ครม.ไฟเขียวแผนบริหารหนี้สาธารณะฉบับใหม่ อนุมัติกู้เงินเพิ่ม 2.14 แสนล้านบาท โป๊ะรายจ่ายงบปี 63 หลังเจอผลกระทบโควิด ทำให้การจัดรายได้ลดลง คาด ณ สิ้นปีงบ 63 หนี้สาธารณะของไทยแตะ 8.21 ล้านล้านบาท คิดเป็น 51.64% ของจีดีพี เฉพาะ 6 ปี รัฐบาล 'บิ๊กตู่' หนี้สาธารณะเพิ่ม 2.68 ล้านล้านบาท
เมื่อวันที่ 18 ส.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติและรับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 ทั้งนี้ การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว ส่งผลให้ประมาณการยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบ 63 มีจำนวน 8.21 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีที่ 51.64% ซึ่งไม่เกิน 60% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะ
สำหรับรายละเอียดการปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะฯ มีดังนี้ 1.ปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบ63 วงเงิน 214,093.92 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบ 63 โดยการกู้เงินเพิ่มเติมดังกล่าวจะส่งผลให้รัฐบาลมีระดับเงินคงคลังเพียงพอรองรับการเบิกจ่ายของหน่วยงาน
2.นํารายการหนี้ของบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) หรือ บกท.ออกจากแผนฯ เนื่องจาก บกท.พ้นสถานภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้หนี้เงินกู้ของ บกท. ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ และ3.ปรับกรอบและวงเงินของการบริหารหนี้สาธารณะให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว ส่งผลให้วงเงินตามแผนเดิมมีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ปรับเพิ่มสุทธิ 158,521.85 ล้านบาท จากเดิม 1,497,498.55 ล้านบาท เป็น 1,656,020.40 ล้านบาท 2. แผนการบริหารหนี้เดิมปรับลด 67,267.64 ล้านบาท จากเดิม 1,035,777.74 ล้านบาท เป็น 968,510.10 ล้านบาท และ3. แผนการชําระหนี้ปรับลด 22,329.31 ล้านบาท จากเดิม 389,373.21 ล้านบาท เป็น 367,043.90 ล้านบาท
“การปรับปรุงแผนครั้งนี้ ส่งผลให้หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบ 63 มีทั้งหมด 8.21 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี 51.64% ถือว่าไม่เกินเพดานหนี้สาธารณะ 60% และการปรับแผนหนี้สาธารณะมีความจำเป็นเพราะประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด กระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐที่ลดลง เมื่อรายได้ลดลง แต่มีความจำเป็นในการใช้จ่ายก็มากขึ้น ดังนั้น เพื่อหาทางออกในการขับเคลื่อนประเทศ จึงต้องมีเรื่องการบริหารหนี้สาธารณะเข้ามา” น.ส.รัชดากล่าว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ณ เดือน พ.ค.57 ไทยมีหนี้สาธารณะคงค้างทั้งสิ้น 5.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นหนี้สาธารณะ 42.50% ต่อจีดีพี ดังนั้น ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 สมัย พบว่ามีการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึง 2.68 ล้านล้านบาท ในช่วง 6 ปีเศษ
อ่านประกอบ :
'ขุนคลัง' ปรีดี ดาวฉาย : เอาวิกฤติให้รอดก่อน-รักษาหนี้สาธารณะที่ระดับ 60% ของจีดีพี
เศรษฐกิจ ก.ค.ส่งสัญญาณฟื้นช้าลง! จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง-กสิกรไทยฯหนุนกระตุ้นรอบใหม่
ธปท.ตรึงหนี้เสีย! กำชับแบงก์ช่วยลูกหนี้จนกว่าโควิดจะคลี่คลาย-สิ้นไตรมาสสอง NPLs แตะ 3.09%
จีดีพีไตรมาสสองหด 12.2%! สศช.หั่นเป้าทั้งปีเป็นติดลบ 7.5%-หนี้เสียภาคบริโภคพุ่ง 23%
วิกฤติยังไม่คลี่คลาย! เตือนอีก 3 เดือนตกงานเพิ่ม 6 แสนคน-ต่อคิวสมัครงานล้น 'รร.มิราเคิล'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/