“…ในคราวการประชุม นบข. เมื่อวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม 2564 รัฐมีภาระทางการคลังประมาณร้อยละ 29.38 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 แต่ปัจจุบันรัฐมียอดคงค้างทั้งหมด ร้อยละ 29.88 กรอบวงเงินภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 จึงไม่เพียงพอต่อการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 และมาตรการคู่ขนาน…”
....................................
เป็นอีกสัญญาณ ‘เตือน’ ที่ต้องติดตาม
หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้และมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาพืช 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564/65 (อ่านประกอบ : ครม.เคาะประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน ‘ข้าว-มันฯ-ข้าวโพด’ อัดฉีดงบ-สินเชื่อ 1.38 แสนล.)
แต่ปรากฏว่า ในส่วนของการอนุมัติจัดสรรงบประมาณ เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 นั้น ครม.อนุมัติงบประมาณ ‘จ่ายขาด’ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการชดเชย ‘ส่วนต่าง’ ราคาประกันรายได้เพียง 13,604 ล้านบาท เท่านั้น
จากเดิมที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2564 เห็นชอบกรอบวงเงินเฉพาะในส่วนของการชดเชย ‘ส่วนต่าง’ ราคาประกันรายได้ไว้ที่ 8.7 หมื่นล้านบาท (อ่านประกอบ : เท 1.87 แสนล้านอุ้มชาวนา! ‘นบข.’ เคาะประกันรายได้-ช่วยต้นทุน-มาตรการพยุงข้าวเปลือก)
จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า
เหตุใด ครม.จึงอนุมัติจัดสรรงบ ‘จ่ายขาด’ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการชดเชย ‘ส่วนต่าง’ ราคาประกันรายได้เพียง 1.3 หมื่นล้านบาท แทนที่จะเป็น 8.7 หมื่นล้านบาท ตามมติของที่ประชุม นบข. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน
@ภาระชดเชยค่าใช้จ่ายรัฐปีงบ 64 ใกล้ชนเพดาน 30%
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า จากเอกสารประกอบการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2564 ‘วาระพิจารณาจร’ เรื่องที่ 5 เรื่อง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65
มีข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ก่อหนี้ในโครงการต่างๆ จนทำให้รัฐบาลมีภาระ ‘ชดเชยค่าใช้จ่าย’ เป็นจำนวนมาก กระทั่งส่งผลกระทบต่อการจัดสรรงบฯโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวฯ และมาตรการคู่ขนานในขณะนี้
ทั้งนี้ หากย้อนไปเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2564 ที่ประชุม นบข. ได้มีมติเห็นชอบโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกแบ่งเป็น 3 ส่วน โดยวงเงินสนับสนุนทั้งงบประมาณจ่ายขาดและวงเงินสินเชื่อ รวมทั้งสิ้น 185,536 ล้านบาท ประกอบด้วย
ส่วนแรก โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 วงเงินจ่ายขาดทั้งสิ้น 89,306.39 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าชดเชยส่วนต่างระหว่าง ‘ราคาประกันเป้าหมาย’ และ ‘ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง’ จำนวน 87,532.3 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายไปก่อน
ส่วนที่สอง มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 จำนวน 3 โครงการ (สินเชื่อชะลอขายขายข้าวเปลือก, สินเชื่อรวบรวมข้าวฯโดยสถาบันเกษตรกร และชดเชยดอกเบี้ยผู้ประกอบการค้าข้าวฯ) วงเงินรวม 42,357.88 ล้านบาท จำแนกเป็นวงเงินสินเชื่อ 35,401.9 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 6,955.98 ล้านบาท
ส่วนที่สาม โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 วงเงินงบประมาณจ่ายขาดรวม 54,972.72 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกรวงเงิน 53,871,84 ล้านบาท (ช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท)
ต่อมาวันที่ 3 ก.ย.2564 กรมการค้าภายใน ได้หารือกับผู้แทนกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ธ.ก.ส. และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาแนวทางการขออนุมัติงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวฯ และมาตรการคู่ขนานฯ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ พ.ศ.2561 ก่อนเสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณา
แต่ปรากฏว่า ผู้แทนกระทรวงการคลัง แจ้งว่า ในการประชุม นบข. เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2564 รัฐมีภาระการคลังประมาณ 29.48% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และปัจจุบันมียอดคงค้างทั้งหมด 29.88% ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ซึ่งเป็นระดับภาระการคลังที่ใกล้ ‘ชนเพดาน’ กรอบวินัยการเงินการคลัง ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดว่า
กรณีที่รัฐบาลเข้าไปรับภาระ ‘ชดเชยค่าใช้จ่าย’ หรือ ‘การสูญเสียรายได้ในการดำเนินการ’ จากโครงการที่มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐไปดำเนินการนั้น ภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว จะต้องมียอดคงค้างไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของภาครัฐกำหนด คือไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ส่งผลให้ในปีงบ 2564 รัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอต่อการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 และมาตรการคู่ขนาน
“ผู้แทนกระทรวงการคลังชี้แจงว่า ในคราวการประชุม นบข. เมื่อวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม 2564 รัฐมีภาระทางการคลังประมาณร้อยละ 29.38 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 แต่ปัจจุบันรัฐมียอดคงค้างทั้งหมด ร้อยละ 29.88
กรอบวงเงินภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 จึงไม่เพียงพอต่อการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 และมาตรการคู่ขนาน” หนังสือด่วนที่สุด ที่พณ 0404/4393 ลงวันที่ 21 ก.ย.2564 ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงนามโดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ระบุ
@จัดสรรงบ ‘ประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน’ จากงบปี 65
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องนี้ และมีความเห็นว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 และมาตรการคู่ขนาน เป็นโครงการที่จำเป็นต้องดำเนินการ เนื่องจากเป็นนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา และเป็นโครงการที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ ทบทวนการขอรับจัดสรรงบประมาณในโครงการดังกล่าว โดยให้ขอรับจัดสรรงบ ‘งวดแรก’ เท่าที่จำเป็น เพื่อให้การดำเนินโครงการสามารถดำเนินการได้ตามกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ภายใต้งบประมาณประจำปี 2565 ต่อไป
จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ทบทวนตัวเลขขอรับจัดสรรงบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 และมาตรการคู่ขนาน
โดยเสนอขอรับจัดสรรงบ ‘งวดแรก’ จำนวน 18,378.9 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินจ่ายขาดชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้ 13,604.34 ล้านบาท และมาตรการคู่ขนาน 3 โครงการ วงเงินจ่ายขาดทั้งสิ้น 4,464.56 ล้านบาท
ต่อมาในการประชุม ครม.วันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ครม.มีมติอนุมัติจัดสรรงบตามกระทรวงพาณิชย์เสนอดังกล่าว
@จับตารัฐบาลหมุนงบ 1.26 แสนล. ชดเชยส่วนต่าง-อุดหนุนต้นทุน
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตข้างหน้า รัฐบาลยังเหลือภาระที่ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชย ‘ส่วนต่าง’ ราคาประกันรายได้อีก 71,540.35 ล้านบาท (ข้อมูลล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ปรับลดคาดการณ์งบจ่ายขาดชดเชยส่วนต่างประกันรายได้ข้าวเหลือ 85,144.69 ล้านบาท จากเดิม 87,532.3 ล้านบาท)
เมื่อรวมกับภาระค่าใช้จ่ายในโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 วงเงินงบประมาณจ่ายขาดอีก 54,972.72 ล้านบาท
จึงเท่ากับว่าในปีงบ 2565 รัฐบาลยังภาระต้องจัดสรรงบอีก 126,513.07 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการทั้ง 2 โครงการ และแน่นอนว่าจะทำให้รัฐบาลมีภาระการคลังในปีงบ 2565 เพิ่มขึ้น จนกระทั่งอาจส่งผลกระทบต่อการก่อหนี้ในโครงการอื่นๆที่มีความจำเป็นในปีงบ 2565 ตามมาอีก
“ผู้แทนสำนักงบประมาณแจ้งว่าในปีงบประมาณ 2565 ได้จัดสรรงบประมาณตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2565 เป็นค่าใช้จ่ายให้ ธ.ก.ส. จำนวน 69,466 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม งบประมาณรายจ่ายประจำปีในปีงบประมาณ 2565 มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณ 2564 จะส่งผลให้กรอบวงเงินงบประมาณปรับลดลง” หนังสือด่วนที่สุด ที่พณ 0404/4393 ลงวันที่ 21 ก.ย.2564 ระบุ
(ที่มา : หนังสือด่วนที่สุด ที่พณ 0404/4393 ลงวันที่ 21 ก.ย.2564 ประกอบการประชุมครม.เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2564)
@‘นักวิชาการ’ห่วงภาระประกันรายได้ข้าวเพิ่มทุกปี
สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ซึ่งติดตามนโยบายช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาลต่างๆ ทั้งโครงการรับจำนำข้าวในอดีต และโครงการประกันรายได้ชาวนาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร หากรัฐบาลจะมีภาระชดเชยในโครงการประกันรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณในวันนี้
“เดิมทีชาวนาเรามีแค่ 4 ล้านครัวเรือน แต่พอมีโครงการประกันรายได้ข้าว ตอนนี้ครัวเรือนชาวนาเพิ่มขึ้นไปเป็น 4.68 ล้านครัวเรือน เพราะมีการแตกครัวเรือนออกไปหรือเอาที่นาไปให้คนอื่นเช่า โดยเฉพาะคนที่มีที่นาเยอะ เพื่อจะได้รับเงินชดเชยเพิ่ม จากเดิมที่รัฐบาลกำหนดเพดานว่าจะชดเชยให้ไม่เกินกี่ไร่หรือประกันรายได้ข้าวไม่เกินกี่ตัน” สมพร กล่าว
(สมพร อิศวิลานนท์)
สมพร เห็นว่า แม้ว่ารัฐบาลจะแถลงนโยบายว่า จะมีดำเนินนโยบายประกันรายได้ให้กับเกษตรกร แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลต้องเข้าไปประกันรายได้สินค้าเกษตรเช่นนี้ตลอดไป เนื่องจากจะทำให้โครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรของไทย รวมถึงชาวนาไทยมีความอ่อนแอในระยะยาว
“ผมเห็นว่ารัฐบาลน่าจะค่อยๆถอยห่างออกจากนโยบายประกันรายได้ คือ อุดหนุนได้ แต่ควรมีโครงการที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชที่มีมูลค่าเพิ่มและมีความยั่งยืนในระยะยาว เช่น ถ้าเป็นข้าว ก็ควรส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ แต่ถ้าปล่อยไปอย่างนี้ คนที่ปลูกข้าว จะปลูกข้าวอะไรก็ได้ ก็สนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวและค่าดูแลรักษา 1,000 บาท/ไร่
ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลไปแช่แข็งชาวนาอยู่กับที่ เพราะติดกับกับดักที่รัฐบาลให้ แทนที่จะไปปลูกพืชที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า เช่น วันนี้คนที่เช่าที่ดินทำนา พอเขาได้รับเงินชดเชยต้นทุน 1,000 บาท/ไร่ เขาก็นำเงินที่ได้ไปจ่ายเป็นค่าเช่านา จึงไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า” สมพร กล่าว
สมพร ย้ำว่า “รัฐบาลควรค่อยๆถอยห่างจากโครงการประกันรายได้ เพราะไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร เป็นเพียงโครงการที่หาเสียงให้กับพรรคการเมืองเท่านั้นเอง ซึ่งในระยะยาวเราจะแข่งขันไม่ได้ ในขณะที่งบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุนในโครงการฯนั้น เหมือนกับเป็นการเอาเงินภาษีคนไทยไปอุดหนุนให้คนต่างประเทศได้ซื้อข้าวถูกลง”
ในขณะที่การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งทำให้รัฐบาลมีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จึงถึงเวลาที่รัฐบาลจะมีการทบทวนนโยบายประกันรายได้
เพราะไม่เช่นนั้นแล้วภาระงบประมาณดังกล่าว จะไปเบียดบังการใช้งบพัฒนาประเทศในส่วนอื่นๆได้ !
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน ‘ข้าว-มันฯ-ข้าวโพด’ อัดฉีดงบ-สินเชื่อ 1.38 แสนล.
เท 1.87 แสนล้านอุ้มชาวนา! ‘นบข.’ เคาะประกันรายได้-ช่วยต้นทุน-มาตรการพยุงข้าวเปลือก
จับสัญญาณข้าวไทย! ส่งออกฟื้น-ราคาในประเทศร่วง เทงบประกันรายได้พุ่ง 1.4 แสนล.
เทียบนโยบาย! ย่างเข้าปีที่ 3 ประกันรายได้ชาวนา งบบาน-อุดหนุนน้อยกว่า ‘จำนำข้าว’
ข้าวเปลือกดิ่งรัฐจ่ายเพิ่ม! นบข.เคาะขยายวงเงินประกันรายได้ชาวนาเป็น 4.68 หมื่นล้าน
ยุคข้าวไทย‘โรยรา’! ส่องงบประกันรายได้ 'รบ.บิ๊กตู่' 2 ปี 2.2 แสนล.-‘นักการเมือง..ชาวนาชอบ’
ข้าวไทยแพง! 2 สมาคมฯคาดปีนี้ส่งออก 6 ล้านตัน-ชาวนาปลื้ม 'ประกันรายได้' แต่ห่วงถูกกดราคา
เท 6.1 หมื่นล้าน! ครม.เคาะประกันรายได้ ‘ชาวนา-สวนยาง’-ช่วยค่าจัดการข้าวครัวละ 1 หมื่นบาท
อุ้ม ‘มันฯ-ข้าวโพด-ยาง’! ครม.เคาะประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน 1.44 หมื่นล้าน
รัฐค้างเงิน ธ.ก.ส.เพียบ! หนี้จำนำข้าวเหลือ 3.37 แสนล้าน-พบ 1 ปี ‘บิ๊กตู่’ เพิ่มอีก 9.3 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/