“…เมื่อถึงเวลาจ่ายชดเชยจริงๆ น่าจะเกินกรอบ 8.94 หมื่นล้านบาท และหากรวมกับวงเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงินสนับสนุนใกล้เคียงกับปีที่แล้ว คือ 5.5-5.6 หมื่นล้านบาท ดังนั้น เฉพาะเงินอุดหนุนส่วนนี้ ก็เกินแสนล้านบาทไปแล้ว…”
.......................
แม้ว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยจะยังไม่สดใสนัก โดยในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.2564 ไทยส่งออกข้าวได้ 2.16 ล้านตัน ลดลง 25.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (2.92 ล้านตัน) และมีมูลค่าส่งออก 1,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 41,506 ล้านบาท ลดลง 30.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ก่อน (1,981 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 62,041 ล้านบาท)
แต่ทว่าการส่งออกข้าวไทยเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
หลังราคาข้าวไทยในตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่อง และอยู่ในระดับที่แข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ โดยล่าสุด (11 ส.ค.) ข้าวขาว 5% ของไทย ราคาลดลงอยู่ที่ 396 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เทียบกับข้าวขาว 5% ของเวียดนาม ที่มีราคา 388-392 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และข้าวขาว 5% ของอินเดีย ที่ราคาอยู่ที่ 378-382 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน
ขณะที่ข้าวหอมมะลิของไทย (100%) ราคาลดลงมาอยู่ที่ 659 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ซึ่งใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิเวียดนาม ที่มีราคาอยู่ที่ 558-562 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน
“ข้าวเราตอนนี้ พอแข่งขันได้ แต่ต้องระวังเรื่องขนส่งอย่าให้ติดขัด ซึ่งผมคิดว่าไตรมาสสุดท้ายปีนี้ เราจะส่งออกได้เยอะขึ้น ถ้าส่งออกได้เดือนละ 1 ล้านตัน ปีนี้เราน่าจะได้ 6 ล้านตัน แต่ก็ต้องดูว่าทางเวียดนามกับอินเดีย จะดัมพ์ราคาลงมาสู้หรือเปล่า” เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
เจริญ ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวไทยในตลาดโลกตัวลดลงมาจาก 2 เรื่องหลัก คือ 1.ผลผลิตข้าวไทยเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกมาตั้งแต่เดือน เม.ย. ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวปีนี้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งมาแล้ว 2 ปี และ 2.เงินบาทอ่อนค่าลงจาก 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ 33.4 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในช่วงนี้
“2 ปีมานี้ เรามีปัญหาภัยแล้ง ข้าวเราน้อยกว่าปกติ เวลาของน้อย ราคาในประเทศก็สูง ประกอบกับเงินบาทเราแข็งกว่าคู่แข่งเยอะ ทำให้ราคาสูง แต่ปีนี้ที่ราคาลงมา เพราะตั้งแต่เดือน เม.ย. ฝนฟ้าดี ผลผลิตของเราจะกลับไปในปีปกติ ราคาในประเทศก็ลด เพราะของเราเยอะ และเงินบาทที่อ่อนค่าลงมา 33 บาท ลงมา 10% ก็ช่วยได้เยอะ” เจริญ กล่าว
@ค่าขนส่งพุ่ง 6 เท่า กระทบส่งออก ‘หอมมะลิ’ ไปสหรัฐ-ยุโรป
อย่างไรก็ตาม เจริญ บอกว่า แม้ว่าราคาข้าวไทยทั้งข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ จะลดลงมาอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ แต่ด้วยค่าระวางเรือในขณะนี้ที่เพิ่มขึ้น 5-6 เท่า เมื่อเทียบกับต้นปี ส่งผลให้การส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปตลาดสหรัฐและยุโรป อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก คนซื้อไม่กล้าซื้อ เพราะค่าขนส่งแพงมาก
“คนซื้อไม่ค่อยกล้าซื้อกันแล้ว เพราะค่า freight (ค่าขนส่ง) ตู้หนึ่ง ไปถึง 18,000 เหรียญแล้ว มันแพงกว่าข้าวอีก เขาก็เลยซื้อข้าวในพื้นที่ดีกว่า ซึ่งอเมริกาเขาปลูกข้าวส่งออกอยู่แล้ว ข้าวเขาแค่ 500 เหรียญเอง ผมจึงเป็นห่วงว่าข้าวหอมมะลิเราต่อไปจะมีปัญหา เพราะผู้ซื้อรายใหญ่ซื้อน้อยลงไปเยอะ เพราะค่า freight แพงมาก” เจริญ กล่าว
เจริญ ประเมินด้วยว่า จากผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลินาปีในพื้นที่ภาคอีสานของไทยในปีนี้ (ปี 2564/65) ที่คาดว่าน่าจะอยู่ในระดับสูง เพราะฝนฟ้าดี และคนอีสานก็กลับบ้านกันมากจากสถานการณ์โควิด ประกอบกับไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ทำให้ความต้องการข้าวหอมมะลิน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในปีนี้มีแนวโน้มลดลง
ส่วนราคาข้าวเปลือกเจ้าในประเทศนั้น แม้ว่าปีนี้ราคาจะลงมาอยู่ที่ 8,000-8,500 บาท/ตัน หรือเป็นข้าวสด (ความชื้นเกิน 25%) จะมีราคา 6,600-7,000 บาท/ตัน แต่ถือเป็นระดับราคาที่เคยเป็นมา เพราะปกติแล้วข้าวไทยจะขายกันที่ระดับ 350-400 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน แต่ที่ราคาขึ้นมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้น เพราะไทยเจอปัญหาภัยแล้ง
(เจริญ เหล่าธรรมทัศน์)
@เสนอเร่งฉีดวัคซีนป้องโควิดให้คนงานที่ท่าเรือ
เจริญ เสนอว่า ต้องการให้รัฐบาลช่วยดูแลการขนส่งสินค้าบริเวณท่าเรือให้มีความคล่องตัว ไม่ใช่เรือเข้ามาแล้ว มีปัญหาคนงานติดโควิด จนกระทบต่อการส่งออกข้าว ซึ่งปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นที่เวียดนามและอินเดีย และสมาคมฯได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขหาวัคซีนมาฉีดให้คนงานที่ท่าเรือขนถ่ายสินค้า
เจริญ ย้ำว่า การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไทยยังคงเป็นสิ่งที่ต้องผลักดันอย่างเร่งด่วนต่อไป โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ เช่น ข้าวพันธุ์พื้นนุ่น และผลผลิตต้องได้ไม่น้อยกว่า 1 ตัน/ไร่ ไม่อย่างนั้นจะแข่งขันไม่ได้ ซึ่งวันนี้เอกชนลงมาพัฒนาพันธุ์ข้าวเอง และจัดประกวดพันธุ์ข้าวใหม่ๆ จะให้รอแต่ภาครัฐคงไม่ได้ ในขณะที่งบวิจัยก็น้อยมาก
“เราไม่มีข้าวนุ่ม แต่ข้าวนุ่มเป็นที่ต้องการของทุกตลาด แม้แต่ตลาดในประเทศเราเอง แต่เราแทบไม่มีเลย พวกผมเองก็ดิ้นรนให้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆเข้ามา เพื่อให้แข่งขันได้ และผลผลิตต่อไร่ต้องสูง วันนี้เราไม่ได้ทำเรื่องโครงสร้างเลย ถ้าชาวนาไม่พอ เราก็ให้เงินเขา แทนที่จะมาทุ่มให้กับการพัฒนาพันธุ์ข้าว” เจริญ ระบุ
@ประเมินรัฐบาลอุดหนุนชาวนาพุ่ง 1.4 แสนล้าน
ด้าน รังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า แม้ว่าราคาข้าวไทยในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจะทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้ แต่ไม่เป็นผลดีกับเกษตรเท่าใดนัก เพราะจะขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่ลดลง แต่เนื่องจากรัฐบาลมีโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ดังนั้น เกษตรกรจะไม่มีได้รับผลกระทบในแง่ของรายได้มากนัก
“ถ้าราคาจริงตกมาก เดี๋ยวรัฐบาลก็จะจ่ายเงินประกันราคาส่วนต่างมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนชาวนาจะเดือดร้อน แต่พอรัฐบาลอนุมัติโครงการประกันรายได้ มีราคาส่วนต่างมา รัฐบาลก็จ่ายเงินส่วนต่างให้กับชาวนาที่ลงทะเบียนแจ้งปลูกข้าวตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา ซึ่งคาดว่าชาวนาจะได้เงินชดเชยงวดแรกในช่วงเดือน ต.ค.นี้” รังสรรค์ กล่าว
รังสรรค์ ประเมินว่า ในปีนี้ผลผลิตข้าวไทยน่าจะออกมามาก เพราะปีนี้ฝนมาเร็ว มีน้ำ ทำให้ชาวนาเริ่มปลูกข้าวกันตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมาแล้ว และด้วยผลผลิตที่ข้าวที่ออกมามาก แน่นอนว่าจะทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาให้ชาวนาเพิ่มขึ้น
“เมื่อเร็วๆนี้คณะอนุกรรมการข้าวด้านการตลาด เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 ซึ่งกำหนดราคาประกันเท่าปีที่แล้ว แต่เฉพาะกรอบวงเงินชดเชยส่วนต่างราคาได้เพิ่มขึ้นเป็น 89,402 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่จ่ายจริง 4.8 หมื่นล้านบาท เพราะรัฐบาลมองว่าราคาข้าวเปลือกปีนี้จะไม่สูงเท่าปีที่แล้ว
ซึ่งผมคิดว่าน่าเมื่อถึงเวลาจ่ายชดเชยจริงๆ น่าจะเกินกรอบ 8.94 หมื่นล้านบาท และหากรวมกับวงเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงินสนับสนุนใกล้เคียงกับปีที่แล้ว คือ 5.5-5.6 หมื่นล้านบาท ดังนั้น เฉพาะเงินอุดหนุนส่วนนี้ ก็เกินแสนล้านบาทไปแล้ว” รังสรรค์ ระบุ
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังเห็นชอบมาตรการคู่ขนานในการพยุงราคาข้าวเปลือก และจะเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ซึ่งเบื้องต้นจะใช้งบจ่ายขาดอีก 8,449 ล้านบาท
ประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเหลือกนาปี เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวตันละ 1,500 บาท คาดว่าใช้งบประมาณ 6,537 ล้านบาท 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน วงเงินดอกเบี้ยที่ขอชดเชย 562.50 ล้านบาท
3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกในอัตรา 3% กรอบวงเงินงบประมาณ 540 ล้านบาท และ4.โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว ชดเชยดอกเบี้ย 3% วงเงินงบประมาณ 810 ล้านบาท
(รังสรรค์ สบายเมือง)
@ห่วงราคาข้าวเปลือกเหนียวราคาต่ำกว่าทุกปี
อย่างไรก็ดี รังสรรค์ มองว่า ในปีนี้เราอาจได้เห็นราคาข้าวเปลือกเหนียวมีราคาตกต่ำมากกว่าทุกปี หรือต่ำกว่า 7,000-8,000 บาท/ตัน เพราะการบริโภคไม่ได้เพิ่มขึ้น และการส่งออกแต่ละปีก็ไม่ได้มาก แต่กลับพบว่าการปลูกข้าวเหนียวปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปี และสต็อกข้าวเหนียวที่โรงสีซื้อเก็บไว้เมื่อปีที่แล้ว ยังขายไม่ออก เก็บอยู่ในสต็อกจำนวนมาก
“สมาชิกของเราที่ทำข้าวเหนียว บ่นโอดโอยกันว่า ที่ซื้อมา ไม่รู้จะเอาไปที่ไหน แต่ก็ต้องซื้อ เพราะข้าวในพื้นที่จะออกแล้ว และไม่รู้ว่าจะขายได้ราคาเท่าไหร่ ส่วนข้าวเหนียวเก่าฤดูที่แล้ว ยังเต็มโรงสีอยู่เลย ยังขายไม่ออก” รังสรรค์ กล่าว
ส่วนราคาข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้นไม่เกิน 15%) น่าจะอยู่ที่ระดับ 7,700-7,800 บาท/ตัน และข้าวเปลือกหอมมะลิน่าจะอยู่ที่ 10,500 บาท/ตัน แต่มีความเป็นไปที่ราคาข้าวเปลือกจะลดลงไปมากกว่านี้ หากผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าราคาข้าวเปลือกระดับนี้ถือว่าต่ำมากแล้ว และคนในประเทศก็ซื้อข้าวสารถูกลงมากแล้ว
ทั้งนี้ รังสรรค์ ยืนยันว่า โรงสีทั้งระบบมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาได้ ชาวนาจึงไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สามารถขายข้าวเปลือกได้
@จี้รัฐบาลเร่งอนุมัติโครงการประกันรายได้ชาวนา
ขณะที่ ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ตอนนี้ชาวนาคงต้องทำใจกับราคาข้าวเปลือกที่ลดลง เพราะต่างประเทศไม่สั่งซื้อข้าวไทย และยังมีข้าวเก่าค้างสต็อกในประเทศกว่า 10 ล้านตัน ส่วนผลผลิตข้าวใหม่ที่กำลังจะออกมาในปีนี้คาดว่าจะมากกว่าทุกปี
“ตอนนี้โรงสีขาดสภาพคล่องกันเยอะมาก คนที่ซื้อข้าวไปตุนไว้ แต่ตอนส่งออก ส่งไม่ได้ แต่คาดว่าสถานการณ์น่าจะเริ่มดีขึ้น หลังจากค่าเงินบาทเราอ่อนลงมาอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์ และผมได้รับทราบจากกรมการค้าต่างประเทศว่า กำลังประสานงานในการหาตลาด เพียงแต่ยังมีปัญหาเรื่องค่าขนส่งที่ยังสูงอยู่” ปราโมทย์ กล่าว
ปราโมทย์ เรียกร้องให้รัฐบาล นบข. และพล.อ.ประยุทธ์ เร่งรัดอนุมัติโครงการประกันรายได้ชาวนาปีที่ 3 เพื่อให้ชาวนาได้รับเงินชดเชยส่วนต่างราคา ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของชาวนา ที่กำลังประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นทั้งค่าปุ๋ย และค่ายาได้ ในขณะที่ราคาข้าวเปลือกเกี่ยวสดอยู่ที่ตันละ 6,200-6,800 บาท
เหล่านี้เป็นแนวโน้มสถานการณ์ข้าวไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 และเป็นที่น่าสนใจว่าการเข้าสู่ปีที่ 3 ของโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปรากฎว่า รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณมาอุดหนุนชาวนาไม่น้อยกว่า 1.4 แสนล้านบาท
โดยเฉพาะวงเงิน 'ชดเชยส่วนต่างราคา' ที่เพิ่มจาก 4.8 หมื่นล้านบาท เป็นเกือบ 9 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว!
อ่านประกอบ :
เทียบนโยบาย! ย่างเข้าปีที่ 3 ประกันรายได้ชาวนา งบบาน-อุดหนุนน้อยกว่า ‘จำนำข้าว’
ข้าวเปลือกดิ่งรัฐจ่ายเพิ่ม! นบข.เคาะขยายวงเงินประกันรายได้ชาวนาเป็น 4.68 หมื่นล้าน
ยุคข้าวไทย‘โรยรา’! ส่องงบประกันรายได้ 'รบ.บิ๊กตู่' 2 ปี 2.2 แสนล.-‘นักการเมือง..ชาวนาชอบ’
ข้าวไทยแพง! 2 สมาคมฯคาดปีนี้ส่งออก 6 ล้านตัน-ชาวนาปลื้ม 'ประกันรายได้' แต่ห่วงถูกกดราคา
เท 6.1 หมื่นล้าน! ครม.เคาะประกันรายได้ ‘ชาวนา-สวนยาง’-ช่วยค่าจัดการข้าวครัวละ 1 หมื่นบาท
อุ้ม ‘มันฯ-ข้าวโพด-ยาง’! ครม.เคาะประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน 1.44 หมื่นล้าน
รัฐค้างเงิน ธ.ก.ส.เพียบ! หนี้จำนำข้าวเหลือ 3.37 แสนล้าน-พบ 1 ปี ‘บิ๊กตู่’ เพิ่มอีก 9.3 หมื่นล.
จับชาวนาขังอยู่กับที่! ‘นักวิชาการ’ ห่วงโครงการ ‘ประกันรายได้’ ไม่กระตุ้นภาคเกษตรปรับตัว
ต่ำสุดในรอบ 20 ปี! เอกชนหั่นเป้าส่งออกข้าวไทยเหลือ 6.5 ล้านตัน เสียตลาดให้ 'จีน-เวียดนาม'
ไฟเขียวประกันรายได้ชาวนา! นบข.เคาะราคาเท่าปีที่แล้ว-ครึ่งทางไทยส่งออกข้าว 3.15 ล้านตัน
ปัจจัยลบรุมเร้า-พ่ายแพ้ยุทธศาสตร์ ส่งออก ‘ข้าวไทย’ ใกล้ถึงทางตัน?
หมดเวลากินบุญเก่า! ส่งออกข้าวไทย ‘ระส่ำหนัก’ จีน-เวียดนาม-พม่า รุกแย่งตลาด
ส่องงบรบ.เชียงกง บิ๊กตู่ 2/1 ซื้อใจ‘ชาวนา’ แจกสะบัด 8 หมื่นล. แต่ฟันเฟืองศก. ‘ไม่หมุน’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/