“….กรณีจึงต้องถือว่าสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค.2555 (ส่วนต่อขยายที่ 1) และสัญญาเลขที่ กร.ส.024/2559 ลงวันที่ 1 ส.ค.2549 (ส่วนต่อขยายที่ 2) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้จัดจ้างอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ไม่ได้ดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งมิได้ใช้ดุลพินิจคัดเลือกคู่สัญญาให้เป็นไปตามกฎหมาย…”
........................................
จากกรณีศาลปกครองสูงสุด ได้มีพิพากษาให้ กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ร่วมกันชำระเงิน สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (ส่วนต่อขยายสายสีสม สะพานตากสิน-บางหว้า และสายสุขุมวิท อ่อนนุช-แบริ่ง) 2,348.65 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
และสำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) จำนวน 9,406.41 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC (ผู้ฟ้องคดี) โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน
โดยคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 มีมติด้วยเสียงข้างมาก ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) ว่าจ้างผู้ฟ้องคดี (BTSC) เดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 นั้น
ไม่จำต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 แต่อย่างใด
นอกจากนี้ การจ้างเดินรถฯดังกล่าว เข้าข่ายลักษณะที่จะดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ตามข้อ 21 (1) ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ.2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 ได้ (อ่านประกอบ : พลิกคดี‘หนี้สายสีเขียว’หมื่นล.!‘ศาลปค.สูงสุด’ชี้สัญญา‘ส่วนต่อขยาย’ไม่เข้าข่าย กม.ร่วมทุนฯ)
ต่อมา พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ BTSC ได้แถลงว่า จะส่งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ไปให้สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อประกอบการพิจารณา ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหากับผู้เกี่ยวข้องรวม 12 ราย กรณี กทม. ว่าจ้าง BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585
อันเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว นั้น (อ่านประกอบ : BTSC ยื่นขอความเป็นธรรม 'อัยการฯ' สู้ข้อกล่าวหา ป.ป.ช.คดีสายสีเขียว และ เบื้องหลังชี้มูลคดีรถไฟฟ้าสายสีเขียว มติ 5:1! ‘ไม่กันตัว‘กรุงเทพธนาคม-ธีระชน’เป็นพยาน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการวินิจฉัยคดีค่าจ้างเดินรถฯรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 (คดีหมายเลขดำที่ อ.2226/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.725/2567) นั้น ‘ตุลาการฝ่ายเสียงข้างน้อย’ จำนวน 2 ราย คือ มานิตย์ วงศ์เสรี ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูง และ ไชยเดช ตันติเวสส ตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีความเห็นแย้งในคดีนี้
สำนักข่าวอิศรา จึงขอนำเสนอส่วนหนึ่งของความเห็นแย้งของตุลาการฝ่ายเสียงข้างน้อยทั้ง 2 รายดังกล่าว ที่ได้ให้ความเห็นว่า สัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีรายละเอียด ดังนี้
@‘กรุงเทพธนาคม’ใช้ดุลพินิจจ้าง‘BTSC’เลี่ยงกฎหมาย
กรณีจึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า การจัดทำสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค.2555 (ส่วนต่อขยายที่ 1) และ สัญญาเลขที่ กร.ส.024/59 ลงวันที่ 1 ส.ค.2559 (ส่วนต่อขยายที่ 2) ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) กับผู้ฟ้องคดี (BTSC) ชอบด้วยกฎหมายและมีผลผูกพันหรือไม่ เพียงใด
ตุลาการศาลปกครองสูงสุดฝ่ายเสียงข้างน้อยเห็นว่า การที่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดฝ่ายเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า โดยหลักแล้วการดำเนินกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายดังกล่าว ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) ต้องถือปฏิบัติด้วยเช่นกัน
แต่เนื่องจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จ้างผู้ฟ้องคดี (BTSC) โดยผู้ฟ้องคดีจะได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนเท่านั้น และผู้ฟ้องคดีไม่ต้องร่วมรับผลกำไรหรือขาดทุนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม การจ้างดังกล่าว จึงมิได้เป็นการให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐในลักษณะที่เป็นการร่วมลงทุนกับเอกชนไม่ว่าโดยวิธีใด
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 นั้น
ตุลาการศาลปกครองสูงสุดฝ่ายเสียงชั้นน้อย เห็นว่า กรณีดังกล่าวนั้น ศาลปกครองจะต้องพิจารณาและคำนึงถึงด้วยว่า การที่ผู้ฟ้องคดี (BTSC) เข้าร่วมดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 โดยรับเป็นเงินค่าจ้าง แต่ไม่ต้องลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเองเลยนั้น เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ด้วย
เนื่องจากลำพังการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐร่วมลงทุน (พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556) นั้น
ย่อมมิได้ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายใดๆเลย ในการดำเนินการในโครงการที่พิพาทนี้ เนื่องจากศาลปกครอง ในฐานะองค์กรตุลาการ ที่ทำหน้าที่สอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครอง นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความว่า
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) ไม่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐนั้น มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดยกเว้นเอาไว้เป็นการเฉพาะหรือไม่ และการยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีการดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายอื่นกำหนดเอาไว้หรือไม่
อีกทั้งการเลือกที่จะไม่ทำเป็นการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่ามลงทุนในใจการของรัฐนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) ได้ใช้ดุลพินิจในการคัดเลือกคู่สัญญาเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
และเมื่อการดำเนินการคัดเลือกคู่สัญญาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 ก.พ.2543 ให้เอกชนเป็นผู้รับภาระในการลงทุนโครงการพื้นฐานเองทั้งหมด และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2549 ที่ให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 อย่างเคร่งครัด
ดังนั้น กรณีจึงถือได้ว่าคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดหลักการคัดเลือกคู่สัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 เอาไว้แล้วว่า การคัดเลือกคู่สัญญาจะต้องดำเนินการ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการนี้ด้วย โดยเอกชนจะเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงในด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานบางส่วนหรือทั้งหมด และรัฐจะเปิดให้เอกชนได้รับผลประโยชน์ในระยะยาวในรูปแบบค่าจ้างบริหารหรือผลประโยชน์จากการบริหารจัดการโครงการของรัฐ
อีกทั้งข้อเท็จจริงในคดีนี้ ก็มิได้ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นหลักการการคัดเลือกคู่สัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ได้เคยกำหนดเอาไว้แล้วแต่อย่างใด
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) ใช้ดุลพินิจไปจัดจ้างผู้ฟ้องคดี (BTSC) โดยไม่ได้กำหนดให้ผู้ฟ้องคดี (BTSC) รับภาระความเสี่ยงในด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานบางส่วนหรือทั้งหมดไว้ด้วย นั้น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจในการคัดเลือกผู้ฟ้องคดีเข้าเป็นคู่สัญญาโดยหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้รับการยกเว้นมิให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแต่อย่างใด
@ชี้สัญญาจ้างเดินรถ‘ส่วนต่อขยาย’ไม่ทำตามกม.
อีกทั้งการที่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดฝ่ายเสียงข้างมากได้วินิจฉัยว่า “เพื่อให้การให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนเส้นทางหลัก (ส่วนสัมปทาน) และส่วนต่อขยายเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นโครงข่ายเดียวกัน อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทาง ซึ่งควรดำเนินการโดยผู้ให้บริการรายเดียวกัน
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) จ้างผู้ฟ้องคดี (BTSC) เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมทั้งเก็บเงินค่าโดยสารในโครงการถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 จึงเข้าข่ายลักษณะที่จะดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษตามข้อ 21 (1) ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ.2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 ได้
ดังนั้น สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค.2555 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตามสัญญาเลขที่ กร.ส.024/59 ลงวันที่ 1 ส.ค.2559 จึงไม่ตกเป็นโมฆะ” นั้น
ตุลาการศาลปกครองสูงสุดฝ่ายเสียงข้างน้อย เห็นว่า เมื่อการกำหนดวิธีการคัดเลือกคู่สัญญาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะเลือกดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษหรือไม่นั้น ถือเป็นดุลพินิจของฝ่ายปกครอง ซึ่งกฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยเรื่ององค์ประกอบ รูปแบบวิธีการและขั้นตอนในการพิจารณาคัดเลือกคู่สัญญา เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และภายใต้ขอบเขตของกฎหมายเอาไว้หลายประการ
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) ดำเนินการจัดจ้างผู้ฟ้องคดี (BTSC) ไป โดยตุลาการศาลปกครองสูงสุดฝ้ายเสียงข้างมากเห็นว่า “เข้าข่าย” ลักษณะที่จะดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษตามข้อ 21 (1) ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ.2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นวิธีการจัดจ้างวิธีการหนึ่งตามกฎหมายเท่านั้น
แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้ดำเนินการจัดจ้างผู้ฟ้องคดี โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด การพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง จะต้องพิจารณาว่า ฝ่ายปกครองกระทำการโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด
แต่เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) เลือกให้ผู้ฟ้องคดี (BTSC) เข้ามาเป็นคู่สัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มิได้อาศัยบทบัญญัติตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติหรือกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติมาใช้ในการคัดเลือกคู่สัญญาแต่อย่างใด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อเท็จจริงในสำนวนคดี ก็มิได้ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ดำเนินการจัดจ้างผู้ฟ้องคดี โดยวิธีพิเศษตามข้อ 21 (1) ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ.2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 แต่อย่างใด
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) มิได้ดำเนินการจัดจ้างโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ศาลปกครองในฐานะองค์กรตุลาการ จึงไม่อาจจะก้าวล่วงไปใช้ดุลพินิจวินิจฉัยแทนฝ่ายปกครองได้ว่า การจัดจ้างในคดีนี้สมควรจะต้องโดยใช้วิธีการใดตามกฎหมาย
ดังนั้น ไม่ว่าการจัดจ้างผู้ฟ้องคดี (BTSC) จะเข้าข่ายลักษณะเป็นการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษหรือไม่ ก็ตาม แต่เมื่อการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) ในการจัดจ้างผู้ฟ้องคดี ได้ดำเนินการไป โดยไม่ได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด
และเมื่อได้วินิจฉัยไปแล้วข้างต้นว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ.2538 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดหลักเกณฑ์ทางกฎหมายว่าด้วยเรื่องรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการเอาไว้แล้ว
เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ดำเนินการคัดเลือกคู่สัญญาตามรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ ประกอบกับข้อเท็จจริงแห่งคดี ก็มิได้ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้หลักเกณฑ์หรือดุลพินิจเช่นใดในการคัดเลือกผู้ฟ้องคดีให้เข้ามาเป็นคู่สัญญา
กรณีจึงต้องถือว่าสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค.2555 (ส่วนต่อขยายที่ 1) และสัญญาเลขที่ กร.ส.024/2559 ลงวันที่ 1 ส.ค.2549 (ส่วนต่อขยายที่ 2) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้จัดจ้างอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ไม่ได้ดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งมิได้ใช้ดุลพินิจคัดเลือกคู่สัญญาให้เป็นไปตามกฎหมาย
กรณีจึงถือว่าการได้มาซึ่งสัญญาที่พิพาท ปรากฏเหตุบกพร่องอย่างร้ายแรง อันมีผลทำให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆธ และต้องถือว่าสัญญานั้นเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น โดยมีรายละเอียดในการพิจารณา ดังนี้
สัญญาเลขที่ กร.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค.2555 (ส่วนต่อขยายที่ 1)
คดีนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนหลัก นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) ได้ทำสัญญาสัมปทานกับผู้ฟ้องคดี (BTSC) ลงวันที่ 9 เม.ย.2535 โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้อาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 ม.ค.2515 อนุมัติให้สัมปทานกับผู้ฟ้องคดี
โดยเห็นชอบแต่งตั้งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมายเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการลงนามในสัญญาดังกล่าว รายละเอียดปรากฏตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 1101/5607 ลงวันที่ 25 มี.ค.2535
โดยข้อ 27.2 ของสัญญาสัมปทานดังกล่าว กำหนดว่า “หาก กทม. ประสงค์จะให้มีการดำเนินการสายทางเพิ่มเติมในระหว่างอายุของสัญญา หรือจะขยายเส้นทางของระบบ บริษัทจะมีสิทธิเป็นรายแรกที่จะเจรจากับ กทม. ก่อน เพื่อขอรับสิทธิทำการและดำเนินการเส้นทางสายใหม่นั้น หากบริษัทยินดีรับเงื่อนไขที่ดีที่สุดที่มีผู้เสนอต่อ กทม. ทั้งนี้ การขยายเส้นทางเพิ่มเติมดังกล่าวต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีก่อน”
กรณีจะเห็นได้ว่า แม้ข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานดังกล่าว จะมิใช่กฎหมายก็ตาม แต่ผู้ฟ้องคดี (BTSC) ย่อมทราบดีว่า การดำเนินการส่วนต่อขยาย จะต้องมีการเสนอราคาต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) เพื่อพิจารณาเงื่อนไขที่ดีที่สุดก่อน และจะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยก่อน อันเป็นขั้นตอนตามกฎหมายที่เดิม ทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดี ได้มีการตกลงกันไว้ตั้งแต่แรกเริ่มในชั้นที่ได้มีการจัดทำสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนหลัก
ต่อมา เมื่อวันที่ 29 ก.พ.2543 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ส่วนต่อขยาย ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยในรายละเอียดอนุมัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) ดำเนินการจัดหาผู้ลงทุนตามโครงการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนโครงการระบบชนส่งมวลขนกรุงเทพ ส่วนต่อขยาย ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 โดยที่กระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบด้วยต่อแนวทางการคัดเลือกผู้ลงทุนโครงการตามที่คณะกรรมการดังกล่าว เสนอ
กระทรวงมหาดไทยจึงมีหนังสือ ที่ มท 0100/10618 ลงวันที่ 1 ก.ย.2543 ขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติในสองประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง อนุมัติยกเว้นการคัดเลือกผู้ลงทุนตามโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเพพมหานคร ส่วนต่อขยาย โดยวิธีประมูลตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
และประเด็นที่สอง อนุมัติวิธีการคัดเลือกผู้ลงทุนตามโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยาย โดยวิธีประมูลตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
โดยวิธีการเชิญบริษัท/กลุ่มบริษัทที่เคยมีผลงานหรือเคยยื่นข้อเสนอดำเนินการโครงการในลักษณะเดียวกับโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยาย ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มบริษัทที่ยื่นข้อเสนอในโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 กลุ่ม โครงการรถไฟฟ้ามหานคร จำนวน 2 กลุ่ม
และกลุ่มบริษัทที่กรุงเทพมหานครได้ขึ้นทะเบียนผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้นในโครงการขนส่งมวลชนขนาดรอง สายพระราม 3 จำนวน 6 กลุ่ม รวมทั้งสิ้นจำนวน 11 กลุ่ม เพื่อมายื่นข้อเสนอดำเนินโครงการ โดยคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนโครงการฯ จะคัดเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุด มาเป็นกรอบในการเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิมต่อไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2543 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอทั้งสองข้อ และให้ดำเนินการต่อไปได้ หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2545 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ตามที่กระทรวงมหาดไทยรายงานผลการพิจารณาคัดเลือกผู้ลงทุนโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยาย (เฉพาะสายสีลม และสายสุขุมวิท)
โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) ได้ประกาศเชิญชวนผู้สนใจยื่นข้อเสนอลงทุนโครงการฯ ปรากฏว่า ไม่มีบริษัท/กลุ่มบริษัทรายใด ยื่นความประสงค์เข้าซื้อเอกสารการลงทุนโครงการฯ คณะกรรมการพิจารณาการลงทุนโครงการฯ จึงได้มีมติเห็นชอบให้เชิญผู้รับสัมปทานรายเดิม ได้แก่ ผู้ฟ้องคดี (BTSC) มายื่นข้อเสนอลงทุนโครงการ
โดยทางผู้ฟ้องคดี (BTSC) ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนและยื่นข้อเสนอ โดยแจ้งว่าการดำเนินการส่วนต่อขยายดังกล่าวในส่วนของงานโครงสร้างพื้นฐาน (งานโยธา) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) หรือภาครัฐเป็นผู้ลงทุนให้ทั้งหมด
ส่วนการจัดหาระบบไฟฟ้าและเครื่องกลเพิ่มเติม เป็นหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี (BTSC) รวมทั้งการเดินรถ และจัดเก็บรายได้ ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ดำเนินงานภายใต้สัญญาสัมปทาน และผู้ฟ้องคดีต้องได้รับสิทธิประโยชน์ เช่นเดียวกับโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร นั้น
คณะกรรมการพิจารณาการลงทุนโครงการฯ พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ก.พ.2543 ซึ่งตามสัญญาสัมปทานกำหนดให้เอกชนผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับภาระในการลงทุนโครงการเองทั้งหมด ดังนั้น จึงไม่รับพิจารณาข้อเสนอของผู้ฟ้องคดี
ประกอบกับพิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดหาผู้ลงทุนโครงการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จะไม่สามารถหาผู้ลงทุนโครงการได้ภายใต้ขอบเขตการลงทุนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ทั้งนี้ หากหน่วยงานเจ้าของโครงการมีความประสงค์ที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป อย่างไร ให้อยู่ในดุลพินิจของหน่วยงานเจ้าของโครงการในการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) ได้ทำการก่อสร้างส่วนต่อขยายที่ 1 และเห็นว่า หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะเองจะล่าช้า และการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ จะไม่ทันต่อสถานการณ์
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงได้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) เป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว จะสามารถดำเนินการได้แค่ไหน เพียงใด และการมอบหมายดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการร่วมลงทุนกับเอกชนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีความเห็นโดยสรุปความได้ว่า
ในประเด็นข้อหารือที่หนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) มิใช่เอกชน แต่เป็นวิสาหกิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.)
ในประเด็นที่สอง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้มีการวินิจฉัยและให้ความเห็นในประเด็นที่สองว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) จะว่าจ้างเอกชนรายอื่นให้เข้ามาดำเนินการ โดยไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า เอกชนได้รับค่าตอบแทนอื่นใด นอกจากค่าจ้าง หรือต้องร่วมรับผลกำไรหรือขาดทุน ไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อมด้วยแล้ว การจ้างดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการร่วมลงทุนกับเอกชนแต่อย่างใด
และเมื่อการจ้างเอกชนมาเดินรถตามข้อหารือ ไม่มีกรณีที่จะต้องอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใดแก่เอกชนในการประกอบกิจการรถไฟฟ้า หรือกิจการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษด้วยแล้ว
การจ้างในลักษณะดังกล่าวจึงไม่เป็น “การร่วมงานหรือดำเนินการ” ในกิจการของรัฐตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 222/2550)
เมื่อพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ประกอบกับข้อเท็จจริงของคดีนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ได้มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 จนถึงขั้นตอนที่คณะรัฐมนตรีมีมติไม่รับพิจารณาข้อเสนอของผู้ฟ้องคดี (BTSC)
เนื่องจากข้อเสนอของผู้ฟ้องคดี (BTSC) กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) หรือภาครัฐ เป็นผู้ลงทุนในส่วนของระบบงานโครงพื้นฐาน (งานโยธา) ทั้งหมด ส่วนการจัดหาระบบไฟฟ้าและเครื่องกลเพิ่มเติม เป็นหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี จึงขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ก.พ.2543 เนื่องจากสัญญาสัมปทานกำหนดให้เอกชนผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับภาระในการลงทุนโครงการเองทั้งหมด
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) รับทราบมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กลับก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเอง และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) ทำสัญญาจ้างให้ผู้ฟ้องคดี (BTSC) ดำเนินการเดินรถ โดยไม่จำต้องรับภาระในการลงทุนในส่วนของงานโครงสร้างพื้นฐานเลย จึงเป็นการดำเนินการที่มีเนื้อหาสาระที่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น
ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กทม.และกรุงเทพธนาคม) ว่าจ้างเอกชนรายอื่นให้เข้ามาดำเนินการ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เอกชนได้รับค่าตอบแทนอื่นใดนอกจากค่าจ้าง หรือต้องร่วมรับผลกำไรหรือขาดทุนไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อมด้วยแล้ว การจ้างดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการร่วมลงทุนกับเอกชนแต่อย่างใด
อันเป็นกรณีที่แสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กทม.และกรุงเทพธนาคม) หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
และแม้ว่ากรณีดังกล่าว จะไม่เป็น “การร่วมงานหรือดำเนินการ” ในกิจการของรัฐตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่า ในการจัดหาคู่สัญญาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จะไม่จำต้องพิจารณาบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นๆ อีก
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จะจัดหาผู้รับจ้างมาให้บริการเดินรถ ย่อมถือเป็นการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุราชการส่วนท้องถิ่นที่จะต้องคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุจะต้องกระทำโดยเปิดเผย เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
คดีนี้ ไม่ปรากฏว่าได้มีการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน หรือปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ได้ใช้วิธีประกาศเชิญชวนและวิธีคัดเลือกแล้ว ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอไม่ได้รับการคัดเลือก หรือมีผู้ประกอบการรายเดียว หรือมีความจำเป็นต้องใช้พัสดุกรณีฉุกเฉินหากใช้วิธีประกาศเชิญชวนหรือคัดเลือกอาจล่าช้า ก่อให้เกิดความเสียหาย อีกทั้งงบประมาณตามสัญญามีมูลค่าสูง
กรณีจึงไม่อาจจะถือได้ว่า การจัดหาคู่สัญญาในส่วนต่อขยายที่ 1 มีเหตุที่จะยกเว้นการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาที่เป็นธรรม
ดังนั้น สัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค.2555 (ส่วนต่อขยายที่ 1) ที่ได้มาโดยขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี โดยหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินโครงการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ไปแล้ว
อีกทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กทม.และกรุงเทพธนาคม) ได้กำหนดให้ผู้ฟ้องคดี (BTSC) เข้ามาเป็นคู่สัญญา ก็ไม่ปรากฏว่ามีการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
สัญญาดังกล่าว จึงถือว่าปรากฎเหตุบกพร่องอย่างร้ายแรงที่มีผลทำให้ตกเป็นโมฆะ และต้องถือว่าสัญญานั้น เสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น
สัญญาเลขที่ กร.ส.024/2559 ลงวันที่ 1 ส.ค.2559 (ส่วนต่อขยายที่ 2)
สำหรับการดำเนินการทำสัญญาเลขที่ กธ.ส. 024/2559 ลงวันที่ 1 ส.ค.2555 (ส่วนต่อขยายที่ 2) นั้น ปรากฎข้อเท็จจริงว่า กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือ ที่ คค (ปคร) 0806.1/84 ลงวันที่ 6 พ.ย.2559 เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการแนวทางการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลขนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 นั้น ปรากฏหลักการเกี่ยวกับแนวทางการลงทุนและการประกวดราคา ดังนี้
“เนื่องจากโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง จึงเห็นสมควรให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานงานโยธาและส่วนที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนระบบไฟฟ้าอาณัติสัญญาณ ระบบตัวรถ (Rolling Stod) และให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
โดยดำเนินการให้สามารถเดินรถได้เมื่องานโยธาแล้วเสร็จ ทั้งนี้ จะดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 อย่างเคร่งครัด” ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติตามหลักการดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2549
ทั้งนี้ เดิมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบการเดินรถ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจำหน่ายและโอนภาระทางการเงินของโครงการดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2559 รับทราบตามติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2548 เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2558 เห็นชอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) เป็นผู้เดินรถในส่วนต่อขยายที่ 2
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) ได้ทำบันทึกข้อตกลงมอบหมายกิจการในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) เป็นผู้บริหารจัดการโครงการและมีสิทธิในการดำเนินโครงการรวมถึงการจัดให้มีระบบการเดินรถและบริหารจัดการเดินรถ
หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) ได้ทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดี (BTSC) ให้เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถตามสัญญาเลขที่ กร.ส.024/2559 ลงวันที่ 1 ส.ค.2559 (ส่วนต่อขยายที่ 2)
โดยว่าจ้างผู้ฟ้องคดี (BTSC) ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมทั้งเก็บเงินค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งการดำเนินการในกรณีดังกล่าว ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ข้างต้น
แม้ว่าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ จะมิได้มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 มาก่อน เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ก็ตาม
แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงของการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก และส่วนต่อขยายที่ 1 ต่างก็มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการให้เอกชนผู้ซึ่งจะเป็นผู้รับจ้างเดินรถนั้น จะต้องช่วยแบกรับต้นทุนโครงสร้างงานโยธาด้วย
กล่าวคือ จะต้องให้เอกชนผู้รับจ้างเดินรถร่วมลงทุนกับรัฐในกิจการขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ ที่ต้องการให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 อย่างเคร่งครัด
ประกอบกับเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่มีการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและเสมอภาคเท่าเทียมกัน หรือปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ใช้วิธีประกาศเชิญชวนและวิธีคัดเลือกแล้ว ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอหรือข้อเสนอไม่ได้รับการคัดเลือก หรือมีผู้ประกอบการรายเดียว หรือมีความจำเป็นต้องใช้พัสดุกรณีฉุกเฉินหากใช้วิธีประกาศเชิญชวนหรือคัดเลือกอาจล่าช้า ก่อให้เกิดความเสียหาย อีกทั้งงบประมาณตามสัญญามีมูลค่าสูง
กรณีจึงไม่อาจจะถือได้ว่า การจัดหาคู่สัญญาตามสัญญาดังกล่าว มีเหตุที่จะยกเว้นการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและเสมอภาคเท่าเทียมกัน
ดังนั้น สัญญาเลขที่ กธ.ส.024/2559 ลงวันที่ 1 ส.ค.2559 (ส่วนต่อขยายที่ 2) จึงขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี โดยหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2549 ที่ให้ดำเนินโครงการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 อย่างเคร่งครัด
อีกทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีเข้ามาเป็นคู่สัญญาก็ไม่ปรากฏว่ามีการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและเสมอภาคเท่าเทียมกัน สัญญาดังกล่าวจึงถือว่ามีเหตุบกพร่องอย่างร้ายแรงที่ทำให้ตกเป็นโมฆะ และต้องถือว่าสัญญานั้นเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความเห็นแย้งของ ‘ตุลาการฝ่ายเสียงข้างน้อย’ ในคดี ‘หนี้สายสีเขียว’ ซึ่งตุลาการฝ่ายเสียงข้างน้อย เห็นแย้งว่า การที่บริษัท กรุงเทพธนาคมฯ จ้าง BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 นั้น เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติมติ ครม. ที่ให้ดำเนินโครงการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ
จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ จะมีผลต่อการพิจารณาในคดีอื่นๆหรือไม่ อย่างไร?
อ่านประกอบ :
ศาลรธน.ยกคำร้อง BTSC กล่าวหา ป.ป.ช.ชี้มูลสายสีเขียว ขัดรัฐธรรมนูญ
BTSC ยื่นขอความเป็นธรรม 'อัยการฯ' สู้ข้อกล่าวหา ป.ป.ช.คดีสายสีเขียว
‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่ง‘กทม.’จ่ายค่าจ้างเดินรถ-ซ่อมบำรุง‘สายสีเขียว’ 1.2 หมื่นล้าน ให้ BTSC
เบื้องหลังชี้มูลคดีรถไฟฟ้าสายสีเขียว มติ 5:1! ‘ไม่กันตัว‘กรุงเทพธนาคม-ธีระชน’เป็นพยาน
ป.ป.ช.ให้ BTS ทำหนังสือชี้แจงปมจ้างเดินรถสายสีเขียว ก่อนส่งสำนวนให้อัยการฯ
‘บีทีเอส’แจงคดีสายสีเขียว! อ้างขอนัดหมายชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กลับถูก'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯก่อน
เลขาฯป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ยังไม่รู้ผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย ใครบ้าง
'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย'โดนยกก๊วน! 'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว'แล้ว
‘องค์คณะไต่สวน’ชง‘ป.ป.ช.’ชี้มูล‘สุขุมพันธ์-คีรี-BTSC’ คดีรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’
กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
ป.ป.ช.ตั้ง 7 ประเด็น สอบเพิ่ม คดี ‘สุขุมพันธุ์' จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 55