‘บ้านสมเด็จโพลล์’ เผยผลสำรวจพบประชาชนในกรุงเทพฯต้องการให้ ค่าโดยสารขนส่ง ‘ทุกระบบ’ รวมกันไม่เกิน 33 บาท/วัน ขณะที่ ‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ชี้ ‘บีทีเอส’ ยกเลิก ‘ตั๋วรายเดือน’ ซ้ำเติมค่าครองชีพ-ผลักภาระให้ประชาชน
..............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ 1,200 ตัวอย่าง เกี่ยวกับการใช้บริการขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 8-17 ก.ย.2564 พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการให้ค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกันไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ
ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจฯพบข้อมูลว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 85 มีบริเวณที่พักอาศัยที่มีบริการขนส่งมวลชนให้เลือกใช้บริการได้เพียงพอต่อความต้องการ โดยร้อยละ 38.2 มีบริเวณที่พักอาศัยที่สามารถเดินเท้ามาถึงจุดให้บริการขนส่งมวลชนได้ในระยะทาง 1,000 เมตร ,อันดับสอง (ร้อยละ 27.1) มีระยะทาง 500 เมตร และอันดับสาม (ร้อยละ 18.5) มีระยะทาง 1,500 เมตร
สำหรับบริการขนส่งมวลชนที่สามารถเลือกได้มากที่สุดจากที่พักอาศัย อันดับที่หนึ่ง คือ รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (รถเมล์) ร้อยละ 84 ,อันดับที่สอง คือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 72.7 ,อันดับที่สาม คือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 51.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 48.4 อันดับที่ห้า คือ รถสองแถว ร้อยละ 44.7 และอันดับสุดท้ายคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 33.5
ทั้งนี้ ในชีวิตประจำวันของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้บริการขนส่งมวลชนประเภท รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (รถเมล์) มากที่สุด หรือร้อยละ 68 ,อันดับที่สอง คือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 45.5 อันดับที่สาม คือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 42.6 อันดับที่สี่ คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 30 อันดับที่ห้าคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 28.2 และอันดับสุดท้ายคือ รถสองแถว ร้อยละ 23
ส่วนความถี่ในการใช้บริการขนส่งมวลชนของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ คือ 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ มากที่สุด ร้อยละ 23 ,อันดับที่สอง คือ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 22.5 ,อันดับที่สาม คือ ใช้ทุกวัน ร้อยละ 21.8 อันดับที่สี่คือ นานๆ ครั้ง ร้อยละ 17.6 และอันดับสุดท้าย คือ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 15.1 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการใช้บริการขนส่งมวลชนในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ร้อยละ 73.5
ผลสำรวจฯยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความต้องการใช้บริการขนส่งมวลชนของผู้บริโภคแต่ละประเภท ดังนี้ รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (รถเมล์) มีความต้องการใช้บริการขนส่งมวลชน อันดับที่หนึ่ง คือ ด้านความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 34.6 อันดับที่สอง คือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 33 บาท ร้อยละ 30.6
อันดับที่สาม คือ บริการของรถเมล์มีมาตรฐานตรงเวลา ไม่ล่าช้า ร้อยละ 29.7 อันดับที่สี่ คือ รถเมล์มีบริการที่มีคุณภาพ ในการรับส่งผู้โดยสาร ร้อยละ 27.7 และอันดับที่ห้า คือ อัตราค่าโดยสารเหมาจ่ายรถร้อน 10 บาท (ทั้งวัน) ร้อยละ 26.7
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมีความต้องการใช้บริการขนส่งมวลชน อันดับที่หนึ่ง คือ ด้านราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 33 บาท/วัน ร้อยละ 47.1 ,อันดับที่สองคือ ความสะดวกในการเข้าถึงสถานี และเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 43.1 ,อันดับที่สาม คือ การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทุกสายเพื่อลดค่าแรกเข้าเหลือครั้งเดียว (ขึ้นหลายสายก็จ่ายครั้งเดียว) ร้อยละ 41.6
อันดับที่สี่ คือ การออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการเข้าถึงรถไฟฟ้าของกลุ่มผู้พิการ ร้อยละ 39.4 และอันดับที่ห้า คือ ต้องการให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อประชาชน ร้อยละ 38.9
นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ สะท้อนถึงความทุกข์และความต้องการของผู้บริโภคคนเมืองที่ใช้บริการขนส่งมวลชนแต่ละประเภทได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะบริการขนส่งพื้นฐาน เช่น รถเมล์ประจำทางที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด แต่ก็ยังต้องการความสะดวก จุดเชื่อมต่อระบบไม่ติดขัด และบริการที่มีคุณภาพตรงต่อเวลา
ขณะที่การเข้าถึงจุดเชื่อมต่อหรือป้ายรถประจำทางจากที่พักอาศัยของคนส่วนใหญ่ต้องเดินเท้าในระยะทาง 1,000 เมตร ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการเดินทางหลายต่อ และไม่สะดวกต่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน ดังนั้น รัฐควรรณรงค์และกำหนดนโยบายให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงจุดเชื่อมต่อหรือป้ายรถเมล์จากที่พักไม่ให้เกิน 500 เมตร ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรผู้บริโภคจะผลักดันอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเรื่องอัตราราคาค่าโดยสาร ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไขปรับราคาลดลงให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและรถเมล์ต่างก็ต้องการให้ราคาค่าโดยสารทุกระบบรวมกัน ไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ หรือ 33 บาท แต่ขณะนี้กลับพบปัญหาเรื่องแผนปฏิรูปรถเมล์ที่จะทำให้ราคาค่าโดยสารถูกลงก็ยังไปไม่ถึงไหน ภาระค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นจึงกระทบต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค
นายคงศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่บีทีเอสประกาศยกเลิกตั๋วรายเดือน ทำให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงวิกฤตโควิด-19 ว่า บีทีเอสให้เหตุผลในการยกเลิก คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะตั้งแต่ 1 ต.ค. 64 ก็มีผู้ใช้บริการจำนวนมากขึ้นเทียบเท่าเวลาปกติ และผลการสำรวจรถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่คนในกรุงเทพใช้ในชีวิตประจำวันเป็นอันดับที่ 2
ดังนั้น การยกเลิกตั๋วรายเดือนของบีทีเอสจึงเข้าข่ายเป็นการสร้างวิกฤตใหม่ซ้ำเติมค่าครองชีพ และผลักภาระให้กับประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้ามากำกับการประกอบธุรกิจขนส่งสาธารณะที่ควรต้องเป็นบริการพื้นฐานด้านขนส่งมวลชนที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
อ่านประกอบ :
‘สภาผู้บริโภคฯ’ ค้าน ครม. ลักไก่ต่อสัมปทาน ‘สายสีเขียว’-แจงตั๋ว 25 บาทเป็นไปได้
'มูลนิธิผู้บริโภคฯ-ปชช.' ชูป้ายค้านต่อสัมปทาน 'สายสีเขียว'-ชงตั๋วร่วม 25 บาท/เที่ยว
ค่าก่อสร้างแพงกว่าสายสีเขียว 3 เท่า! รฟม.ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้า'MRT' 4 สาย เหมาะสมแล้ว
'สภาฯผู้บริโภค' ยื่นหนังสือถึง 'ครม.' ค้านต่อสัมปทาน 'สายสีเขียว'-เปิดปชช.มีส่วนร่วม
แบกหนี้ไม่ไหว! ‘บีทีเอส’ ร่อนจม.แจงปัญหา ‘สายสีเขียว’-'สภาผู้บริโภคฯ'ค้านต่อสัมปทาน
'สายสีเขียว' ต่อคิวเข้าครม.! ‘บิ๊กตู่’ ย้ำค่าโดยสารต้องไม่สูงเกินไป-ขอบีทีเอสร่วมมือ
รอผลตรวจสอบป.ป.ช.! นายกฯเผยครม.ยังพิจารณาต่อสัมปทาน ‘สายสีเขียว’
50 บาทตลอดสาย! ‘คค.’ ชงตั้งกองทุนฯ ‘สายสีเขียว’-สภาผู้บริโภคฯชี้ลดได้อีก 50%
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/