‘คลัง-ธปท.’ เปิดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ ดึง 60 สถาบันการเงิน ร่วมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์ ด้าน ‘สุพัฒนพงษ์’ คาดได้ข้อสรุป ‘เพดานดอกเบี้ย’ สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ เร็วๆนี้ พร้อมย้ำจำเป็นต้องคุมดอกเบี้ย แต่จะไม่ทำโดยพลการ ขณะที่ ‘ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ’ ชี้แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก
...................................
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยระหว่างการเปิดงาน ‘มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า แม้ว่าทุกค่ายและทุกสำนักเศรษฐกิจมีการประเมินว่า เศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้ มีทิศทางที่ดีขึ้นและยังเติบโตได้ต่อไป แต่ด้วยผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งทำให้รายได้ของคนบางกลุ่มหายไปนาน โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวและบริการนั้น ทำให้คนนับล้านๆคนยังมีปัญหาหนี้สินอยู่
ดังนั้น กระทรวงการคลัง ธปท. และสถาบันการเงินต่างๆอีก 60 แห่ง จึงร่วมกันจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ เพื่อช่วยเหลือและดูแลลูกหนี้ให้สามารถชำระหนี้สินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้ โดยการพิจารณาและผ่อนปรนการชำระหนี้ให้เป็นไปตามระดับความสามารถของผู้กู้แต่ละราย
นายสุพัฒนพงษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาล โดยคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ ได้เข้าไปแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ,หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ,หนี้สินของข้าราชการ ข้าราชการครู และข้าราชการตำรวจ ที่มีอยู่กับสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ เป็นต้น โดยเฉพาะการกำหนดเพดานสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์น่าจะมีข้อสรุปเร็วๆนี้
“เรื่องหนี้เช่าซื้อจักรยานยนต์ ผู้ประกอบการอาจจะอึดอัดกันบ้าง เพราะหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเขาจะมีการปรับปรุงเรื่องสัญญา เพื่อเปิดช่องให้มีทางออก และมีความเป็นธรรม โดยเฉพาะในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น อาจมีการควบคุมกันอยู่บ้าง แต่คงไม่ทำโดยพลการ เพราะจะมีการพูดคุยหารือกัน และน่าจะหาทางออกได้ในเร็วๆนี้ ซึ่งจะเป็นผลดีกับทางผู้กู้ ส่วนผู้ประกอบการก็สามารถขยายธุรกิจออกไปได้เช่นเดียวกัน” นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ
นายสุพัฒนพงษ์ ระบุด้วยว่า ในเรื่องสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ รัฐบาลกำลังพิจารณาว่า มีวิธีการใดบ้างที่จะสร้างหลักประกันที่ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหนี้สามารถติดตามทรัพย์ได้ และเมื่อความเสี่ยงลดลง ดอกเบี้ยก็ลงด้วย
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น แต่ปัญหาหนี้สินครัวเรือนยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะหนี้สินรายย่อย กระทรวงการคลังจึงร่วมมือกับ ธปท. จัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ ซึ่งภายในงานดังกล่าวจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นการจัดงานแก้ปัญหาหนี้ออนไลน์ โดย ธปท. ส่วนที่ 2 เป็นการจัดงานแก้หนี้ on site เพื่อแก้ปัญหาหนี้ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงหนี้ NPL และส่วนที่ 3 การให้คำปรึกษาทางการเงิน
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมานาน และถูกซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด เห็นได้จากปี 2553 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 60% ต่อ GDP ผ่านไป 10 ปี หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในไตรมาส 1 ปี 2564 จากโควิด และล่าสุด ไตรมาส 2 ปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ 88%
ในช่วงโควิด ธปท. และกระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุด รวดเร็ว และเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง โดยภาคการเงินเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ โดย ณ เดือน ก.ค.2563 สถาบันการเงินได้ช่วยเหลือลูกหนี้สะสมสูงสุดที่ 12.5 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 7.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นราว 40% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ ก่อนทยอยลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ล่าสุด ณ เดือนมิ.ย.2565 คงเหลือลูกหนี้ในความช่วยเหลือรวม 3.9 ล้านบัญชี ยอดหนี้เกือบ 3 ล้านล้านบาท หรือ 14% ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้ ธปท. ได้ยกระดับการดูแลการให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรมเพิ่มเติม เช่น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง และปรับลำดับการตัดชำระหนี้ เพื่อช่วยลดภาระหนี้ของประชาชนและลดโอกาสเกิดหนี้เสียในระบบ
“มาวันนี้ แม้เศรษฐกิจไทยจะปรับดีขึ้นจากผลกระทบของโควิด และคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวในแต่ละภาคส่วนยังไม่เท่าเทียม (K-shaped) โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ยังเจอกับภาวะค่าครองชีพสูง ซึ่งอาจยิ่งซ้ำเติมลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง และทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้น จนอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด (smooth takeoff) การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก
หนึ่ง ทำอย่างครบวงจร สอดคล้องกับลักษณะและสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ โดยตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ ต้องสร้างวินัยทางการเงินให้ลูกหนี้ ขณะที่เจ้าหนี้ต้องปล่อยหนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้กู้ เช่น การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (responsible lending) ขณะเป็นหนี้ ต้องสร้างกลไกช่วยลูกหนี้ที่มีศักยภาพให้ชำระหนี้ได้เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้หนี้พอกพูน
เช่น กลไก risk-based pricing ที่จะช่วยให้ลูกหนี้ดีได้รับดอกเบี้ยลดลงเหมาะกับความเสี่ยงของตน รวมทั้งมีแนวทาง refinance หนี้ที่สะดวกขึ้นในต้นทุนที่เหมาะสม และเมื่อมีปัญหาชำระหนี้ ควรมีกลไกสนับสนุนการแก้หนี้ที่เป็นมาตรฐาน เพื่อช่วยให้ลูกหนี้หลุดจากวงจรหนี้ได้จริง เช่น การไกล่เกลี่ยหนี้นอกศาล การแก้หนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย
สอง ทำอย่างถูกหลักการ โดยพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม รู้ว่าอะไรควรทำ และไม่ควรทำ (Do’s and Don’ts) ซึ่งหลัก ๆ คือ
1.ต้องแก้หนี้ให้ตรงจุด สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้ ไม่ทำแบบวงกว้างเพราะภาคการเงินจะมีทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องการจริง ๆ ได้น้อยลง 2.ไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับลูกหนี้ในอนาคต เช่น พักชำระหนี้ไปเรื่อยๆ จนลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 3.ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ เช่น ลบหรือแก้ประวัติสินเชื่อของลูกหนี้ จนสถาบันการเงินไม่รู้จักลูกหนี้และไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ
และ 4.เจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องร่วมมือและตั้งใจจริงในการแก้ไขหนี้ เช่น เจ้าหนี้ต้องช่วยเหลือให้เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ ลูกหนี้ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง เพื่อให้การแก้หนี้สำเร็จ ซึ่งการดำเนินการภายใต้หลักการเหล่านี้ ต้องใช้เวลา เพราะหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน และเกิดจากหลายสาเหตุทั้งจากฝั่งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ จึงไม่สามารถแก้ได้ด้วยมาตรการเดียว แต่ต้องอาศัยมาตรการที่หลากหลาย และดำเนินการอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ซึ่งการทำอะไรที่ดูดี หรือดูเร็ว อาจไม่ยั่งยืน
สาม บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเงินในฐานะเจ้าหนี้ ที่ต้องให้สินเชื่อใหม่โดยคำนึงถึงศักยภาพลูกหนี้ในการชำระหนี้มากขึ้น พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่ไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินตัว ภาครัฐ มีบทบาทในการสร้างรายได้และเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านข้อมูล ที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ภาคเอกชน ยกระดับบทบาทนายจ้างในการดูแลปัญหาหนี้ของลูกจ้าง และลูกหนี้ ต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ก่อหนี้โดยคำนึงถึงศักยภาพของตนเอง และมีวินัยในการชำระหนี้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินมาตรการแก้หนี้โดยยึดตามแนวทางข้างต้น และงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ในครั้งนี้ ก็เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่ ธปท. ทำมาอย่างต่อเนื่อง
(เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ)
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า วันนี้ ธปท. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาคส่วนต่างๆ เห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาชำระหนี้ ให้สามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งงานมหกรรมครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งก่อน เพราะมีเจ้าหนี้เข้าร่วมกว่า 60 ราย และครอบคลุมประเภทหนี้มากขึ้น
ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้เจรจาแก้หนี้กับเจ้าหนี้บนข้อตกลงที่ผ่อนปรนและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งจะตรงกับความต้องการของลูกหนี้มากขึ้น
“ในระยะต่อไป ธปท. จะออกแนวนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืน (directional paper) ภายในปี 2565 เพื่อสื่อสารทิศทาง การดำเนินงานที่ ธปท. จะผลักดันในอนาคต และแนวทางการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้ได้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เช่น ออกหลักเกณฑ์ responsible lending ที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งครอบคลุมทั้งการปล่อยหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ และการให้ข้อมูลที่ลูกหนี้ควรรู้ เพื่อปรับพฤติกรรมให้เกิดวินัยทางการเงิน และลดการก่อหนี้เกินตัว” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
สำหรับการจัดงาน ‘มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน’ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยในระยะแรก หรือ ระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-30 พ.ย.2565 จะเป็นการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯออนไลน์ โดยล่าสุดมีธนาคารพาณิชย์ , Non-bank และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) เข้าร่วมงานมหกรรมฯกว่า 60 แห่ง ซึ่งลูกหนี้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของ ธปท.
ขณะที่การไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์ในครั้งนี้ จะครอบคลุมสินเชื่อ 7 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ,สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ,สินเชื่อที่โอนไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) ,สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ,สินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ ,สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อทุกประเภทของ SFIs โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยจะมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
ส่วนในระยะที่ 2 หรือระหว่างเดือน พ.ย.2565-ม.ค.2566 จะมีการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯสัญจร ในพื้นที่กรุงเทพและ 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งภายในงานจะมีการไกล่เกลี่ยหนี้เดิมของ SFIs การเสริมทักษะทางการเงิน และการเติมเงินใหม่หากมีความจำเป็น
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’เล็งประกาศแนวนโยบายแก้ปัญหา‘หนี้ครัวเรือน’ หวังกำกับปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ
‘ธปท.’เปิดรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.ฎ.กำกับดูแลธุรกิจ‘เช่าซื้อ-ลีสซิ่ง’รถยนต์-มอเตอร์ไซค์
แกะปมเช่าซื้อ'มอเตอร์ไซค์' คิดดอกเบี้ย 50-70% ต่อปี 'สคบ.'ขยับคุมสัญญา-ชง SFI ปล่อยกู้
ชำแหละปัญหา ‘หนี้เช่าซื้อ’ กรณี ‘ลุงทองเสาว์’ ถึงเวลารัฐออกกฎคุ้มครองลูกหนี้