ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้พ.ร.บ.งบประมาณปี 64 กรอบวงเงิน 3.285 ล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ขณะที่ ‘แบงก์ชาติ’ ห่วงโควิด-19 กระทบการจัดเก็บรายได้ 'ต่ำเป้า' แนะรัฐเร่งใช้เงินกู้ฟื้นฟูโควิด-กระตุ้นรัฐวิสาหกิจลงทุนตามแผน-ผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
..............
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 3.285 ล้านล้านบาท โดยพ.ร.บ.ดังกล่าวให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 เป็นต้นไป (อ่านรายละเอียด : พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564)
ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ให้สภาฯพิจารณา โดยมีกรอบวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท คาดว่าจะจัดเก็บรายได้สุทธิได้ที่ 2.677 ล้านล้านบาท และต้องมีการกู้ชดเชยการขาดดุลเงินประมาณ 6.23 แสนล้านบาท ต่อมาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ปรับลดวงเงินงบประมาณปี 2564 ลง 2,605.23 ล้านบาท จึงเหลือวงเงิน 3.285 ล้านล้านบาท
ขณะที่นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวระหว่างการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 64 วาระที่ 2 เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า ในรายงานกมธ.ครั้งที่ 2 หน้าที่ 9 ระบุว่า เดิมคาดว่ารัฐจะจัดเก็บรายได้ได้ 2.6 ล้านล้านบาท แต่มีการปรับคาดการณ์ใหม่เป็นจัดเก็บรายได้ได้เพียง 2.37 ล้านล้านบาท เท่ากับว่ารายได้หายไป 2.3 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับวงเงินขาดดุลที่ตั้งไว้ 6.3 แสนล้านบาท เท่ากับว่าปีงบ 2564 จะมีการขาดดุลงบประมาณ 8.5 แสนล้านบาท
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาเรื่อง แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ต่อครม. โดยธปท.ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมากและยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า
ดังนั้น รัฐบาลจึงควรพิจารณาเตรียมความพร้อมในการจัดหาแหล่งเงินภายใต้สถานการณ์จำลองต่าง ๆ (Scenario Planning) โดยเฉพาะภายใต้กรณีเลวร้าย (Worse Case) ที่เศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าคาดหรือกรณีที่มีการระบาดรอบสอง เพื่อรักษาระดับเงินคงคลังให้มีสภาพคล่องเพียงพอรองรับการใช้จ่ายของหน่วยงานของรัฐให้มีความต่อเนื่องและเป็นไปตามป้าหมายที่กำหนด รวมถึงการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่อาจอยู่ในระดับต่ำกว่าคาด
นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งดำเนินการและเบิกจ่ายเงินกู้โดยเฉพาะแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามแผน เพื่อสนับสนุนการพื้นตัวของเศรษฐกิจ และผลักดันด้านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่อย่างเป็นรูปธรรมหลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 คลี่คลายลง
อ่านประกอบ :
ก่อหนี้ใหม่ 1.46 ล้านล้าน! ครม.เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 64
สภาถกงบปี 64 ปรับลดน้อย-จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า เสี่ยงกู้ชดเชยจนทะลุเพดานหนี้
สภาเริ่มถกงบปี 64 วาระสอง ปรับลดเหลือ 3.28 ล้านล้าน ฝ่ายค้านห่วงเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า
หนี้พุ่ง-ฐานะ รบ.เปราะบาง? กางข้อสังเกต กมธ.วิสามัญฯหั่นงบปี 64 เหลือ 3.28 ล้านล.
หนุนรัฐกระตุ้นศก.! ‘วิรไท’ ชี้ขยายกรอบหนี้สาธารณะได้หากจำเป็น-'คลัง' โต้ ‘ถังแตก’
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
เปิดรายงานกนง. : ความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบค่าเงิน-หนุนนโยบายการคลังกระตุ้นศก.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/