“…การที่เจ้าหน้าที่รัฐ มีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบ รวมทั้งประชาชนยังไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเข้าไปช่วยตรวจสอบ ติดตามการใช้งบประมาณและการดำเนินโครงการของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างแท้จริง เมื่อไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง การทุจริตคอรัปชั่นจึงยังไม่สามารถลดลงได้...”
.....................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบ ‘รายงานสรุปผลการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565’ ตามที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เสนอ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายงานสรุปผลการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นรายงาน ‘ฉบับสุดท้าย’ ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2561-2565) เฉพาะผลการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ‘ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ’ ดังนี้
@เร่งพัฒนากลไกให้‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ทุกระดับ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
แผนการปฏิรูปประเทศ (ประเด็นที่ 11) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
เป้าหมาย : การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีความรวดเร็ว เด็ดขาด และเป็นธรรม สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกันการทุจริต ปลูกฝังจิตสำนึกของคนในชาติให้มีคุณธรรม จริยธรรม ยึดหลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติหน้าที่ และการดำเนินชีวิต มีผลการดำเนินการตามภายใต้แผนการปฏิรูปฯ 4 ด้าน ได้แก่
1.ด้านการตรวจสอบการใช้อำนาจภาครัฐในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการต่างๆ สรุปได้ดังนี้
-การจัดทำช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาคประชาชน ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ ระบบการจัดการเรื่องร้องเรียนและอุทธรณ์ด้วยระบบดิจิทัล (e-Complaint and Appeal) ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐและส่งเสริมการเปิดเผยและใช้ประโยชน์จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
-การจัดทำช่องทางการแจ้งเบาะแสและระบบปกปิดตัวตน มีระบบรับแจ้งเบาะแสทางเว็บไซต์ และพัฒนาระบบบริหารจัดการผู้แจ้งเบาะแส (Whistleblower Management System : WMS) พร้อมทั้งมีการพัฒนาระบบเปิดเผยและแจ้งผลการติดตามเรื่องร้องเรียน และสามารถติดตามสถานะการดำเนินการของสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นต้น
-การพัฒนากลไกการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้ของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติ โดยจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบและร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงาน และบังคับใช้มาตรการทางจริยธรรม วินัย และอาญาต่อผู้กระทำผิด
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายมาตรา 130 และยกร่างมาตรา 200 ที่เกี่ยวข้องกันของ (ร่าง) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ โดยได้ดำเนินการยกร่างบันทึกหลักการและเหตุุผลประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่…) และได้เสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อเห็นชอบในหลักการ พร้อมจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความเห็นภาคประชาชนและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเป็นการเบื้องต้นแล้ว เป็นต้น
-การกำหนดมาตรการให้ทุกหน่วยงานภาครัฐที่มีโครงการซึ่งมีงบประมาณการดำเนินโครงการมากกว่า 500 ล้านบาท หรือเป็นโครงการที่มีผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในวงกว้าง เป็นไปตามเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายที่กำหนด จะต้องทำการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตของโครงการ
โดยสำนักงาน ป.ป.ท. ได้มีการจัดทำคู่มือการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้ส่วนราชการทำการประเมินความเสี่ยงและแผนบริหารความเสี่ยง ประกอบการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี
อีกทั้งสำนักงบประมาณได้กำหนดให้หน่วยรับงบประมาณ ขอรับการจัดสรรงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ให้ทำการประเมินความเสี่ยงการทุจริตตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต ก่อนเสนอรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
@ทบทวนเกณฑ์โทษปรับ‘นิติบุคคล’ ทำความเสียหายให้ประเทศ
2.ด้านมาตรการและกลไกเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการต่างๆ สรุปได้ดังนี้
-การผลักดันให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ดำเนินคดีตามกรอบระยะเวลาของกฎหมายในมาตรฐานเดียวกัน โดยมีการจัดทำมาตรฐานขนาดของคดีและระยะเวลาในการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีทุจริต ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงาน ป.ป.ช. กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
-การดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูล โดยเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้านปราบปรามการทุจริต ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานกิจการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงาน ปปง. ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาฐานข้อมูลให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
-การดำเนินการทบทวนหลักเกณฑ์โทษปรับนิติบุคคลที่กระทำความเสียหายให้กับประเทศ ตามมาตรฐานสากลและพิจารณาปรับปรุงระบบฐานข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจของกระทรวงพาณิชย์ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง
-การดำเนินการพัฒนาเว็บไซต์ https://www.law.go.th หรือ ระบบกลางทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ควบคุม กำกับดููแล และบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย นำไปเป็นกลไกในการปฏิบัติงาน เพื่อบริการประชาชนและเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้มากขึ้น
-การขจัดอุปสรรคในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและการเบิกจ่ายเงินเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว คุ้มค่า โปร่งใส ปราศจากการทุจริต โดยมีระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ e-GP เพื่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐ
-การจัดทำข้อเสนอแนะแผนงานเชิงรุกของรัฐบาล : การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) (พ.ศ. 2565-2567) โดยประกอบด้วย ข้อเสนอแนะ 5 ด้าน 15 มาตรการ และแต่งตั้งคณะทำงานยกระดับการขับเคลื่อนการดำเนินการของแต่ละแหล่งข้อมูล CPI เพื่อจัดทำแผนยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ระยะ 5 ปี สำหรับใช้เป็นกรอบการดำเนินการระยะยาว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566-2570
@สร้างเครือข่ายระดับพื้นที่ขับเคลื่อน ‘ป้องกัน-ต่อต้านทุจริตฯ’
3.ด้านการส่งเสริมภาคประชาชนให้มีบทบาทในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการต่างๆ สรุปได้ดังนี้
-แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการป้องกันและต่อต้านการทุจริตในระดับพื้นที่ในระดับจังหวัด 17 จังหวัด และคณะทำงานระดับตำบล 171 ตำบล โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนมากกว่า 30 ประเภทเข้าร่วม และมีคณะทำงานติดตามประเมินผลการดำเนินการขององค์กรชุมชน เพื่อขับเคลื่อนงานเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริตในระดับพื้นที่
-สร้างเครือข่ายภาคประชาชนการป้องกันและต่อต้านการทุจริตในระดับพื้นที่ใน 17 จังหวัด โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาคประชาชน และมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีการเปิดเวทีสัมมนาปรึกษาหารือและสร้างการรับรู้ร่วมกัน และเกิดกลไกการประชุมของเครือข่ายระดับพื้นที่่จังหวัดและตำบลอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เป้าหมาย
-บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ สถาบัน พอช. สำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานที่่เกี่ยวข้องอื่นๆ องค์กรภาคเอกชนและเครือข่ายภาคประชาชน ในการสร้างการรับรู้ และจิตสำนึกประชาชนในพื้นที่ผ่านการจัดอบรม การสร้างพื้นที่เปิดเผยโปร่งใส
@เตรียมเสนอ ‘ครม.’ พิจารณา‘ร่างกม.ป้องกันประโยชน์ขัดกันฯ’
4.ด้านระบบคุณธรรมและจริยธรรม หน่วยงานของรัฐที่่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการต่างๆ สรุปได้ดังนี้
-การจัดทำโครงการ STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน โดยการประยุกต์หหลักบูรณาการโมเดล “STRONG” อันประกอบด้วย พอเพียง (Sufficient: S) โปร่งใส (Transparent: T) ตื่นรู้ (Realise: R) มุ่งไปข้างหน้า (Onward: O) ความรู้ (Knowledge: N) และเอื้ออาทร (Generosity: G)
-การขับเคลื่อน “นโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่” โดยกำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐประกาศตนเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)
โดยต้องจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบาย No Gift Policy ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เพื่อเสนอผลงานภาพรวมต่อคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนำไปเป็นหนึ่งในข้อกำหนดในการประเมิน ITA การขับเคลื่อนการบริหารบุคคลภาครัฐในระบบคุณธรรมตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ
และยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม โดยสำนักงาน ป.ป.ช. นำ (ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …. ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา
โดยผลักดันให้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลโครงการและงบประมาณการดำเนินงานของภาครัฐ มีการส่งเสริมให้เกิดการเฝ้าระวัง และแจ้งเบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบในพื้นที่ โดยมีการประสานและสร้างช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนในระดับพื้นที่ เป็นต้น
@เสนอเร่งแก้กฎหมาย ป.ป.ช. เพิ่มมาตรการป้องกัน‘ฟ้องปิดปาก’
รายงานฯฉบับนี้ระบุด้วย เพื่อให้การบรรลุุผลสัมฤทธิ์ข้างต้นมีความยั่งยืน ในการดำเนินการระยะต่อไป ให้หน่วยงานของรัฐ ทั้งหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานร่วมดำเนินการขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในส่วนของการตรวจสอบการใช้อำนาจภาครัฐในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงมาตรการและกลไกเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่ต้องมีการดำเนินการในระยะต่อไปมี 4 ประเด็น ได้แก่
(1) พัฒนาช่องทางการรับแจ้งเบาะแส การทุจริตทางเว็บไซต์ที่่มีระบบการเก็บรักษาข้อมูลให้เป็นความลับ และมีความปลอดภัย รวมถึงสามารถติดตามการดำเนินการผ่านระบบ พร้อมทั้งบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองพยานและผู้แจ้งเบาะแสให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง
(2) ผลักดันให้มีกลไกในการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิด อาทิ การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยเพิ่มมาตรการหรือกลไกป้องกันการฟ้องปิดปาก และการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกฟ้องคดีปิดปาก
(3) ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการคุ้มครอง ผู้แจ้งเบาะแสกับภาคประชาชน โดยมีสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขับเคลื่อนการดำเนินงาน
(4) วางระบบกลไกของหน่วยงานภาครัฐในการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรมและระบบเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริตเชิงรุก อาทิ การพัฒนากลไกการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติ
การผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์์ส่วนรวม เพื่อกำหนด กรอบการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม และการวางระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในการติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนจากการเอาไปโดยมิชอบ
@เผย 5 ปีรัฐสอบตกต่อต้านทุจริตฯ-จนท.ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า แม้ว่าภายใต้รายงานสรุปผลการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 ฉบับนี้ ไม่ได้มีการสรุปว่าการดำเนินการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ ‘ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ’ ประจำปี 2565 เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ อย่างไร
แต่หากพิจารณาจากเป้าหมายของ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2565 ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ของประเทศไทยจะต้องอยู่ในอันดับ 1 ใน 54 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 50 คะแนนแล้ว
อาจสรุปได้การขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศ ‘ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ’ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่า ‘สอบตก’ ก็เป็นได้
เพราะจากผลสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ซึ่งจัดทำและเผยแพร่โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค.2566 พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยได้ 36 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 101 จากทั้งหมด 180 ประเทศ แม้ว่าจะ 'ดีขึ้น' เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ประเทศไทยได้ 35 คะแนน และอยู่ที่อันดับ 110 ของโลก แต่ระดับดัชนีการรับรู้ทุจริตในปี 2565 ดังกล่าว ไทยไม่ติด 1 ใน 54 อันดับ และได้คะแนนไม่ถึง 50 คะแนน
ขณะเดียวกัน ในรายงานสรุปผลการดำเนินการตาม ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ประจำปี 2565 ซึ่ง สศช. เผยแพร่ไปเมื่อเร็วๆ ระบุด้วยว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีคะแนน CPI อยู่ที่ 35 คะแนน และมีอันดับอยู่ที่่ 110 ของโลกจากทั้งหมด 180 ประเทศ ลดลงจากปี 2561–2563 ที่่ไทยได้ 36 คะแนน เท่ากันทั้ง 3 ปี โดยมีอันดับ 99 101 และ 104 ตามลำดับ ส่งผลให้สถานการบรรลุุเป้าหมาย ‘ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ’ อยู่ในระดับ “วิกฤตในการบรรลุเป้าหมาย”
(ที่มา : รายงานสรุปผลการดำเนินการตาม ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ประจำปี 2565 จัดทำโดย สศช.)
พร้อมทั้งระบุว่า “การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบยังคงมีปัญหาและข้อจำกัดในด้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ อาทิ การติดสินบนและการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ การรับรู้และตระหนักถึงปัญหาการทุจริตที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง การจ่ายเงินค่าสินบนของภาคธุรกิจ
และการที่เจ้าหน้าที่รัฐ มีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบ รวมทั้งประชาชนยังไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเข้าไปช่วยตรวจสอบ ติดตามการใช้งบประมาณและการดำเนินโครงการของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างแท้จริง เมื่อไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง การทุจริตคอรัปชั่นจึงยังไม่สามารถลดลงได้ และส่งผลให้คะแนนอันดับดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของประเทศไทยของประเทศไทยยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร”
เหล่านี้เป็นสรุปผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 และอาจสรุปได้ว่า แม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจะเดินหน้าปฏิรูปประเทศในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างจริงจริง แต่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้!
อ่านเพิ่มเติม : รายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 , รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2565
อ่านประกอบ :
'พิธา' แจงเนื้อหา MOU จัดตั้ง รบ.หวังเพิ่มค่า CPI ชี้ปม 112 ต้องแก้ด้วยกลไกรัฐสภา
ค่า CPI ไทย 36 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนได้ 35 ติดอันดับ 101 ความโปร่งใสโลก
ป.ป.ช.จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล-'วัชรพล'ประกาศภารกิจเพิ่มค่า CPI ไทยเกิน 50%