‘เศรษฐา’ ประกาศวาระแห่งชาติ ‘แก้หนี้สินนอกระบบ’ สั่ง ‘มท.-ตำรวจ’ เป็นตัวกลาง 'ไกล่เกลี่ย-ปรับโครงสร้างฯ' หนี้นอกระบบ ใหม่ กำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่เกิน 15% ต่อปี หากพบจ่ายหนี้เกินไปแล้ว ต้องยกเลิกต่อกัน
.............................................
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงวาระแห่งชาติ เรื่อง ‘การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า ปัญหาหนี้สินนอกระบบเป็นปัญหาเรื้อรังและใหญ่เกินกว่าจะแก้ปัญหาได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องบูรณการหลายภาคส่วนเข้ามาแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปอยู่ในวงจรหนี้สินนอกระบบอีก
“ภาครัฐจะรับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยฯพร้อมกันทั้งหมด ดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการไปจนถึงปิดหนี้ การทำสัญญาที่หลายครั้งไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง นั้น จะต้องจัดให้ทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย หรือพูดง่ายๆ คือ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ภาครัฐจะต้องทำงานร่วมกันในหลายๆหน่วยงาน เพื่อให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหายใจ มีกำลังใจในการดำเนินชีวิต หาเงินมาปิดหนี้ให้ได้
ผมได้สั่งการในช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ให้ตำรวจและมหาดไทย ไปทำการบ้านมา โดยทั้ง 2 หน่วยงานต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการให้ดีกว่าในอดีตที่แยกกันทำ ต้องทำด้วยกันแบบ end-to-end มีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าสู่วงจรอีก และทั้ง 2 หน่วยงานต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของกันและกัน ต้องทำให้กระบวนการทำงานไม่ซับซ้อน มีขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันที่ชัดเจน ตั้งแต่ต้นจนจบ
จะมีการทำฐานข้อมูลกลาง นำเทคโนโลยี มาช่วยสร้างความโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบ มีการให้ตัวเลขตรวจสอบ หรือ tracking ID ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ติดตามผลได้ มีวิธีการเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ เพื่อความสะดวกให้กับประชาชน และต้องมีการสื่อสารกับประชาชนถึงความคืบหน้าต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา
จะต้องมีกระบวนการถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน เพราะบางกรณี เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผมขอให้ทุกส่วนทำงานอย่างตรงไปตรงมา เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยให้ถูกต้อง เพื่อแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆกัน ผมฝากให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ทำงานอย่างมีเป้าหมาย มีเป้าประสงค์ หรือ KPI ร่วมกัน มีกรอบเวลาที่ชัดเจน และผมจะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา ระบุว่า หลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยฯแล้ว รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในฐานะผู้ช่วยเชี่ยวชาญทางด้านการเงิน ทั้งการช่วยปรับระยะเวลา เงื่อนไขและกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เบียดบังการใช้ชีวิตจนทำให้พี่น้องประชาชนท้อถอย และแน่นอนว่ารัฐบาลจะระมัดระวังไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรม หรือ moral hazard ในมาตรการการช่วยเหลือทั้งหมด
“การแก้ไขหนี้ในวันนี้ คงไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก แต่ผมมั่นใจว่าด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต และจะเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนรายเล็กรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้มากขึ้น
นอกจากหนี้นอกระบบแล้ว ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ จะมีการแถลงภาพรวมการแก้ปัญหาหนี้แบบครบวงจร ซึ่งครบคลุมทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบอีกครั้งหนึ่ง ผมจะทำให้โครงการนี้ช่วยปลดปล่อยพี่น้องประชาชนจากการเป็นทาสหนี้นอกระบบ ลืมชีวิตที่เคยลำบาก มีกำลังใจ มีแรงใจที่จะทำตามความฝัน” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา ย้ำว่า ในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบนั้น ดอกเบี้ยต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด หรือไม่เกิน 15% ต่อปี แล้วต้องมาดูว่า ตั้งแต่ลูกหนี้เป็นหนี้กันมานั้น จ่ายหนี้ไปแล้วเท่าไหร่ หากจ่ายหนี้เกินไปแล้ว ก็ต้องยกเลิกต่อกัน
“(ดอกเบี้ย) ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ห้ามเกิน maximum ที่กฎหมายกำหนด แล้วต้องมาดูว่า ตั้งแต่เป็นหนี้กันมา จ่ายหนี้ไปแล้วเท่าไหร่ ถ้าจ่ายเกินไปแล้ว ต้องยกเลิกต่อกัน” นายเศรษฐา กล่าว
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง โดยธนาคารของรัฐ จะเข้ามาดูแลลูกหนี้นอกระบบ หลังจากมีการไกล่เกลี่ยฯและปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ที่มีโครงการให้สินเชื่อกับลูกหนี้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท/ราย และระยะเวลาผ่อนชำระ 5 ปี รวมทั้งมีโครงการสินเชื่อสำหรับอาชีพอิสระ ไม่เกิน 1 แสนบาท/ราย ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 8 ปี และคิดดอกเบี้ยตามความสามารถของลูกหนี้
นอกจากนี้ ธนาคารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเข้ามาดูแลลูกหนี้ที่นำที่ดินไปขายฝากกับเจ้าหนี้นอกระบบ โดยหนี้ที่มีการแก้ไขแล้วหรือไกล่เกลี่ยฯเรียบร้อยแล้ว ธ.ก.ส. จะเข้าไปปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกร ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท/ราย ส่วนเจ้าหนี้นอกระบบที่สนใจจะประกอบกิจการให้ถูกกฎหมาย ก็สามารถมายื่นขออนุญาตประกอบกิจการพิโกไฟแนนซ์ได้ ซึ่งวันนี้มีผู้ขออนุญาตแล้วกว่า 1,000 รายทั่วประเทศ
@เปิดลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ 1 ธ.ค.นี้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยขอน้อมรับข้อสั่งการและนำแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งนายกฯ กำหนดให้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล มาดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยกลไกการทำงานและสรรพกำลังในพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทยมีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
“เรามั่นใจว่า ด้วยความที่พี่น้องประชาชน มีความใกล้ชิดกับบุคคลเหล่านี้ ก็จะเป็นจุดที่เราสามารถบูรณาการความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกระทรวงการคลัง ตลอดจนการสนับสนุนของนายกฯ เราจะร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อคลายทุกข์ของพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน ระบุว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น กระทรวงมหาดไทยจะทำงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างบุคลากรหลักในพื้นที่ เช่น นายอำเภอ ผู้กำกับสถานีตำรวจ เป็นต้น และจะมีการกำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติงานร่วมกันทั้ง 2 หน่วยงาน ตั้งแต่การช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะมิติด้านการไกล่เกลี่ยและการประนีประนอม เฝ้าระวังและป้องกัน รวมถึงการปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด
นอกจากนี้ จะมีการประสานเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อให้การแก้ปัญหานอกระบบไม่ซ้ำซ้อน และเป็นไปในทางเดียวกัน รวมทั้งจะดำเนินการให้ถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ โดยจะกำหนดแผนการดำเนินการ เป้าหมาย และตัวชี้วัดให้ชัดเจน
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยขอเรียนเชิญให้พี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นการถูกข่มขู่คุกคาม ถูกดูหมิ่นดูแคลนในการติดตามทวงหนี้ ถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม หรือคนที่มีความประสงค์จะปรับเปลี่ยน แก้ไขหนี้จากนอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบ ขอให้มาลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม ณ ศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง และสำนักงานเขตทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ
“ลูกหนี้บางท่าน ที่ยังมีความหวั่นเกรง มีความเกรงกลัวเรื่องอิทธิพลอยู่ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ปกครอง ได้ออกไปทำการสำรวจด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าเราไม่ได้ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และไม่มีส่วนขาดตกใดๆ” นายอนุทิน กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงมหาดไทยจะเปิดให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ถูกข่มขู่คุกคาม หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2566 เป็นต้นไป
พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในมิติการบังคับใช้กฎหมาย และพร้อมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ในด้านการสืบสวน จับกุม และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบในทุกรูปแบบ ขณะที่เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะการทวงหนี้โดยใช้ความรุนแรง
อ่านประกอบ :
‘มหาดไทย’ รับลูก ‘เศรษฐา’ นัดถกแก้หนี้นอกระบบ 28 พ.ย.66