"...มีการอ้างว่าใช้เงินจากการจําหน่ายกระเช้าของขวัญเทศกาลปีใหม่ ปลายปี 2555 และต้นปี 2556 ที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับมาในการซื้อที่ดิน ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการดําเนินการขายทอดตลาดโดยสรรพากร จังหวัดหนองคายเป็นไปโดยไม่ชอบ มีการประมูลซื้อที่ดินโดยไม่มีการแข่งขันและได้ราคาต่ำกว่าราคาประเมิน อีกทั้งผู้รับผิดชอบในการประมูลคือ นางวราภรณ์ ริยะการ สรรพากรพื้นที่หนองคาย ซึ่งนอกจากเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ยังเป็นภริยาของนายสิระพงศ์ ริยะการ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่ชอบกรณีเดียวกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย ..."
การสั่งยึดทรัพย์สินรายการอื่น ๆ ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากรายการสั่งซื้อทองคำแท่ง กับบริษัท ฮั่วเซงเฮง คอมโมดิทัช จำกัด รวม 15 รายการ มูลค่า 607,239,100 บาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ตัดสินในคดีกล่าวหา นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ร่ำรวยผิดปกติ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากร มูลค่าความเสียหายกว่า 4.3 พันล้านบาท นั้น
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำคำพิพากษายึดทรัพย์ในส่วนของเงินลงทุนในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จํากัด เลขที่บัญชี XXX ในชื่อของผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ในหลักทรัพย์ CPNRF จํานวน 28,625 มูลค่า 435,100 บาท , เงินฝาก 2 บัญชี 1,008,000 บาท , เงินลงทุนในบริษัทฟาสต์ ฟอร์เวิร์ด คอมมิวนิเคชั่น จํากัด จํานวน 14,000 หุ้น มูลค่า 1,400,000 บาท และเงินลงทุนในหุ้นบริษัทเอส เอ็น เซอร์วิส โซลูชั่น จํากัด 33,334 หุ้น มูลค่า 3,333,400 บาท มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันไปแล้ว
- ฉบับเต็ม(1) คำพิพากษาศาลฏีกา ยึดทองแท่ง 600 ล.'สาธิต' อดีตอธิบดีสรรพากร ร่ำรวยผิดปกติ
- ฉบับเต็ม (2) คำพิพากษาศาลฏีกา ยึดทองแท่ง 600 ล.'สาธิต' อดีตอธิบดีสรรพากร ร่ำรวยผิดปกติ
- ฉบับเต็ม (3) คำพิพากษาศาลฏีกา ยึดเงินลงทุนหลักทรัพย์ 4.3 แสน 'สาธิต' อดีตอธิบดีสรรพากร
- ฉบับเต็ม (4) คำพิพากษาศาลฏีกายึดเงินฝาก-หุ้น 2 บ.รวม 5.7 ล. 'สาธิต'อดีตอธิบดีสรรพากร
ในตอนนี้ จะขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 62279, 62280 และ 62281 ตําบลวัดธาตุ อําเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย มูลค่า 68,640 บาท และ 76,960 บาท และ 75,400 บาท ซึ่งมีการอ้างว่าใช้เงินจากการจําหน่ายกระเช้าของขวัญเทศกาลปีใหม่ ปลายปี 2555 และต้นปี 2556 ที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับมาในการซื้อที่ดิน ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการดําเนินการขายทอดตลาดโดยสรรพากร จังหวัดหนองคายเป็นไปโดยไม่ชอบ มีการประมูลซื้อที่ดินโดยไม่มีการแข่งขันและได้ราคาต่ำกว่าราคาประเมิน อีกทั้งผู้รับผิดชอบในการประมูลคือ นางวราภรณ์ ริยะการ สรรพากรพื้นที่หนองคาย ซึ่งนอกจากเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ยังเป็นภริยาของนายสิระพงศ์ ริยะการ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่ชอบกรณีเดียวกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย
ทําให้เชื่อว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาโดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์แทน อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาในขณะดํารงตําแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร จึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหาได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 ข้อต่อไปว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 62279, 62280 และ 62281 ตําบลวัดธาตุ อําเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย มูลค่า 68,640 บาท และ 76,960 บาท และ 75,400 บาท ตามลําดับ เป็นทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหาได้มาโดยการร่ำรวยผิดปกติหรือไม่
@ ป.ป.ช.ชี้ดําเนินการขายทอดตลาดโดยสรรพากร จังหวัดหนองคายเป็นไปโดยไม่ชอบ
ได้ความตามรายงานและสํานวนการไต่สวน โดยผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 ชี้แจงว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ซื้อมาในคราวเดียวจากการขายทอดตลาดของกรมสรรพากรในราคา 221,000 บาท เพื่อนําเงินชําระภาษีอากรค้างชําระของนายสุธี สุภิสิงห์ แบ่งชําระเป็น 2 งวด วันที่ 26 มีนาคม 2556 จํานวน 55,250 บาท และวันที่ 3 เมษายน 2556 จํานวน 165,750 บาท
โดยผู้คัดค้านที่ 2 ใช้เงินจากการจําหน่ายกระเช้าของขวัญเทศกาลปีใหม่ ปลายปี 2555 และต้นปี 2556 ที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับมาแล้วมอบให้ผู้คัดค้านที่ 2 ไปจําหน่าย ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการดําเนินการขายทอดตลาดโดยสรรพากร จังหวัดหนองคายเป็นไปโดยไม่ชอบ มีการประมูลซื้อที่ดินโดยไม่มีการแข่งขันและได้ราคาต่ำกว่าราคาประเมิน
เมื่อพิจารณาจากบันทึกถ้อยคําของผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 ให้ถ้อยคําว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ทราบเรื่องการประมูลขายที่ดินจากลูกน้องของผู้ถูกกล่าวหาที่ทํางานกรมสรรพากรและเดินทางไปประมูลพร้อมกับเจ้าหน้าที่สรรพากร โดยมีผู้เข้าร่วมประมูลหลายคน
แต่ผู้คัดค้านที่ 2 จําสถานที่ประมูลที่ดินทั้งสามแปลงไม่ได้และจําไม่ได้ว่ามีการเสนอราคากี่ครั้งและแต่ละครั้งเสนอราคาเท่าใด
แต่ปรากฏจากหนังสือของกรมสรรพากรเรื่องการตรวจสอบข้อมูลว่า ในการประมูลนั้นมีผู้คัดค้านที่ 2 เข้าร่วมประมูลเพียงคนเดียวและผู้คัดค้านที่ 2 เสนอราคาหรือเสนอซื้อที่ดิน โฉนดเลขที่ 62279 ในราคา 64,650 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 62280 ในราคา 76,960 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 62281 ในราคา 75,400 บาท
แต่การขายทอดตลาดดังกล่าวเป็นกรณีที่สรรพากรพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอให้สรรพากรพื้นที่จังหวัดหนองคายดําเนินการขายทอดตลาด
ทั้งที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 62279 มีราคาประเมิน 85,800 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 สู้ราคาได้ 68,640 บาท ต่ำกว่าราคาประเมิน 17,160 บาท
ที่ดินโฉนดเลขที่ 62280 มีราคาประเมิน 96,200 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 สู้ราคาได้ 76,960 บาท ต่ำกว่าราคาประเมิน 19,240 บาท
และที่ดินโฉนดเลขที่ 62281 ราคาประเมิน 94,250 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 สู้ราคาได้ 75,400 บาท ต่ำกว่าราคาประเมิน 18,850 บาท
@ 'เมีย' สิระพงศ์ ริยะการ ผู้รับผิดชอบการประมูล
อีกทั้งผู้รับผิดชอบในการประมูลคือ นางวราภรณ์ ริยะการ สรรพากรพื้นที่หนองคาย ซึ่งนอกจากเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ยังเป็นภริยาของนายสิระพงศ์ ริยะการ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่ชอบกรณีเดียวกับผู้ถูกกล่าวหา
โดยตามบันทึกลงชื่อผู้เข้าร่วมประมูลทรัพย์สินและบันทึกการสู้ราคามีลายมือชื่อเป็นผู้ซื้อและมีกรรมการในการประมูลขายที่ดิน 3 คน
แต่การเขียนข้อความตามช่องตารางรายการในแบบฟอร์มของดังกล่าว ในช่องลายมือชื่อผู้ซื้อซึ่งเป็นการเขียนชื่อไว้ในวงเล็บและเขียนชื่อในช่องลงลายมือชื่อผู้ซื้อ มีรอยลายเส้นและลวดลายการเขียนเหมือนลายมือของบุคคลเดียวกันแตกต่างจากลายมือชื่อผู้คัดค้านที่ 2 ในบันทึกปากคําและที่ลงไว้ในคําเบิกความในชั้นพิจารณา
ประกอบกับการที่ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับการประมูล ไม่ทราบสถานที่ประมูล จึงไม่เชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมประมูลที่ดินทั้งสามแปลง
อีกทั้งไม่ปรากฏหนังสือมอบอํานาจของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ให้บุคคลใดทําการแทน ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 มิได้นําสืบหักล้างถึงข้อผิดปกติดังกล่าว
ทําให้เชื่อว่านางวราภรณ์สรรพากรพื้นที่หนองคายซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาผู้ถูกกล่าวหา ดําเนินการซื้อที่ดินแทนผู้คัดค้านที่ 2 โดยผู้ถูกกล่าวหารับรู้และมีส่วนในการดําเนินการประมูลที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว
ทําให้เชื่อว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาโดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์แทน
อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาในขณะดํารงตําแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร จึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหาได้มาจากการ่ำรวยผิดปกติ
ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
******
ส่วนทรัพย์สินรายการอื่น ๆ ที่ถูกยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย มีรายละเอียดเป็นอย่างไร จะขอนำเสนอในตอนต่อ ๆ ไป
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- อัยการส่งฟ้อง‘สาธิต-พวก’คดีแวต 4.3 พันล.-ศาลสั่งยึดทรัพย์‘สุวัฒน์’ 596 ล.ของแผ่นดิน
- ทองปริศนา 600 ล.โผล่? เบื้องหลังคดีรวยผิดปกติ‘สาธิต’-ป.ป.ช.ส่งเก็บที่ ธปท.
- ครั้งแรก! ป.ป.ช.ตรวจนับทองแท่ง 594 ล.‘สาธิต รังคสิริ’ของกลางคดีรวยผิดปกติ
- อัยการส่งฟ้อง‘สาธิต-พวก’คดีแวต 4.3 พันล.-ศาลสั่งยึดทรัพย์‘สุวัฒน์’ 596 ล.ของแผ่นดิน
- สั่ง‘สาธิต-อดีตซี 8-9’ชดใช้ 4 พันล.! เปิดผลสอบ กก.รับผิดทางละเมิด ก.คลังคดีคืนภาษี
- พิพากษายึด 31 ล.‘อดีตซี 9’รวยผิดปกติคดีคืนภาษี-อสส.สั่งฟ้องอาญา‘สาธิต-พวก’แล้ว
- ป.ป.ช.-อัยการตั้งคณะทำงานร่วมฯ ‘สาธิต-พวก’คดีทุจริตคืนภาษี ปมรวยผิดปกติไต่สวนในศาลแล้ว
- EXCLUSIVE: พฤติการณ์ 32 บ.คืนภาษีเท็จในสำนวน ก.คลังก่อนสั่ง ‘สาธิต-พวก’ชดใช้ 4 พันล.
- ป.ป.ช.-อัยการตั้งคณะทำงานร่วมฯ ‘สาธิต-พวก’คดีทุจริตคืนภาษี ปมรวยผิดปกติไต่สวนในศาลแล้ว
- สั่ง‘สาธิต-อดีตซี 8-9’ชดใช้ 4 พันล.! เปิดผลสอบ กก.รับผิดทางละเมิด ก.คลังคดีคืนภาษี
- ปิดคดีทุจริตคืนภาษี 4.3 พันล.ฟัน 6 ขรก. 28 เอกชน-4 บิ๊กรวยผิดปกติ 1.3 พันล.
- ฉบับเต็ม! ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยึดทองแท่ง 600 ล. ‘สาธิต’ ตกเป็นของแผ่นดิน (1)
- ฉบับเต็ม! ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยึดทองแท่ง 600 ล. ‘สาธิต’ ตกเป็นของแผ่นดิน (2)
- ฉบับเต็ม! ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยึดทองแท่ง 600 ล. ‘สาธิต’ ตกเป็นของแผ่นดิน (3)