"...กระทรวงการคลัง ได้มีการทบทวนรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณ 2563 และคาดการณ์ว่าจะต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ จำนวน 394,400 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ระดับ 139,898 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถรองรับการเบิกจ่ายของหน่วยงานในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่จะมีการเร่งการเบิกจ่ายงบอุดหนุนของหน่วยงานต่างๆ..."
หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ส.ค.63 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2
หนึ่งในสาระสำคัญของการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว คือ ปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบ 63 วงเงิน 214,093.92 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ประเด็นดังกล่าวสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วว่า รัฐบาลกำลังตกอยู่ในภาวะ ‘ถังแตก’ ในขณะที่การกู้เงินเพิ่มเติมครั้งนี้ จะทำให้ ณ สิ้นปีงบ 63 ระดับหนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ 8.21 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 51.64% ของจีดีพี ซึ่งไม่เกิน 60% ของจีดีพีตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะ
ต่อมากระทรวงการคลังออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า กระแสข่าวว่าคลังถังแตก เงินคงคลังไม่พอใช้ จนครม.องอนุมัติกู้เงินเพิ่มเติมอีก 2.14 แสนล้านบาท ว่า การขออนุมัติกรอบการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบ 63 วงเงิน 2.14 แสนล้านบาท นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
พร้อมระบุว่า "ระดับเงินคงคลังของรัฐบาลยังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยสถานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ค.63 อยู่ที่ 282,141 ล้านบาท และคาดว่า ณ สิ้นปีงบ 63 เงินคงคลังจะอยู่ในระดับที่เพียงพอที่จะรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และดำเนินมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทย"
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากการตรวจสอบเอกสารมติครม.เมื่อวันที่ 18 ส.ค.63 เรื่อง การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 ซึ่งเสนอโดย สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง รักษาราชการแทนรมว.คลัง ประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ
ปราฎว่าเอกสารดังกล่าว มีการระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นของการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งมีรายละเอียดส่วนหนึ่ง ดังนี้
(สันติ พร้อมพัฒน์)
4.1 คณะกรรมการฯ ได้ประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 เพื่อพิจารณาปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 ดังนี้
4.1.1 การปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบประมาณ 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะปรับตัวลดลงร้อยละ 5-6
กระทรวงการคลัง ได้มีการทบทวนรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณ 2563 และคาดการณ์ว่าจะต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ จำนวน 394,400 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ระดับ 139,898 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถรองรับการเบิกจ่ายของหน่วยงานในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่จะมีการเร่งการเบิกจ่ายงบอุดหนุนของหน่วยงานต่างๆ
ดังนั้น เพื่อให้รัฐบาลมีระดับเงินคงคลังเพียงพอกับการเบิกจ่ายของหน่วยงาน และสอดคล้องกับมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องรักษาระดับเงินคงคลังไว้ในระดับที่จำเป็นเพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการเบิกจ่าย
จึงจำเป็นต้องดำเนินการกู้เงิน เพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (Revenue Shortfall) เพิ่มเติม ซึ่งตามมาตรา 7 มาตรา 20 (1) และมาตรา 21 แห่งพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ กำหนดกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ไว้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ และร้อยละ 80 ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น
หรือเท่ากับ 683,093.92 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2563 มีวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณแล้ว จำนวน 469,000 ล้านบาท จึงเหลือวงเงินกู้สำหรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ไม่เกิน 214,093.92 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอให้บรรจุเพิ่มเติมไว้ในแผนฯ
(ที่มา : มติครม.วันที่ 18 ส.ค.63)
จากเอกสารดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้ว่าครม.จะอนุมัติให้มีการเปิดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปีงบ 63 เป็นวงเงิน 214,093.92 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับการจัดเก็บรายได้สุทธิที่คาดว่าจะต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 394,400 ล้านบาทแล้ว
มีความเป็นไปได้สูงว่า รัฐบาลอาจต้องกู้เงินเพิ่มเติมในส่วนที่เหลืออีก 180,307 ล้านบาท เพื่อนำมาปิดหีบงบประมาณปี 63 และเนื่องจากการกู้เงินภายใต้กรอบงบประมาณปี 63 เต็มกรอบวงเงินแล้ว จึงต้องไปกู้เงินในปีงบ 64 หรือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63 ไปแล้ว
ในขณะที่งบปี 64 รัฐบาลกำหนดกรอบวงเงินไว้ที่ 3.3 ล้านล้านบาท และมีภาระกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 623,000 ล้านบาทนั้น หากการจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 2,677,000 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบโควิด จะทำให้ในปีงบ 64 รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก
“ปีงบ 64 เป็นอีกหนึ่งปีที่น่าเป็นห่วง สำหรับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร เนื่องจากทั้งผู้ประกอบการนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นฐานรายได้หลักยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด โดยปีงบ 64 กรมฯได้รับเป้าหมายให้จัดเก็บรายได้ 2 ล้านล้านบาท” เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่ในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 18 ส.ค.63 ได้ปรึกษาหารือกัน และมีการสั่งการให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง เพื่อรองรับกรณีที่หนี้สาธารณะอาจเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่ากรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด รวมทั้งพิจารณาหารายได้จากสินทรัพย์อื่นๆของรัฐบาลเพิ่มเติม เพื่อลดภาระการใช้เงินกู้ของรัฐบาลในอนาคตด้วย
ในขณะที่วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อ และส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ปีงบ 64 เป็นอีกปีหนึ่งที่รัฐบาลต้องเผชิญกับภาวะ ‘ถังแตก’ และนี่ก็เป็นโจทย์สำคัญที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องเตรียมการแก้ไขแต่เนิ่นๆ
อ่านประกอบ :
จีทูจีไม่มีเก๊! ทร.ยันซื้อเรือดำน้ำถูกต้องตาม กม.-ชะลอได้ไม่มีค่าปรับ แต่เสียเครดิตการค้า
หนุนรัฐกระตุ้นศก.! ‘วิรไท’ ชี้ขยายกรอบหนี้สาธารณะได้หากจำเป็น-'คลัง' โต้ ‘ถังแตก’
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
เปิดรายงานกนง. : ความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบค่าเงิน-หนุนนโยบายการคลังกระตุ้นศก.
'ขุนคลัง' ปรีดี ดาวฉาย : เอาวิกฤติให้รอดก่อน-รักษาหนี้สาธารณะที่ระดับ 60% ของจีดีพี
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ : โชว์นโยบายพลังงานกระตุ้นศก. ดันไทย 'ฮับขายไฟฟ้า-รื้อราคาโซลาร์ปชช.'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/