‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย.64 ขยายตัว 1.25% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เหตุ ‘น้ำมัน-สุกร-ไข่ไก่’ ราคาเพิ่มขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังขยายตัวได้ 0.52% สะท้อนประชาชนยังมีกำลังซื้อ
....................
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือน มิ.ย.2564 ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย.2564 ขยายตัว 1.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย.2564 นั้น เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.2564 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวที่ 2.44%
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. ได้แก่ 1.ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง แต่ยังมีอิทธิพลสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวได้ 2.ราคาอาหารสดบางชนิดยังขยายตัว โดยเฉพาะเนื้อสุกร ไข่ไก่ และผลไม้สด เนื่องจากยังมีความต้องการจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีการระบาดในสุกร และปลดระวางแม่ไก่ และ3.ราคาน้ำมันพืชเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
ส่วนปัจจัยทอนที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. ขยายตัวไม่มากนัก ได้แก่ 1.มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา 2.ราคาอาหารสดบางประเภทมีราคาลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวเหนียว และผักสด 3.ราคาเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ลดลง เช่น น้ำดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูปที่ลดลง เพราะมีการส่งเสริมการขาย 4.เครื่องนุ่งห่มและรองเท้าที่มีราคาลดลงในช่วงโควิด และ 5.หมวดบันเทิงและการศึกษาที่ราคาลดลงในช่วงโควิดเช่นกัน
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2564) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยขยายตัว 0.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกระทรวงพาณิชน์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2564 จะขยายตัวที่ 0.7-1.7% ซึ่งเป็นไปตามประมาณการเดิม ภายใต้สมมติฐานว่า เศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัว 1.5-2.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน มิ.ย.2564 พบว่าขยายตัวที่ 0.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่อัตราเงินเฟ้อขยายตัว 0.49% ซึ่งเป็นสะท้อนถึงกำลังซื้อของประชาชนที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2564) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ 0.27%
นายวิชานัน ระบุว่า การที่รัฐบาลไทยมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น มาตรการลดค่าไฟฟ้า ลดค่าไฟฟ้า ลดค่าเชื้อเพลิง มาตรการภาษี มาตรการควบคุมราคา มาตราการอุดหนุนครัวเรือน และมาตรการอุดหนุนผู้ประกอบการ ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อของโลกที่ขยายตัวสูงถึง 3-4% แล้ว
อ่านประกอบ :
เงินเฟ้อทั่วไป เม.ย.พุ่ง 3.41% สูงสุดรอบ 8 ปี 4 เดือน-ห่วงโควิดทำเศรษฐกิจสะดุด
เงินเฟ้อทั่วไปมี.ค.ลบ 0.08% หดน้อยสุดรอบ 13 เดือน-รัฐเผยเก็บรายได้ลด 14.7%
รัฐช่วยค่าไฟฟ้า-ประปา! ฉุดเงินเฟ้อทั่วไปก.พ.ลบ 1.17% หดต่อเป็นเดือนที่ 12
คุมโควิดระบาด-ท่องเที่ยวหด! ฉุดจับจ่ายชะลอตัว- เผยเงินเฟ้อ ม.ค.ลบ 0.34%
4 ปัจจัยกระทบกำลังซื้อ! ‘พาณิชย์’ คาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 64 ขยายตัว 0.7-1.7%
อานิสงส์'คนละครึ่ง-ประกันรายได้'! เงินเฟ้อพ.ย.หดน้อยสุดรอบ 9 เดือน-แนะรัฐเข็นเมกะโปรเจกต์
ศบศ.เคาะ'คนละครึ่ง'เฟส 2 แจกเพิ่ม 5 ล้านสิทธิ์ ขยายวงเงิน 3,500 บาทใช้ถึงสิ้น มี.ค.64
จองสิทธิ์9.27ล้านคนใช้จ่าย1.8หมื่นล.!ผลสำเร็จ‘คนละครึ่ง’ก่อนรัฐบาลเปิดเฟสสอง 1 ม.ค.64
เงินเฟ้อต.ค.ลบ 0.5%! พณ.ชี้‘คนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืน’ไม่กระทบราคา-กกพ.ลดค่าไฟฟ้า 2.89 สต.
ธปท.ย้ำเดินหน้านโยบายการเงินแบบ ‘ยืดหยุ่น’ หลังเฟดเปลี่ยนใช้ ‘เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย’
กำลังซื้อในประเทศฟื้น! ดันเงินเฟ้อพื้นฐานพลิกบวก 0.39%-สะท้อนเศรษฐกิจดีขึ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/