‘พาณิชย์’ เผยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนก.ค. พลิกบวก 0.39% จากเดือนก่อนที่ติดลบ 0.05% สะท้อนกำลังซื้อในประเทศฟื้นตัว-เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างช้าๆ ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบ 0.98% คาดทั้งปี 63 ติดลบ 1.5% ถึงติดลบ 0.7%
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการประจำเดือนก.ค.63 ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ค.63 อยู่ที่ 101.99 หดตัว 0.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.63 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัว 1.57% โดยมีสาเหตุสำคัญ 4 เรื่อง ประกอบด้วย
1.ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นและเริ่มทรงตัว ส่งผลให้อัตราการหดตัวของราคาพลังงานในเดือนนี้ลดลง 2.ราคาอาหารสดกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 3 เดือน ตามความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่มีการปลดล็อกดาวน์ ประกอบกับมีการเตรียมตัวเปิดภาคเรียนใหม่ และมีดีมานด์จากฝั่งส่งออก เช่น ไก่ และหมู จึงมีส่วนในการดึงราคาในประเทศเพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังคงดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ราคาสูงเกินไป
3.มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ประปา ได้สิ้นสุดลง ทำให้ราคาในเดือนก.ค.63 กลับสู่ภาวะปกติ และ4.ห้างร้านต่างๆมีการจัดโปรโมชั่นด้านราคาสินค้าอุปโภคบริโภคลดน้อยลง โดยเฉพาะในหมวดอาหารบริโภคนอกบ้าน แต่ไม่ได้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาแต่อย่างใด
"การปรับตัวดีขึ้นของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นั้น สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์และรถยนต์เชิงพาณิชย์ ชี้ว่าปัจจัยด้านอุปสงค์ในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญของการปรับตัวดีขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้อย่างมีนัยสำคัญ" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 7 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.63) ลดลง 1.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 63 ที่ -1.5% ถึง -0.7% หรือมีค่ากลางอยู่ที่ -1.1%
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 102.92 เพิ่มขึ้น 0.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.41% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.63 ที่ติดลบ 0.05% เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นตามกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ 7 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.63) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 0.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
"เงินเฟ้อพื้นฐานที่กลับมาเป็นบวก สะท้อนว่าการบริโภคและกำลังซื้อเริ่มฟื้นตัว ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ในขณะที่ดัชนีฯทุกตัวทั้งเงินเฟ้อ (CPI) ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง (CMI) ในเดือนก.ค.63 กลับมาเป็นบวกเมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.63 ทำให้เห็นได้ว่าเศรษฐกิจเข้ามาสู่ช่วงการฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ยังไม่ใช่ขาขึ้นแบบที่ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วหรือในเวลาอันใกล้นี้" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
ส่วนแนวโน้มอัตราอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนส.ค.63 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น มาตรการรัฐที่เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ความผันผวนของราคาพลังงานโลก และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจไว้วางใจได้และยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
น.ส.พิมพ์ชนก ยังกล่าวว่า ในส่วนสถานการณ์ภัยแล้งนั้น ขณะนี้ความกังวลเริ่มลดลง แต่สิ่งที่ต้องติดตาม คือ อาจมีสถานการณ์น้ำท่วมในบางจังหวัดเข้ามาแทน ซึ่งจะทำให้ผักบางส่วนมีการเน่าเสีย และส่งผลให้ราคาผักเพิ่มขึ้นตามมา โดยได้มีการรายงานเรื่องนี้ให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์รับทราบแล้ว
อ่านประกอบ :
ธปท.ร่อนจม.เปิดผนึก! คาดเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายไตรมาส 2/64 แนะรัฐมุ่งจ้างงาน-ช่วย SMEs
เงินเฟ้อพื้นฐานลบ 0.05%! ‘พาณิชย์’ เผยหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี 8 เดือน
ไทยเข้าภาวะเงินฝืด! พณ.เผยเงินเฟ้อทั่วไปลบติดต่อกัน 3 เดือน-พ.ค.หด 3.44% สูงสุดรอบ 10 ปี
เปิดรายงานกนง. : มองศก.ไทยหดตัวเกินคาด-กังวลบาทแข็ง-ห่วงตกงานถาวรหลังโควิด
ทั่วโลกอัดฉีดฟื้นเศรษฐกิจ ‘ยังไม่เห็นผล’ ส่งออกไทย รอสร่าง ‘ไข้โควิด’ ปีหน้า
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/