ผู้ว่าธปท.หนุนบทบาท ‘ภาครัฐ-ภาคการคลัง’ กระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้หากจำเป็นสามารถขยายกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเกินกรอบ 60% ได้ แต่ต้องใช้เงินในโครงการกระตุ้นการจ้างงาน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องโลกหลังโควิด แนะรัฐหารายได้ โดยการเก็บภาษีทรัพย์สินเพิ่ม-นำทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจสร้างรายได้ ขณะที่ ‘คลัง’ โต้กระแสข่าว ‘ถังแตก’
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลอนุมัติให้มีการกู้เงินเพิ่มเติมอีก 2.14 แสนล้านบาท เนื่องจากรายได้ในปีงบ 63 ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ‘คลังถังแตก’ ว่า ในสภาวะวิกฤติแบบนี้คนที่มีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ ภาครัฐ และหากพิจารณาหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยที่จะอยู่ใกล้ๆ 60% แล้ว ตนเห็นว่าไม่น่ากังวล หากภาครัฐมีความจำเป็น และมีโครงการที่ดี
“สถานการณ์โควิดทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบแรง ภาคการคลังสามารถมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มมากขึ้นอีก แต่เรื่องสำคัญอยู่ที่ว่าโครงการที่จะใช้นั้นเป็นโครงการลักษณะไหน ซึ่งต้องเป็นโครงการที่มีประสิทธิผลในการกระตุ้นการจ้างงาน เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับวิถีเศรษฐกิจใหม่ วิถีการดำรงชีวิตใหม่หลังโควิด และมีโครงการหลากหลายประเภทที่จะให้ภาคการคลังเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้” นายวิรไทระบุ
นายวิรไท กล่าวต่อว่า “บางทีเราไปติดกับตัวเลขเกณฑ์ที่เราเคยตั้งไว้สำหรับภาวะปกติ คือ เกณฑ์หนี้สาธารณะที่ 60% ของจีดีพี ซึ่งอันนั้นเป็นภาวะปกติ แต่ในสภาวะแบบนี้ จีดีพีมีการหดตัว และหดตัวทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะไทย ซึ่งเป็นผลจากวิกฤติโควิดที่รุนแรง ดังนั้น เราต้องมาพิจารณาเกณฑ์เหล่านี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และไม่อยากให้ไปยึดเฉพาะเรื่องตัวเลขเป็นหลัก
แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะใช้ในโครงการประเภทใดที่เกิดประโยชน์ และสอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์ ทั้งการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ การดูแลสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ไปพร้อมๆกับส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับวิถีใหม่หลังโควิด ขณะที่การประสานนโยบายต้องทำหลายด้าน ไม่ใช่เพียงแค่นโยบายการคลังอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงนโยบายด้านอุปทาน การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจด้วย”
อย่างไรก็ตาม นายวิรไท กล่าวว่า เมื่อมีการเพิ่มบทบาทการใช้จ่ายของภาครัฐ จะต้องพิจารณาอย่างจริงจังในเรื่องการหารายได้ของรัฐบาลในอนาคต ซึ่งมีหลายเรื่องที่สามารถทำได้ เช่น เรื่องฐานภาษีที่ยังมีฐานภาษี อาทิ ภาษีทรัพย์สินที่จัดเก็บได้ในสัดส่วนที่น้อยมาก การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี และหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับหารายได้จากทรัพย์สินของภาครัฐ ทั้งทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจ และที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ
“เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ บทบาทภาครัฐและภาคการคลังมีความจำเป็น และถ้าต้องทำเพิ่มเติมจากเกณฑ์ที่วางไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หากโควิดแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น กระทบต่อเศรษฐกิจยาวขึ้น กว้างขึ้น ภาคการคลังเป็นภาคเดียวที่มีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลเศรษฐกิจไม่ให้ไหลลงแรงได้ กฎเกณฑ์หรือกรอบบางอย่างที่เราตั้งไว้ในภาวะปกติ แต่เมื่อเราต้องใช้ภาคการคลังเพิ่มขึ้น ก็ต้องทำควบคู่กับแผนหารายได้ในอนาคต” นายวิรไทกล่าว
นายวิรไท กล่าวว่า เมื่อภาคการคลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นแล้ว สิ่งที่ต้องทำด้วย คือ ต้องมีแผนในการถอนออก ต้องไม่ทำโครงการเหล่านั้นเป็นโครงการที่อยู่ไปยาว แม้ว่าโควิดจะหายไปแล้ว ต้องเป็นมาตรการชั่วคราว เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วต้องมีกลไกที่ลดลงทันที เหมือนกับการออกพ.ร.ก.ของธปท. ที่มีกำหนดระยะเวลาชัดเจน เมื่อครบกำหนดแล้วก็หายไป โดยต้องไม่เป็นมาตรการที่มีผลต่อเนื่องจนสร้างภาระการคลังในระยะยาว
“อีกด้านหนึ่งจะต้องคิด คือ การลดบทบาทของภาครัฐในระยะยาว เวลาที่มีภาวะวิกฤติปฏิเสธไม่ได้ว่าภาครัฐต้องใหญ่ขึ้น จะต้องมีบทบาทมากขึ้นในกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในระยะยาว บทบาทของภาครัฐจะต้องลดลง รายจ่ายของภาครัฐบางประเภทต้องลดลง ซึ่งในภาคธุรกิจมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ใช้ดิจิทัลมากขึ้น เพื่อสอดคล้องกับโลกใหม่หลังโควิด ภาครัฐก็เช่นเดียวกันรายจ่ายประจำต่างๆต้องปรับให้เหมาะสม ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของภาครัฐในอนาคต” นายวิรไทกล่าว
ด้านกระทรวงการคลัง ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณีกระแสข่าวว่าคลังถังแตก เงินคงคลังไม่พอใช้ จนคณะรัฐมนตรีต้องอนุมัติกู้เงินเพิ่มเติมอีก 2.14 แสนล้านบาท ว่า การขออนุมัติกรอบการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบ63 วงเงิน 2.14 แสนล้านบาท ว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก
โดยเศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพิงต่างประเทศค่อนข้างมากทั้งในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง รวมทั้งผลที่เกิดขึ้นต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพของประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
“การหดตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ตลอดจนการดำเนินมาตรการด้านการคลังต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับการเลื่อนระยะเวลาชำระภาษีได้ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบ 2563 ดังนั้น เพื่อเตรียมการรองรับการใช้จ่ายของรัฐบาลในช่วงต้นปีงบ 2564 และเพื่อให้การดำเนินมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องขออนุมัติกรอบการกู้เงินเพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ วงเงิน 214,093 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะพิจารณากู้เงินตามความจำเป็นเท่านั้น” กระทรวงการคลังระบุ
กระทรวงการคลัง ยังชี้แจงว่า ระดับเงินคงคลังของรัฐบาลในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยสถานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนก.ค.63 อยู่ที่ระดับ 282,141 ล้านบาท และคาดว่า ณ สิ้นปีงบ 63 เงินคงคลังจะอยู่ในระดับที่เพียงพอที่จะรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป
นอกจากนี้ ในกรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินเพิ่มเติมเต็มกรอบวงเงิน 2.14 แสนล้านบาท จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง ต่อ GDP ณ สิ้นปีงบ 63 อยู่ที่ระดับ 51.64% ซึ่งไม่เกิน 60% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด และกระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาอนุมัติแล้วจะเริ่มส่งผลต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจในช่วงต้นปีงบ 2564 และสามารถดูแลประชาชนและประคับประคองผู้ประกอบการให้ผ่านช่วงวิกฤติครั้งนี้ไปได้
อ่านประกอบ :
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
เปิดรายงานกนง. : ความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบค่าเงิน-หนุนนโยบายการคลังกระตุ้นศก.
'ขุนคลัง' ปรีดี ดาวฉาย : เอาวิกฤติให้รอดก่อน-รักษาหนี้สาธารณะที่ระดับ 60% ของจีดีพี
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ : โชว์นโยบายพลังงานกระตุ้นศก. ดันไทย 'ฮับขายไฟฟ้า-รื้อราคาโซลาร์ปชช.'
ครม.เห็นชอบ 'อนุชา บูรพชัยศรี' นั่งโฆษก รบ.คนใหม่ พร้อมตั้ง 11 ขรก.ดำรงตำแหน่ง 5 กระทรวง
วิกฤติยังไม่คลี่คลาย! เตือนอีก 3 เดือนตกงานเพิ่ม 6 แสนคน-ต่อคิวสมัครงานล้น 'รร.มิราเคิล'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/