“...กฎหมายที่กำหนดระยะเวลาไว้ 1 ปี ดูเหมือนจะเยอะ แต่ในการทำงานจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และพนักงานไต่สวน ไม่เพียงพอ เมื่อมีเวลาไม่เพียงพอ เราต้องถอนอายัด ปล่อยทรัพย์ จึงมีโอกาสที่จะยักย้าย ถ่ายเท และยังไม่เคยมีกรณีไหนที่คณะกรรรมการ ป.ป.ช.ไปยึด หรืออายัดทรัพย์สินซ้ำสอง เพราะหวั่นเกรงว่า กฎหมายให้อำนาจหรือไม่...”
การยึด-อายัดทรัพย์สินเป็นมาตรการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน-ลงโทษผู้กระทำความผิดใน ‘คดีร่ำรวยผิดปกติ’ และ ‘คดีทุจริตต่อหน้าที่’ เปรียบเสมือนเป็น ‘ยาแรง’ สำหรับนักการเมือง-ข้าราชการ ตลอดจนเอกชน
อย่างไรก็ตาม มาตรการยึด-อายัดทรัพย์ดังกล่าวยังมี ‘ข้อจำกัด’ ในทางปฏิบัติ และมี ‘ช่องว่าง’ ในทางกฎหมายจนทำให้ ‘หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย’ ทำงานยากขึ้น
รวมถึงไม่มีหน่วยงาน ‘เจ้าภาพ’ ในการ ‘บังคับคดี’ จัดการทรัพย์สินที่เกิดจากคดีทุจริตให้ ‘ตกเป็นของแผ่นดิน’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
@ 3 ปีเสียหาย 3.3 แสนล้าน
จากรายงานข้อมูลสถิติ ‘คำกล่าวหา’ ภายในระยะ 4 ปีงบประมาณ (ปี 2562- ปี 2565) ข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่จัดทำโดยสำนักวิจัยและบริการวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.พบว่า จำนวนคำกล่าวหามากถึง 25,798 เรื่อง ในจำนวนนี้มีคำกล่าวหาเกี่ยวกับการ ‘ร่ำรวยผิดปกติ’ รวมกัน จำนวน 418 เรื่อง
ขณะที่การจัดเก็บข้อมูลตัวเลขจากเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. สรุปมูลค่าความเสียหาย 3 ปีย้อนหลัง (ปีที่ชี้มูลความผิด ปี 64-ปี 66) จำนวน 373,798 ล้านบาท (สามแสนเจ็ดหมื่นสามพันเจ็ดร้อยเก้าสิบแปดล้านบาท) โดยแยกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ ดังนี้
ปี 64 มูลค่าความเสียหาย 27,267 ล้านบาท (สองหมื่นเจ็ดพันสองร้อยหกสิบเจ็ดล้านบาท) โดยคำนวณจากความเสียหายแบ่งตามด้านต่าง ๆ ดังนี้
ด้านกระบวนการยุติธรรม การเมือง และการบริหารราชการ มูลค่าความเสียหาย 5,605,446,353 บาท ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลค่าความเสียหาย 10,197,546,636 บาท
ด้านจัดซื้อจัดจ้าง มูลค่าความเสียหาย 9,319,077,837 บาท ด้านสังคม มูลค่าความเสียหาย 93,742,674.39 บาท ด้านเศรษฐกิจ มูลค่าความเสียหาย 17,806,621.15 บาท ด้านการให้บริการสาธารณูปโภค มูลค่าความเสียหาย 65,439,999 บาทด้านจริยธรรมและความประพฤติมิชอบ มูลค่าความเสียหาย 1,968,104,294 บาท
ปี 65 มูลค่าความเสียหาย 10,287 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นสองร้อยแปดสิบเจ็ด ล้านบาท) ได้แก่ ด้านกระบวนการยุติธรรม การเมือง และการบริหารราชการ มูลค่าความเสียหาย 2,183,088,760 บาท ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลค่าความเสียหาย 335,945,348 บาท ด้านจัดซื้อจัดจ้าง มูลค่าความเสียหาย 2,544,850,599 บาท
ด้านสังคม มูลค่าความเสียหาย 332,583,065 บาท ด้านเศรษฐกิจ มูลค่าความเสียหาย 41,588,847.54 บาท ด้านการให้บริการสาธารณูปโภค มูลค่าความเสียหาย 120,475,419.9 บาท ด้านจริยธรรมและความประพฤติมิชอบ มูลค่าความเสียหาย 4,675,654,596 บาท อื่น ๆ มูลค่าความเสียหาย 53,714,149.7 บาท
ปี 66 มูลค่าความเสียหาย 336,243 ล้านบาท (สามแสนสามหมื่นหกพันสองร้อยสี่สิบสาม ล้านบาท) ได้แก่ ด้านกระบวนการยุติธรรม การเมือง และการบริหารราชการ มูลค่าความเสียหาย 5,605,446,353 บาท ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลค่าความเสียหาย 10,197,546,636 บาท
ด้านจัดซื้อจัดจ้าง มูลค่าความเสียหาย 9,319,077,837 บาท ด้านสังคม มูลค่าความเสียหาย 93,742,674.39 บาท ด้านเศรษฐกิจ มูลค่าความเสียหาย 17,806,621.15 บาท ด้านการให้บริการสาธารณูปโภค มูลค่าความเสียหาย 65,439,999 บาทด้านจริยธรรมและความประพฤติมิชอบ มูลค่าความเสียหาย 1,968,104,294 บาท
ส่วนมูลค่าทรัพย์สินที่ถูกอายัดใน ‘คดีร่ำรวยผิดปกติ’ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.เผยแพร่ไว้ โดยระบุว่า ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 - พฤษภาคม 2567) รวมทั้งสิ้น 2,458 ล้านบาท (สองพันสี่ร้อยห้าสิบแปด ล้านบาท) ขณะที่การ ‘ยึดทรัพย์’ เพียงจำนวน 3.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก หากเทียบกับ ‘มูลค่าความเสียหาย’
@ แจง ‘อายัด’ มากกว่า ‘ยึดทรัพย์’
แหล่งข่าวจาก สำนักงาน ป.ป.ช.ที่ไม่ขอเปิดเผยตัวตน เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสาเหตุที่สำนักงาน ป.ป.ช.อายัดทรัพย์สิน มากกว่าการเข้าไปยึดทรัพย์ว่า หนึ่ง มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ แต่ยังไม่ใช่การทุจริต เป็นเพียงการได้ทรัพย์มาโดยไม่สามารถอ้างอิงที่มาได้ ดังนั้น การเข้าไปบ้าน หรือไปขอหมายศาลเพื่อเข้าไปตรวจยึดทรัพย์ของผู้ถูกกล่าวหาต้องมีความระมัดระวังอย่างสูง
ทั้งนี้ กระบวนการยึดกับอายัดชั่วคราว มีระยะเวลา 1 ปีเท่ากัน แต่แตกต่างกัน คือ การยึด หมายถึง ทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ที่เอามาอยู่ในความครอบครองของ ป.ป.ช. เช่น ทองคำ
ขณะที่การอายัด คือ ผู้ถูกอายัดสามารถใช้ทรัพย์อยู่ได้ แต่ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์ที่มีทะเบียนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะใช้คำสั่งอายัดไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้ใช้ทรัพย์นั้นได้
“การจะเข้าไปยึดทรัพย์ใดจะเกี่ยวข้องกับคดีทุจริต เพราะการขอหมายศาลเข้าไปตรวจค้นบ้าน ตรวจค้นเคหะสถาน หรือ การขออนุมัติคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อออกคำสั่งในการเข้าไปยึดต้องขอหมายศาล จึงต้องมีเหตุให้ศาลออกหมายให้ เพราะศาลจะถามว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับการทุจริต ถ้ายังไม่เห็นพฤติการณ์การทุจริตชัดเจน ศาลอาจจะไม่ออกหมายให้เข้าไปยึดทรัพย์ได้ ดังนั้น ในคดีร่ำรวยผิดปกติ ส่วนใหญ่ ป.ป.ช.จะใช้วิธีอายัด แต่ถ้าเป็นคดีทุจริตอาจจะใช้วิธียึดทรัพย์ได้”แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.ระบุ
@ ข้อจำกัดกรอบระยะเวลาทำงาน 1 ปี
สำหรับกระบวนการทำงานภายในของสำนักงาน ป.ป.ช.ในการอายัดหรือยึดทรัพย์นั้น ประการแรก อำนาจในการยึด อายัดทรัพย์สินของคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 69 อนุหนึ่ง เป็นเรื่องของการยึดหรืออายัดทรัพย์สินในคดีทุจริต ซึ่งคดีทุจริตกฎหมายไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการยึดและอายัดทรัพย์สินไว้
แต่ในมาตรา 69 อนุสอง จะนำมาใช้ในคดีร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งกฎหมายกำหนดกรอบระยะเวลาในการยึดและอายัดทรัพย์ไว้ไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น
เรื่องกรอบระยะเวลา 1 ปี ในการยึดหรืออายัดทรัพย์ในคดีร่ำรวยผิดปกกลายเป็น ‘ข้อจำกัด’ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากเปรียบเทียกับ ‘คดีทุจริต’ ที่ไม่กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ ขณะที่หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ สำนักงาน ป.ป.ช. เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีระยะเวลาในการอายัดหรือยึดทรัพย์ 90 วัน
@ เทียบมาตรการยึดอายัดทรัพย์ ปปง.
หากเปรียบเทียบมาตรการยึด-อายัดทรัพย์ของ ปปง. อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 34 อนุสาม และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง ที่ให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการธุรกรรม ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน ในการตรวจสอบรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมหากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า อาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินใดที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์นั้นไว้ชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน
ทั้งนี้ คณะกรรมการธุรกรรม ตามพ.ร.บ.ปปง. พ.ศ.2542 มีจำนวน 5 คน ที่มาจาก ตุลาการศาลยุติธรรม ตุลาการศาลปกครอง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการอัยการ มีเลขาธิการ ปปง. เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้คณะกรรมการทั้ง 5 คน เลือกกรรมการที่ไม่ใช่เลขาธิการ ปปง.เป็นประธาน 1 คน
@ ปะทะทางตรงนักการเมือง-ข้าราชการ
“กฎหมายที่กำหนดระยะเวลาไว้ 1 ปี ดูเหมือนจะเยอะ แต่ในการทำงานจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และพนักงานไต่สวน ไม่เพียงพอ เมื่อมีเวลาไม่เพียงพอ เราต้องถอนอายัด ปล่อยทรัพย์ จึงมีโอกาสที่จะยักย้าย ถ่ายเท และยังไม่เคยมีกรณีไหนที่คณะกรรรมการ ป.ป.ช.ไปยึด หรืออายัดทรัพย์สินซ้ำสอง เพราะหวั่นเกรงว่า กฎหมายให้อำนาจหรือไม่”
นอกจากข้อจำกัดเรื่องกรอบระยะเวลา 1 ปีในการพิสูจน์ทรัพย์ว่า เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการทุจริตหรือไม่ ถึงแม้ ปปง.จะมีระยะเวลายึดและอายัดทรัพย์เพียง 90 วัน สิ่งที่แตกต่างจาก ป.ป.ช. คือ การปะทะโดยตรงกับ ‘นักการเมืองระดับชาติ’ ที่มีอิทธิพล-อำนาจและบารมี
แม้กระทั่งข้าราชการระดับสูง ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ถูกล่าวว่า ส่งผลเป็น ‘แรงบีบ’ ต่อเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติในการสืบทรัพย์เช่นเดียวกัน
“ก็จะพันมาถึงกรอบระยะเวลา 1 ปี ในการยึดอายัดทรัพย์ไว้ ถ้ากำหนดให้เรามีระยะเวลาทำงานเพียง 1 ปี แล้วเราต้องมาเจอกับบุคคลเหล่านี้ ที่มีทั้งอิทธิพล มีบารมี มีทั้งอำนาจ และมีความรู้ ความสามารถ เราก็อาจจะค้นหาพยานหลักฐานได้ไม่ครบถ้วน”
รูปธรรมที่เคยประสบการณ์โดยตรง-ถึงตัวกับ ‘แรงต้าน’ ทางการเมือง คือ “มาขอพบ มาพูดถึงความอัดอั้นและความเสียหายที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้บอกตรง ๆ ในลักษณะกดดัน แต่เกิดเป็นแรงบีบในการทำงาน ส่งผลให้ต้องวางมือจากคดีอื่น เพื่อเร่งการตรวจสอบคดีเดียว ส่งผลให้คดีอื่นเกิดความล่าช้าออกไป”
“ใครทำคดีเกี่ยวกับนักการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของภาครัฐย่อมกดดันพอสมควร”แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.กล่าวถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา
@ ไม่มีเจ้าภาพบังคับคดีทรัพย์สิน
ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลไปแล้ว ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว อีกหนึ่งปัญหาในการตามทรัพย์ คือ หน่วยงานรับผิดชอบที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการบังคับคดีกับทรัพย์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินจนถึงศาลมีคำพิพากษาให้ทรัพย์ “ตกเป็นของแผ่นดิน” แล้ว “เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา” หรือผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ “กระทรวงการคลัง” ตามคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การบังคับคดีกับทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินกรณีร่ำรวยผิดปกติ เรื่องเสร็จที่ 1357/2561
อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังไม่มีหน่วยงานสำหรับบังคับทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงต้องดำเนินการขอความช่วยเหลือจากกรมบังคับคดี หรือสำนักงานอัยการสูงสุดในส่วนของสำนักงานบังคับคดี รวมถึงการขอความร่วมมือจากสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะเป็นเจ้าของเรื่องในการพาไปชี้ว่าทรัพย์อยู่ตรงไหน
สำหรับกรมบังคับคดี มีภารกิจเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่ง คดีล้มละลาย คดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตามคำสั่งศาล การชำระบัญชีตามคำสั่งศาล การวางทรัพย์ การประเมินราคาทรัพย์สินและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี ดำเนินการยึด อายัด และจำหน่ายทรัพย์สิน รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย
ตลอดจนกำกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เพื่อให้เจ้าหนี้และผู้มีส่วนได้เสียได้รับการชำระหนี้จากลูกหนี้ ดังนั้น การติดตามยึดทรัพย์ตามคำพิพากษาในกรณีที่เกี่ยวกับการทุจริตจึงอยู่จึงเป็นการขอความร่วมมือจากกรมบังคับคดีเท่านั้น เพราะหน่วยงานหลักที่เป็นเจ้าภาพคือกระทรวงการคลัง ตามคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว
นอกจากนั้น การออกคำสั่งยึดอายัดทรัพย์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเงื่อนไขทางกฎหมาย คือ ถ้าเป็นผู้ร่ำรวยผิดปกติ ต้องเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ ‘และ’ กฎหมายใช้คำว่า ‘และ’ มีพฤติการณ์ โอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือ ซุกซ่อนทรัพย์สิน
“ตรงนี้ คือ ปัญหาว่า พฤติการณ์นี้จะเริ่มเมื่อไหร่ ถ้ามีการร้องเรียนว่า ใครมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติอย่างเดียว แต่เรายังไม่เห็นพฤติการณ์ว่าจะมีการโอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือ ซุกซ่อนทรัพย์สิน ป.ป.ช.ก็ออกคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินไม่ได้ จะรู้ก็ต่อเมื่อประกาศขายที่แล้ว เริ่มโยกย้ายทรัพย์ การที่จะไปรู้ว่าจะเริ่มมีการกระทำ ยาก รู้อีกทีคือโยกย้ายทรัพย์ไปเรียบร้อยแล้ว”
เมื่อกฎหมายใช้คำว่า ‘และ’ ไม่ใช่คำว่า ‘หรือ’ ทำให้ ป.ป.ช.ทำงานยาก เพราะถ้าใช้คำว่า ‘หรือ’ ใครมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ เห็นสภาพของเงินเข้ามาเยอะ สามารถอายัดไว้ก่อนได้
ดังนั้น ด้วย ‘เงื่อนไข’ ของเรื่อง ‘เวลา’ 1 ปี ในการพิสูจน์ทรัพย์ที่อายัดหรือยึดมา รวมถึง ‘ข้อจำกัด’ ของกฎหมายที่บังคับไว้ว่า การจะยึดหรืออายัดทรัพย์ไว้ก่อนได้ ทรัพย์สินนั้นต้องเกิดจากการมี ‘พฤติการณ์’ โอน-ย้าย-แปรสภาพ-ซุกซ่อน ‘ผู้ปฏิบัติ’ จึงสุ่มเสี่ยงที่จะโดน ‘ฟ้องกลับ’
“การที่เราจะออกคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินใด ถ้าไม่พบพฤติการณ์เหล่านี้เลย เรามีโอกาสโดนฟ้องกลับสูง จึงเป็นข้อจำกัดของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการใช้อำนาจในการยึดอายัดทรัพย์สิน”
@ ชง ขยายเวลา 2 ปี - สภา ปัดตก
ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เสนอแก้ไขกฎหมายเรื่องกรอบระยะเวลาจากเดิม 1 ปี ตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ขยายเป็น 2 ปี
แต่ไม่ผ่านการเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสมัยรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2561 ความตั้งใจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ใช่การ freeze ทุกคดี ทุกคน ไว้ที่ 2 ปี เป็นเพียงการ ‘เผื่อเวลา’ ไว้ เพราะบางคดีเหลืออีกแค่ 1-2 เดือนก็จะเสร็จอยู่แล้ว แต่เราไม่สามารถขยายเวลาได้แม้แต่เดือนเดียว
“เวลาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีร่ำรวยผิดปกติต่าง ๆ จะเห็นว่า ไม่ค่อยมีทรัพย์ไหนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ออกคำสั่งยึดอายัดทรัพย์ไว้ เหมือนกับ ปปง. เพราะกรอบระยะเวลาการทำงาน มีความสุ่มเสี่ยงว่า เมื่อมีการยึดอายัด ถ้าทำไม่เสร็จ ต้องปล่อยทรัพย์ ผู้ได้รับผลกระทบจากการที่ถูก freeze ไว้ อาจจะผิดหรือไม่ผิด แต่รู้สึกว่าได้รับความเสียหาย สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องกลับทันที และการที่เราจะไปชี้มูลเขาว่าผิด เพื่อให้เรารอดพ้นจากการที่เราไป freeze ไว้ โดยพ้นระยะเวลา ก็ทำไม่ได้ เพราะเราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”แหล่งข่าวระดับปฏิบัติการใน ป.ป.ช.เปิดใจ
นอกจากไม่สามารถทำงานได้ทันกับระยะเวลาที่กำหนดไว้ 1 ปีได้ ยังมีกรณีที่ไม่สามารถอายัดทรัพย์ได้ทันท่วงที ส่งผลให้ทรัพย์นั้นถูกยักย้าย-ถ่ายเท เช่น คดีทุจริตจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด จำนวน 500 ล้านกล่อง มูลค่า 1.125 แสนล้านบาท โดยอคส.ได้จ่ายชำระเงินล่วงหน้าจำนวน 2,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายอายัดกลับมาได้เพียงไม่กี่ร้อยล้านบาท (อ่านข่าวประกอบ : ล้วงมติ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีถุงมือยางแสนล้าน อคส. ก่อนเริ่มต้นกระบวนการต่อสู้ในชั้นศาล https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/132332-invesasddsdsdsdsds.html )
@ พลิกปูมคำพิพากษายึดทรัพย์-ชดใช้ค่าเสียหาย
หากกล่าวถึงการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ใน ‘คดีร่ำรวยผิดปกติ’ และ ‘คดีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่’ ที่เป็น ‘คดีดัง’ มีมูลค่าความเสียหายมโหฬาร เพราะมีนักการเมือง-ข้าราชการระดับสูง ถูกศาลพิพากษาให้ทรัพย์สิน ‘ตกเป็นของแผ่นดิน’ ที่ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติการ ‘คดีทุจริต’
คดีทุจริตที่เป็นมหากาพย์ ที่ส่งผลสะเทือนไปถึงการอยู่-การไปของรัฐบาล และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและเอกชนจะถึงที่สุดไป ซึ่งมีทั้ง ‘ติดคุก’ และ ‘หนีคดี’ แต่คดีแพ่งกลับ ‘พลิกไปพลิกมา’ ภายหลังจากศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวร้อยละ 20 ของความเสียหายทั้งหมด 1.78 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็น 3.5 หมื่นล้านบาท
คดีร่ำรวยผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น คดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อร 2/2562 กรณีนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกรมสรรพากร คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 4,300 ล้านบาท โดยศาลพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้รายการสั่งซื้อทองคำแท่งน้ำหนักรวม 28,880 บาท คิดเป็นมูลค่า ณ ราคาทองในปัจจุบัน 800 กว่าล้านบาท (จากมูลค่าเดิม 600 กว่าล้านบาท) ของนายสาธิต ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ และให้ตกเป็นของแผ่นดิน รวมถึงทรัพย์รายการอื่นอีกจำนวนหลายรายการ
แม้กระทั่งคดีทุจริตต่อหน้าที่ กรณีศาลฎีกามีคำพิพากษาฎีกา ยืนจำคุก 6 ปี และชดใช้เงินจำนวน 46,855 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 33,030 ล้านบาทเศษ นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 รายนายสุธรรม มลิลา อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และให้กรรมการอีก 7 คน รวมชดใช้เป็นจำนวน 66,060 ล้านบาทเศษ กรณีลงมติอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน ครั้งที่ 6 ปรับลดส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ‘เอื้อประโยชน์’ ให้กับบริษัท เอไอเอส ทำให้ทำ ทศท.ต้องสูญเสียรายได้
@ ตัวอย่างคดีทุจริตต่อหน้าที่-ร่ำรวยผิดปกติ
อีกหนึ่งบกพร่องของหน่วยงานบังคับคดีให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน คือ การสื่อสารต่อสาธารณะชนของหน่วยงานที่มีหน้าที่และรับผิดชอบติดตามทรัพย์สินที่เกิดจากการทุจริตว่ามีความคืบหน้าไปแล้วอย่างไร ผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามคำพิพากษาที่ให้ทรัพย์นั้นตกเป็นของแผ่นดินได้จริงหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2545 คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2546 พิพากษาให้ทรัพย์สินของนายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 233.880 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน คดีร่ำรวยผิดปกติ
สืบเนื่องมากจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาลงโทษนายรักเกียรติให้จำคุก 15 ปี กรณีการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 181.748 ล้านบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.2/2550 คดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 พิพากษาจำคุก 10 ปี นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และริบพระเครื่องผงสุพรรณเลี่ยมทองคำ 1 องค์ ของกลาง คดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีออกโฉนดที่ดิน 5แปลง เนื้อที่ 1,900 ไร่ ซึ่งเป็นที่เทกองขยะ คลอง-ถนนสาธารณะ เพื่อก่อสร้างโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ คลองด่าน สมุทรปราการ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 23,701 ล้านบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.14/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553 กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ (ยศในขณะนั้น) ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือ
โดยศาลฯ พิพากษาให้เงินที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผลหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 46,373.687 ล้านบาท (เงินปันผลค่าหุ้น 6,898.722 ล้านบาท เงินที่ได้จากการขายหุ้นหลักหักราคาหุ้นที่มีอยู่เดิมแล้ว 39,474.965 ล้านบาท) พร้อมดอกผลเฉพาะดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝากนับแต่วันฝากเงินจนถึงวันที่ธนาคารส่งเงินจำนวนดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมาคำพิพากษา ‘ถึงที่สุด’ แต่ทรัพย์สินก็ยังไม่ได้ ‘ตกเป็นของแผ่นดิน’ โดยทันที เพราะผ่านขั้นตอนการ ‘บังคับคดี’ ติดตามทรัพย์สินที่เกิดจากการทุจริต ซึ่งเป็นไปด้วยความล่าช้า-ไม่เต็มประสิทธิภาพพอสมควร ไม่นับการ ‘ยื่นอุทธรณ์’ ของจำเลยในภายหลัง
ทั้งหมดคืออุปสรรค-ข้อจำกัด จนทำให้กระบวนการยึด-อายัดทรัพย์ ตลอดจนการบังคับคดี เพื่อให้ทรัพย์สินที่เกิดจากการทุจริตตกเป็นของแผ่นดินเกิดช่องโหว่-ไร้ประสิทธิภาพ