“...กมธ.วิสามัญฯ ระบุว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และการก่อหนี้สาธารณะที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพที่มีคุณภาพทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลมีความเปราะบาง…”
........................................
ในวันที่ 16 ก.ย. 2563 สภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมครั้งที่ 30 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ โดยมีวาระสำคัญคือพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ในวาระที่ 2) ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 64 ดำเนินการแล้วเสร็จ
ประเด็นที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง ? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปให้สาธารณชนรับทราบเบื้องต้น ดังนี้
ทั้งนี้ กมธ.วิสามัญฯสรุปรายการปรับลดวงเงินงบประมาณลงเหลือ 3,285,962,479,700 บาท (จากเดิม 3.3 ล้านล้านบาท) โดยปรับลดวงเงินลงทั้งสิ้น 31,965,549,000 บาท และมี กมธ.วิสามัญฯ ขอสงวนความเห็น 36 ราย และ ส.ส.สงวนคำแปรญัตติ 182 ราย
โดยหน่วยงานที่ถูกปรับลดเยอะสุด ได้แก่ กระทรวงกลาโหม โดนปรับลด 7,788,500,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นแผนงานด้านพื้นฐานความมั่นคง แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่ผูกพันตามสัญญา
รองลงมาเป็นกระทรวงมหาดไทย โดนปรับลด 3,863,463,500 บาท กระทรวงศึกษาธิการ โดนปรับลด 1,853,314,100 บาท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,796,451,800 บาท กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดนปรับลด 1,208,592,800 บาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดนปรับลด 1,175,768,500 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย แม้จะถูกปรับลดวงเงินกว่า 3.8 พันล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมรวม 10,656,630,400 บาท โดยเป็นแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ 588 ล้านบาทเศษ เป็นต้น
ขณะที่หน่วยงานของศาล ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมรวม 509 ล้านบาท เป็นแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม 5,679,101,900 บาท เป็นแผนงานบุคลากรภาครัฐ เช่น การจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำ ค่าตอบแทน ใช้สอย และวัสดุ เป็นต้น และมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 1,083,296,400 บาท เป็นแผนงานยุทธศาสตร์สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ในกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นต้น
กมธ.วิสามัญฯมีข้อสังเกตถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2564 เช่น การจัดทำงบประมาณปี 2564 มีการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาต่อสถานการณ์โควิด-19 แม้ว่าจะมีการปรับการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่การจัดสรรงบประมาณยังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และยังไม่สามารถเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นได้
ทั้งนี้รัฐบาล สำนักงบประมาณและหน่วยรับงบประมาณ ควรมีแผนในการจัดทำงบประมาณในภาวะวิกฤติ โดยลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นหรือไม่เร่งด่วน เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติ และพิจารณาปรับลดงบประมาณ การจัดฝึกอบรม สัมมนา การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ ที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงการพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนในสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน การจัดสรรงบประมาณควรพิจารณาถึงทิศทางสถานการณ์ และวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ประเทศเผชิญอยู่ในปัจจุบันเป็นสำคัญ
ขณะเดียวกันหนี้สาธารณะสูงขึ้นเป็นภาระแก่การคลังของประเทศ โดย กมธ.วิสามัญฯ ระบุว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และการก่อหนี้สาธารณะที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพที่มีคุณภาพทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลมีความเปราะบาง
นอกจากนี้ กมธ.วิสามัญฯ ยังพบว่า เงินนอกงบประมาณ ของแต่ละหน่วยงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก คือเงินของแผ่นดินซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานต้องจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณ ตามที่ผ็อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนดในการขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปี
กมธ.วิสามัญฯ จึงมีข้อสังเกตว่า ในปีต่อไปควรกำหนดให้หน่วยรับงบประมาณ จัดส่งข้อมูลแผนงานและรายละเอียดการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณที่ผ่านการตรวจสอบของผู้ตรวจสอบบัญชี โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตลอดจนกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญฯ จะทำให้การพิจารณาจัดสรรงบประมาณเหมาะสม กับสถานะการเงินและการคลังของหน่วยงานนั้น ๆ
ทั้งนี้ในส่วนเงินงบประมาณสำคัญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย เช่น กรณีกองทัพเรือขอจัดซื้อเรือดำน้ำเพิ่มเติมอีก 2 ลำนั้น กมธ.วิสามัญฯ มีข้อเสนอว่า เพื่อให้โครงการดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.งบประมาณฯ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงให้กองทัพเรือไปเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้รับจ้าง เพื่อให้กองทัพเรือสามารถดำเนินการได้ต่อไป
รวมถึงการเสนอของบประมาณจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศของหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม ในการเจรจาควรมีข้อเสนอไปยังประเทศคู่สัญญา ให้มีการจัดซื้อในรูปแบบชดเชย หรือรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่งบประมาณ โดยอาจเจรจาให้คู่สัญญามีการเพิ่มโควตาการจัดซื้อพืชผลทางการเกษตรของประเทศไทย เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณยึดโยงและเกิดประโยชน์กับประชาชนและเกษตรกร นอกจากนี้ควรมีเอกสารข้อมูลการเจรจากับประเทศคู่สัญญามาแสดงให้ กมธ.วิสามัญฯพิจารณาด้วย
อย่างไรก็ดีข้อมูลทั้งหมดเป็นเพียงการผ่านพิจารณาในชั้น กมธ.วิสามัญฯเท่านั้น คงต้องรอการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2564 ในวาระที่ 2 วันพรุ่งนี้!
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage