“…ในหลายประเทศเขามีการปฏิรูปเรื่องการเช่าซื้อ โดยศาลฯจะให้ความเป็นธรรมกับผู้เช่าซื้อที่เหลือค่างวดอีกไม่กี่งวด คือ ไม่ให้เจ้าหนี้มีสิทธิ์เข้าไปยึดรถทันที เช่น กรณีมาเลเซียและออสเตรเลีย ถ้าผู้เช่าซื้อจ่ายค่างวดมาแล้ว 75% หากจะยึดจะต้องมีคำสั่งศาลฯก่อน หรือถ้าเป็นในอังกฤษ หากชำระหนี้ไปแล้ว 1 ใน 3 ถ้าจะยึด เจ้าหนี้ต้องมาขอศาลฯ…”
...............................
การแก้ไขปัญหา ‘หนี้เช่าซื้อ’ รถยนต์และรถจักรยานยนต์
เป็น 1 ใน 8 ประเด็น ที่ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ที่มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน เป็นประธาน เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาโดยด่วน (อ่านประกอบ : เปิด 8 แพ็กเกจ'แก้หนี้สินประชาชนรายย่อย'-'ครม.'สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ)
โดยเฉพาะการปรับปรุงเงื่อนไขการ ‘ยึด’ และ ‘การคืนรถ’ ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น และการกำหนดแนวทางการคิด ‘ยอดหนี้เช่าซื้อคงเหลือ’ หรือ ‘ติ่งหนี้’ กรณีที่มีการ ‘คืนรถ’ และกรณีที่เจ้าหนี้ ‘ยึดคืน’ ให้ชัดเจนและเป็นธรรม เนื่องจาก ‘สัญญาเช่าซื้อ’ ในปัจจุบัน มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ ‘เจ้าหนี้’ มากกว่า ‘ผู้เช่าซื้อ’
ส่งผลให้ ‘ผู้เช่าซื้อ’ เป็นจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน จากสัญญาเช่าซื้อที่มีลักษณะไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้
เช่นกรณี ‘ลุงทองเสาว์ นนท์ยะโส’ คนขับรถแท็กซี่ วัย 65 ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 และคิดปลิดชีพตัวเอง หลังจากรถแท็กซี่ที่ตนเองผ่อนไปแล้ว 33 งวด จากทั้งหมด 36 งวด ต้องถูก ‘เจ้าหนี้เช่าซื้อ’ ยึดเครื่องมือที่ใช้ทำมาหากินไป เพราะขาดส่งค่างวด 3 งวด และยังถูกเจ้าหนี้ฟ้องเรียก ‘ค่าขาดประโยชน์และติ่งหนี้’ อีก 177,000 บาท
@‘ลุงทองเสาว์’ คนขับรถแท็กซี่ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
ย้อนไปเมื่อปี 2561 ลุงทองเสาว์ เกษียณอายุจากงานประจำ และได้นำเงินออมที่เก็บหอมรอมริบมาตลอดชีวิตราว 3 แสนบาท ไปดาวน์รถแท็กซี่ เพื่อเป็นเครื่องมือทำมาหากินในช่วงบั้นปลายของชีวิต และทำสัญญาเช่าซื้อรถแท็กซี่จาก ‘ลิสซิ่ง’ แห่งหนึ่ง ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยตกลงจ่ายค่างวดๆละ 18,177 บาท เป็นจำนวน 36 งวด
สัญญาเช่าซื้อระบุว่า ให้ ลุงทองเสาว์ ในฐานะลูกหนี้ เริ่มจ่ายงวดแรกตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.2561 และตกลงกันว่า หากผิดนัดชำระค่างวดติดต่อกัน 3 เดือน เจ้าหนี้จะมีหนังสือบอกกล่าวไปถึงลูกหนี้ และให้ลูกหนี้ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ พร้อมเบี้ยปรับ ค่าใช้จ่ายในการทวงถาม และเงินอื่นใดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันได้รับหนังสือหรือถือว่าได้รับหนังสือดังกล่าว
หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้ถือว่า ‘สัญญาสิ้นสุด’ และให้ลูกหนี้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าหนี้
สัญญาเช่าซื้อยังระบุว่า ให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องบรรดาค่าเสียหายต่างๆ เช่น ค่าขาดประโยชน์หรือค่าเสียหายเป็นรายเดือน ค่าชำรุดบกพร่อง ค่าเสื่อมราคา และค่าเสียหายอันเกิดแก่รถยนต์ เป็นต้น ส่วนกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหรือจ่ายค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามเวลา ให้ลูกหนี้ชำระเบี้ยปรับในอัตรา 17.12% ต่อไป
หลังได้รับรถแท็กซี่แล้ว ลุงทองเสาว์ วิ่งรถส่งผู้โดยสารด้วยความอุตสาหะ และจ่ายค่างวดให้กับลิสซิ่งแห่งนี้ตรงตามเวลา เป็นจำนวน 26 งวด หรือตั้งแต่เดือน มี.ค.2561 ถึง เม.ย.2563 เป็นเงิน 472,602 บาท (ราคาเช่าซื้อบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 654,372 บาท (36 งวด x 18,177 บาท) ไม่รวมเงินดาวน์ 300,000 บาท)
แต่เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 และภาครัฐมีนโยบายพักชำระหนี้ให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ ลุงทองเสาว์ ยื่นขอพักชำระหนี้กับลิสซิ่ง และได้รับอนุมัติให้พักชำระหนี้เพียง 3 เดือน (พ.ค.2563-ก.ค.2563) จากนั้นลิสซิ่งให้ลุงทองเสาว์เริ่มจ่ายค่างวดอีกครั้งในเดือน ส.ค.2563 จนกว่าจะครบ 10 งวด (งวดที่ 27-36)
เมื่อพ้นกำหนดพักชำระหนี้ 3 เดือน ลุงทองเสาว์ เพียรพยายามวิ่งรถส่งรับผู้โดยสาร ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย และสามารถจ่ายค่างวดให้กับลิสซิ่งได้อีก 6 งวด เป็นเงิน 109,062 บาท
แต่แล้วในเดือน ก.พ.2564 ลุงทองเสาว์ ต้องยื่นขอพักชำระหนี้อีกเป็นครั้งที่ 2 เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองอันเนื่องมาจากผลกระทบโควิด-19 โดยครั้งนี้ลิสซิ่งอนุมัติให้ลุงทองเสาว์พักชำระหนี้ 3 เดือน (ก.พ.2564-เม.ย.2564) และให้เริ่มชำระค่างวดที่เหลืออีก 4 งวด (พ.ค.2564-ส.ค.2564) รวมเป็นเงิน 72,708 บาท โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.2564
อย่างไรก็ตาม ลุงทองเสาว์ ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่างวดให้ลิสซิ่งในงวดที่ 1 (งวดที่ 33 เดิม) ได้ และค้างชำระค่างวดติดต่อกัน 3 งวด กระทั่งวันที่ 29 ต.ค.2564 ลิสซิ่ง เจ้าหนี้เช่าซื้อ จึงมีหนังสือให้ ลุงทองเสาว์ ชำระค่างวดที่ค้างอยู่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แต่ ลุงทองเสาว์ ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ที่ค้างอยู่ได้ จึงถูกเจ้าหนี้ยึดรถแท็กซี่ไป
@ถูกฟ้องชำระหนี้ 1.77 แสน-เรียกค่าเสียหายรายเดือน 1.05 แสน
ไม่เพียงเท่านั้น ลิสซิ่ง เจ้าหนี้เช่าซื้อ ยังให้ทนายยื่นฟ้อง ลุงทองเสาว์ ให้ส่งมอบรถยนต์ยี่ห้อ โตโยต้า อัลติส 1.6G ปี 2018 สีเขียว-เหลือง คืนลิสซิ่ง หรือหากไม่ส่งมอบรถคืน ให้ชำระค่าทรัพย์หรือราคารถยนต์ให้แก่ลิสซิ่งเป็นเงิน 72,000 บาท ทั้งๆ ลุงทองเสาว์ ถูกยึดรถแท็กซี่ไปแล้ว
ลิสซิ่ง ยังฟ้องเรียกค่าเสียประโยชน์หรือค่าเสียหายรายเดือนจาก ลุงทองเสาว์ เป็นเงินเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งเมื่อคิดจากระยะเวลาที่ ลุงทองเสาว์ ครอบครองรถตั้งแต่วันผิดนัดชำระค่างวดจนถึงวันฟ้อง พบว่านับเวลาได้ 7 เดือน เป็นเงินค่าเสียหายรวม 105,000 บาท (15,000 บาท x 7 เดือน)
“ข้อ 4 การที่จำเลยประพฤติผิดสัญญาเช่าซื้อ จนเป็นเหตุให้สัญญาเท่าซื้อสิ้นสุดลง และจำเลยยังคงครอบครองรถยนต์โดยไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ดังรายการต่อไปนี้
4.1 จำเลยต้องส่งมอบรถยนต์ยี่ห้อ โตโยต้า รุ่น อัลติส 1.6 จี ปี 2018 สีเขียว-เหลือง คันหมายเลขทะเบียน 1 มค 1463 กรุงเทพมหานคร เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีทันที พร้อมอุปกรณ์ครบถ้วน หากไม่สามารถส่งมอบไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยต้องชำระค่าใช้ทรัพย์หรือราคารถยนต์คันดังกล่าวแก่โจทก์เป็นเงิน 72,000 บาท
4.2 ค่าขาดประโยชน์หรือค่าเสียหายเป็นรายเดือนตลอดระยะเวลาที่จำเลย ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ หากให้บุคคลภายนอกเช่า จะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 18,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียงเดือนละ 15,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่จำเลยครอบครองรถยนต์ของโจทก์นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 7 เดือน คิดเป็นเงิน 105,000 บาท
รวมเป็นเงินที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องถือเป็นทุนทรัพย์คดีนี้ทั้งสิ้น 177,000 บาท โจทก์ไม่มีทางใดที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ดังกล่าวได้ จึงต้องนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยควรมิควรแล้วแต่จะโปรด” คดีหมายเลขดำที่ ผบ.4749/2564 ลงวันที่ 9 ธ.ค.2564 ที่ ลิสซิ่ง แห่งหนึ่ง ยื่นฟ้อง ลุงทองเสาว์
@ร้อง DSI ช่วยประสาน ‘ลิสซิ่ง’ เจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ที่ค้างชำระ
หลังถูก ลิสซิ่ง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 177,000 บาท ลุงทองเสาว์ ได้เดินทางไปที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ทางศูนย์ฯเข้ามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย เนื่องจาก ลุงทองเสาว์ ต้องการจะชำระหนี้ให้แก่ลิสซิ่งแห่งนี้ เพื่อนำรถกลับคืนมาเพื่อประกอบอาชีพ
ลุงทองเสาว์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ที่ผ่านมาตนเองผ่อนชำระค่างวดให้กับลิสซิ่งแห่งนี้มาแล้ว 32 งวด แต่ไม่สามารถส่งอีก 4 งวดที่เหลือได้ จึงถูกลิสซิ่งยึดรถไป และล่าสุดตนเองถูกลิสซิ่งฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 177,000 บาท ซึ่งคดีมีกำหนดนัดพิจารณาที่ศาลฯในวันที่ 25 เม.ย.2565
ลุงทองเสาว์ กล่าวต่อว่า หลังถูกยึดรถ ตนติดต่อไปที่ ลิสซิ่ง เพื่อเจรจาขอชำระหนี้ โดยขอจ่ายค่างวดที่ค้างอยู่ 4 งวด เป็นเงิน 72,000 บาท รวมทั้งจ่ายดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้ 7 เดือนๆละ 300 บาท ค่าติดตามทวงถามหนี้ 6,000 บาท และค่าโอนชื่ออีก 5,000 บาท รวมแล้วเป็นเงินกว่า 8.6 หมื่นบาท ให้ ลิสซิ่ง เพื่อแลกกับการได้รถคืน แต่ ลิสซิ่ง ไม่ยอม
“ผมบอกเขาไปว่า ผมไม่หนีอยู่แล้ว ขอรถมาใช้ก่อน ผมเดือดร้อน เพราะหลายชีวิตฝากไว้กับผม แต่เขาบอกว่าผู้ใหญ่ของลิสซิ่ง เขาไม่ยอม” ลุงทองเสาว์ กล่าว พร้อมระบุว่า “หลังจากโดนยึดรถแล้ว ลิสซิ่งแจ้งว่า หากจะได้รถ จะต้องจ่ายเงินให้ลิสซิ่งเป็นเงิน 125,000 บาท ซึ่งเป็นค่างวดที่ค้างอยู่ 4 งวด บวกค่าติดตามรถ และค่าทวงถาม”
ลุงทองเสาว์ ระบุว่า ทุกวันนี้ตนต้องเช่ารถแท็กซี่จากอู่ข้างบ้านไปขับวิ่งรับส่งผู้โดยสาร โดยจ่ายค่าเช่าวันละ 500 บาท และค่าน้ำมันวันละ 800 บาท และอยากตั้งคำถามว่า “ผมอยากรู้ว่าระหว่างกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กับสัญญาเช่าซื้อ โดยข้อเท็จจริงแล้วอะไรจะใหญ่กว่ากัน เพราะที่ผ่านมาผมต้องเสียเงินไปเฉียดล้านกับรถแท็กซี่คันนั้น”
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานว่า ลิสซิ่งแห่งนี้ได้ถอนฟ้อง ลุงทองเสาว์ แล้ว หลังมีเจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่งได้เข้าช่วยเหลือไกล่เกลี่ยกับลิสซิ่งผ่านศาลฯ
(ลุงทองเสาว์ (ซ้าย) เข้าขอความเป็นธรรมกับศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ)
@เผยมาตรการคุ้มครอง 'ลูกหนี้เช่าซื้อ' ในต่างประเทศ
กรณีความเดือนร้อนของ ลุงทองเสาว์ ซึ่งถูกเจ้าหนี้เช่าซื้อยึดรถแท็กซี่ เพราะไม่สามารถจ่ายค่างวดที่เหลืออีก 4 งวด เป็นเงิน 72,708 บาท ทั้งๆที่ ลุงทองเสาว์ เพียรพยายามผ่อนจ่ายชำระค่างวดให้เจ้าหนี้มาแล้ว 32 งวด เป็นเงินรวม 581,664 บาท (ไม่รวมเงินดาวน์อีก 300,000 บาท) จากทั้งหมด 36 งวด นั้น
กำลังสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมของ ‘สัญญาเช่าซื้อ’ ที่ใช้ในประเทศไทย และสมควรที่ประเทศไทยจะต้องมีการปฏิรูปสัญญาเช่าซื้อทั้งระบบ เพื่อลดการเอื้อประโยชน์ให้กับ ‘เจ้าหนี้’ และกลุ่มทุนในธุรกิจเช่าซื้อเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ขณะที่ในหลายๆประเทศ ต่างก็มีมาตรการในการคุ้มครองสิทธิ ‘ลูกหนี้เช่าซื้อ’
เช่น มาเลเซียและออสเตรเลีย กำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อได้จ่ายค่าชำระหนี้เช่าซื้อมากกว่า 75% การที่ผู้เช่าซื้อจะสามารถ ‘ยึดรถ’ ได้นั้น จะต้องได้รับคำสั่งจากศาลก่อน หรือที่อังกฤษ มีกฎหมายคุ้มครองผู้เช่าซื้อ (credit consumer Act) ในลักษณะเดียวกัน แต่กำหนดว่าการยึดรถของผู้เช่าซื้อที่ชำระหนี้มากกว่า 1 ใน 3 จะต้องมีคำสั่งศาลก่อน
“ในหลายประเทศเขามีการปฏิรูปเรื่องการเช่าซื้อ โดยศาลฯจะให้ความเป็นธรรมกับผู้เช่าซื้อที่เหลือค่างวดอีกไม่กี่งวด คือ ไม่ให้เจ้าหนี้มีสิทธิ์เข้าไปยึดรถทันที เช่น กรณีมาเลเซียและออสเตรเลีย ถ้าผู้เช่าซื้อจ่ายค่างวดมาแล้ว 75% หากจะยึดจะต้องมีคำสั่งศาลฯก่อน หรือถ้าเป็นในอังกฤษ หากชำระหนี้ไปแล้ว 1 ใน 3 ถ้าจะยึด เจ้าหนี้ต้องมาขอศาลฯ
แต่กรณีรถแท็กซี่ของลุงทองเสาว์ เขาผ่อนมาแล้ว 32 งวด เหลืออีกเพียงแค่ 4 งวด และรถของลุงยังมีอายุใช้งานหรือทำมาหากินได้อีก 6-7 ปี แต่นี่เขาไม่มีการผ่อนปรนใดๆให้เลย พอพ้นกำหนด 3 เดือนเขาก็มายึดรถไปเลย” ขจร ธนะแพสย์ กรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
ขจร กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันศาลไทยจะเปิดให้ลูกหนี้เช่าซื้อที่จะถูกยึดรถ สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้เช่าซื้อ ผ่านศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯได้ แต่ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยไม่มีมาตรการคุ้มครองลูกหนี้เช่าซื้อเลย โดยเฉพาะลูกหนี้เช่าซื้อที่ผ่อนชำระค่างวดจนเกือบครบแล้ว แต่ต้องถูกยึดรถ เพราะขาดส่งค่างวดเพียงไม่กี่งวด
“กฎหมายเช่าซื้อในปัจจุบัน ในบ้านเราไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล และแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกำกับดูแลธนาคารที่ให้เช่าซื้อ แต่ไม่มีอำนาจกำกับดูแลธุรกรรมเช่าซื้อ ส่วนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แม้ว่าจะเข้าดูช่วยเรื่องสัญญา แต่ก็ดูแลได้แค่เจ้าหนี้บางกลุ่มเท่านั้น” ขจร กล่าว
(ขจร ธนะแพสย์)
ขจร ย้ำว่า “กฎหมายบ้านเราไม่ได้คุ้มครองผู้เช่าซื้อเลย มีแต่กฎหมายช่วยเจ้าหนี้” พร้อมทั้งเห็นว่า ประเทศไทยควรมีหน่วยงานที่มีอำนาจในการกำกับดูแลสัญญาเช่าซื้อโดยตรง และภาครัฐต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้เช่าซื้อเช่นเดียวกับในประเทศต่างๆ เพื่อไม่ให้ผู้เช่าซื้อถูกเอารับเอาเปรียบจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ในขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศให้ปี 2565 เป็น ‘ปีแห่งการแก้หนี้’ จึงต้องติดตามว่า ปมปัญหากรณี ‘หนี้เช่าซื้อ’ จะได้รับการแก้ไขอย่างไร
อ่านประกอบ :
เปิด 8 แพ็กเกจ'แก้หนี้สินประชาชนรายย่อย'-'ครม.'สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ
'หนี้เช่าซื้อ' สะสมกว่า 2.5 ล้านล้านบาท ปัญหาที่ ปชช. เดือดร้อนสุดช่วงโควิด-19
เปิด 3 แผน 4 มาตรการ แนวทางกระทรวงศึกษาธิการ สางปัญหาแก้ 'หนี้สินครู'