‘พาณิชย์’ ประกาศราคาอ้างอิงโครงการ ‘ประกันรายได้ชาวนา’ งวดที่ 1 ชดเชย ‘ส่วนต่าง’ ข้าวเปลือกเจ้า 1,934 บาท/ตัน ขณะที่ ‘ข้าวหอมมะลิ’ ชดเชย 4,135 บาท/ตัน เผย ‘ธ.ก.ส.’ เริ่มโอนเงินชดเชยส่วนต่างให้ชาวนาสัปดาห์หน้า
..................................
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีมติเห็นชอบให้คงหลักการการกำหนดผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ แหล่งที่มาของราคา และการคำนวณราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้ ปีที่ 1 และปีที่ 2
โดยการคิดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงจะเฉลี่ยมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ ราคาข้าวเปลือกที่กรมการค้าภายในสืบ ราคาข้าวเปลือกจากสมาคมโรงสี และราคาข้าวเปลือกที่คำนวณจากราคาข้าวสาร ซึ่งการคำนวณราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงจะใช้ราคารายวันย้อนหลัง 7 วัน จากทั้ง 3 แหล่งมาเฉลี่ย เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงที่ได้เป็นปัจจุบัน
พร้อมกันนั้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงงวดที่ 1 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ต.ค.2564 จะใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลังระหว่างวันที่ 5-14 ต.ค.2564 โดยได้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและชดเชยส่วนต่างข้าวแต่ละชนิด ดังนี้
-ข้าวเปลือกหอมมะลิ (ความชื้นไม่เกิน 15%) 10,864.23 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 4,135.77 บาท
-ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ (ความชื้นไม่เกิน 15%) 10,407.75 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 3,595.25 บาท
-ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี (ความชื้นไม่เกิน 15%) 9,947.87 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 1,052.13 บาท
-ข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้นไม่เกิน 15%) 8,065.38 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 1,934.62 บาท
-ข้าวเปลือกเหนียว (ความชื้นไม่เกิน 15%) 7,662.53 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 4,337.47 บาท
“โครงการประกันรายได้ได้กำหนดราคาประกันที่ความชื้นที่ 15% เรียกข้าวแห้ง แต่ปัจจุบันเกษตรกรจะเกี่ยวสดและนำไปจำหน่าย ซึ่งจะมีความชื้นสูงประมาณ 28-30% เรียกข้าวเปียก เมื่อหักความชื้นตามน้ำหนักไปแล้วก็จะได้ราคาที่ใกล้เคียงกัน เช่น ข้าวเปลือกเจ้า เกษตรกรจำหน่ายได้ 6,200-6,400 บาท/ตัน เมื่อหักความชื้นแล้วก็จะเป็นข้าวแห้งที่ประมาณ 8,000-8,100 บาท/ตัน” นายวัฒนศักย์กล่าว
สำหรับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง งวดที่ 2 (เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 15-21 ต.ค. 2564) และงวดที่ 3 (เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 22-28 ต.ค.2564) คณะอนุกรรมการฯ ยังไม่มีมติเห็นชอบ โดยจะได้พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 5 พ.ย.2564 และเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติแล้ว กรมการค้าภายในจะได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับทราบผ่านสื่อต่างๆ และเสียงตามสายในพื้นที่ให้เกษตรกรได้รับทราบโดยทั่วกันต่อไป
ส่วนการโอนเงินส่วนต่างงวดแรกตามโครงการประกันรายได้ปี 2564/65 ธ.ก.ส. จะดำเนินการได้ภายหลังจาก ครม. ได้รับทราบผลการหารือเกี่ยวกับอัตราต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส. ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2564 ซึ่งกรมการค้าภายในได้จัดให้มีการหารือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2564 และจะได้นำเสนอในการประชุม ครม.เพื่อรับทราบในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ การจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ในปีที่ 3 ก็คงหลักการเช่นเดิม โดย ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าไปยังบัญชีของเกษตรกรภายใน 3 วันทำการหลังจากที่ได้มีการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเช่นเดียวกับปี 1 และปี 2
ด้านสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานว่า ในเดือน ก.ย.2564 ไทยส่งออกข้าวได้ 6.38 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 10,867 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.2564) ไทยส่งออกได้ทั้งสิ้น 3.81 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 69,552 ล้านบาท (2,235.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยปริมาณส่งออกลดลง 6.6% และมูลค่าลดลง 18.3% เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีการส่งออกปริมาณ 4.08 ล้านตัน มูลค่า 85,153 ล้านบาท (2,724.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ )
สมาคมฯ ยังคาดการณ์ว่า ในเดือน ต.ค.2564 ไทยจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 7 แสนตัน เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญในแถบแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย ยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยสต็อกข้าวที่ลดลงและเตรียมไว้ใช้ในช่วงเทศกาลปลายปีนี้ ประกอบกับราคาข้าวของไทยยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ จึงคาดว่าการส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งจะยังไปได้ดี
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯคาดว่าการส่งออกข้าวหอมมะลิจะชะลอลง แม้ว่าราคาจะปรับลดลงมาพอสมควรแล้ว เนื่องจากผู้ซื้อบางส่วนรอดูผลผลิตข้าวฤดูนาปีที่ใกล้ออกสู่ตลาดในเดือนหน้า ประกอบกับปัญหาด้านโลจิสติกส์ทั้งตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนและค่าระวางเรือที่สูงขึ้นยังไม่คลี่คลายไปในทางที่ดี ทำให้เป็นอุปสรรคในการส่งมอบสินค้า
สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวไทยในช่วงนี้ค่อนข้างทรงตัว ท่ามกลางภาวะค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นจากการที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ โดยราคาข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ 403 ดอลลาร์หรัฐ/ตัน ขณะที่ข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 433-437, 358-362 และ 363-367 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตามลำดับ ส่วนข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 406 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของอินเดีย และปากีสถานอยู่ที่ 353-357 และ 383-387 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตามลำดับ
อ่านประกอบ :
ภาระหนี้ชนเพดาน! เบื้องหลังโยก'ประกันราคาข้าว'ใช้งบ 65-รัฐหมุนเงินอุ้มอีก 1.2 แสนล.
ครม.เคาะประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน ‘ข้าว-มันฯ-ข้าวโพด’ อัดฉีดงบ-สินเชื่อ 1.38 แสนล.
เท 1.87 แสนล้านอุ้มชาวนา! ‘นบข.’ เคาะประกันรายได้-ช่วยต้นทุน-มาตรการพยุงข้าวเปลือก
จับสัญญาณข้าวไทย! ส่งออกฟื้น-ราคาในประเทศร่วง เทงบประกันรายได้พุ่ง 1.4 แสนล.
เทียบนโยบาย! ย่างเข้าปีที่ 3 ประกันรายได้ชาวนา งบบาน-อุดหนุนน้อยกว่า ‘จำนำข้าว’
ข้าวเปลือกดิ่งรัฐจ่ายเพิ่ม! นบข.เคาะขยายวงเงินประกันรายได้ชาวนาเป็น 4.68 หมื่นล้าน
ยุคข้าวไทย‘โรยรา’! ส่องงบประกันรายได้ 'รบ.บิ๊กตู่' 2 ปี 2.2 แสนล.-‘นักการเมือง..ชาวนาชอบ’
ข้าวไทยแพง! 2 สมาคมฯคาดปีนี้ส่งออก 6 ล้านตัน-ชาวนาปลื้ม 'ประกันรายได้' แต่ห่วงถูกกดราคา
เท 6.1 หมื่นล้าน! ครม.เคาะประกันรายได้ ‘ชาวนา-สวนยาง’-ช่วยค่าจัดการข้าวครัวละ 1 หมื่นบาท
อุ้ม ‘มันฯ-ข้าวโพด-ยาง’! ครม.เคาะประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน 1.44 หมื่นล้าน
รัฐค้างเงิน ธ.ก.ส.เพียบ! หนี้จำนำข้าวเหลือ 3.37 แสนล้าน-พบ 1 ปี ‘บิ๊กตู่’ เพิ่มอีก 9.3 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/