"...ค่าเงินบาทผันผวนสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อนจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยในช่วงแรกค่าเงินบาทอ่อนค่าจากปัจจัยเฉพาะภายในประเทศ อาทิ ความกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดการระบาดระลอกสองของ COVID-19 และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ก่อนกลับมาโน้มแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ สรอ. ที่ถูกกดดันจากหลายปัจจัย อาทิ จำนวนผู้ติดเชื้อที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ที่หดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์..."
หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 19 ส.ค.63 สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 5/63 วันที่ 5 ส.ค.63
กรรมการที่เข้าร่วมประชุม
นายวิรไท สันติประภพ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นายคณิศ แสงสุพรรณ นายสุภัค ศิวะรักษ์ นายสมชัย จิตสุชน
ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ
เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่หดตัวรุนแรงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ตามการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม ระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดมาก เศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลักและเอเชีย (ไม่รวมจีน) มีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังรุนแรงในหลายประเทศและการระบาดระลอกใหม่ในบางประเทศ เศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มขยายตัวได้เล็กน้อยจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด นโยบายการเงินและนโยบายการคลังของประเทศต่างๆ ผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำและคงมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (asset purchases) ขณะที่ธนาคารกลางในภูมิภาคหลายแห่งลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม อาทิ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ธนาคารกลางมาเลเซีย และธนาคารกลางอินโดนีเซีย
ด้านนโยบายการคลัง รัฐบาลของหลายประเทศขยายระยะเวลามาตรการเยียวยาที่ประกาศใช้ในช่วงก่อนหน้า อาทิ มาตรการสนับสนุนค่าจ้างแรงงานให้กับภาคธุรกิจของมาเลเซียและสิงคโปร์ ขณะที่รัฐบาลของหลายประเทศทยอยออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะการบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแผนกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจากปัญหาโรคระบาด (European Recovery Fund) ซึ่งนับเป็นความคืบหน้าสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีโอกาสที่จะขยายตัวต่ำกว่าคาด จาก (1) การระบาดของ COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นจนทำให้หลายประเทศกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวดอีกครั้ง (2) ความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินโลก จากความเสี่ยงที่ตราสารหนี้ภาคเอกชนมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นหรือตราสารหนี้ภาครัฐถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (3) การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกลับมาทวีความรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อปริมาณการค้าโลก
และ (4) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เช่น การประกาศยกเลิกสถานะพิเศษของฮ่องกง และการผ่านร่างกฎหมายคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของจีน เพื่อตอบโต้การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกงของจีน
คณะกรรมการฯ อภิปรายเพิ่มเติมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า และประเมินว่ายังมีความไม่แน่นอนอยู่มากแม้เครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดจะปรับดีขึ้นบ้าง โดยเฉพาะความต่อเนื่องของการฟื้นตัวจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ ประสิทธิผลของมาตรการภาครัฐในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างการค้าโลกที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากการระบาดของ COVID-19 ที่อาจทำให้การส่งออกไทยไม่ได้รับผลดีเต็มที่จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้ติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ภาวะตลาดการเงิน
ภาวะการเงินโลกทยอยปรับดีขึ้นตามความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดในหลายประเทศที่ดีกว่าคาด รวมถึงสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่อยู่ในระดับสูงจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงและราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การระบาดระลอกสองของ COVID-19 ในบางประเทศเพิ่มความผันผวนในตลาดการเงินโลกเพียงระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงระมัดระวังในการเลือกประเภทสินทรัพย์และกลุ่มประเทศที่กลับเข้าไปลงทุน สะท้อนจากปริมาณเงินทุนที่ไหลกลับตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนแตกต่างกันในแต่ละประเทศของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets: EMs)
สำหรับภาวะตลาดการเงินของไทย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับสูง ด้านสภาพคล่อง สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอลงจากมาตรฐานการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่เข้มงวดขึ้น แม้ว่าส่วนหนึ่งจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการเลื่อนการชำระหนี้
คณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทผันผวนสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อนจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยในช่วงแรกค่าเงินบาทอ่อนค่าจากปัจจัยเฉพาะภายในประเทศ อาทิ ความกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดการระบาดระลอกสองของ COVID-19 และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ก่อนกลับมาโน้มแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ สรอ. ที่ถูกกดดันจากหลายปัจจัย อาทิ จำนวนผู้ติดเชื้อที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ที่หดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์
ดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) โดยรวมปรับอ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อน แม้ล่าสุดจะโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย คณะกรรมการฯ เห็นว่าหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเร่งสร้างสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเอื้อให้ภาคเอกชนสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้นและสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เสรีขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเสถียรภาพระบบการเงิน
เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในไทยและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดมาก การส่งออกบริการ ความคืบหน้าของมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมจากความกังวลของประชาชนต่อแนวทางการเปิดประเทศของไทย อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวดีขึ้นส่วนหนึ่งจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ การส่งออกสินค้าหดตัวมากในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ แต่เริ่มเห็นการฟื้นตัวในหลายหมวดสินค้าสะท้อนจากข้อมูลการส่งออกเดือนมิถุนายน
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวยังอยู่ในระดับต่ำและคาดว่าจะต้องใช้เวลากลับสู่ระดับก่อนวิกฤต การบริโภคภาคเอกชน ทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แต่ประเมินว่าการบริโภคภาคเอกชนจะยังหดตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปีจากรายได้ของครัวเรือนที่ลดลงและการว่างงานที่สูงขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะทำให้ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายและเก็บออมเงินมากขึ้น การลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มหดตัวสูงตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้ายังมีแรงสนับสนุนอยู่บ้างจากแผนการย้ายฐานการผลิตมาไทยในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีแนวโน้มดำเนินการได้ต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาครัฐ เป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จากการเบิกจ่ายภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดฯ อย่างไรก็ตาม เงินโอนในแผนงานเยียวยาและแผนงานฟื้นฟูส่วนหนึ่งมีแนวโน้มที่จะเลื่อนออกไปเนื่องจากโครงการบางส่วนรอการอนุมัติ ขณะที่การประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2564 คาดว่าจะเป็นไปตามกำหนด
คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความท้าทายที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีที่อาจถูกกดดันจากหลายปัจจัย อาทิ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม ภายใต้ความเสี่ยงของการระบาดระลอกที่สองในหลายประเทศที่อาจทำให้ทัศนคติและพฤติกรรมของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ถูกกดดันจากรายได้ของครัวเรือนที่ลดลง หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำ
และเห็นว่าทาง ธปท. ควรเร่งประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อศึกษาถึงมาตรการที่สามารถทำได้เพิ่มเติมเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ควรประเมินผลดีและผลเสีย (policy trade-off) อย่างชัดเจนทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสาธารณสุข และควรดำเนินการควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือน โดยเฉพาะมาตรการสร้างงานใหม่และการดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงมาตรการลดภาระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคครัวเรือนเพื่อช่วยสนับสนุนการบริโภค
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ หารือถึงแนวนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 อาทิ ธุรกิจโรงแรม และอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน และเห็นว่าแนวโน้มการฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจจะแตกต่างกันและมีนัยเชิงนโยบายที่แตกต่างกัน โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าจะมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงและกระทบการจ้างงาน ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วจะต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังการระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งดำเนินนโยบายด้านอุปทานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นบ้างตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มติดลบในปี 2563 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สามารถรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจาก COVID-19 ได้ แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ในบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อให้กระจายตัวสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบในวงกว้างผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) การค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การสนับสนุนสินเชื่อโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นต้น
การดำเนินนโยบายการเงิน
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในประเทศและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่จะใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับไปสู่ระดับเดิม และยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่สอง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำควบคู่กับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อของ ธปท. และมาตรการการคลังของรัฐบาล ได้ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย ตลอดจนเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การลดอัตราอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจมีประสิทธิผลไม่มากในบริบทปัจจุบัน โดยอาจกระทบต่อการทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินของสถาบันการเงิน เพิ่มความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินผ่านการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร รวมถึงกระทบต่อการออมของประชาชน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรเร่งรัดมาตรการด้านสินเชื่อและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อในระยะข้างหน้าควรให้ความสำคัญกับ (1) ดูแลให้สภาพคล่องในระบบการเงินกระจายไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น ผ่านการเร่งรัดสินเชื่อในโครงการต่าง ๆ (2) สนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งรัดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะลูกหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ
และ (3) เตรียมมาตรการรองรับเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเงินของภาคธุรกิจ และการสร้างกลไกเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้มีมาตรฐานและดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการคลังต้องมีบทบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้าที่จะสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เนื่องจากการฟื้นตัวจะใช้เวลาและมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ มาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้าจึงต้องต่อเนื่อง ตรงจุด และทันการณ์
และควรให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง โดยภาครัฐควรจัดตั้งช่องให้แรงงานเข้าถึงข้อมูลตลาดแรงงานในระดับท้องถิ่น รวมถึงจัดตั้งกลไกเพื่อพัฒนาทักษะแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่อาจมีทักษะไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานให้สามารถพัฒนาตนเองได้
คณะกรรมการฯ อภิปรายเพิ่มเติมถึงบทบาทของนโยบายการเงินที่ช่วยสนับสนุนนโยบายการคลังในระยะข้างหน้า และมีความเห็นว่านโยบายการคลังที่จะมีบทบาทมากขึ้นในระยะต่อไปจะทำให้หนี้สาธารณะมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับลดลงมาก สภาพคล่องในตลาดการเงินที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้นโยบายการคลังของไทยยังมีขีดความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เหมาะสมหลังการระบาดของ COVID-19 สิ้นสุดลง
มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลัง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
อ่านประกอบ :
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
'ขุนคลัง' ปรีดี ดาวฉาย : เอาวิกฤติให้รอดก่อน-รักษาหนี้สาธารณะที่ระดับ 60% ของจีดีพี
เศรษฐกิจ ก.ค.ส่งสัญญาณฟื้นช้าลง! จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง-กสิกรไทยฯหนุนกระตุ้นรอบใหม่
ธปท.ตรึงหนี้เสีย! กำชับแบงก์ช่วยลูกหนี้จนกว่าโควิดจะคลี่คลาย-สิ้นไตรมาสสอง NPLs แตะ 3.09%
จีดีพีไตรมาสสองหด 12.2%! สศช.หั่นเป้าทั้งปีเป็นติดลบ 7.5%-หนี้เสียภาคบริโภคพุ่ง 23%
วิกฤติยังไม่คลี่คลาย! เตือนอีก 3 เดือนตกงานเพิ่ม 6 แสนคน-ต่อคิวสมัครงานล้น 'รร.มิราเคิล'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/