"...แม้ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 จะนําสืบกล่าวอ้าง พฤติการณ์ของครอบครัวที่จะเก็บเงินสดถือไว้มากกว่าที่จะฝากสถาบันการเงิน โดยไม่เชื่อมั่นในสถาบันการเงินและผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินต่ํากว่านําเงินไปลงทุนด้านอื่น ซึ่งเงินสดที่ถืออยู่ย่อมถูกใช้หมุนเวียนเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นได้โดยง่ายแต่ยากที่จะติดตามที่มาที่ไป ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งรับราชการด้านตรวจสอบภาษีที่กรมสรรพากรจนมีตําแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรย่อมต้องทราบวิธีการตรวจสอบแหล่งที่มาของรายได้เป็นอย่างดี ..."
กรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ อร 2/2562 ระหว่างอัยการสูงสุด (อสส.) ผู้ร้อง นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ผู้ถูกกล่าวหา คดีร่ำรวยผิดปกติ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากร มูลค่าความเสียหายกว่า 4.3 พันล้านบาท นั้น
- ฉบับเต็ม(1) คำพิพากษาศาลฏีกา ยึดทองแท่ง 600 ล.'สาธิต' อดีตอธิบดีสรรพากร ร่ำรวยผิดปกติ
- ฉบับเต็ม (2) คำพิพากษาศาลฏีกา ยึดทองแท่ง 600 ล.'สาธิต' อดีตอธิบดีสรรพากร ร่ำรวยผิดปกติ
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า นอกจากคำพิพากษาศาลฎีกา ที่มีคำวินิจฉัยยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้รายการสั่งซื้อทองคำแท่ง ในชื่อของนายสาธิต กับบริษัท ฮั่วเซงเฮง คอมโมดิทัช จำกัด รวม 15 รายการ มูลค่า 607,239,100 บาท โดยเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินของนายสาธิต ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ ให้ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว
ยังมีทรัพย์สินรายการอื่น ๆ ที่ศาลฎีกา มีคำวินิจฉัยตามศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดินอีกหลายรายการด้วย
ทรัพย์สินหนึ่งในนั้น คือ เงินลงทุนในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จํากัด เลขที่บัญชี XXX ในชื่อของผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ในหลักทรัพย์ CPNRF จํานวน 28,625 มูลค่า 435,100 บาท ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 เห็นว่า ที่มาของเงินเป็นข้อน่าพิรุธ คำกล่าวอ้างของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้าน ที่ว่าพฤติการณ์ของครอบครัวที่จะเก็บเงินสดถือไว้มากกว่าที่จะฝากสถาบันการเงิน โดยไม่เชื่อมั่นในสถาบันการเงินและผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินต่ํากว่านําเงินไปลงทุนด้านอื่น ฟังไม่ขึ้น น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ล้วนเป็นตัวแทนของผู้ถูกกล่าวหาในการนําเงินไปลงทุนแทบทั้งสิ้น
ปรากฏรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
คำวินิจฉัยศาลฏีกา ระบุว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ข้อต่อไปว่า เงินลงทุนในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จํากัด เลขที่บัญชี XXX ในชื่อของผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ในหลักทรัพย์ CPNRF จํานวน 28,625 มูลค่า 435,100 บาท เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มาจากการร่ํารวยผิดปกติหรือไม่
ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาอ้างว่า เงินที่ใช้ซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวส่วนหนึ่งผู้คัดค้านที่ 1 เบิกถอนจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) สาขาถนนลาดพร้าวซอย 11 เลขที่บัญชี XXX อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินสด ซึ่งเงินทั้งหมดผู้ถูกกล่าวหามอบให้ โดยมีการทยอยเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) เลขที่บัญชี XXX ของผู้ถูกกล่าวหาระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน 2554 มอบให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1
ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 สํารองจ่ายเงินแทนมูลนิธิกาญจนสิริให้แก่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จํานวน 200,000 บาท แล้วมูลนิธิคืนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ 1 และวันที่ 18 มิถุนายน 2556 ผู้คัดค้านที่ 1 ปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าวนําเงินไปรวมกับเงินสดที่ได้ รับมาจากผู้ถูกกล่าวหาอีกบางส่วน แล้วนําไปลงทุนซื้อหลักทรัพย์ CPNRF ดังกล่าว
เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 กล่าวอ้างถึงที่มาของเงินที่ใช้ซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าว โดยเฉพาะเงิน 200,000 บาท นั้น ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างว่า ตนได้ถอนจากบัญชีเงินฝากของตนมอบให้ผู้คัดค้านที่ 1 แล้วผู้คัดค้านที่ 1 สํารองจ่ายทําบุญแทนมูลนิธิกาญจนสิริให้แก่วัดชลประทานรังสฤษฎ์
ต่อมามูลนิธิดังกล่าวชําระเงินคืนเป็นเช็คให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 แต่ผู้คัดค้านที่ 1 กลับเบิกความว่า เงิน 200,000 บาท ดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากการจัดงานบวชของบุตรชาย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงนํามาทําบุญก่อน ที่มาของเงินดังกล่าวจึงยังแตกต่างกันเป็นข้อน่าพิรุธ
ดังนั้น เงินส่วน 200,000 บาท ที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 ยังฟังเอาเป็นที่แน่นอนไม่ได้
เงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้จากการปิดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) เลขที่บัญชี XXX เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 จํานวน 341,843.03 บาท ไปรวมกับเงินสดที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับมาจากผู้ถูกกล่าวหาก่อนหน้ารวมเป็นเงิน 435,100 บาท นําไปลงทุนซื้อหลักทรัพย์ CPNRF ล้วนได้รับมาจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้นและถือเป็นเงินของผู้ถูกกล่าวหา
โดยเงินบางส่วนเบิกถอนจากธนาคารล่วงหน้าก่อนที่จะมีการซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวถึง 10 เดือน ส่วนที่เหลือเป็นเงินที่ผู้ถูกกล่าวหามอบให้ ก็ไม่ปรากฏมอบให้เมื่อใด
แม้ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 จะนําสืบกล่าวอ้าง พฤติการณ์ของครอบครัวที่จะเก็บเงินสดถือไว้มากกว่าที่จะฝากสถาบันการเงิน โดยไม่เชื่อมั่นในสถาบันการเงินและผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินต่ํากว่านําเงินไปลงทุนด้านอื่น ซึ่งเงินสดที่ถืออยู่ย่อมถูกใช้หมุนเวียนเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นได้โดยง่ายแต่ยากที่จะติดตามที่มาที่ไป
ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งรับราชการด้านตรวจสอบภาษีที่กรมสรรพากรจนมีตําแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรย่อมต้องทราบวิธีการตรวจสอบแหล่งที่มาของรายได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า ระหว่างปี 2547 ถึงปี 2558 ผู้ถูกกล่าวหามีรายได้รวมกัน ประมาณ 56,000,000 บาท ได้จัดสรรให้ภริยาและบุตรใช้จ่ายและนําไปลงทุนหารายได้ถึง51,274,460 บาท ซึ่งเป็นรายได้เกือบทั้งหมดของผู้ถูกกล่าวหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ถูกกล่าวหามีอายุและประสบการณ์ยังไม่มากนัก จึงเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ล้วนเป็นตัวแทนของผู้ถูกกล่าวหาในการนําเงินไปลงทุนแทบทั้งสิ้น
อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่ามักนําเงินไปลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงซึ่งย่อมมีความเสี่ยงในการลงทุนสูงตามมาด้วย เงินที่ลงทุนจึงมีทั้งให้ผลกําไรและขาดทุน ผู้ถูกกล่าวหาย่อมต้องจัดทําบัญชีให้ปรากฏถึงผลการลงทุนรวมถึงจํานวนเงินที่ได้รับและจ่ายไว้ ผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวมิได้ประกอบกิจการที่ต้องใช้เงินสดเป็นประจําหรือมีเหตุจําเป็นที่ต้องสํารองเงินสดจํานวนมากไว้ใช้จ่าย การเก็บเงินสดไว้กับตนเป็นจํานวนมากย่อมเป็นความเสี่ยงต่อการสูญหายหรือถูกลักไป
พฤติการณ์ดังเช่นผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวกระทําย่อมถือเป็นเรื่องผิดปกติที่บุคคลธรรมดาทั่วไปพึงกระทํา โดยเฉพาะในยุคที่สังคมกําลังพัฒนาเป็นสังคมไร้เงินสดซึ่งต้องพึ่งพาระบบสถาบันการเงินเช่นปัจจุบันนี้
ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นถึงที่มาของทรัพย์สินอันมีน้ําหนักให้เชื่อถือได้ มิใช่มาเบิกความลอย ๆ แต่เพียงว่าใช้เงินสดของผู้ถูกกล่าวหาที่เบิกถอนมาเก็บแล้วนํามาใช้จ่ายเสียทั้งสิ้น
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจพิสูจน์ถึงแหล่งที่มาของเงินจํานวน 495,100 บาท ดังกล่าวว่าได้มาจากรายได้ส่วนใดจึงถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหาได้มาจากการร่ํารวยผิดปกติ
ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
******
เหล่านี้ คือ ข้อมูลรายละเอียดคำพิพากษาศาลฏีกา ยืนยึดทรัพย์ เงินลงทุนในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จํากัด เลขที่บัญชี XXX ในชื่อของผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ในหลักทรัพย์ CPNRF จํานวน 28,625 มูลค่า 435,100 บาทของ นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ในคดีร่ำรวยผิดปกติ ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
ส่วนทรัพย์สินรายการอื่น ๆ ที่ถูกยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย มีรายละเอียดเป็นอย่างไร จะขอนำเสนอในตอนต่อ ๆ ไป
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- อัยการส่งฟ้อง‘สาธิต-พวก’คดีแวต 4.3 พันล.-ศาลสั่งยึดทรัพย์‘สุวัฒน์’ 596 ล.ของแผ่นดิน
- ทองปริศนา 600 ล.โผล่? เบื้องหลังคดีรวยผิดปกติ‘สาธิต’-ป.ป.ช.ส่งเก็บที่ ธปท.
- ครั้งแรก! ป.ป.ช.ตรวจนับทองแท่ง 594 ล.‘สาธิต รังคสิริ’ของกลางคดีรวยผิดปกติ
- อัยการส่งฟ้อง‘สาธิต-พวก’คดีแวต 4.3 พันล.-ศาลสั่งยึดทรัพย์‘สุวัฒน์’ 596 ล.ของแผ่นดิน
- สั่ง‘สาธิต-อดีตซี 8-9’ชดใช้ 4 พันล.! เปิดผลสอบ กก.รับผิดทางละเมิด ก.คลังคดีคืนภาษี
- พิพากษายึด 31 ล.‘อดีตซี 9’รวยผิดปกติคดีคืนภาษี-อสส.สั่งฟ้องอาญา‘สาธิต-พวก’แล้ว
- ป.ป.ช.-อัยการตั้งคณะทำงานร่วมฯ ‘สาธิต-พวก’คดีทุจริตคืนภาษี ปมรวยผิดปกติไต่สวนในศาลแล้ว
- EXCLUSIVE: พฤติการณ์ 32 บ.คืนภาษีเท็จในสำนวน ก.คลังก่อนสั่ง ‘สาธิต-พวก’ชดใช้ 4 พันล.
- ป.ป.ช.-อัยการตั้งคณะทำงานร่วมฯ ‘สาธิต-พวก’คดีทุจริตคืนภาษี ปมรวยผิดปกติไต่สวนในศาลแล้ว
- สั่ง‘สาธิต-อดีตซี 8-9’ชดใช้ 4 พันล.! เปิดผลสอบ กก.รับผิดทางละเมิด ก.คลังคดีคืนภาษี
- ปิดคดีทุจริตคืนภาษี 4.3 พันล.ฟัน 6 ขรก. 28 เอกชน-4 บิ๊กรวยผิดปกติ 1.3 พันล.
- ฉบับเต็ม! ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยึดทองแท่ง 600 ล. ‘สาธิต’ ตกเป็นของแผ่นดิน (1)
- ฉบับเต็ม! ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยึดทองแท่ง 600 ล. ‘สาธิต’ ตกเป็นของแผ่นดิน (2)
- ฉบับเต็ม! ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยึดทองแท่ง 600 ล. ‘สาธิต’ ตกเป็นของแผ่นดิน (3)