ประเทศไทยอันดับ-คะแนน CPI ตก ปี 66 ได้ 35 คะแนน ติดอันดับ 108 พบหล่นลงมาถึง 7 อันดับ จากปี 65 ได้อันดับ 101 ขณะประเทศเดนมาร์กครองอันดับ 1 ได้ 90 คะแนน โซมาเลียรั้งท้ายอันดับ 180 ได้ 11 คะแนน ขณะเมียนมารั้งท้ายอาเซียนได้ 20 คะแนน รั้งอันดับ 165 ด้าน ป.ป.ช.เผยมีแหล่งข้อมูลถึง 3 แหล่งให้คะแนนประเทศไทยลดลง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2567 เวลา 13.01 น. ตามเวลาในประเทศไทย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2566 โดยจากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลกนั้น ประเทศไทย ได้ 35 คะแนน คะแนนตกลงจากเมื่อปีที่แล้วที่ได้ 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 108 ของโลก ซึ่งอันดับตกลงจากปีก่อนที่ได้อันดับ 101 และคะแนน 35 คะแนนดังกล่าวเทียบเท่ากับที่ไทยเคยได้คะแนนต่ำสุดเมื่อปี 2556 และปี 2559
เทียบค่า CPI ระหว่างปี 2566 และปี 2565
คะแนน CPI ย้อนหลังของประเทศไทย
ขณะประเทศที่มีค่า CPI สูงสูดในโลกนั้นได้แก่ประเทศเดนมาร์ก โดยมีค่า CPI อยู่ที่ 90 คะแนน อันดับ 2 ของโลกได้ 87 คะแนน คือ ประเทศฟินแลนด์ และอันดับ 3 ได้ 85 คะแนน ได้แก่ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศที่มีค่า CPI สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนได้แก่ประเทศสิงคโปร์ มีค่า CPI อยู่ที่ 83 คะแนน คิดเป็นอับดับ 5 ของโลก ขณะที่ประเทศไทยได้อันดับ 4 ในอาเซียน
สำหรับประเทศที่มีค่า CPI ต่ำที่สุดในโลกได้แก่ประเทศโซมาเลีย มีค่า CPI อยู่ที่ 11 คะแนน และประเทศที่มีค่า CPI ต่ำสุดในอาเซียนได้แก่ประเทศเมียนมา มีค่า CPI อยู่ที่ 20 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 165 ของโลก
สำหรับประเทศอื่นๆที่มีคะแนน CPI เท่ากับประเทศไทยคืออยู่ที่ 35 คะแนนนั้นได้แก่ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
ประเทศโดมินิกัน ประเทศอียิปต์ ประเทศเนปาล ประเทศปานามา ประเทศเซียร์ราลีโอน และประเทศเอกวาดอร์
ต่อมาในช่วง 15.00 น. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แถลงข่าวตอนหนึ่งระบุว่าแหล่งข้อมูลที่ถูกนำมาใช้ในการอ้างอิงคะแนน CPI นั้นประกอบไปด้วยแหล่งข้อมูลจำนวน 9 แหล่ง ซึ่งมีแหล่งข้อมูลถึง 3 แหล่งที่ให้คะแนนประเทศไทยลดลงจากปี 2565 ได้แก่
1.แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI)) ได้ 33 คะแนน (ปี 2565 ได้ 37 คะแนน)
2.แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF) ได้ 36 คะแนน (ปี 2565 ได้ 45 คะแนน)
3.แหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP) ได้ 33 คะแนน (ปี 2565 ได้ 34 คะแนน)
4.แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU) ได้ 37 คะแนน (ปี 2565 ได้ 37 คะแนน)
5.แหล่งข้อมูล Global Insight Country Risk Ratings (GI) ได้ 35 คะแนน (ปี 2565 ได้ 35 คะแนน)
6.แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ได้ 43 คะแนน (ปี 2565 ได้ 43 คะแนน)
7.แหล่งข้อมูล PRS International Country Risk Guide (PRS) ได้ 32 คะแนน (ปี 2565 ได้ 32 คะแนน)
8.แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM) ได้ 26 คะแนน (ปี 2565 ได้ 26 คะแนน)
และ9.แหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ได้ 37 คะแนน (ปี 2565 ได้ 35 คะแนน)
ขณะที่คะแนน CPI โดยเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพบว่าอยู่ที่ 45 คะแนน