"...ศาลฎีกา วินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าฟังไม่ขึ้น เนื่องจากมีข้ออ้างที่กลับไปกลับไม่น่าเชื่อถือ ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเงินลงทุนดังกล่าวได้มาจากรายได้ส่วนใดของผู้ถูกกล่าวหาชอบด้วยกฎหมายและสุจริตอย่างไร ขณะที่การเบิกถอนเงินจํานวนมากมาเก็บไว้นานถึงหนึ่งปีเพื่อใช้ลงทุนซื้อหุ้นซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตและไม่อาจคาดการณ์ได้ เป็นเรื่องผิดปกติวิสัย..."
การสั่งยึดทรัพย์สินรายการอื่นๆ ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากรายการสั่งซื้อทองคำแท่ง กับบริษัท ฮั่วเซงเฮง คอมโมดิทัช จำกัด รวม 15 รายการ มูลค่า 607,239,100 บาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ตัดสินในคดีกล่าวหา นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ร่ำรวยผิดปกติ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากร มูลค่าความเสียหายกว่า 4.3 พันล้านบาท นั้น
- ฉบับเต็ม(1) คำพิพากษาศาลฏีกา ยึดทองแท่ง 600 ล.'สาธิต' อดีตอธิบดีสรรพากร ร่ำรวยผิดปกติ
- ฉบับเต็ม (2) คำพิพากษาศาลฏีกา ยึดทองแท่ง 600 ล.'สาธิต' อดีตอธิบดีสรรพากร ร่ำรวยผิดปกติ
- ฉบับเต็ม (3) คำพิพากษาศาลฏีกา ยึดเงินลงทุนหลักทรัพย์ 4.3 แสน 'สาธิต' อดีตอธิบดีสรรพากร
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำคำพิพากษาในส่วนของเงินลงทุนในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จํากัด เลขที่บัญชี XXX ในชื่อของผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ในหลักทรัพย์ CPNRF จํานวน 28,625 มูลค่า 435,100 บาท ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 เห็นว่า ที่มาของเงินเป็นข้อน่าพิรุธ คำกล่าวอ้างของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้าน ที่ว่าพฤติการณ์ของครอบครัวที่จะเก็บเงินสดถือไว้มากกว่าที่จะฝากสถาบันการเงิน โดยไม่เชื่อมั่นในสถาบันการเงินและผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินต่ำกว่านําเงินไปลงทุนด้านอื่น ฟังไม่ขึ้น น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ล้วนเป็นตัวแทนของผู้ถูกกล่าวหาในการนําเงินไปลงทุนแทบทั้งสิ้น มาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบแล้วไปแล้ว
คราวนี้ มาดูข้อมูลในส่วนของทรัพย์สิน 3 รายการ คือ เงินฝาก 2 บัญชี 1,008,000 บาท , เงินลงทุนในบริษัทฟาสต์ ฟอร์เวิร์ด คอมมิวนิเคชั่น จํากัด จํานวน 14,000 หุ้น มูลค่า 1,400,000 บาท และเงินลงทุนในหุ้นบริษัทเอส เอ็น เซอร์วิส โซลูชั่น จํากัด 33,334 หุ้น มูลค่า 3,333,400 บาท กันบ้าง
โดยศาลฎีกา วินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าฟังไม่ขึ้น เนื่องจากมีข้ออ้างที่กลับไปกลับไม่น่าเชื่อถือ ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเงินลงทุนดังกล่าวได้มาจากรายได้ส่วนใดของผู้ถูกกล่าวหาชอบด้วยกฎหมายและสุจริตอย่างไร ขณะที่การเบิกถอนเงินจํานวนมากมาเก็บไว้นานถึงหนึ่งปีเพื่อใช้ลงทุนซื้อหุ้นซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตและไม่อาจคาดการณ์ได้ เป็นเรื่องผิดปกติวิสัย
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ เงินฝาก 2 บัญชี 1,008,000 บาท - เงินลงทุนในบริษัทฟาสต์ ฟอร์เวิร์ด คอมมิวนิเคชั่น จํากัด จํานวน 14,000 หุ้น มูลค่า 1,400,000 บาท
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 ข้อต่อไป พร้อมกันว่า เงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าวซอย 111 เลขที่บัญชี XXX ที่นําฝากวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จํานวน 504,000 บาท และเลขที่บัญชี XXX ที่นําฝากวันที่ 18 ตุลาคม 2555 จํานวน 504,000 บาท กับเงินลงทุนในบริษัทฟาสต์ ฟอร์เวิร์ด คอมมิวนิเคชั่น จํากัด จํานวน 14,000 หุ้น มูลค่า 1,400,000 บาท เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติหรือไม่
โดยได้ความตามสํานวนการไต่สวน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ใช้เงินสดที่ผู้ถูกกล่าวหาเบิกถอนจากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขากรมสรรพากร เลขที่บัญชี XXX เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2554 จํานวนเงิน 2,300,000 บาท
แต่จากทางไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ความว่า รายการเบิกถอนเงินดังกล่าวนําไปทําแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายในนามนายธรรมศักดิ์ อังศุสิงห์ ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับบริษัทฟาสต์ ฟอร์เวิร์ดคอมมิวนิเคชั่น จํากัด แต่อย่างใด
แต่ในชั้นพิจารณาผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 กลับนําสืบว่า ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจผิดเกี่ยวกับจํานวนเงินความจริงแล้วช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2554 ผู้ถูกกล่าวหาเบิกถอนเงินจากบัญชีธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) เลขที่บัญชี XXX จํานวน 2,442,000 บาท มอบให้ผู้คัดค้านที่ 3 ก่อนวันที่ 22 กันยายน 2554 จํานวน 1,000,000 บาท เพื่อให้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 71866 ตําบลขนงพระ อําเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และมอบเงินให้ผู้คัดค้านที่ 2 จํานวน 1,400,000 บาท เพื่อให้ซื้อหุ้นบริษัทฟาสต์ฟอร์เวิร์ด คอมมิว นิเคชั่น จํากัด จํานวน 14,000 หุ้น มูลค่า 1,400,000 บาท ในวันที่ 9 ธันวาคม 2554
แต่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 เคยชี้แจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ผู้ถูกกล่าวหามอบเงินที่ถอนวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 จํานวน 455,000 บาท เพื่อให้ผู้คัดค้านที่ 2 ซื้อหุ้นบริษัทน้ำตาลครบุรี จํากัด (มหาชน) จํานวน 50,000 หุ้น มูลค่า 455,000 บาท ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เชื่อว่าไม่ใช่ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติไปแล้ว จึงคงเหลือเงิน 987,000 บาท และการถอนเงินวันที่ 24 พฤษภาคม 2554 จำนวน 187,000 บาท ผู้ถูกกล่าวหารวมกับเงินสด เป็นเงิน 500,000 บาท มอบให้ผู้คัดค้านที่ 1 นําเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จํากัด เลขที่บัญชี XXX เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2554
โดยผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาอ้างว่า วันที่ 31 ตุลาคม 2554 ผู้ถูกกล่าวหามอบเงินที่เหลือ 987,000 บาท ให้ผู้คัดค้านที่ 2 ไป และมีการนําเงินส่วนหนึ่งที่ทยอยเบิกถอนไว้ในช่วงปี 2553 จํานวน 510,000 บาท ประกอบกับผู้คัดค้านที่ 2 มีเงินสดติดตัวเพียงพอที่จะนําไปลงทุนได้ มิใช่มีเงินคงเหลือ 800,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอซื้อหุ้นจำนวน 1,400,000 บาท ได้
ยิ่งทําให้เห็นว่า แหล่งเงินที่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้นํามาใช้ในการซื้อหุ้นบริษัทดังกล่าวรับฟังเป็นที่แน่นอนไม่ได้ ข้ออ้างที่กลับไปกลับมาเช่นนี้ยิ่งไม่น่าเชื่อถือ
ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเงินลงทุนดังกล่าวได้มาจากรายได้ส่วนใดของผู้ถูกกล่าวหาชอบด้วยกฎหมายและสุจริตอย่างไร
จึงถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ และเมื่อเงินฝากในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าวซอย 111 เลขที่บัญชี XXX ที่นําฝากวันที่ 18 ตุลาคม 2555 จํานวน 504,000 บาท และเลขที่บัญชี XXX ที่นําฝากวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จํานวน 504,000 บาท ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาและถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 ชี้แจงว่าเป็นเงินปันผลจากหุ้นในบริษัทฟาสต์ ฟอร์เวิร์ด คอมมิวนิเคชั่น จํากัด จํานวน 14,000 หุ้น นั้น จึงเป็นดอกผลของทรัพย์สินที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ และเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการร่ํารวยผิดปกติด้วยเช่นกัน
ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
@ เงินลงทุนในหุ้นบริษัทเอส เอ็น เซอร์วิส โซลูชั่น จํากัด 33,334 หุ้น มูลค่า 3,333,400 บาท
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 ข้อต่อไปว่า เงินลงทุนในบริษัทเอส เอ็น เซอร์วิส โซลูชั่น จํากัด จํานวน 33,334 หุ้น มูลค่า 3,333,400 บาท เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติหรือไม่
ได้ความตามรายงานและสํานวนการไต่สวนโดยผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 ชี้แจงว่า ผู้ถูกกล่าวหาถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) เลขที่บัญชี XXX เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 มอบให้ผู้คัดค้านที่ ซื้อหุ้นบริษัทดังกล่าวในเดือนมิถุนายน 2557
คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ตามรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีในเดือนมิถุนายน 2556 มีการถอนเงินวันที่ 3 มิถุนายน 2556 จํานวน 1,900,000 บาท วันที่ 4 มิถุนายน 2556 จํานวน 1,900,000 บาท และวันที่ 28 มิถุนายน 2556 จํานวน 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,300,000 บาท
ห่างจากวันที่ซื้อหุ้นเดือนมิถุนายน 2553 ถึง 1 ปี เป็นจํานวนเงินและระยะเวลาไม่สอดคล้องกัน
เงินที่ผู้คัดค้านที่ 2 นําไปซื้อหุ้นในบริษัทดังกล่าวที่นํามาจากการถอนเงินในบัญชีเงินฝากของผู้ถูกกล่าวหา
จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านที่ 2 มีชื่อถือหุ้นหรือถือทรัพย์สินนั้นไว้แทนผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 มิได้โต้แย้งพยานหลักฐานดังกล่าวของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าไม่ถูกต้องแต่อย่างใด
เพียงแต่อ้างว่าเงินที่ถูกเบิกถอนมาเป็นของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มาโดยชอบ
ทั้งนี้ การเบิกถอนเงินจํานวนมากมาเก็บไว้นานถึงหนึ่งปีเพื่อใช้ลงทุนซื้อหุ้นซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตและไม่อาจคาดการณ์ได้ เป็นเรื่องผิดปกติวิสัย
อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 มีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่า เงินที่ถูกเบิกถอนมานั้นเป็นเงินที่ได้มาโดยชอบและเป็นเงินที่นํามาซื้อหุ้นบริษัทดังกล่าว เมื่อผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวได้มาโดยชอบอย่างไร และเป็นเงินที่นํามาซื้อหุ้นบริษัทดังกล่าวหรือไม่
กรณีจึงฟังได้ว่าเงินลงทุนในหุ้นบริษัทเอส เอ็น เซอร์วิส โซลูชั่น จํากัด เป็นทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหาได้มาโดยการร่ำรวยผิดปกติ
ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
******
ส่วนทรัพย์สินรายการอื่น ๆ ที่ถูกยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย มีรายละเอียดเป็นอย่างไร จะขอนำเสนอในตอนต่อ ๆ ไป
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- อัยการส่งฟ้อง‘สาธิต-พวก’คดีแวต 4.3 พันล.-ศาลสั่งยึดทรัพย์‘สุวัฒน์’ 596 ล.ของแผ่นดิน
- ทองปริศนา 600 ล.โผล่? เบื้องหลังคดีรวยผิดปกติ‘สาธิต’-ป.ป.ช.ส่งเก็บที่ ธปท.
- ครั้งแรก! ป.ป.ช.ตรวจนับทองแท่ง 594 ล.‘สาธิต รังคสิริ’ของกลางคดีรวยผิดปกติ
- อัยการส่งฟ้อง‘สาธิต-พวก’คดีแวต 4.3 พันล.-ศาลสั่งยึดทรัพย์‘สุวัฒน์’ 596 ล.ของแผ่นดิน
- สั่ง‘สาธิต-อดีตซี 8-9’ชดใช้ 4 พันล.! เปิดผลสอบ กก.รับผิดทางละเมิด ก.คลังคดีคืนภาษี
- พิพากษายึด 31 ล.‘อดีตซี 9’รวยผิดปกติคดีคืนภาษี-อสส.สั่งฟ้องอาญา‘สาธิต-พวก’แล้ว
- ป.ป.ช.-อัยการตั้งคณะทำงานร่วมฯ ‘สาธิต-พวก’คดีทุจริตคืนภาษี ปมรวยผิดปกติไต่สวนในศาลแล้ว
- EXCLUSIVE: พฤติการณ์ 32 บ.คืนภาษีเท็จในสำนวน ก.คลังก่อนสั่ง ‘สาธิต-พวก’ชดใช้ 4 พันล.
- ป.ป.ช.-อัยการตั้งคณะทำงานร่วมฯ ‘สาธิต-พวก’คดีทุจริตคืนภาษี ปมรวยผิดปกติไต่สวนในศาลแล้ว
- สั่ง‘สาธิต-อดีตซี 8-9’ชดใช้ 4 พันล.! เปิดผลสอบ กก.รับผิดทางละเมิด ก.คลังคดีคืนภาษี
- ปิดคดีทุจริตคืนภาษี 4.3 พันล.ฟัน 6 ขรก. 28 เอกชน-4 บิ๊กรวยผิดปกติ 1.3 พันล.
- ฉบับเต็ม! ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยึดทองแท่ง 600 ล. ‘สาธิต’ ตกเป็นของแผ่นดิน (1)
- ฉบับเต็ม! ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยึดทองแท่ง 600 ล. ‘สาธิต’ ตกเป็นของแผ่นดิน (2)
- ฉบับเต็ม! ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยึดทองแท่ง 600 ล. ‘สาธิต’ ตกเป็นของแผ่นดิน (3)