"...ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด (ศบศ.) ครั้งที่ 5/2563 รายงานความคืบหน้า ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. จนถึง 17 พ.ย. มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 9.27 ล้านสิทธิ์ จากทั้งหมด 10 ล้านสิทธิ์ ปัจจุบันมียอดใช้จ่ายรวม 18,716.3 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายจากส่วนประชาชน 9,541.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 202 บาทต่อคน..."
---------------------------------------------------------
หลังจากรัฐบาลทุ่มงบประมาณ 30,000 ล้านบาท เดินหน้ากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ดูเหมือนว่าจะได้เสียงตอบรับกลับมาเป็นอย่างดี
โดยโครงการนี้ได้เปิดให้ประชาชน 10 ล้านคน ลงทะเบียนผ่าน www.คนละครึ่ง.com เพื่อให้ภาครัฐร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาทตลอดโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก และผู้ประกอบการรายย่อยโดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่ แผงลอย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยืนยันว่า รัฐบาลกำลังตัดสินใจเดินหน้าโครงการในระยะที่ 2 เพราะทุกคนตอบรับเป็นอย่างดี และเป็นการช่วยเหลือผ่อนเบาประชาชนได้อย่างมาก
"ที่ผ่านมาผมไปปฏิบัติภารกิจที่ จ.นครสวรรค์ ได้รับคำชื่นชม ทุกคนมีรายได้เพิ่มขึ้น ร้านไหนไม่ได้ขึ้นทะเบียน ขายเช้า เย็น ยันกลางคืนยังขายไม่หมด หากร้านไหนขึ้นทะเบียน ขายหมดตั้งแต่บ่าย ดังนั้นเราจะเปิดระยะต่อไป กำลังพิจารณาอยู่ ขอให้รอหน่อย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยืนยันว่า โครงการ ‘คนละครึ่ง’ จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ม.ค.2564 เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงทำให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าขยายตัวได้ 3.5-4.5% ต่อจีดีพี (อ้างอิงข่าว : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/909797)
ทำไมรัฐบาลถึงตัดสินใจเดินหน้า ‘คนละครึ่ง’ ในระยะที่ 2 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอ ดังนี้
@9.27 ล้านสิทธิ์ใช้จ่าย 1.8 หมื่นล้านใน 1 เดือนครึ่ง
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด (ศบศ.) ครั้งที่ 5/2563 รายงานความคืบหน้า ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. จนถึง 17 พ.ย. มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 9.27 ล้านสิทธิ์ จากทั้งหมด 10 ล้านสิทธิ์ ปัจจุบันมียอดใช้จ่ายรวม 18,716.3 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายจากส่วนประชาชน 9,541.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 202 บาทต่อคน
ส่วนร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 717,549 ร้าน แบ่งเป็นกิจการที่ลงทะเบียนสำเร็จ 417,138 ร้าน รอดำเนินการตรวจสอบ 206,620 ร้าน และเป็นกิจการไม่เข้าข่ายเงื่อนไข 6,102 ร้าน
ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมากที่สุด คือ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 228,810 ร้าน ร้านธงฟ้า 44,278 ร้าน ร้านโอทอป 15,240 ร้าน และร้านค้าทั่วไป 128,810 ร้าน
กิจการที่ลงทะเบียนส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง 275,617 ร้าน รองลงมาอยู่ภาคใต้ 142,396 ร้าน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 135,612 ร้าน
โดยการใช้จ่ายส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในร้านอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็น 31% ร้านค้าทั่วไป 30% ร้านธงฟ้า 28% และร้านค้าโอทอป 11%
ทั้งนี้การประชุมวันดังกล่าว นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ ให้กระทรวงการคลังเร่งรัดเปิดให้มีการลงทะเบียนให้ครบ 10 ล้านสิทธิ์โดยเร็ว พร้อมให้พิจารณาข้อเสนอการต่ออายุโครงการในระยะที่ 2 โดยมีหลักการสำคัญ คือ การกระจายสิทธิและเปิดโอกาสให้ร้านค้ารายย่อย และประชาชนที่ไม่เคยได้รับสิทธิให้เข้าถึงโครงการได้
(รายงานการประชุม ศบศ. ครั้งที่ 5/2563)
@คาดเงินหมุนในระบบ 6 หมื่นล้านทำจีดีพีโต 0.18%
สำหรับโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ใช้งบประมาณ 30,000 ล้านบาทจากแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 400,000 ล้านบาท อันมีที่มาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ถูกนำเสนอที่ประชุม ศบศ.ครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2563
จากนั้นได้มีการปรับปรุงรายละเอียดอยู่หลายครั้ง และนำเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธานในการพิจารณา
เดิมที สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะเจ้าของโครงการ ได้เสนอรายละเอียดโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ภายใต้วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ภาครัฐร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป จำกัดสิทธิ์ละไม่เกิน 3,000 บาท แต่มีการปรับปรุงรายละเอียด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายให้มากขึ้น และหวังผลถึงบวกให้กับตัวเลขทางเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2563
อาทิ เปลี่ยนจากจำกัดการใช้จ่าย 100 บาทต่อคนต่อวัน เป็น 150 บาทต่อคนต่อวัน , เปลี่ยนจากเปิดรับสมัครถึงเดือนตุลาคม เป็นสิ้นสุดเดือนธันวาคม รวมถึงการกำหนดระยะเวลาโครงการจากเดิม ให้ใช้ภายใน ต.ค. - พ.ย. ถูก เปลี่ยนเป็น ต.ค. - ธ.ค.
โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน 10 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างน้อย 100,000 ร้านค้า และคาดว่าจะสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 60,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ขยายตัว 0.18%
@โพลชี้ติดอันดับโครงการเพิ่มความสุข
ดุสิตโพล เผยผลสำรวจความเห็นประชาชน ‘อยู่อย่างไร? ให้มีความสุข ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง’ เมื่อวัน 8 พ.ย. ถามความเห็น 1,374 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-6 พ.ย. พบว่ามาตรการของรัฐที่เพิ่มความสุข คือ ลดค่าสาธารณูปโภค 63.81% , ชดเชยรายได้ 52.68% , พักชำระหนี้ 44.05% และโครงการคนละครึ่ง 36.03%
ขณะที่ซูเปอร์โพลยังเผยผลสำรวจ ‘คนละครึ่ง พึ่งได้’ เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2563 โดยสำรวจความเห็นประชาชน 1,121 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 11-14 พ.ย.2563 พบว่า 93.6% เห็นว่าสามารถช่วยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ , 90.6% คิดว่าคนออกแบบโครงการเก่ง และ 89.8% เดินตลาดเห็นคนจับจ่ายใช้สอยอย่างมีความสุข
ส่วนนิด้าโพล เผยผลสำรวจ ‘รับเงินรัฐ สนับสนุนรัฐบาลหรือเปล่า?’ เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2563 โดยสำรวจความเห็นประชาชน 1,320 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.2563 ซึ่งมีคำถามว่า การเข้าร่วมโครงการที่ได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากรัฐบาลในปี 2563 พบว่า 38.26% ไม่เคยเข้าร่วมโครงการใดๆ , 32.58% เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง , 25.68% เข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ 3.48% เข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืน เพื่อลดหย่อนภาษี
ทั้งหมดเป็นความสำเร็จของโครงการ 'คนละครึ่ง' ที่ยังต้องตามดูกันต่อว่า ในเฟสต่อไปจะส่งผลลัพธ์เช่นเดิมหรือไม่ และการแจกเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคจะทำให้เศรษฐกิจในปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน
ข่าวประกอบ :
ไฟเขียว'คนละครึ่ง'แจก 3 พันให้ 10 ล้านคนกระตุ้นบริโภคในประเทศ เริ่มลงทะเบียน 16 ต.ค.
เปิดลงทะเบียน'คนละครึ่ง'รอบสอง 11 พ.ย.หลังตัดสิทธิ์วันแรกแล้ว 1.9 ล้านคน
นักเศรษฐศาสตร์ มธ. หนุนเดินหน้า ‘คนละครึ่ง’กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง - ผู้ค้ารายย่อยได้ประโยชน์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/