‘ศาลอาญากรุงเทพใต้’ พิพากษายกฟ้อง ‘ชาญชัย อิสระเสนารักษ์’ คดีหมิ่นประมาท ‘กลุ่มคิง เพาเวอร์’ ชี้เป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม-ติชมด้วยความเป็นธรรม
...............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ 2003/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อ 3379/2561 ซึ่งเป็นคดีที่บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก รวม 3 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาท
โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษายกฟ้อง นายชาญชัย (จำเลยที่ 2) เนื่องจากศาลฯเห็นว่า การให้สัมภาษณ์หรือการแสดงความคิดเห็นของนายชาญชัย เกี่ยวกับสัมปทานร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และสัมปทานในการประกอบกิจการบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ ระหว่างบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ นั้น เป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามครองธรรม ทั้งยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งอื่นใดอันเป็นวิสัยที่ประชาชนย่อมกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) ย่อมได้รับความคุ้มครอง
“จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณา เนื่องจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 2684/2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาเอกสารหมาย ล.4 เมื่อพิจารณาคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยเรื่องที่จำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่อง มูลค่าโครงการของสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิและท่าอากาศยานภูมิภาค
ที่โจทก์ที่ 2 (บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด) ทำกับ ทอท. ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.9 และสัญญาการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่โจทก์ที่ 3 (บริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด) ทำกับ ทอท. ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.10 ว่า มีมูลค่าโครงการเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
แต่มีการพยายามหลีกเลี่ยงเพื่อให้ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยให้มีการประเมินมูลค่าโครงการให้ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีการว่าจ้างสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการประเมิน ซึ่งผลของการประเมินมีมูลค่าโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท แต่ภายหลัง เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบ ผลการตรวจสอบปรากฎว่ามูลค่าของโครงการที่สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเมินไว้ไม่ถูกต้อง
โดยเฉพาะในส่วนของการคำนวณมูลค่าของสินค้าคงคลัง ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียง 1 เดือน ทั้งๆที่ความเป็นจริงต้องใช้ระยะเวลา 100 วัน หรือการนำค่าเสื่อมราคาของอาคารในระยะเวลา 30 ปี มาคำนวณเพื่อลดต้นทุนมูลค่าการลงทุน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า จะนำมาคำนวณรวมด้วยไม่ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวได้มีการจัดทำเป็นรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ล.11
ดังนั้น การกล่าวให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ไช่เรื่องที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างโดยไม่มีเหตุผล ไม่มีพยานหลักฐาน หรือกล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่มีพยานหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงแน่ชัด จนในที่สุดทาง ทอท. ต้องมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 สัญญาที่ทำกันไว้เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
จึงไม่มีผลผูกพันกันตามเอกสารหมาย ล.12 และ ล.13 อันเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ยื่นฟ้องร้อง ทอท. ต่อศาลแพ่ง ตามเอกสารหมาย ล.14 และ ล.15 ซึ่งในคำฟ้องดังกล่าวโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ก็ยอมรับว่าได้มีการลงทุนในโครงการมากกว่า 1,000 ล้านบาท นั้น แสดงให้เห็นว่าเรื่องที่จำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องที่มีข้อมูลเกิดขึ้นจริง
สำหรับเรื่องที่จำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์เรื่องกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ไม่ได้ติดตั้งระบบ Point Of Sale หรือ POS คือระบบรับรู้ข้อมูลการขายทันที สัญญาระบุแจ้งชัดว่า ผู้รับอนุญาตจะต้องนำส่งข้อมูลและรายได้ของโครงการแก่ ทอท. ซึ่งสัญญาทำกันตั้งแต่ ปี 2548 จนถึงปี 2559 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่า ยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลตามสัญญาแต่อย่างใด ซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการขายสินค้าปลอดอากรให้เป็นไปได้อย่างถูกต้อง
โดยมีเอกสารหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า เพิ่งมีการเริ่มดำเนินการติดตั้งระบบ POS เมื่อกลางเดือน ก.พ.2558 ตามเอกสารหมาย ล.5 จนเมื่อมีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจำเลยที่ 2 ร่วมในการประชุมด้วย ก็ได้รับแจ้งจากผู้แทนของ ทอท. ว่าระบบ POS อยู่ระหว่างทดสอบระบบและได้เริ่มระบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2559 ตามเอกสารหมาย ล.6
ดังนั้น คำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 2 อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่มีพยานหลักฐานเป็นเอกสารที่ยืนยันแน่ชัด ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยที่ 2 แต่งขึ้นมาเพียงเพื่อจะกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสามให้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ที่สำคัญจำเลยที่ 2 เป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการคนที่ 2 และมีส่วนร่วมได้เข้าประชุมในเรื่องดังกล่าวด้วย จึงได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวมาโดยตรงตามหน้าที่
สำหรับการจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งตามสัญญาโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิในการประกอบกิจการบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์นั้น โจทก์ที่ 1 ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ ทอท. ในอัตราร้อยละ 15 ของราคาสินค้าที่ขายได้ แต่โจทก์ที่ 1 ได้ขออนุญาตให้โจทก์ที่ 3 ดำเนินการแทน ซึ่งได้รับอนุญาตแล้วโจทก์ที่ 3 ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนเช่นเดียวกับโจทก์ที่ 1 นั้นเอง
แต่ภายหลังข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 ตั้งร้านค้าปลอดอากรขึ้นที่ถนนรางน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยมีจุดส่งมอบสินค้าที่ทำอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 2 จุด ต่อมาโจทก์ที่ 1 ให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ไปขออนุญาตตั้งจุดส่งมอบในจุดเดียวกันอีกตามเอกสารหมาย ล.7 และ ล.8 ซึ่งก็ต้องถือว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นตัวแทนทำการแทนโจทก์ที่ 1 นั้นเอง โจทก์ที่ 3 ซึ่งเข้ามาทำสัญญากับ ทอท. แทนโจทก์ที่ 1 ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ ทอท. ร้อยละ 15 ของราคาขายสินค้าเช่นกัน
แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า โจทก์ที่ 3 จ่ายค่าตอบแทนให้ร้อยละ 15 ของร้อยละ 3 ของค่าบริการที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้รับจากโจทก์ที่ 1 ในการนำสินค้าจากถนนรางน้ำไปส่งยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงเป็นการผิดสัญญา ซึ่งภายหลัง ทอท. ได้ยกเลิกการอนุมัติให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด จัดตั้งจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ซึ่งประเด็นนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เคยแจ้งผลการตรวจสอบให้ ทอท. ทราบด้วยว่า ควรต้องได้รับค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 15 ของราคาขายตามเอกสารหมาย ล.10
ดังนั้น ข้อความที่จำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ก็เป็นข้อเท็จจริงที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง โดยมีพยานหลักฐานเป็นเอกสารยืนยันแน่ชัด โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบเกี่ยวกับการทำสัญญาของ ทอท. และได้รับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวมา มีการแจ้งข่าว แจ้งข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบเท่านั้น ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งหรือให้สัมภาษณ์ โดยการแถลงข่าวเพื่อทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหาย โดยข้อเท็จจริงที่แถลงนั้นไม่ได้มีอยู่ตามความเป็นจริงแต่อย่างใด
การให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ให้สัมภาษณ์ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่มุ่งหาข้อเท็จจริง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไปที่เจ้าหน้าที่ของ ทอท. ที่กระทำการโดยไม่สุจริตมากกว่าที่จะต้องการทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย การทำสัญญาอันจะต้องใช้บังคับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาและดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของ ทอท. เองเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องของโจทก์ทั้งสามโดยตรง
หรือการไม่ติดตั้งระบบรับรู้ข้อมูลการขายทันที หรือ POS การไม่จ่ายค่าตอบแทนให้เป็นไปตามสัญญา หากเป็นเรื่องโจทก์ทั้งสามทำผิดสัญญา ก็เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ของ ทอท. จะต้องดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามสัญญา หรือดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีความต่อศาล
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวกลับปล่อยปละละเลย รวมถึงการให้บริษัทในกลุ่มคิงเพาเวอร์เข้าร่วมประชุมในการประชุมภายในของ ทอท. จนทำให้กลุ่มคิงเพาเวอร์ ได้เปรียบผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นนั้น ต่างก็เป็นเรื่องที่กล่าวหาเจ้าหน้าที่ของ ทอท. กระทำการไม่ถูกต้องหรือกระทำการโดยทุจริตทั้งสิ้น เพียงแต่โจทก์ทั้งสามเข้ามาเป็นคู่สัญญากับทอท. ด้วย จึงทำให้ถูกพูดโยงไปถึงหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น
ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ยื่นคำร้องต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอให้พิจารณาสอบสวนการทุจริตภายใน ทอท. เรื่องที่จำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่มีเอกสารหลักฐานยืนยันแน่ชัด มีเหตุมีผลน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะบางเรื่องเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 เข้าไปเกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบ หรือเข้าร่วมในการประชุมด้วยโดยตรงเลยทีเดียว
โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่ว่าที่จำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์จะเป็นความจริงแท้แน่นอนหรือไม่ก็ตาม แต่จากพยานหลักฐานและเอกสารที่จำเลยที่ 2 ได้รับทราบข้อมูลมานั้น มีเหตุมีผลอันสมควรที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เห็นว่าเรื่องต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 2 ได้รับรู้มาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เช่น เรื่องที่สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้รับจ้างดำเนินการประเมินมูลค่าโครงการว่ามีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท หรือไม่นั้น ผู้ว่าจ้างให้ประเมิน คือ ทอท.
แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า ผู้ที่จ่ายเงินค่าจ้างให้สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับเป็นกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์เช่นนี้ หรือการประชุมภายในของ ทอท. เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดเงื่อนไขพื้นที่ และแนวคิดการใช้พื้นที่ก่อนมีการเปิดประมูลกลับมีการเชิญตัวแทนของกลุ่มคิงเพาเวอร์เข้าร่วมประชุม เพื่อเสนอแนวความคิดด้วยเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดว่า กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ย่อมได้รับรู้ข้อมูลมากกว่าผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นทำให้ได้เปรียบในการเสนอราคา และในที่สุดโจทก์ที่ 1 ก็เป็นผู้ชนะการประมูล
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่า สิ่งที่ตนให้สัมภาษณ์ไปนั้น เป็นความจริงทั้งสิ้นโดยเฉพาะในฐานะที่จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการคนที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งมีหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ จัตทำแนวทางแผนการปฏิรูปวิธีการปฏิรูป พร้อมกำหนดเวลาปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
โดยหน้าที่ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และคณะอนุกรรมาธิการจะต้องร่วมกันค้นคว้าหาข้อเท็จจริง เพื่อกำหนดแนวทาง เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้ดำเนินการในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาต่างๆ ของ ทอท. ทั้งหมดด้วย เรื่องที่จำเลยที่ 2 กล่าวให้สัมภาษณ์ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรงของจำเลยที่ 2 ทั้งสิ้น
ที่สำคัญเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ เป็นเรื่องของความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อส่วนรวม ในฐานะที่ ทอท. เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ภายหลังได้แปรสภาพมาเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็เท่ากับหน่วยงานของรัฐหรือประเทศชาติได้รับความเสียหายไปด้วย การร่วมกันรักษาปกป้องประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติย่อมเป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองดีโดยทั่วไป
ดังนั้น เมื่อข้อความที่จำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ทั้งสาม เป็นข้อเท็จจริงที่มีเหตุให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่า เป็นเรื่องที่เป็นความจริง ไม่ใช่ข้อมูลที่จำเลยที่ 2 เสกสรรปั้นแต่งเรื่องขึ้นเอง เพื่อกลั่นแกล้งกล่าวใส่ร้ายโจทก์ทั้งสามโดยไม่มีมูลเป็นความจริง ทั้งยังเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีเหตุอันทำให้จำเลยที่ 2 เชื่อได้ว่าโจทก์ทั้งสามมีส่วนร่วมกระทำการในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่ด้วย อันมีส่วนกระทบต่อสังคมโดยรวมและเป็นประโยชน์สาธารณะ จึงอยู่ในวิสัยที่ประชาชนทั่วไปจะติชมด้วยความเป็นธรรมได้
การกล่าวให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ทั้งยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งอื่นใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) จำเลยที่ 2 ย่อมได้รับความคุ้มครอง อันทำให้การกระทำโดยการให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 2 ตามฟ้องโจทก์ทั้งสามไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง” คำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ 2003/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อ 3379/2561 ลงวันที่ 13 ก.ย.2565 ระบุ
สำหรับนายยุคล วิเศษสังข์ อดีตผู้ดำเนินรายการ ‘สด ลึก จริง’ (จำเลยที่ 1) ,บริษัท สำนักข่าวที-นิวส์ จำกัด (จำเลยที่ 3) และบริษัท ไบรท์ จำกัด (จำเลยที่ 4) ซึ่งถูกฟ้องจำเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย นั้น บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และพวก (โจทก์) ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง และศาลฯอนุญาตให้ถอนฟ้อง และจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ,จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4
อ่านประกอบ :
'ศาลคดีทุจริตฯ'นัด'พยานปากสุดท้าย'ไต่สวนมูลฟ้อง คดี'ทอท.'แก้สัญญา'ดิวตี้ฟรี' ต.ค.นี้
ย้อนบันทึก'บอร์ด ทอท.' ต่อเวลาอุ้ม'สายการบิน-ดิวตี้ฟรี' พยุงรายได้ปี 65 แตะ 2 หมื่นล.
'ศาลคดีทุจริตฯ'แจ้ง'ผู้ตรวจการแผ่นดิน'ส่งผู้แทนเบิกความเป็นพยาน คดีแก้สัญญา'ดิวตี้ฟรี'
ศาลคดีทุจริตฯ เรียก 5 หน่วยงาน ให้ข้อเท็จจริง คดีฟ้อง'ทอท.'แก้สัญญา'ดิวตี้ฟรี'มิชอบ
เป็นอำนาจบอร์ด! 'ทอท.' ย้ำแก้สัญญา ‘ดิวตี้ฟรี’ ไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ
‘สคร.กลับลำ! ร่อนหนังสือแจ้ง‘ทอท.’แก้สัญญาดิวตี้ฟรี ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ
'ศาลอุทธรณ์' พิพากษากลับ ยกฟ้อง ‘ชาญชัย’ คดีหมิ่นประมาท ‘คิงเพาเวอร์’
‘สคร.’ร่อน‘หนังสือลับ’สั่ง‘ทอท.’แจงปมแก้ไขสัญญา‘ดิวตี้ฟรี-บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์’
เลื่อนนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์! คดี‘ชาญชัย’ฟ้อง‘ทอท.’แก้สัญญา'ดิวตี้ฟรี'เสียหาย 4.2 หมื่นล.
ทอท.ยอมเฉือนเนื้อซ้ำสอง? อุ้ม‘คิงเพาเวอร์-ร้านค้า’ หลังกู้ 2 หมื่นล.เติมสภาพคล่อง
ทอท.’อุ้ม‘คิงเพาเวอร์-ร้านค้า’ยกเว้นจ่าย'ผลตอบแทนขั้นต่ำ'ถึงมี.ค.66-ขยายสัญญาอีก 1 ปี
ศาลคดีทุจริตฯนัดไต่สวนฯคดี ‘อดีตปธ.บอร์ด ทอท.-พวก’ แก้สัญญาดิวตี้ฟรี นัดแรก 14 ม.ค.65
เก็บเรื่องไว้ 2 ปี! ทอท.ไม่แจ้งผลสอบ ‘จนท.’ เอื้อดิวตี้ฟรี 'คิงพาวเวอร์'-'คลัง'ลอยตัว
ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับฟ้องคดี 'บอร์ด ทอท.' แก้สัมปทานดิวตี้ฟรีมิชอบ-นัดไต่สวนฯ 4 ต.ค.