องค์กรเพื่อความโปร่งใสเผยแพร่ดัชนีรับรู้ทุจริตประจำปี 65 ไทยได้ 36 คะแนน อยู่ที่อันดับ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ได้ 35 คะแนน อยู่อันดับที่ 110
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2566 สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. เวลา 12.01 น. ตามเวลาในประเทศไทย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2565 โดยจากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลกนั้น ประเทศไทย ได้ 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ได้รับ 35 คะแนน และเป็นอันดับที่ 110 ของโลก
ขณะประเทศที่มีค่า CPI สูงสูดในโลกนั้นได้แก่ประเทศเดนมาร์ก โดยมีค่า CPI อยู่ที่ 90 คะแนน อันดับ 2 ของโลกได้ 87 คะแนน คือ ประเทศฟินแลนด์ และประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศที่มีค่า CPI สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนได้แก่ประเทศสิงคโปร์ มีค่า CPI อยู่ที่ 83 คะแนน คิดเป็นอับดับ 5 ของโลก ประเทศที่มีค่า CPI ต่ำที่สุดในโลกได้แก่ประเทศโซมาเลีย มีค่า CPI อยู่ที่ 12 คะแนน และประเทศที่มีค่า CPI ต่ำสุดในอาเซียนได้แก่ประเทศเมียนมา มีค่า CPI อยู่ที่ 23 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 157 ของโลก ขณะที่คะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพบว่าอยู่ที่ 45 คะแนน
สำหรับประเทศอื่นๆที่มีคะแนน CPI เท่ากับประเทศไทยคืออยู่ที่ 36 คะแนนนั้นได้แก่ประเทศเอกวาดอร์ ประเทศแอลเบเนีย ประเทศคาซัคสถาน ประเทศปานามา ประเทศเปรู ประเทศเซอร์เบีย และประเทศศรีลังกา
สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวเพิ่มเติมว่าในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แถลงข่าวตอนหนึ่งว่าสำหรับแหล่งข้อมูลที่นำไปสู่การประเมินที่ให้คะแนนประเทศไทยเพิ่มขึ้นนั้นมี 2 แหล่งประกอบไปด้วย
1. แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ได้ 43 คะแนน (ปี 2564 ได้ 39 คะแนน)
2. แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF) ได้ 45 คะแนน (ปี 2564 ได้ 42 คะแนน)
ส่วนแหล่งข้อมูลที่คะแนนคงที่มี 5 แหล่งประกอบไปด้วย
1. แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM) ได้ 26 คะแนน (ปี 2564 ได้ 26 คะแนน)
2. แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI)) ได้ 37 คะแนน (ปี 2564 ได้ 37 คะแนน)
3. แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU) ได้ 37 คะแนน (ปี 2564 ได้ 37 คะแนน)
4. แหล่งข้อมูล Global Insight Country Risk Ratings (GI) ได้ 35 คะแนน (ปี 2564 ได้ 35 คะแนน)
5. แหล่งข้อมูล PRS International Country Risk Guide (PRS) ได้ 32 คะแนน (ปี 2564 ได้ 32 คะแนน)
นายนิวัติไชยกล่าวต่อว่าเนื่องจากมุมมองของผู้ประเมินในแหล่งข้อมูลดังกล่าว อาจเห็นว่า ถึงแม้ในปีที่ผ่านมาประเทศไทย จะได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตต่าง ๆ เช่น มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับระบบงบประมาณ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต การผลักดันให้หน่วยงานของรัฐปรับปรุงกระบวนงานและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ตลอดจนมีการลงโทษผู้ที่กระทำการทุจริต แต่ในปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ของประเทศไทย ยังคงมีอยู่ ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา เช่น พฤติกรรมการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ ความโปร่งใสในการบริหารเงินงบประมาณ การป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการตรวจสอบและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริต ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวต่อไปว่าสำหรับ แหล่งข้อมูลที่คะแนนลดลง จำนวน 2 แหล่ง ได้แก่
1. แหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ได้ 35 คะแนน (ปี 2564 ได้ 36 คะแนน)
2. แหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP) ได้ 34 คะแนน (ปี 2564 ได้ 35 คะแนน)
นายนิวัติไชยกล่าวว่าเนื่องจากการรับรู้ของผู้ประเมินที่มองว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐยังรับรู้และถือปฏิบัติตามนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่มากเท่าที่ควร รวมถึงยังคงมีการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนขาดการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจัง เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานรัฐยังต้องมีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง