ครม.ไฟเขียวโครงการประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน พืช 3 ชนิด ‘ข้าว-มัน-ข้าวโพด’ อัดฉีดงบประมาณ-วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 1.38 แสนล้าน ดูแลเกษตรกรรวม 5.66 ล้านครัวเรือน
..............................
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรและมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาพืช 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564/65 วงเงินรวม 2.7 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกรผู้ปลูกพืชทั้ง 3 ชนิด รวม 5.66 ล้านครัวเรือน ประกอบด้วย
1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 วงเงิน 13,604 ล้านบาท เพื่อดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกว่า 4.68 ล้านคน
ส่วนราคาชดเชยส่วนต่างประกันรายได้นั้น หลักเกณฑ์จะเหมือนกับปี 2563/64 ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคา 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-31 ต.ค.2564 ยกเว้นภาคใต้ ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 16 มิ.ย.2564-28 ก.พ.2565
สำหรับมาตรการคู่ขนานประกอบด้วย 3 โครงการ คือ 1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 วงเงินรวม 26,255 ล้านบาท (สินเชื่อ 20,401 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 5,853 ล้านบาท) 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65 วงเงินรวม 15,562 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 562 ล้านบาท)
และ3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 วงเงินจ่ายขาด 540 ล้านบาท
ครม.ยังมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เมื่อ 23 ส.ค.2564 ด้วย ซึ่งมีกรอบวงเงิน 54,972 ล้านบาท
2.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 วงเงิน 1,863 ล้านบาท เพื่อดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด 4.52 แสนราย โดยกำหนดประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชนิดเมล็ด ณ ความชื้นร้อยละ 14.5 ในราคา 8.5 บาทต่อกิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ และไม่ซ้ำแปลง
ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร และแจ้งเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.2564-31 พ.ค.2565 (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แจ้งขึ้นทะเบียนเพาะปลูกเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้) ส่วนเงินทุนในโครงการจะจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย และค่าบริหารจัดการให้กับ ธ.ก.ส. โดยมีระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 พ.ย.2564-30 เม.ย. 2566
สำหรับมาตรการคู่ขนาน 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2564/65 วงเงินรวม 1,030 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 30 ล้านบาท) 2.โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อก ปี 2564/65 วงเงินรวม 1,515 ล้านาท (วงสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 15 ล้านบาท)
3.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงิน 6,811 ล้านบาท เพื่อดูแลเกษตรกว่า 5.3 แสนครัวเรือน โดยกำหนดประกันราคาหัวมันสำปะหลังสดเชื้อแป้ง 25% ราคากิโลกรัมละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน และไม่ซ้ำแปลง
ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนปลูกมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563-31 มี.ค.2565 โดยใช้เงินทุนจาก ธ.ก.ส. และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย และค่าบริหารจัดการให้กับ ธ.ก.ส. มีระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564-31 พ.ค.2566
ส่วนมาตรการคู่ขนานมี 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงินสินเชื่อ 690 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาดชดเชยดอกเบี้ย 41.40 ล้านบาท 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2564/65 วงเงิน 500 ล้านบาท
3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาดชดเชยดอกเบี้ย 225 ล้านบาท 4.โครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสาปะหลัง ปี 2564/65 วงเงิน 10 ล้านบาท
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบให้สิทธิเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2562/63 คือ กลุ่มที่แจ้งปลูกตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562-31 มี.ค.2563 จำนวน 8.41 หมื่นครัวเรือน ให้ได้สิทธิเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2563/64 เนื่องจากการปลูกมันสำปะหลังจะต้องใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน ทำให้เกษตรกรบางส่วนที่เริ่มปลูกช้าและใช้เวลาปลูกนาน ไม่สามารถรับสิทธิโครงการได้ทัน
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรและมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาพืช 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564/65 ดังกล่าว ใช้วงเงินงบประมาณจ่ายขาดและวงเงินสินเชื่อทั้งสิ้น 138,618 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
เท 1.87 แสนล้านอุ้มชาวนา! ‘นบข.’ เคาะประกันรายได้-ช่วยต้นทุน-มาตรการพยุงข้าวเปลือก
จับสัญญาณข้าวไทย! ส่งออกฟื้น-ราคาในประเทศร่วง เทงบประกันรายได้พุ่ง 1.4 แสนล.
เทียบนโยบาย! ย่างเข้าปีที่ 3 ประกันรายได้ชาวนา งบบาน-อุดหนุนน้อยกว่า ‘จำนำข้าว’
ข้าวเปลือกดิ่งรัฐจ่ายเพิ่ม! นบข.เคาะขยายวงเงินประกันรายได้ชาวนาเป็น 4.68 หมื่นล้าน
ยุคข้าวไทย‘โรยรา’! ส่องงบประกันรายได้ 'รบ.บิ๊กตู่' 2 ปี 2.2 แสนล.-‘นักการเมือง..ชาวนาชอบ’
ข้าวไทยแพง! 2 สมาคมฯคาดปีนี้ส่งออก 6 ล้านตัน-ชาวนาปลื้ม 'ประกันรายได้' แต่ห่วงถูกกดราคา
เท 6.1 หมื่นล้าน! ครม.เคาะประกันรายได้ ‘ชาวนา-สวนยาง’-ช่วยค่าจัดการข้าวครัวละ 1 หมื่นบาท
อุ้ม ‘มันฯ-ข้าวโพด-ยาง’! ครม.เคาะประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน 1.44 หมื่นล้าน
รัฐค้างเงิน ธ.ก.ส.เพียบ! หนี้จำนำข้าวเหลือ 3.37 แสนล้าน-พบ 1 ปี ‘บิ๊กตู่’ เพิ่มอีก 9.3 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/