"...เมื่อพิจารณาจากการดำเนินงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริบทและสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน พบว่า ฉากทัศน์ที่ 1 หรือฉากทัศน์ที่คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยอยู่ในระดับค่อนข้างจะคงที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปอีก 10 ปีนั้น เป็นฉากทัศน์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก..."
.........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2566 โดยประเทศไทยได้อันดับที่ 108 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก ตกลง 7 อันดับ จากปีก่อนที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 101
ขณะที่คะแนน CPI ของประเทศไทยในปี 2566 อยู่ที่ 35 คะแนน ลดลงจากปีก่อนที่ประเทศไทยได้ 36 คะแนน และเป็นระดับคะแนนที่ไทยเคยได้ต่ำสุดเมื่อปี 2556 และปี 2559 (อ่านประกอบ : ประเทศไทย ดัชนีรับรู้การทุจริต ตก 7 อันดับ ปี 66 ได้ที่ 108 จาก 180 ปท.ทั่วโลก)
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า สาเหตุที่ผู้ประเมินคะแนนให้คะแนนไทยลดลง อาจมีสาเหตุมาจากมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถาม และผู้เชี่ยวชาญฯที่รับรู้ว่า ยังคงมีปัญหาการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อแลกกับการได้รับการอนุมัติ/อนุญาต การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ หรือเพื่อเพิ่มโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขัน
อีกทั้งยังคงปรากฏกรณีที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการทุจริตโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว การเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอยู่เป็นระยะ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบ ‘มาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568’ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ
ทั้งนี้ ในรายงานฯ มาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการฯ ฉบับดังกล่าว ป.ป.ช. ได้นำเสนอ ‘สถานการณ์การทุจริต’ ในประเทศไทย โดยอ้างอิงจากข้อมูล ‘ดัชนีการรับรู้การทุจริต’ หรือ CPI พร้อมทั้งวิเคราะห์กรณีศึกษาใน 6 ประเทศ ซึ่งมีการยกระดับคะแนน CPI อย่างโดดเด่น มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ถอดบทเรียน 6 ประเทศ ยกระดับ CPI อย่าง‘ก้าวกระโดด’
ผลการวิเคราะห์กรณีศึกษาประเทศที่มีการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตได้อย่างโดดเด่น 6 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เอสโตเนีย อุรุกวัย อินโดนีเซีย และเวียดนาม พบว่า ทั้ง 6 ประเทศ เคยเผชิญกับปัญหาการทุจริตอย่างรุนแรงในช่วงปลายศตวรรษที่ 20
โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดการทุจริตอย่างรุนแรงดังกล่าวมี 3 ประการ คือ
1) บริบททางการเมืองที่เอื้อให้เกิดการทุจริตขนานใหญ่ จากความต้องการที่จะครองอำนาจในฝ่ายบริหารของบุคคลหรือคณะบุคคลจำนวนหนึ่ง จนนำไปสู่การสร้างระบบที่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกันผ่านการกระทำการทุจริต
2) ค่านิยมของสังคมเกี่ยวกับการทุจริต ที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างผลประโยชน์สาธารณะกับผลประโยชน์ส่วนบุคคลมีความไม่ชัดเจน ซึ่งค่านิยมดังกล่าวอาจรวมไปถึงสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ และความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ที่ทำให้การทุจริตบางอย่างกลายเป็นเรื่องที่สังคมบางส่วนยอมรับได้
3) วัฒนธรรมการทำงานที่จำเป็นจะต้องมีการติดสินบน เพื่อให้การทำงานนั้นเสร็จลุล่วงโดยไร้ซึ่งปัญหา และรวดเร็ว เกิดเป็นนิสัยของการทำงานในระบบราชการ จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ 3 กลุ่ม ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา คะแนน CPI ของทั้ง 6 ประเทศ มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่นำไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวกดังกล่าว คือ บริบททางการเมืองภายในประเทศในช่วงเวลานั้นๆ ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทิศทางของการบริหารประเทศ รวมถึงการกำหนดขอบเขตการดำเนินงานภายในประเทศนั้น มีผลสำคัญเป็นอย่างมาก ในการลดระดับการทุจริตในภาครัฐ
ดังเช่นการสิ้นสุดการปกครองของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ในประเทศอินโดนีเซีย หรือการสิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลทหารที่ผูกขาดอำนาจอย่างยาวนานในประเทศเกาหลีใต้ เช่นเดียวกับปัจจัยที่เป็นผลมาจากตัวบุคคลที่เข้าไปมีอำนาจหน้าที่ในรัฐบาล เช่น เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศเวียดนามที่ให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังและเข้มข้น มีผลทำให้ระดับคะแนน CPI ของเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น
จนอาจสรุปได้ว่าปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ทั้ง 6 ประเทศประสบความสำเร็จในการลดระดับการทุจริต คือ การที่รัฐบาลของแต่ละประเทศ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ยอมรับว่าภายในประเทศนั้น มีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นจริง และเล็งเห็นถึงความสำคัญว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาระดับชาติ
จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน แทนที่จะกลบปัญหาเหล่านั้นไว้ใต้พรม และเมื่อเกิดการยอมรับ และยกระดับให้เรื่องการต่อต้านการทุจริตมีความสำคัญ ความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรมก็เกิดขึ้นตามมา
ดังจะเห็นได้ว่าทั้ง 6 ประเทศ มีความพยายามในการทำให้กระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศตนเองมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการออกแบบและจัดวางโครงสร้างเชิงสถาบันเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกๆ ที่หลายประเทศได้มีการจัดทำขึ้น และผลของการดำเนินการดังกล่าว ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกต่อการลดการทุจริตภายในประเทศ
ปัจจัยอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้การต่อต้านการทุจริตประสบผลสำเร็จ คือ การบังคับใช้กฎหมาย โดยหน่วยงานหรือรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและเข้มแข็ง ดังนั้น หากหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องการต่อต้านการทุจริตของประเทศใด มีการออกแบบเชิงสถาบันอย่างรัดกุม พร้อมกับมีอำนาจในการจัดการกับการทุจริตได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีความสามารถ และเป็นอิสระจากการเมืองและผลประโยชน์ใดๆ
จะช่วยส่งเสริมให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศนั้นๆ ประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างมาก และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและความเข้มแข็งขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริต จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ ด้วย
โดยเฉพาะภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างความตื่นตัว ความสนใจ ความเข้าใจ และความร่วมมือร่วมใจกันเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริต เป็นเสมือนการช่วยเหลือและร่วมมือกันของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการเปิดโอกาสให้ประชาชน รวมถึงสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไม่เป็นภาระ เพื่อเสริมพลังอำนาจให้แก่กระบวนการมีส่วนร่วมดังกล่าวด้วย
@7 ปัจจัยกดดันคะแนนรับรู้ทุจริตฯ 6 ปท.เข้าสู่‘ภาวะคงที่’
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าทั้ง 6 ประเทศ จะสามารถพัฒนาในเชิงโครงสร้าง วัฒนธรรม และการปฏิบัติงานภาครัฐให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น แต่พัฒนาการแบบก้าวกระโดดในประเทศเหล่านี้ ก็ยังคงเผชิญกับอุปสรรคบางประการที่อาจจะส่งผลต่อภาพรวมของระดับการทุจริตภายในประเทศ จนทำให้การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตที่เคยพัฒนาแบบ ‘ก้าวกระโดด’ นั้นเข้าสู่ ‘ภาวะคงที่’ ในช่วงเวลาต่อมา ได้แก่
1) ค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่พนักงานต่ำ เกิดเป็นแรงจูงใจในการกระทำความผิด
2) บริบททางการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้อิสรภาพของสื่อมวลชนมีจำกัด ความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมอ่อนแอ และการช่วยเหลือจากต่างชาติในบางกรณีถูกมองว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศและเสถียรภาพของรัฐ
3) กฎหมายและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อโจมตีขั้ว/ฝ่าย/พรรคการเมือง ฝ่ายตรงข้ามมากกว่าการมุ่งใช้ในการแก้ปัญหาการทุจริตอย่างแท้จริง
4) การบัญญัติกฎหมายทำให้มีการก่อตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ และมีความพร้อมในเชิงโครงสร้างทางสถาบันในระยะแรก แต่การบังคับใช้กฎหมายกลับมีความหย่อนยาน ไร้ซึ่งประสิทธิภาพ และไม่สามารถทำได้จริงในระยะต่อมา ทำให้ปัญหาการทุจริตมิได้รับการจัดการให้ดีขึ้นในระยะยาว
5) การย้ายการกระทำการทุจริตจากช่องทางแบบไม่เป็นทางการ มาเป็นช่องทางแบบเป็นทางการ กล่าวคือ จากแต่เดิมที่การทุจริตเป็นการกระทำความผิดแบบชัดเจน แต่ในปัจจุบันกลับเป็นการกระทำความผิดผ่านช่องโหว่ของกฎหมายหรือโครงสร้างทางการที่มีอยู่ในสังคม ส่งผลให้การตรวจสอบการกระทำการทุจริตทำได้ยากยิ่งขึ้น และอาจเกิดประเด็นที่มีความไม่ชัดเจนว่าการกระทำบางอย่างเป็นการทุจริตที่มีความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติไว้หรือไม่
6) วัฒนธรรมการทุจริตที่ฝังรากลึกจนกลายเป็นค่านิยมและแนวปฏิบัติภายในสังคม โดยเฉพาะในสังคมที่เป็นระบบอุปถัมภ์และความเป็นพวกพ้องยังคงฝังรากลึก
7) ระบอบการปกครองของประเทศที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยมากพอ หรือประเทศที่มีลักษณะการบริหารแบบอำนาจนิยม ส่งผลให้สามารถยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ได้อย่างก้าวกระโดดในระยะแรก
เนื่องจากมีการปฏิรูประบบและโครงสร้างทางสังคมและการเมืองขนานใหญ่ แต่ไม่สามารถรักษาอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดไว้ได้ในเวลาต่อมา เนื่องจากไม่สามารถยกระดับคุณภาพของประชาธิปไตยของประเทศให้สูงขึ้นไปได้อีก
ด้วยเหตุนี้ นอกจากการเปลี่ยนแปลงของบริบททางการเมือง ได้แก่ การปฏิรูปการเมือง การออกแบบโครงสร้างเชิงสถาบัน จัดตั้งองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ และการบัญญัติกฎหมายให้มีความเด็ดขาด ซึ่งสามารถช่วยวางรากฐานการพัฒนาเชิงบวกในการลดระดับการทุจริตภายในสังคมแล้ว
การเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมภายหลังการก่อร่างสร้างระบบและโครงสร้างทั้งหลายแล้ว ควบคู่กับการสร้างกลไกระยะยาวที่ช่วยปรับวัฒนธรรมทางการเมืองให้เอื้อ และสอดรับต่อวิสัยทัศน์ในการไม่ยอมรับการทุจริตภายในสังคมเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ โดยสามารถพิจารณาใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้พัฒนากลไกเพื่อยกระดับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภายในสังคมดังกล่าวไปพร้อมกันด้วย
@เปิด 3 ฉากทัศน์ระดับคะแนน CPI ไทยใน 10 ปีข้างหน้า
ผลการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (scenario analysis) เพื่อศึกษาและพยากรณ์คะแนน CPI ของประเทศไทยใน 10 ปีข้างหน้า พบว่ามีฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ 3 ฉากทัศน์ ได้แก่
ฉากทัศน์ที่ 1 ฉากทัศน์ที่คะแนน CPI ของประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงในอัตราคงที่ หรือแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ภายใต้ฉากทัศน์นี้ คะแนน CPI จะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 36-37 คะแนน ในลักษณะเดียวกันกับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และไม่สามารถเพิ่มขึ้นเป็น 50 คะแนน ในปี พ.ศ.2565 ได้ตามเป้าหมาย
โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดผลตามฉากทัศน์ที่ 1 นั้น จำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ดังที่ได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอต่อรัฐบาลมาแล้ว 3 ระยะ
ฉากทัศน์ที่ 2 ฉากทัศน์ที่คะแนน CPI ของประเทศไทยมีการเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยค่าคะแนน CPI จะเพิ่มขึ้นราว 5-6 คะแนนในระยะเวลา 10 ปี โดยจะอยู่ในช่วงระหว่าง 36-42 คะแนน แต่จะยังไม่ถึง 50 คะแนนตามเป้าหมาย และหากต้องการทำให้คะแนน CPI ของประเทศไทยในอีก 10 ปีมีทิศทางที่เป็นไปตามฉากทัศน์นี้ นอกจากการดำเนินการต่างๆ ตามแนวทางในฉากทัศน์ที่ 1 แล้ว ยังจำเป็นต้องมีการดำเนินการอื่นๆ เพิ่มเติมอีกหลายประการ
โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. องค์กรอิสระต่างๆ และองค์กรในฝ่ายตุลาการ ตลอดจนการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการอาศัยเครื่องมือออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงง่าย และมีการตอบสนองโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบอย่างทันท่วงที
ฉากทัศน์ที่ 3 ฉากทัศน์ที่คะแนน CPI ของประเทศไทยจะมีการเพิ่มขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด ประมาณ 10 คะแนน ภายในระยะเวลา 10 ปี และมีค่าใกล้เคียงกับเป้าหมาย 50 คะแนนมากที่สุด โดยการดำเนินการเพื่อทำให้คะแนน CPI ของประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้ามีทิศทางที่เป็นไปตามฉากทัศน์นี้ นอกจากการดำเนินการตามแนวทาง ในฉากทัศน์ที่ 1 และฉากทัศน์ที่ 2 แล้ว จำเป็นต้องมีการดำเนินการอื่นๆ เพิ่มเติมอีกหลายประการ
โดยเฉพาะการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปทางการเมืองซึ่งต้องอาศัยบทบาทของผู้นำทางการเมือง พรรคการเมือง และนักการเมือง รวมถึงการตอบรับจากประชาชนจำนวนมากในสังคม ตลอดจนการแสดงบทบาทของสื่อมวลชนได้อย่างอิสระและปราศจากการครอบงำ
ทั้งนี้ ในบรรดาฉากทัศน์ทั้ง 3 ฉากทัศน์ข้างต้น ฉากทัศน์ที่ 3 หรือการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือ ฉากทัศน์ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด (the most desired scenario) แต่ก็มีความเป็นไปได้น้อยที่สุดเช่นเดียวกัน
เนื่องจากฉากทัศน์ที่ 3 นั้น จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปในเชิงระบบและโครงสร้างทางการเมืองที่มุ่งส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนค่านิยมพื้นฐานของสังคม ซึ่งการปฏิรูปเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกองคาพยพของสังคม และจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทางการเมืองการบริหารจำนวนมาก ตลอดจนระยะเวลาในการดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จที่ยาวนาน
ด้วยเหตุนี้ ฉากทัศน์ที่ 2 จึงเป็นฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้มากกว่าฉากทัศน์ที่ 3 ภายใต้บริบทและสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน หากมีความพยายามขับเคลื่อนการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) จากรัฐบาลและองค์กรภาครัฐอย่างเต็มที่
แม้ว่าผลสุดท้ายแล้วคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยจะยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 50 คะแนน ภายใต้ฉากทัศน์ที่ 2 นี้ แต่การเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยให้สูงขึ้น มีทิศทางที่กำลังเดินไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากการดำเนินงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริบทและสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน พบว่า ฉากทัศน์ที่ 1 หรือฉากทัศน์ที่คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยอยู่ในระดับค่อนข้างจะคงที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปอีก 10 ปีนั้น เป็นฉากทัศน์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงาน ‘มาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ’ ประจำปีงบ 2568 ซึ่งได้กล่าวถึงสถานการณ์การทุจริตในประเทศไทย พร้อมทั้ง ‘ถอดบทเรียน’ ของประเทศต่างๆในการยกระดับคะแนน CPI และยังต้องติดตามกันต่อไปว่าในปีหน้า อันดับคะแนนดัชนี CPI ของไทย จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร?
อ่านเพิ่มเติม : มาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568
อ่านประกอบ :
ประมวลข้อมูล 3 แหล่ง เหตุดัชนีทุจริตไทยลดไปอยู่ที่ 108 คะแนนต่ำสุดเท่าปี 56 และ 59
ประเทศไทย ดัชนีรับรู้การทุจริต ตก 7 อันดับ ปี 66 ได้ที่ 108 จาก 180 ปท.ทั่วโลก
เจาะลึกเสวนาปัญหาการรับรู้ทุจริตไทย 'ค่า CPI' สะท้อนความจริงบางอย่างไม่ได้เหมือนกัน
ตรวจการบ้าน‘ปฏิรูปปท.’! 5 ปี รัฐ‘สอบตก’ต้านทุจริตฯ จนท.ประพฤติมิชอบ-ภาคธุรกิจจ่ายสินบน
'พิธา' แจงเนื้อหา MOU จัดตั้ง รบ.หวังเพิ่มค่า CPI ชี้ปม 112 ต้องแก้ด้วยกลไกรัฐสภา
ค่า CPI ไทย 36 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนได้ 35 ติดอันดับ 101 ความโปร่งใสโลก
ป.ป.ช.จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล-'วัชรพล'ประกาศภารกิจเพิ่มค่า CPI ไทยเกิน 50%