อผ่อนค่างวดไม่ได้ เจ้าหนี้ก็มายึดรถไปขายทอดตลาด บางเจ้านำรถจักรยานยนต์ไปวนขายทอดตลาดได้ 3 รอบ แล้วยังไปฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากผู้เช่าซื้อได้อีก
“รถเป็นของเขา พอยึดแล้วก็รีบขาย ถามว่าทำไมต้องรีบ เขาบอกว่าที่ต้องรีบ ไม่เช่นนั้น เดี๋ยวราคาตก…แต่บ้านเราพอยึดรถแล้ว มันไม่จบ เพราะบ้านเรามีการไปตีความเรื่องค่าขาดประโยชน์ด้วย ทั้งๆที่ประมวลกฎหมายแพ่งฯที่เกี่ยวกับการเช่าซื้อ ซึ่งมี 3 มาตรา คือ มาตรา 572 ,573 และ 574 นั้น
ในมาตรา 574 บอกว่า ถ้าผิดนัดค่างวด ให้เจ้าทรัพย์บอกเลิกสัญญาได้ แล้วเงินที่ผ่อนไปแล้วให้ (เจ้าทรัพย์) เอาไปได้เลย และให้ทรัพย์สินคืนกลับไปอยู่กับเจ้าทรัพย์ อะไรที่อยู่ข้างหลังก็ไม่ได้พูดอีก แต่บ้านเรากลับเอามาตีความว่า จะต้องมีค่าขาดประโยชน์ด้วย ซึ่งมันเกินกว่ากฎหมาย” ขจร กล่าว
@ผู้ประกอบการค้าน‘สคบ.’ คุม ‘ดบ.’ เช่าซื้อมอเตอร์ไซด์
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แม้รัฐบาลและภาครัฐ โดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะพยายามเข้าไปกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย ‘สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์’ โดยการกำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้ที่ไม่เกิน 20% ต่อปี แต่ปรากฏว่า มีเสียงคัดค้านจากผู้ประกอบการในธุรกิจเช่าซื้อฯ
ผู้ประกอบการให้เหตุผลว่า หาก สคบ. ต้องการลดภาระให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยการลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำเกินราคาเสรี จะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาอนุมัติเสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งทำให้ผู้มีรายได้น้อยต้องไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ
ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า ในปี 2560 สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มีหนี้เสียสูงถึง 37.2% และมีการผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ เนื่องจากผู้ใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ และไม่มีหลักฐานทางการเงินใดๆ จึงประเมินความเสี่ยงได้ยาก (อ่านประกอบ : ฟังเสียง ปชช. เปิดผลกระทบผู้ประกอบการ หลัง สคบ.กำหนดดอกเบี้ยเช่าซื้อ ไม่เกิน 15%)
กระทั่งต่อมากลางเดือน ธ.ค.2564 อนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ได้ประชุมร่วมกับ สคบ. สมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย สมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท)
โดย อนุชา สั่งการให้ สคบ.และผู้ประกอบการไปทบทวนต้นทุนธุรกิจ เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งเดิมกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ ที่ 15% สำหรับรถยนต์ใหม่ และ 20% สำหรับรถยนต์เก่าและรถจักรยานยนต์ (อ่านประกอบ : 'อนุชา'ย้ำคำนึง ปชช.เป็นหลัก แนะ สคบ.-เอกชนศึกษารอบด้าน ก่อนประกาศคุมเช่าซื้อรถ)
(อนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ประชุมร่วมกับสมาคมธุรกิจเช่าซื้อฯเกี่ยวกับการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2564)
@‘สคบ.’ถกคณะทำงานหาข้อสรุปเพดานดอกเบี้ย 7 ก.พ.นี้
สุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในฐานะโฆษก สคบ. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ขณะนี้ร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งในวันที่ 7 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมคณะทำงานอีกครั้ง
“ประกาศเช่าซื้อรถจักรยานยานยนต์ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ ซึ่งในวันที่ 7 ก.พ. คณะทำงานจะมีการประชุมอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปมากกว่านี้” สุวิทย์ กล่าว
จากนี้จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า ความพยายามของภาครัฐในการเข้าไปกำหนดเพดานสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ จะมีข้อสรุปอย่างไร ในขณะที่คนไทย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ยังต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในอัตราสูงลิบลิ่ว
อ่านประกอบ :
ชำแหละปัญหา ‘หนี้เช่าซื้อ’ กรณี ‘ลุงทองเสาว์’ ถึงเวลารัฐออกกฎคุ้มครองลูกหนี้
'อนุชา'ย้ำคำนึง ปชช.เป็นหลัก แนะ สคบ.-เอกชนศึกษารอบด้าน ก่อนประกาศคุมเช่าซื้อรถ
ฟังเสียง ปชช. เปิดผลกระทบผู้ประกอบการ หลัง สคบ.กำหนดดอกเบี้ยเช่าซื้อ ไม่เกิน 15%
เปิด 8 แพ็กเกจ'แก้หนี้สินประชาชนรายย่อย'-'ครม.'สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ
'หนี้เช่าซื้อ' สะสมกว่า 2.5 ล้านล้านบาท ปัญหาที่ ปชช. เดือดร้อนสุดช่วงโควิด-19
เปิด 3 แผน 4 มาตรการ แนวทางกระทรวงศึกษาธิการ สางปัญหาแก้ 'หนี้สินครู'