‘พาณิชย์’ เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมี.ค. ติดลบ 0.08% หดตัวน้อยสุดในรอบ 13 เดือน มองตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นไป บวกต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี ขณะที่ ‘สศค.’ ระบุ 5 เดือนแรกปีงบ 64 รัฐจัดเก็บรายได้สุทธิ 8.42 แสนล้านบาท ลดลง 14.7%
......................
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการประจำเดือนมี.ค.2564 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมี.ค.2564 หดตัว 0.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 13 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 14 เดือน
“อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมี.ค.2564 ยังคงติดลบ แต่ติดลบในอัตราค่อนข้างต่ำมาก สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง” นายวิชานันระบุ
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันพืชและเนื้อสุกรยังคงมีราคาสูง โดยเนื้อสุกรปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับต้นทุนในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มอาหารสดยังหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยลดลง 1.06% ตามการลดลงของราคาข้าวสาร ไก่สด ไข่ไก่ และผักสด รวมทั้งค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ปรับลดลงตามมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่จะสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค.2564
ส่วนสินค้าในหมวดอื่นๆยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตสินค้า การจัดโปรโมชั่น และอุปสงค์ที่เกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
สำหรับไตรมาสแรกของปี 2564 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ 0.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายวิชานัน กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นไป อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาเป็นบวก และบวกไปจนถึงสิ้นปี 2564 โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 ปี 2564 อัตราเงินเฟ้อจะบวกค่อนข้างมาก เนื่องจากฐานปีที่แล้วต่ำ โดยราคาน้ำมันจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากหรือเพิ่มขึ้นน้อย โดยทั้งนี้ 2564 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ 0.7-1.7% หรือมีค่ากลางอยู่ที่ 1.2%
วันเดียวกัน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยแพร่รายงานภาวะเศรษฐกิจประจำสัปดาห์ (29 มี.ค.-2 เม.ย.2564) พบว่า ในช่วง 5 เดือนของปีงบ 2564 (ต.ค.63-ก.พ.2564) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) 8.42 แสนล้านบาท หรือลดลง 14.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในเดือนก.พ.2564 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิได้เพียง 1.32 แสนล้านบาท หรือลดลง 22.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ในเดือนก.พ.2564 รัฐบาลจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ณ ราคาคงที่ ลดลง 18.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศหดตัวสูงถึง 35.5% ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 รัฐบาลจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง 12.8%”รายงานข่าวระบุ
ขณะที่ 5 เดือนของปีงบ 2564 (ต.ค.63-ก.พ.2564) การเบิกจ่ายงบประมาณอยู่ที่ 1.406 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับ 5 เดือนแรกของปีงบ 2564 (ต.ค.63-ก.พ.2564) รัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณ 4.8 แสนล้านบาท มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 3.86 แสนล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนก.พ.2564 อยู่ที่ 5.16 แสนล้านบาท ส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.พ.2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 8.42 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 53.2% ของจีดีพี หากเทียบกับเดือนก่อนพบว่าหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 2.26 แสนล้านบาท
“สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 60% ของจีดีพี โดยหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว 84.5% ของยอดหนี้ และหนี้ส่วนใหญ่หรือ 98.3% ของยอดหนี้สาธารณะเป็นหนี้ในประเทศ” สศค.ระบุ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือหนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาส 4/2563 พบว่า ครัวเรือนไทยมีหนี้สินทั้งสิ้น 14.02 ล้านบาท หรือคิดเป็น 89.3% ของจีดีพี เทียบกับ ณ ไตรมาส 3/2563 ที่ครัวเรือนไทยมีหนี้สินทั้งสิ้น 13.77 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 86.6% ของจีดีพี
ทั้งนี้ หนี้สินครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นแทบจะทุกกลุ่ม ทั้งหนี้สินที่กู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับเงินฝาก สินเชื่อบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงการกูยืมจากโรงรับจำนำ เป็นต้น
(ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย)
อ่านประกอบ :
รัฐช่วยค่าไฟฟ้า-ประปา! ฉุดเงินเฟ้อทั่วไปก.พ.ลบ 1.17% หดต่อเป็นเดือนที่ 12
คุมโควิดระบาด-ท่องเที่ยวหด! ฉุดจับจ่ายชะลอตัว- เผยเงินเฟ้อ ม.ค.ลบ 0.34%
4 ปัจจัยกระทบกำลังซื้อ! ‘พาณิชย์’ คาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 64 ขยายตัว 0.7-1.7%
อานิสงส์'คนละครึ่ง-ประกันรายได้'! เงินเฟ้อพ.ย.หดน้อยสุดรอบ 9 เดือน-แนะรัฐเข็นเมกะโปรเจกต์
ศบศ.เคาะ'คนละครึ่ง'เฟส 2 แจกเพิ่ม 5 ล้านสิทธิ์ ขยายวงเงิน 3,500 บาทใช้ถึงสิ้น มี.ค.64
จองสิทธิ์9.27ล้านคนใช้จ่าย1.8หมื่นล.!ผลสำเร็จ‘คนละครึ่ง’ก่อนรัฐบาลเปิดเฟสสอง 1 ม.ค.64
เงินเฟ้อต.ค.ลบ 0.5%! พณ.ชี้‘คนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืน’ไม่กระทบราคา-กกพ.ลดค่าไฟฟ้า 2.89 สต.
ธปท.ย้ำเดินหน้านโยบายการเงินแบบ ‘ยืดหยุ่น’ หลังเฟดเปลี่ยนใช้ ‘เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย’
กำลังซื้อในประเทศฟื้น! ดันเงินเฟ้อพื้นฐานพลิกบวก 0.39%-สะท้อนเศรษฐกิจดีขึ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/