"...เวลานี้ที่เชื่อว่ารัฐจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 2.6 ล้านล้านบาท และเชื่อว่ารัฐบาลจะมากู้เงินอีกครั้งในไม่นานนี้ และจะต้องกู้เยอะขึ้น นอกจากนั้นไม่เกินปีหน้ารัฐบาลก็จะมาขอแก้กฎหมายขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% นายสุทิน อภิปรายถึงการปรับลดงบประมาณ 2564..."
-----------------------------------------------
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบรายจ่ายประจำปี 2564 ในวาระที่ 2 ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ดำเนินการเสร็จแล้ว ในการอภิปรายตอนหนึ่ง ส.ส. และ กมธ. เสียงข้างน้อยได้ขอสงวนความเห็นและขอสงวนคำแปรญัตติ ในมาตรา 4 เพี่อขอปรับลดงบประมาณลงจาก 3.28 ล้านล้านบาท โดยมีการเสนอขอตัดงบประมาณลงตั้งแต่ 1-23% รวมถึงมีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติให้ปรับลดลงคงเหลือ 2.60 ล้านล้านบาทด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรา 4 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้งบประมาณรรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 2564 ให้ตั้งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 3.28 ล้านล้านบาทตามที่ กมธ.พิจารณา โดยมีผู้เห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ. จำนวน 264 คน ไม่เห็นด้วย 140 คน งดออกเสียง 18 คน และไม่ลงคะแนน 1 คน โดยมีการแสดงความเห็นที่น่าสนใจ ดังนี้
@จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า-หนี้สาธารณะทะลุเพดาน
นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.ประชาธิปัตย์ เสนอขอปรับลดงบประมาณอีก 10% โดยเห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันอาจทำให้ภาครัฐจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า ขณะเดียวกันยังจัดงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพหนี้สาธารณะของไทย ทั้งนี้ในรายงาน กมธ.ครั้งที่ 2 หน้าที่ 9 เขียนไว้ชัดเจนว่า การจัดเก็บรายได้จากเดิมที่คาดว่าจะทำได้ 2.6 ล้านล้านบาท มีการคาดการณ์ใหม่แล้วว่าจะจัดเก็บได้จริง 2.37 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าจะมีรายได้หายไป 2.3 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับภาระหนี้ที่ต้องกู้มาชดใช้ 6.3 แสนล้านบาท จะเท่ากับว่าปีนี้จะมีการขาดดุลงบประมาณกว่า 8.5 แสนล้านบาท ทำให้เกิดคำถามว่า เรายังอยู่ในกรอบการจัดสรรงบประมาณที่ถูกต้องหรือไม่
“สถาบันพระปกเกล้าวิเคราะห์ข้อมูลไว้ว่า หากจัดสรรงบประมาณปี 2564 ปีนี้เราจะมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 60.1% ซึ่งถือว่าเลยเพดานไปแล้ว และหากยังดำเนินการลักษณะนี้ต่อไป ในปี 2571 สภาพหนี้สาธารณะของเราจะสูงถึง 77% ซึ่งจะต้องทำให้มีการแก้ไขกฎหมายเรื่องจัดสรรงบประมาณต่อจากนี้อีกใช่หรือไม่” นายเกียรติ กล่าว
นายเกียรติ กล่าวด้วยว่า นอกจาการตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ยังพบว่างบฟื้นฟูเศรษฐกิจตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท พบว่าเบิกจ่ายไปเพียง 4 หมื่นล้านบาท จึงเห็นว่าไม่ตอบโจทย์ความเร่งด่วนที่ได้เคยพูดไว้ ดังนั้นการแก้ปัญหาเพื่อให้ฝ่าวิกฤติได้หลังจากนี้ เมื่องบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้ ขอให้งบลงทุนต้องรีบนำไปลงทุนให้เศรษฐกิจเดินหน้า ทั้งนี้สำหรับข้อท้วงติงเรื่องการจัดทำงบประมาณ ขอให้มีการทบทวนให้มีรายละเอียดชัดเจน สะท้อนความเป็นจริง หากรายได้ขาด รายจ่ายต้องลด ตรงไหนรัดเข็มขัดได้ต้องรีบทำ
@คาดแก้กฎหมายขยายเพดานหนี้ปีหน้า
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย กล่าวว่า แม้ว่าในชั้น กมธ.จะมีการปรับลดงบประมาณประจำปีจาก 3.3 ล้านล้านบาท เหลือ 3.28 ล้านล้านบาท แต่ส่วนตัวยังไม่เห็นการปรับลดที่สอดคล้องกับความจำเป็น โดยเฉพาะเวลานี้ที่เชื่อว่ารัฐจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 2.6 ล้านล้านบาท และเชื่อว่ารัฐบาลจะมากู้เงินอีกครั้งในไม่นานนี้ และจะต้องกู้เยอะขึ้น นอกจากนั้นไม่เกินปีหน้ารัฐบาลก็จะมาขอแก้กฎหมายขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60%
นายสุทิน กล่าวด้วยว่า นอกจากจะไม่เห็นความพยายามในการประหยัดของรัฐบาล ยังไม่พบการเกลี่ยงบประมาณอย่างเหมาะสม เช่น กรณีที่มีการปรับลดและส่งเงินคืนคลัง 1.4 หมื่นล้านบาท ส่วนตัวเห็นว่า ควรนำเงินดังกล่าวไปใช้เกิดประโยชน์อย่างอื่น เช่น เพิ่มสิทธิการรักษาโรคไตในโครงการบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือเพิม่เงินให้กับข้าราชการบำเหน็จบำนาญผู้สูงอายุ ซึ่งที่ผ่านมาตนโดนบิดเบือนกล่าวหาว่าจะไปตัดเงินส่วนนี้ ทั้งที่ความเป็นจริงมีแต่ความเห็นสนับสนุนให้เพิ่มวงเงินดังกล่าก
@จี้รัฐบาลโชว์ฝีมือหาเงินหลังเจอปัญหาไส้แห้ง-ก้นขาด
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.เพื่อไทย เสนอปรับลดงบประมาณลงอีก 18% โดยเห็นว่า รัฐบาลขาดการักษาวินัยการเงินการคลัง และไม่มีฝีมือในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ประเทศมีอาการ บักโกรก ไส้แห้ง ถังแตก ก้นขาด และเห็นว่าตลอด 7 ปีภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ใช้เงินงบประมาณไปแล้ว 20 ล้านล้านบาท ก็พบว่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้
นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี และรัฐบาลยังใช้งบประมาณแบบขาดดุล คาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้จะมีปัญหาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินมาปิดหีบการกู้ขาดดุลประมาณ 7.2 แสนล้านบาท สุดท้ายสถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่มีความชัดเจน จึงไม่เห็นด้วยกับการใช้งบประมาณแบบขาดดุล เพราะเป็นห่วงว่าจะเลยเถิดไปกระทบถึงข้าราชการ ที่จะถูกดุลข้าราชการ เหมือนรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ไล่ข้าราชการออก เพื่อทำให้งบประมาณแผ่นดินมีความสมดุล ดังนั้นขอให้รัฐบาลคิดอย่างรอบคอบ และโชว์ฝีมือให้ดูว่าจะหาเงินเข้าประเทศได้จากไหน
@เชื่อยังรีดไขมันส่วนเกินได้อีกมาก
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.ก้าวไกล กล่าวว่า ยุคนี้เรามีผู้บริหารที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความยากลำบากของประชาชน งบประมาณจำนวนมากที่พิจารณาคือห่วงชูชีพในช่วงวิกฤติ คือความหวังสุดท้ายของประชาชน แต่ก็ยังจัดงบประมาณเหมือนประเทศไทยไม่มีวิกฤติ งบที่ตัดก็ตัดไม่จริง เพียงแค่เลื่อนไปพิจารณาในปีหน้าเท่านั้น โดยเห็นว่า ยังสามารถรีดไขมันส่วนเกินได้อีก ขณะที่รัฐราชการโตขึ้นปีละ 4% ซึ่งโตเร็วกว่าจีดีพีประเทศ ขณะที่การกระจายอำนาจ ท้องถิ่นถูกรีดภาษีและได้เงินชดเชยไม่เพียงพอ แม้มีการให้งบเพิ่มกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ก่อนหน้านี้รัฐบาลสั่งงดเก็บภาษีก่อสร้างไป จึงทำให้ท้องถิ่นได้รับความเสียหาย
นายพิธา กล่าวด้วยว่า งบประมาณที่ปรับลดลงเหลือ 3.28 ล้านล้านบาท อาจต้องตั้งงบขาดดลุประมาณ 8-9 แสนล้านบาท เป็นการขาดดุลจำนวนมากและต่อเนื่อง เราต้องไล่ใช้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นงูกินหางที่สร้างข้อจำกัดในการจัดงบประมาณในปีต่อ ๆ ไป แม้รับบาลจะยืนยันว่าฐานะการคลังเข้มแข็ง ไม่ถังแตก แต่ก็สงสัยว่าทำไมถึงแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ได้
ข่าวประกอบ :
สภาเริ่มถกงบปี 64 วาระสอง ปรับลดเหลือ 3.28 ล้านล้าน ฝ่ายค้านห่วงเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า
หนี้พุ่ง-ฐานะ รบ.เปราะบาง? กางข้อสังเกต กมธ.วิสามัญฯหั่นงบปี 64 เหลือ 3.28 ล้านล.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage