“…ทอท.ได้จัดทำประมาณการรายได้ 'กรณีมี' และ 'ไม่มี' มาตรการพยุงสถานะทางธุรกิจฯ โดยคำนวณจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ต่างๆ พบว่า หาก ทอท.ไม่มีมาตรการดังกล่าว จะส่งผลให้รายได้ในปี 2565 ของ ทอท. อยู่ที่ 17,098 ล้านบาท ในขณะที่หาก ทอท. มีมาตรการดังกล่าวรายได้ปี 2565 ของ ทอท.จะอยู่ที่ 20,136 ล้านบาท…”
...................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2565 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ชี้แจงข้อกล่าวหา กรณีแก้ไขสัญญาให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและสัญญาให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ โดยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
โดย ทอท. ชี้แจงว่า มาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการแก้ไขสัญญาให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และสัญญาให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ 'ครั้งล่าสุด' ซึ่งเป็นไปตามมติบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 ได้แก่
1.การปรับลด ‘ค่าผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ’ และมีการกำหนด ‘ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนหรือรายปี’ ให้เรียกเก็บเฉพาะ ‘ค่าผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ’ โดยให้ยกเว้น ‘การเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนหรือรายปี’ จากเดิมสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2565 เป็นสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2566
2.การปรับลด 'ค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่รายปี/รายเดือน' จากเดิมสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2565 เป็นสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2566 นั้น (อ่านประกอบ : ‘ทอท.’อุ้ม‘คิงเพาเวอร์-ร้านค้า’ยกเว้นจ่าย'ผลตอบแทนขั้นต่ำ'ถึงมี.ค.66-ขยายสัญญาอีก 1 ปี , ให้ผลตอบแทนรวมปีแรก 2.3 หมื่นล! ทอท. แจ้ง ตลท. 'คิงเพาเวอร์' กวาดเรียบ 3 ส.'ดิวตี้ฟรี-พาณิชย์')
ทอท.ได้วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ ตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ อย่างครบถ้วน และพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ
นอกจากนี้ ทอท.ได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อพิจารณา และได้รับการยืนยันจากหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ แล้วว่า กรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ
และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ.2561 (อ่านประกอบ : เป็นอำนาจบอร์ด! 'ทอท.' ย้ำแก้สัญญา ‘ดิวตี้ฟรี’ ไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ)
(ที่มา : พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายงานสรุปวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียฯ ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ของ ทอท. กรณีการ'ต่อเวลา' มาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ออกอีก 1 ปี ซึ่งนำเสนอให้ บอร์ด ทอท. พิจารณาเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 ก่อนมี บอร์ด ทอท. จะมีมติอนุมัติการต่อเวลามาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการฯ ดังนี้
@ระบุ‘ต่ออายุ’มาตรการฯช่วยเหลือ รักษาจ้างงาน 1.69 หมื่นตำแหน่ง
เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
ทอท.ได้พิจารณาในประเด็นเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยหาก ทอท.มีมาตรการพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการจะส่งผลให้สายการบินและผู้ประกอบการจะยังคงสามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้ในสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่ต่อเนื่อง ลดภาระทางด้านสังคม
นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจต่อไป
โดยตามประมาณการ หาก ทอท.มีมาตรการพยุงสภานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานของทั้งผู้ประกอบการที่มีสัญญากับ ทอท. และต่อเนื่องไปถึงผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ได้รับสิทธิต่อจากผู้ประกอบการของ ทอท. จำนวนไม่น้อยว่าประมาณ 16,920 อัตรา
และทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลาที่ได้รับมาตราการฯ ของ ทอท. รวม 3 ปี (ตั้งแต่ 1 ก.พ.2563 - 31 มี.ค.2566) เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าประมาณ 5,189 ล้านบาท
ทั้งนี้ เทียบกับกรณีหาก ทอท. ไม่มีมาตรการพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ อาจทำให้ผู้ประกอบการขอยกเลิกประกอบกิจการหรือหยุดประกอบกิจการชั่วคราว จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 49 ส่งผลให้การจ้างงานเหลือ 8,480 อัตรา (ลดลงถึง 8,940 อัตรา) และเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศเหลือประมาณ 2,600 ล้านบาท (ลดลงกว่า 2,588 ล้านบาท)
อีกทั้ง การเลิกจ้างงานดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงรายได้และความมั่นคงของประเภทการบริการอื่นๆของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การให้บริการขนส่งสาธารณะ เป็นต้น
@ชี้การต่ออายุมาตรการฯ หนุนปี 65 ‘ทอท.’ มีรายได้ 2.01 หมื่นล้าน
ความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ
ทอท.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีการใช้ประโยชน์บนที่ดินราชพัสดุของภาครัฐได้มีการพิจารณาในประเด็นความยั่งยืนทางการคลังของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ทอท. อันได้แก่ การนำส่งค่าส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุให้แก่กระทรวงการคลัง
ทอท.ได้พิจารณาแล้วว่า มาตรการพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการจะส่งผลให้สายการบินและผู้ประกอบการ จะยังคงสามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้ในสถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลให้ ทอท.ยังคงได้รับรายได้ต่างๆ จากสายการบินและผู้ประกอบการ อันส่งผลต่อเนื่องถึงการค่าส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุให้แก่กระทรวงการคลัง
ทอท.ได้จัดทำประมาณการรายได้ 'กรณีมี' และ 'ไม่มี' มาตรการพยุงสถานะทางธุรกิจฯ โดยคำนวณจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ต่างๆ พบว่า หาก ทอท.ไม่มีมาตรการดังกล่าว จะส่งผลให้รายได้ในปี 2565 ของ ทอท. อยู่ที่ 17,098 ล้านบาท ในขณะที่หาก ทอท. มีมาตรการดังกล่าวรายได้ปี 2565 ของ ทอท.จะอยู่ที่ 20,136 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า จากประมาณการรายได้ หาก ทอท.มีมาตรการพยุงสถานะทางธุรกิจฯ รายได้ของ ทอท. จะเพิ่มขึ้น 3,037 ล้านบาท เนื่องจากหาก ทอท.ให้มาตรการพยุงสถานะทางธุรกิจฯ ผู้ประกอบการจะมีความสามารถในการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน และค่าเช่าพื้นที่ให้แก่ ทอท. ส่งผลให้ ทอท.ได้รับรายได้เพิ่มเติมจากผู้ประกอบการที่ตัดสินใจไม่ยกเลิกประกอบกิจการและกลับมาประกอบกิจการ
จากประมาณการรายได้ที่กล่าวข้างต้น ในปี 2565 กรณีที่ ทอท. มีมาตรการพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ ทอท. อาจจะสามารถนำส่งเงินค่าส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุให้แก่กระทรวงการคลังได้ประมาณ 1,107 ล้านบาท
เมื่อเทียบกรณีที่ ทอท.ไม่มีมาตรการพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการฯ ทอท.อาจจะนำส่งเงินค่าส่วนแบ่งผลประโยชน์ได้เพียงประมาณ 940 ล้านบาท ซึ่งลดลงจำนวนกว่า 167 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 15
นอกจากค่าส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุที่ ทอท. นำส่งให้แก่กระทรวงการคลังข้างต้นแล้ว การที่ ทอท.มีมาตรการพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการยังคงประกอบกิจการอยู่ได้ นั้น จะส่งผลให้กระทรวงการคลังได้ประโยชน์จากรายได้อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการ ภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ประกอบการ เป็นต้น
“ในการพิจารณากำหนดมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ ทอท.ในฐานะหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 นอกจากได้พิจารณาความคุ้มค่า ตันทุน และผลประโยชน์ที่ได้รับแล้ว
ยังได้พิจารณาถึงเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ อันเป็นเจตนารมณ์ในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย” ปวีณา จริยฐิติพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนายการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด ทอท. กล่าวในการประชุมบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564
@ต่ออายุมาตรการ 1 ปี ส่งผลดีต่อ‘ทอท. มากกว่าต่ออายุ 6 เดือน
นอกจากนี้ ทอท.ได้ระบุถึงเหตุผลที่ ทอท. เลือกการ ‘ต่ออายุ’ มาตรการพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ จากเดิมสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2565 เป็นสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2566 หรือต่ออายุมาตรการฯออกไป 1 ปี แทนที่จะเลือกต่ออายุมาตรการฯเพียง 6 เดือน โดยระบุว่า
หาก ทอท.กำหนดมาตรการฯ เป็นเวลา 6 เดือน จะส่งผลให้ประมาณการรายได้ของ ทอท.ต่ำกว่าการกำหนดมาตรการฯ เป็นเวลา 12 เดือน โดยมีรายได้รวมต่ำกว่าที่ 1,481.04 ล้านบาท โดยสามารถแจกแจงรายละเอียดรายได้ของกรณี ทอท. กำหนดมาตรการเพื่อพยุงสถานะฯเป็นเวลา 12 เดือน และ 6 เดือนได้ ดังนี้
1.หาก ทอท.กำหนดมาตรการฯ เป็นเวลา 12 เดือน ประมาณการรายได้รวมปี 2565 ของ ทอท.จะอยู่ที่ 20,136.34 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทอท.มีโอกาสที่จะมีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าประมาณการรายได้ดังกล่าวสูง เนื่องจากผู้ประกอบการที่หยุดประกอบการชั่วคราวมีแนวโน้มสูงที่จะตัดสินใจกลับเข้ามาประกอบการเนื่องจากได้รับการยกเว้นค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ และได้รับส่วนลดค่าเช่าและ ‘ค่าผลประโยชน์ตอบแทนแบบร้อยละ’ ต่ออีกถึง 12 เดือน
นอกจากนี้ การกำหนดมาตรการฯ เป็นเวลา 12 เดือน ยังเป็นเงื่อนไขที่ดีที่จะทำให้ ทอท.สามารถหาผู้ประกอบการรายใหม่เข้าประกอบการทดแทนรายที่ปิดกิจการ และเติมเต็มพื้นที่ว่างเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับ ทอท. อีกด้วย
2.หาก ทอท.กำหนดมาตรการฯ เป็นเวลา 6 เดือน ผู้ประกอบการที่หยุดประกอบกิจการ ณ ปัจจุบันอาจกลับมาเปิดกิจการไม่เป็นไปตามประมาณการ จึงทำให้ประมาณการรายได้รวมปี 2565 ของ ทอท.จะอยู่ที่ 18,655.30 ล้านบาท
นอกจากจะทำให้ ทอท. มีรายได้ที่น้อยกว่าการกำหนดมาตรการฯ เป็นเวลา 12 เดือนแล้ว สำหรับผู้ประกอบการที่เปิดให้บริการแล้ว ยังมีแนวโน้มสูงที่จะปิดกิจการหลังสิ้นสุดช่วงระยะเวลามาตรการฯ 6 เดือน เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ จึงอาจทำให้รายได้ของ ทอท.ลดต่ำลงไปอีก
อีกทั้งในการหาผู้ประกอบการเพื่อเข้าประกอบกิจการใหม่ในพื้นที่ว่างของ ทอท. อาจได้จำนวนผู้ประกอบการน้อยกว่ากรณี ทอท.กำหนดมาตรการฯ เป็นเวลา 12 เดือน เนื่องจากแรงจูงใจในการเข้าประกอบกิจการลดลงจากการมีระยะเวลาในการยกเว้นและให้ส่วนลดค่าผลประโยชน์ตอบแทน ค่าเช่า และค่าบริการต่าง ๆ เพียงแต่ 6 เดือน
“ดังนั้น การกำหนดมาตรการฯ เป็นเวลา 12 เดือนจะส่งผลดีต่อ ทอท.มากกว่า อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ทางธุรกิจดีขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทอท. ได้สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือยกเลิกเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินให้เหมาะสมกับสถานการณ์และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไปได้” รายงานการประชุมบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 ระบุ
@กำหนดเงื่อนไขมาตรการที่ ‘ยืดหยุ่น’ เป็นผลดีต่อ ‘ทอท.’ มากกว่า
สำหรับประเด็นที่ว่า ทอท.ควรกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขในการสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิกเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินให้เหมาะสมกับสถานการณ์และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ชัดเจนหรือไม่นั้น
ฝ่ายบริหาร ทอท. ชี้แจงว่า จำนวนผู้โดยสาร ‘เป็นเพียงตัวเลขอ้างอิง’ ที่จะนำมาซึ่งรายได้ของผู้ประกอบการและนำส่งรายได้ให้แก่ ทอท. ต่อไป จากสภาพทางธุรกิจระหว่างและภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงไปด้วย
การกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขในการสงวนสิทธิ์ เช่น การกำหนดร้อยละของปริมาณผู้โดยสารว่า หากปริมาณผู้โดยสารฟื้นคืนถึงจำนวนหนึ่งแล้ว ทอท.จะยกเลิกการกำหนดมาตรการฯ อาจไม่เป็นผลดีต่อ ทอท. เนื่องจากในสถานการณ์ที่มีความผันผวนสูงเช่นนี้ ปริมาณผู้โดยสารอาจไม่สะท้อนถึงปริมาณรายได้ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณการใช้จ่ายของผู้โดยสารที่จะเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้
ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการอาจมีรายได้และความสามารถเพียงพอในการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้แก่ ทอท. ก่อนที่ปริมาณผู้โดยสารจะสูงเท่าเงื่อนไขที่กำหนดการกำหนดเงื่อนไขด้วยจำนวนผู้โดยสารดังกล่าว จึงไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข และยกเลิกมาตรการฯ
ปัจจุบัน ทอท.มีการสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิกเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินให้เหมาะสมกับสถานการณ์และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่แล้ว
จึงทำให้ในกรณีที่ ทอท.พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ประกอบการมีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท.แล้ว ทอท.สามารถยกเลิกมาตรการฯ ได้ก่อนที่จะมีจำนวนผู้โดยสารตามเงื่อนไข การไม่ระบุเงื่อนไขที่อ้างอิงกับข้อมูลใดไว้อย่างชัดเจน จึงเป็นประโยชน์กับ ทอท. มากกว่าการระบุเงื่อนไขที่ชัดเจนไว้ในมาตรการฯ
@‘บิ๊ก ทอท.’ อ้างข้อมูล ‘IATA’ ระบุผู้โดยสารทั่วโลกกลับสู่ภาวะปกติในปี 66
ขณะที่ นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ระบุว่า แม้ภาครัฐได้มีนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 แต่ผู้ประกอบการจำนวนมากยังคงหยอยขอยกเลิกการประกอบกิจการ และ/หรือยังไม่มีความมั่นใจที่จะพร้อมกลับมาประกอบกิจการอยู่เป็นจำนวนมาก อันส่งผลกระทบต่อการให้บริการสาธารณะอย่างรุนแรง
ประกอบกับสายการบินและผู้ประกอบการยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถฟื้นคืนธุรกิจได้อย่างเต็มที่ภายในปี 2565
(นิตินัย ศิริสมรรถการ)
โดยในระยะเวลาที่ผ่านมา สายการบินและผู้ประกอบการมีความประสงค์ขอให้ ทอท.ขยายระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือ รวมถึงการขยายอายุสัญญาต่างๆ ออกไปอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่สายการบินและผู้ประกอบการยังไม่มีความมั่นใจในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และยังมีรายจ่ายในการกลับมาเพื่อประกอบกิจการอีกจำนวนมาก
โดยตามการคาดการณ์ของสมาคมชนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) พบว่า จำนวนผู้โดยสารทางอากาศรวมทั่วโลกในปี 2565 จะยังคงต่ำกว่าปี 2562 และจะยังคงไม่ฟื้นคืนเท่าระดับปกติจนถึงปี 2566
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของธุรกิจการบินและท่าอากาศยานให้ยังคงสามารถประกอบธุรกิจต่อไปใด้ จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินงานของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง เพิ่มเติม
จากนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อสิ้นสุดมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการฯในวันที่ 31 มี.ค.2566 ซึ่งจะทำให้ในปี 2566 ทอท.จะมีรายได้ ‘ค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนหรือรายปี’ จากสัมปทานร้านค้าดิวตี้ฟรีและสัมปทานบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในสนามบิน 6 แห่ง ‘ขั้นต่ำ’ 2.4 หมื่นล้านบาท/ปี นั้น
จะทำให้ ‘ทอท.’ จะฟื้นกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำ ‘กำไร’ และนำส่งรายได้เข้ารัฐได้อีกครั้งหรือไม่ หลังจากปี 2564 (1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2564) ทอท. มีผลขาดทุนสุทธิ 16.322 หมื่นล้านบาท ขณะที่ข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 1 ของปี 2565 (1 ต.ค.2564-31 ธ.ค.2564) ทอท.มีผลขาดทุนสุทธิอีก 4,271 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
'ศาลคดีทุจริตฯ'แจ้ง'ผู้ตรวจการแผ่นดิน'ส่งผู้แทนเบิกความเป็นพยาน คดีแก้สัญญา'ดิวตี้ฟรี'
ศาลคดีทุจริตฯ เรียก 5 หน่วยงาน ให้ข้อเท็จจริง คดีฟ้อง'ทอท.'แก้สัญญา'ดิวตี้ฟรี'มิชอบ
เป็นอำนาจบอร์ด! 'ทอท.' ย้ำแก้สัญญา ‘ดิวตี้ฟรี’ ไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ
‘สคร.กลับลำ! ร่อนหนังสือแจ้ง‘ทอท.’แก้สัญญาดิวตี้ฟรี ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ
'ศาลอุทธรณ์' พิพากษากลับ ยกฟ้อง ‘ชาญชัย’ คดีหมิ่นประมาท ‘คิงเพาเวอร์’
‘สคร.’ร่อน‘หนังสือลับ’สั่ง‘ทอท.’แจงปมแก้ไขสัญญา‘ดิวตี้ฟรี-บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์’
เลื่อนนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์! คดี‘ชาญชัย’ฟ้อง‘ทอท.’แก้สัญญา'ดิวตี้ฟรี'เสียหาย 4.2 หมื่นล.
ทอท.ยอมเฉือนเนื้อซ้ำสอง? อุ้ม‘คิงเพาเวอร์-ร้านค้า’ หลังกู้ 2 หมื่นล.เติมสภาพคล่อง
ทอท.’อุ้ม‘คิงเพาเวอร์-ร้านค้า’ยกเว้นจ่าย'ผลตอบแทนขั้นต่ำ'ถึงมี.ค.66-ขยายสัญญาอีก 1 ปี
ศาลคดีทุจริตฯนัดไต่สวนฯคดี ‘อดีตปธ.บอร์ด ทอท.-พวก’ แก้สัญญาดิวตี้ฟรี นัดแรก 14 ม.ค.65
เก็บเรื่องไว้ 2 ปี! ทอท.ไม่แจ้งผลสอบ ‘จนท.’ เอื้อดิวตี้ฟรี 'คิงพาวเวอร์'-'คลัง'ลอยตัว
ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับฟ้องคดี 'บอร์ด ทอท.' แก้สัมปทานดิวตี้ฟรีมิชอบ-นัดไต่สวนฯ 4 ต.ค.