สาเหตุของที่ผู้ประเมินคะแนนให้คะแนนลดลงอาจมีสาเหตุมาจากมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถาม และผู้เชี่ยวชาญในแหล่งข้อมูลดังกล่าว ที่รับรู้ว่ายังคงมีปัญหาการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อแลกกับการได้รับการอนุมัติ/อนุญาต การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ หรือเพื่อเพิ่มโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขัน ประกอบกับยังคงปรากฏกรณีที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการทุจริตใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว
สืบเนื่องจากที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิรตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประกาศว่าองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2566 โดยประเทศไทยได้ 35 คะแนน ติดอันดับที่ 108 จากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลก ซึ่งคะแนน 35 คะแนนดังกล่าวเทียบเท่ากับที่ไทยเคยได้คะแนนต่ำสุดเมื่อปี 2556 และปี 2559
โดยแหล่งข้อมูลจำนวน 3 แห่งที่ให้คะแนนประเทศไทยลดลงจากปีที่ผ่านมาประกอบไปด้วย
1.แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI)) ได้ 33 คะแนน (ปี 2565 ได้ 37 คะแนน)
2.แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF) ได้ 36 คะแนน (ปี 2565 ได้ 45 คะแนน)
3.แหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP) ได้ 33 คะแนน (ปี 2565 ได้ 34 คะแนน)
โดยป.ป.ช.ระบุว่าสาเหตุของที่ผู้ประเมินคะแนนให้คะแนนลดลงอาจมีสาเหตุมาจากมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถาม และผู้เชี่ยวชาญในแหล่งข้อมูลดังกล่าว ที่รับรู้ว่ายังคงมีปัญหาการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อแลกกับการได้รับการอนุมัติ/อนุญาต การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ หรือเพื่อเพิ่มโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขัน ประกอบกับยังคงปรากฏกรณีที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการทุจริตใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว การเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอยู่เป็นระยะ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
ถึงแม้ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การพัฒนาการดำเนินงานโดยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนระยะเวลาในการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการอนุมัติ/อนุญาตต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้ประเมิน รวมถึงการขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบและการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ ยังขาดการประชาสัมพันธ์ที่จริงจังของรัฐบาลที่ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ของผู้ประเมิน
จากรายงานข่าวดังกล่าวนั้น สำนักข่าวอิศรา (www.israenews.org) ได้มีการสำรวจดัชนีของแหล่งข้อมูลทั้งสามแหล่งของผู้ให้ประเมินกันอีกครั้งเพื่อดูว่าผู้ให้ประเมินเหล่านี้ให้คะแนนประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตเอาไว้อย่างไรบ้าง
รายละเอียดมีดังนี้
1.ดัชนีว่าด้วยหน่วยงานโครงการยุติธรรมโลกหรือ World Justice Project (WJP)
ย้อนไปเมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2566 สำนักข่าวอิศราได้เคยทำข่าวนำเสนอเกี่ยวกับดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law) โลกประจำปี 2566 ใน 142 ประเทศทั่วโลกไปแล้ว โดยพบว่าประเทศไทยได้อันดับในดัชนีอยู่ที่อันดับ 82 เท่ากับอันดับเมื่อปี 2565
โดยในส่วนของคะแนนปลีกย่อยนั้นพบว่าประเทศไทยได้คะแนนในส่วนของข้อจํากัดเกี่ยวกับอํานาจรัฐ (คะแนนยิ่งมากยิ่งดี) อยู่ที่ 0.45 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 100 ได้คะแนนในส่วนของการปราศจากการทุจริตอยู่ที่ 0.45 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 72 ได้คะแนนในส่วนของการที่รัฐบาลที่เปิดเผย 0.48 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 77 ได้คะแนนด้านสิทธิพื้นฐาน 0.46 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101 ได้คะแนนด้านความมีระเบียบและความมั่นคง 0.74 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 65 ได้คะแนนด้านการบังคับใช้ระเบียบ 0.44 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 103 ได้คะแนนด้านความยุติธรรมในกระบวนการทางแพ่ง 0.49 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 87 และได้คะแนนด้านความยุติธรรมกระบวนการทางอาญา 0.41 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 76
2.แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF)
ในช่วงเดือน ม.ค. ข้อมูลจากเว็บไซต์ World Economic Forum หรือประชาคมเศรษฐกิจโลกได้มีการออกดัชนีประเมินความเสี่ยงประเทศทั่วโลก โดยในส่วนของประเทศไทยนั้นพบว่ามีการประเมินความเสี่ยงเอาไว้ใน 5 อันดับแรกประกอบไปด้วย 1.ความเสี่ยงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ 2.ปัญหามลพิษ (อากาศ น้ำ ดิน) 3.ความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนแรงงาน 4.ความเสี่ยงเรื่องหนี้ครัวเรือน และ5.ความเสี่ยงเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน (ความมั่งคั่งของรายได้)
นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศไทยได้คะแนนประมาณ 8 คะแนนจากเต็มสิบคะแนนในเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมาย และได้คะแนนอยู่ที่6 คะแนน ในด้านการรับรู้ความเสี่ยงระดับชาติตามภูมิภาค: อาชญากรรมไซเบอร์และความไม่มั่นคงทางไซเบอร์
แผนภูมิประเทศที่ได้คะแนนความเสี่ยงด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมาย
3.แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI))
ข้อมูลดัชนีว่าด้วยการเปลี่ยนแปล หรือดัชนีความเปลี่ยนแปลง BTI ซึ่งจัดทำโดย Bertelsmann Stiftung มูลนิธิอิสระของเยอรมนีนั้นมีการให้คะแนนประเทศไทยในด้านต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยไทยเอาไว้ แต่ว่าข้อมูล่าสุดที่ปรากฎบนหน้าเว็บไซต์ พบว่ายังเป็นการประเมินในปี 2565 อยู่ โดยมีรายละเอียดคะแนนในด้านต่างๆจากคะแนนเต็มสิบคะแนนดังนี้
ประเทศไทยได้คะแนนในด้านสถานะของประชาธิปไตยอยู่ที่ 3.9 คะแนน โดยมีคะแนนในด้านต่างๆ ประกอบด้วย
1. คะแนนด้านการบูรณาการทางการเมืองและสังคม 4.0 คะแนน
2.คะแนนการบูรณาการทางการเมืองและสังคม 4.0 คะแนน
3.คะแนนหลักนิติธรรม 3.0 คะแนน
4. คะแนนการมีส่วนร่วมทางการเมือง 2.5 คะแนน
ประเทศไทยมีคะแนนในด้านสถานะทางเศรษฐกิจ 6.1 คะแนน โดยมีคะแนนปลีกย่อยดังนี้
1.คะแนนระดับเศรษฐกิจและสังคม 6.0 คะแนน
2.คะแนนองค์การตลาด 6.3 คะแนน
3.คะแนนเสถียรภาพระบบการเงินและการคลัง 8.0 คะแนน
4.คะแนนด้านทรัพย์สินส่วนตัว 7.0 คะแนน
5.คะแนนระบอบสวัสดิการ 5.0 คะแนน
6.คะแนนประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ 5.0 คะแนน
7.คะแนนความยั่งยืน 5.5 คะแนน
และประเทศไทยมีคะแนนด้านดัชนีธรรมาภิบาล 4.0 คะแนน โดยมีคะแนนปลีกย่อยประกอบด้วย
คะแนนความร่วมมือระหว่างประเทศ 6.3 คะแนน
คะแนนการสร้างฉันทามติ 2.6 คะแนน
คะแนนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ 4.7 คะแนน
และคะแนนด้านความสามารถในการบังคับทิศทางประเทศ 4.3 คะแนน