"....ปรากฎข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับคำชี้แจงของพล.อ. ประวิตร ในประเด็นเวลาที่สวมใส่นาฬิกาตามภาพข่าว โดย พล.อ. ประวิตร ชี้แจงว่า น่าจะเป็นเวลาก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ แต่ปรากฎผลการตรวจสอบโดยสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษว่าเป็นภาพที่ถ่ายขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2557 และพล.อ.ประวิตร เกษียณอายุราชการแล้ว ตั้งแต่ปี 2548 วันที่ใส่นาฬิกาตามภาพข่าวนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานนับจากวันที่เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี คือวันที่ 4 กันยายน 2557 ยิ่งน่าเชื่อว่า พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ครอบครองนาฬิกาเรือนดังกล่าวจริง..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
ผลการสอบสวนคดีนาฬิกาหรูและแหวน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติ 5 ต่อ 3 เสียง ให้ตีตกเรื่องดังกล่าว เนื่องจากไม่มีมูลเพียงพอว่า พล.อ.ประวิตร จงใจ ยื่นบัญชีแสดงรายการอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ในช่วงเดือนธ.ค.2561
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
- โหมโรง! เปิดผลสอบคดีนาฬิกาหรู บิ๊กป้อม ยัน Blancpain/Limited edition คืนเพื่อนด้วยตัวเอง
- เปิดผลสอบคดีนาฬิกาหรูบิ๊กป้อม (1) ป.ป.ช.ล่าข้อมูล Richard Mille, Patek 4 ปท. 'เหลว'
- เปิดผลสอบคดีนาฬิกาหรูบิ๊กป้อม (2) สรุป 22 เรือน 6 กลุ่ม ป.ป.ช.พบข้อสังเกตอะไรบ้าง?
- เปิดผลสอบคดีนาฬิกาหรูบิ๊กป้อม (3) ว่าด้วยแหวน 10 วง ขาดคำชี้แจง 'มารดา'
หากสาธารณชนยังจำกันได้ ข้อมูลเอกสารผลสอบคดีนาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร ที่ นายวีระ สมความคิด ต้องการรับทราบจาก ป.ป.ช. มี 3 รายการหลัก คือ
1. รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมดในคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
2. ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้
และ 3. รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้
ทั้งนี้ ในส่วนของเอกสารรายการที่ 2. ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้นั้น เป็นเอกสารชุดสุดท้ายที่ นายวีระ ได้รับจาก ป.ป.ช.
ส่วนเหตุผลที่ ป.ป.ช. ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลก่อนหน้านี้ มีการกล่าวอ้างว่า จะเป็นอันตราย ถ้าเปิดเผยความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่
ขณะที่มีการวิเคราะห์กันว่า เหตุผลที่ ป.ป.ช. ไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ อาจเป็นเพราะมีข้อมูลความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่สำคัญหลายส่วน ที่สวนทางกับความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ตีตกคดีนี้ จึงทำให้ ป.ป.ช.ไม่กล้าที่จะเปิดเผยข้อมูลนี้ ต่อสาธารณชน
น่าสนใจว่าข้อเท็จจริงส่วนนี้ เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเอกสารรายการที่ 2. ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ที่นายวีระ ได้รับมอบมาจาก ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ระบุข้อมูลหัวข้อย่อในเอกสารว่า สรุปความเห็นเกี่ยวกับรายงานผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของคณะทำงานเจ้าหน้าที่
พบว่า มีการสรุปข้อมูลการตรวจสอบบนาฬิกาและแหวนไว้เป็นทางการ แต่มีข้อมูลในส่วนนาฬิกาหลายเรือนและแหวนหลายวง ที่คณะทำงานวินิจฉัยแล้ว เสียงข้างมากเห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบ คำให้การพยาน และคำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร มีความขัดแย้งกัน และมีข้อสังเกตหลายประการ ที่ควรมีการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกต่อ แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ
แม้ว่าข้อมูลส่วนนี้ จะมีการ ทำแถบดำปิดทับข้อมูล ชื่อ ผู้เกี่ยวข้องเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้สาระสำคัญข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด
ปรากฏรายละเอียดทั้งหมด นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป
การสรุปความเห็นเกี่ยวกับรายงานผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของคณะทำงานเจ้าหน้าที่ ระบุว่า จากกรณีปรากฏเป็นข่าวและมีผู้ร้องเรียนว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่แสดงรายการนาฬิกาข้อมือหรูและแหวนหลายรายการในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน สำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมืองได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยมีหนังสือขอให้ พล.อ.ประวิตร ชี้แจงข้อเท็จจริง ตรวจสอบนาฬิกาที่บ้านของ (ปิดแถบดำทับชื่อ) ซึ่งเป็นเพื่อนของพล.อ. ประวิตร ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้จำหน่ายนาฬิกาในประเทศ 13 ราย ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนาฬิกาในต่างประเทศ รวม 7 บริษัท ใน 4 ประเทศ รวมถึงขอทราบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมศุลกากร กรมการกงสุล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสอบปากพยานบุคคล 10 ราย
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายในสำนักงาน ป.ป.ช. ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงบางประการร่วมด้วย ได้แก่ สำนักการต่างประเทศ สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ
การตรวจสอบนาฬิกา
เมื่อพิจารณาคำชี้แจงของผู้มีหน้าที่ยืนบัญชีฯ ประกอบกับภาพถ่ายขณะสวมใส่นาฬิกา ฟังเป็นยุติว่าผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ เป็นผู้ครอบครองทรัพย์นั้น เพียงแต่อ้างว่ายืมนาฬิกาจาก (ปิดแถบดำทับชื่อ) เท่ากับกล่าวอ้างว่ามิได้ยึดถือเพื่อตน
จึงมีประเด็นที่ต้องพิสูจน์ว่าผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ครอบครองเพื่อผู้อื่นตามที่อ้างจริงหรือไม่ หากพิสูจน์ไม่ได้ว่านาฬิกาเป็นของ (ปิดแถบดำทับชื่อ) ต้องฟังว่าผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ครอบครองเพื่อตน จึงมีเหตุให้เชื่อว่านาฬิกาเป็นของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ
หากฟังว่านาฬิกาเป็นของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ จริง ยังคงต้องพิสจน์ต่อไปว่าครอบครองเพื่อตนอยู่ ณ วันที่มีหน้าที่ยืนบัญชีฯ หรือไม่ และต้องพิสูจน์อีกว่าทรัพย์สินอื่นของผู้มีหน้าที่ยืนบัญชีฯ มีมูลค่ารวมกันถึงสองแสนบาทหรือไม่
กลุ่มที่ 1: พบตัวเรือนแต่ไม่ทราบ Serial Number จำนวน 1 เรือน
นาฬิกาตามภาพข่าวเรือนที่ 16 คือ นาฬิกายี่ห้อ Blancpain ซึ่งไม่สามารถทราบ Serial Number ได้จากการตรวจสอบนาฬิกาภายนอกเบื้องต้น
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการซื้อขายนาฬิกาและการรับบริการ หลังการขายไปยังผู้จำหน่ายนาฬิกาในประเทศ 1 ราย คือ (ปิดแถบดำทับชื่อ) โดยสอบถามจากข้อมูลเท่าที่ปรากฏบนตัวเรือน ทาง (ปิดแถบดำทับชื่อ) แจ้งว่า ตรวจสอบรายงานการขายของบริษัทฯ แล้วไม่พบรายการซื้อขาย
ภาพตัวอย่าง นาฬิกายี่ห้อ Blancpain ไม่ใช่ภาพนาฬิกาตามข่าว จาก https://capitalread.co/blancpain/
พล.อ.ประวิตร ชี้แจงถึงนาฬิกาตามภาพข่าวเรือนที่ 16 นี้ว่า ไม่สามารถระบุยี่ห้อและรุ่นนาฬิการวมทั้งวัน เวลาและสถานที่ได้ และพิจารณาจากภาพประกอบแล้ว น่าจะเป็นระยะเวลาผ่านมานานพอสมควร
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่า (ปิดแถบดำทับชื่อ) ให้ยืมมาใส่อย่างแน่นอน เนื่องจาก (ปิดแถบดำทับชื่อ) ให้ยืมนาฬิกามาใส่เป็นระยะเวลานานมาแล้ว และพล.อ.ประวิตรฯ ได้คืนให้แก่ (ปิดแถบดำทับชื่อ) ด้วยตนเอง
ส่วน (ปิดแถบดำทับชื่อ) ให้การเกี่ยวกับนาฬิกาตามภาพข่าวที่ 16 เพียงว่าเป็นนาฬิกายี่ห้อ Blancpain พบหมายเลขชุดหนึ่งบนตัวเรือนระบุเลขว่า 1/33
ทั้งนี้ จากการสอบถามข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับนาฬิกา Blancpain จากพนักงานของผู้จำหน่ายนาฬิกาทางโทรศัพท์ จึงทราบว่าหมายเลข 1/33 หมายความว่านาฬิกาเรือนดังกล่าว เป็นนาฬิกา 1 เรือน ในจำนวนนาฬิกาทั้งหมด 33 เรือน ของรุ่น Limited edition นั้นๆ ดังนั้น หมายเลข 1/33 จึงไม่ใช่ Serial Number
คณะทำงานวินิจฉัยแล้วเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการตรวจสอบเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนถึง 5 ราย มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเคร่งครัด เมื่อยังมีช่องทางตรวจสอบได้ โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนาฬิกามาตรจสอบและวิเคราะห์ตัวเรือนนาฬิกาเพื่อค้นหา Serial Number แล้วใช้เป็นข้อมูลตรวจสอบกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนาฬิกาทั้งในและต่างประเทศ แต่การตรวจสอบดังกล่าวต้องอาศัยอำนาจการตรวจสอบเชิงลึกของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นควรขออนุมัติตราจสอบเชิงลึกเพื่อตรวจสอบใบประเด็นนี้ต่อไป
กลุ่มที่ 2: พบตัวเรือนและทราบ Serial Number จำนวน 15 เรือน
จำแนกได้ 6 กลุ่ม ดังนี้
2.1 ระบุ Serial Number ได้จากตัวเรือนและใบเสร็จรับเงิน จำนวน 1 เรือน
คือ นาฬิกาตามภาพข่าวที่ 13 ยี่ห้อ Audemars Piguet รุ่น 14802 Serial Number D-12489 สำนักงาน ป.ป.ช.ได้มีหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลการซื้อขายนาฬิกาและการรับบริการหลังการขายไปยังผู้จำหน่ายนาฬิกาในประเทศจำนวน 2 บริษัท ได้แก่ (ปิดแถบดำทับชื่อ) และ (ปิดแถบดำทับชื่อ) โดยสอบถามจาก Serital Number ที่ปรากฎบนตัวเรือนและใบเสร็จรับเงินที่ผู้ขายออกให้
ปรากฎว่า (ปิดแถบดำทับชื่อ) ให้ข้อเท็จจริงว่าไม่พบข้อมูลและรายละเอียดของนาฬิกาตามที่ระบุมา ในขณะที่ (ปิดแถบดำทับชื่อ) ยังคงมิได้มีหนังสือตอบกลับมายังสำนักงาน ป.ป.ช. แต่อย่างใด
นอกจากนี้ พล.อ. ประวิตร ได้ชี้แจงถึงนาฬิกาตามภาพข่าวที่ 13 นี้ว่า เป็นนาฬิกายี่ห้อ Audemars Piguet รุ่น 14802ST พล.อ. ประวิตร ยืนยันว่า (ปิดแถบดำทับชื่อ) ให้ยืมมาใส่เมื่อประมาณปี 2559 และตนได้ส่งคืนแก่ (ปิดแถบดำทับชื่อ) เมื่อปลายปี 2560
ภาพตัวอย่างนาฬิกายี่ห้อ Audemars Piguet ไม่ใช่ภาพนาฬิกาตามข่าว จากhttps://www.audemarspiguet.com/
ส่วน (ปิดแถบดำทับชื่อ) ให้ถ้อยคำถึงนาฬิกาตามภาพข่าวที่ 13 ว่าเป็นนาฬิกายี่ห้อ Audemars Piguet โดยมอบเอกสารประกอบการให้ถ้อยคำเป็น Cash Memo เลขที่ 15497 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 จาก (ปิดแถบดำทับชื่อ) ผู้ขายในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ที่ระบุว่านาฬิกาเรือนดังกล่าวเป็นนาฬิกายี่ห้อ Audemars Piguet รุ่น 14802TS Serial Number D-12489 ตรงกันกับที่ปรากฎบนตัวเรือน
ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจำหน่ายนาฬิกาจาก (ปิดแถบดำทับชื่อ) แล้ว ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่า ไม่มีอำนาจแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยปราศจากความยินยอมจากสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ต่อมา สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักการต่างประเทศขอความร่วมมือไปยังกระทรวงการต่างประเทศให้ดำเนินการสอบถามข้อเท็จจริงไปยังผู้ผลิตและผู้จำหน่ายและองค์กรในต่างประเทศ แต่ก็มิได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การวินิจฉัย ทั้งนี้ด้วยเหตุผลต่างกันออกไป ดังนี้
1. ผู้จำหน่ายนาฬิกาในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งเป็นผู้ขายนาฬิกาเรือนดังกล่าวแจ้งว่า ไม่สามารถให้ข้อมูลได้เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล
2. (ปิดแถบดำทับชื่อ) ผู้ผลิตนาฬิกาที่ประเทศสวิตเชอร์แลนด์ไม่ให้ข้อมูลที่ร้องขอโดยมิได้แสดงเหตุผลประกอบ
3. หน่วยงานต่อต้านการทุจริตของฮ่องกง (Independent Commission Against Corruption: ICAC) แจ้งว่าหลักการให้ความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงานไม่ครอบคลุมถึงการสอบสวนทางวินัยหรือเรื่องที่มิใช่เรื่องทางอาญา ดังนั้น ICAC จึงไม่สามารถให้ความช่วยเหลือตามคำขอของสำนักงาน ป.ป.ช.ได้
การขอข้อมูลผ่านการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศตามข้อ 23 แห่งระเบียบฯ ยังไม่ได้ข้อเท็จจริงตามประเด็นที่ต้องการตรวจสอบ แต่ยังมีความจำเป็นในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่านาฬิกาเรือนนี้มีความเกี่ยวข้องกับ (ปิดแถบดำทับชื่อ) หรือไม่ และสามารถแสวงหาช้อเท็จจริงได้จากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนาฬิกาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ด้วยวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือทางอาญาในทางระหว่างประเทศ เห็นควรตราจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานต่อไป
2.2 ระบุ Serial Number ได้จากตัวเรือน จำนวน 14 เรือน
นาฬิกา 14 เรือนนี้ ได้แก่ นาฬิกาตามภาพข่าวที่ 1 - 7, 14 - 15, 17 - 19 และ 23 - 24 จากคำชี้แจงของพล.อ.ประวิตร สอดรับกับคำให้การของ (ปิดแถบดำทับชื่อ) ว่าเป็นนาฬิกาของ (ปิดแถบดำทับชื่อ) แต่จากการตรวจสอบพบเพียงตัวเรือน จึงจำเป็นต้องตรวจสอบไปยังผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนาฬิกาทั้งในและต่างประเทศด้วย Serial Number ที่พบจากตัวเรือน เพื่อพิสูจน์ว่านาฬิกาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ (ปิดแถบดำทับชื่อ) หรือไม่
เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนาฬิกาทั้งในและต่างประเทศ ยังไม่ปรากฎรายชื่อว่าผู้ใดเป็นผู้ซื้อนาฬิกาหรือเป็นผู้รับบริการหลังการขาย
อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนาฬิกาในต่างประเทศ ได้รับแจ้งว่า
1. ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
กระทรวงการต่างประเทศของสวิสได้มีหนังสือแจ้งว่า ตามกฎหมายสวิส การให้ความร่วมมือทางอาญาจะต้องได้รับคำขอตามกระบวนการขอความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ โดยจะต้องมีการส่งคำขออย่างเป็นทางการผ่านกระทรวงยุติธรรมสวิส นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ แจ้งว่าไทยและสวิสไม่มีสนธิสัญญาความร่วมมือทางอาญาระหว่างกัน การดำเนินการขอความร่วมมือทางอาญากับสวิสในกรณีต่าง ๆ ที่ผ่านมาเป็นการขอความร่วมมือตามหลักปฏิบัติต่างตอบแทน โดยสำนักงานอัยการสูงสุดจะนำส่งคำขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการถึงหน่วยงานสวิส พร้อมเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อนำส่งตามช่องทางการทูตผ่านสถานเอกอัครราชทูตฯ ไปยังกระทรวงยุติธรรมสวิสต่อไป
พิจารณาแล้วเห็นว่า ยังมีความจำเป็นในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่านาฬิกาเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับ (ปิดแถบดำทับชื่อ) หรือไม่ และยังเปิดช่องให้แสวงหาข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากทางสวิสไม่ได้ปฏิเสธการให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ เพียงแต่ต้องดำเนินการตามกระบวนการขอความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ เห็นควรดำเนินการตามกระบวนการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานต่อไป
ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบไปยังบริษัทผู้ผลิตนาฬิกโดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย สำหรับนาฬิกายี่ห้อ Richard Mille (ปิดแถบดำทับ) แจ้งว่า (ปิดแถบดำทับชื่อ)ในสวิสทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตนาฬิกาเท่านั้น หากฝ่ายไทยประสงค์จะติดต่อขอรับข้อมูลใดๆ ขอให้ติดต่อไปยังสำนักงาน (ปิดแถบดำทับชื่อ) ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งรับผิดชอบดูแลการบริหารและการตลาด
ฉะนั้น เห็นควรดำเนินการตามกระบวนการขอความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศกันประเทศฝรั่งเศสเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรามพยานหลักฐานต่อไป
2. ประเทศออสเตรีย
สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการตรวจสอบกับ (ปิดแถบดำทับชื่อ) ผู้จำหน่ายนาฬิกายี่ห้อ Patek Phippe Serial Number 5521069 เกี่ยวกับการจำหน่ายนาฬิกาแล้ว ปรากฎว่า (ปิดแถบดำทับชื่อ) ไม่พบข้อมูลของนาฬิกาจากฐานข้อมูลของ (ปิดแถบดำทับชื่อ)
แม้ว่าในชั้นนี้การตรวจสอบข้อมูลกับผู้จำหน่ายนาฬิกาจะไม่พบข้อมูล แต่ก็ยังสามารถตรวจสอบข้อมูลกับผู้ผลิตนาฬิกาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบข้อมูลกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ต้องใช้ช่องทางความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เห็นควรตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรามพยานหลักฐานต่อไป
กลุ่มที่ 3 : ไม่พบตัวเรือนแต่พบใบรับประกัน
นาฬิกา Rolex รุ่น Pro Hunter Deepsea Green ตามภาพข่าวที่ 9 ตรวจสอบไม่พบตัวเรือน แต่ (ปิดแถบดำทับชื่อ) ให้การว่าพบใบรับประกันของนาฬิการุ่นเดียวกันกับเรือนที่เป็นข่าว โดยมี Serial Number G702317 เลขรุ่น 116660 พร้อมแนบภาพของนาฬิกา Rolex ที่ได้มาจากการสืบค้นข้อมูลบนอินเทอร์เนตและระบุเลขรุ่น 116660 ประกอบการยืนยันว่าเป็นนาฬิการุ่นเดียวกันกับเรือนที่ปรากฎตามภาพช่าว
ทั้งนี้ คาดว่าเหตุที่ไม่พบตัวเรือนเนื่องจาก (ปิดแถบดำทับชื่อ) อาจจะขายไปแล้ว จึงทำให้หาตัวเรือนไม่พบ ใบรับประกันระบุชื่อและที่อยู่ของผู้จำหน่าย คือ (ปิดแถบดำทับชื่อ) ตั้งอยู่ในประเทศอิตาลี ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ (ปิดแถบดำทับชื่อ) โดยสถานเอกอัครราชทูตกรุงโรม ชี้แจงว่าได้ขายนาฬิกาให้แก่ (ปิดแถบดำทับชื่อ) ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชนชนจีน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2555 และชำระเงินโดยการโอนเงินผ่านธนาคาร
การตรวจสอบยังไม่สิ้นกระแสความ เห็นควรตราจสอบข้อเท็จจริงโดยใช้ช่องทางความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
กลุ่มที่ 4 : ไม่พบทั้งตัวเรือนและใบรับประกัน
ตรวจสอบนาฬิกาตามภาพข่าวกับนาฬิกาที่บ้านของ (ปิดแถบดำทับชื่อ) แล้วไม่พบนาฬิกาตามภาพข่าวที่ 12 และไม่พบเอกสารใบรับรองนาฬิกาหรือหลักฐานการซื้อขายนาฬิกาแต่อย่างใด ตามข่าวรายงานเกี่ยวกับรายละเอียดของนาฬิกาเรือนนี้ว่าคือยี่ห้อ Rolex รุ่น Yacht - Master Rose Gold 2 - tone Chocolate ขนาด 40 มม. ราคาตลาดประมาณ 460,000 บาท
พล.อ.ประวิตร ชี้แจงถึงนาฬิกาตามภาพข่าวนี้ว่า ไม่สามารถระบุวัน เวลา และสถานที่ได้ พิจารณาจากภาพแล้วคาดว่าน่าจะเป็นห้วงเวลาที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ นอกจากนี้ ยังไม่สามารถระบุยี่ห้อและรุ่นได้ เนื่องจากภาพไม่ชัดเจน และน่าจะเป็นภาพที่ถ่ายมาเป็นระยะเวลานานมาแล้ว ส่วนการส่งคืนนาฬิกาก็ไม่สามารถระบุวัน เวลา ได้ เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่นานมาแล้ว
ส่วน (ปิดแถบดำทับชื่อ) ให้การเกี่ยวกับนาฬิกาตามภาพข่าวนี้ว่าได้ตรวจดูภาพข่าวแล้วและไม่พบนาฬิกาเรือนตังกล่าว และไม่แน่ใจว่า (ปิดแถบดำทับชื่อ) ได้ขายนาฬิกาไปให้ผู้ใดหรือไม่
ภาพจากเพจ CSI -LA
ผลการตรวจสอบแหล่งต้นทางหรือที่มาของภาพถ่ายนี้โดยสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษปรากฎว่า ภาพถ่ายนี้เป็นภาพจากสื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง วันที่ 12 สิงหาคม 2557 โดยเป็นภาพชุดที่ (ปิดแถบดำทับชื่อ) ร่วมลงนามถวายพระพร เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2557 ณ ศาลาสหทัยสมาคม พระบรมมหาราชวัง
คณะทำงานวินิจฉัยแล้วมีความเห็นเป็น 2 ทาง
คณะทำงานเสียงข้างมาก
เห็นว่า จากภาพที่ปรากฎเป็นข่าวถือได้ว่าพล.อ.ประวิตร เป็นผู้ยึดถือนาฬิกาเรือนนี้ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งให้สันนิษฐานว่า เป็นการยึดถือเพื่อตน และพล.อ. ประวิตร ไม่สามารถชี้แจงได้ว่าเป็นนาฬิการุ่นใด ตรวจสอบแล้วไม่พบทั้งตัวเรือนนาฬิกาและใบรับรองหรือหลักฐานการซื้อขายใดๆ
อีกทั้ง (ปิดแถบดำทับชื่อ) ของ (ปิดแถบดำทับชื่อ) ก็ไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับนาฬิกาเรือนนี้ จึงพิสูจน์ไม่ได้ว่านาฬิกาดังกล่าวเป็นของ (ปิดแถบดำทับชื่อ) ต้องฟังว่า พล.อ.ประวิตร ยึดถือครอบครองเพื่อตน
อีกทั้งปรากฎข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับคำชี้แจงของพล.อ. ประวิตร ในประเด็นเวลาที่สวมใส่นาฬิกาตามภาพข่าว
โดย พล.อ. ประวิตร ชี้แจงว่า น่าจะเป็นเวลาก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ
แต่ปรากฎผลการตรวจสอบโดยสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษว่าเป็นภาพที่ถ่ายขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2557 และพล.อ.ประวิตร เกษียณอายุราชการแล้ว ตั้งแต่ปี 2548
วันที่ใส่นาฬิกาตามภาพข่าวนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานนับจากวันที่เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี คือวันที่ 4 กันยายน 2557
ยิ่งน่าเชื่อว่า พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ครอบครองนาฬิกาเรือนดังกล่าวจริง
ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพิสูจน์ต่อไปว่าพล.อ.ประวิตร ครอบครองนาฬิกา ณ วันที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีหรือไม่ เห็นควรพิสูจน์ให้ปรากฎหลักฐานว่าพล.อ.ประวิตร สามใส่นาฬิกาเรือนดังกล่าวหลังเข้ารับตำแหน่ง โดยให้ผู้เชียวชาญพิสูจน์วันเวลาที่ถ่ายภาพ พร้อมตราจสอบและวิเคราะห์ภาพถ่ายว่าเป็นนาฬิกายี่ห้อใด รุ่นใด เพื่อมอบหมายให้สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษตราจสอบภาพข่าวอื่นว่าพล.อ.ประวิตร ได้สวมใส่นาฬิกาเรือนดังกล่าว หลังจากเข้ารับตำแหน่งแล้วหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินมูลค่าด้วย
คณะทำงานเสียงข้างน้อย
เห็นว่า เพียงคำกล่าวอ้างของพล.อ ประวิตร ว่าได้คืนนาฬิกาเรือนนี้ให้แก่ (ปิดแถบดำทับชื่อ) ไปแล้ว
แต่ตรวจสอบแล้วไม่พบทั้งตัวเรือนนาฬิกาและใบรับรองหรือหลักฐานการซื้อขายใด ๆ ทำให้ไม่มีข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนาฬิกา
จึงไม่อาจทราบได้ว่านาฬิกาเรือนนี้มีอยู่จริงขณะมีหน้าที่ยื่นบัญชีหรือไม่
ลำพังภาพของพล.อ.ประวิตร สวมใส่นาฬิกาเรือนนี้ตามที่ปรากฎเป็นข่าว ประกอบกับการไม่พบนาฬิกาซึ่งไม่ตรงกับคำกล่าวอ้าง จึงยังไม่พอฟังว่านาฬิกาเรือนนี้เป็นของพล.อ.ประวิตร
เห็นควรยุติการตรวจสอบนาฬิกาเรือนนี้
(ข้อมูลส่วนนี้ยังไม่จบ ยังมีผลการตรวจสอบนาฬิกากลุ่มอื่นอีก รายละเอียดเป็นอย่างไร ติดตามตอนต่อไป)
อ่านประกอบ :
- วีระ ขู่ฟ้องศาลคดีทุจริตหลังปีใหม่! ป.ป.ช.ยอมให้เอกสารคดีนาฬิกาครบแล้ว แต่ยังมีคาดดำปิดทับ
- อ้าง ม.36! ป.ป.ช.ลงมติ 3:2 เสียง เปิดข้อมูลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม แต่ให้ปิดทับชื่อจนท.ก่อน
- ไม่รับคำขอพิจารณาใหม่! ศาลปค.สูงสุด สั่ง ป.ป.ช.เปิดเอกสารคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม ให้ 'วีระ'
- 'วีระ' ขู่ฟ้องอาญา ป.ป.ช.ให้เอกสารคดี'นาฬิกาหรู'ไม่ครบ- 'นิวัติไชย'แจงทำแถบดำคุ้มครองพยาน
- ศาลปกครองสูงสุดสั่ง ป.ป.ช.ส่งข้อมูลคดีนาฬิกาประวิตรให้ 'วีระ สมความคิด'ภายใน 15 วัน
- จะทำให้ ป.ป.ช.โปร่งใส! ฉบับเต็ม คำพิพากษาศาล ปค.สูงสุด สั่งเปิดผลคดี 'นาฬิกาประวิตร'
- ป.ป.ช.นัดถกวาระผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม 26 เม.ย.นี้ - 'วีระ' ลั่นไม่ได้เข้าขบวนการบังคับ
- ขอถามศาลฯอีกครั้ง! ป.ป.ช.ลงมติ 5 :1 เสียง ยังไม่เปิดเผยผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อมให้ 'วีระ'
- ยอมแค่ 2 รายการ! ป.ป.ช.มติเอกฉันท์เปิดเผยผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม ให้ 'วีระ' แล้ว
- ความเห็นจนท.อันตราย! เบื้องหลัง มติ ป.ป.ช. ทำไม? ยอมเปิดผลคดีนาฬิกาหรู แค่ 2 รายการ
- รอคำพิพากษาทางการ! ป.ป.ช.จ่อชง คกก.ชุดใหญ่ เคาะเปิดเอกสารคดีนาฬิกาหรูบิ๊กป้อม ให้ 'วีระ'
- ให้ศาลรธน.ชี้ขาด! ป.ป.ช.มติ 4:1ส่งเรื่องวินิจฉัยอำนาจศาลปค.สั่งเปิดเอกสารคดีนาฬิกาหรู
- ใช้มติผู้บริหาร 20 เสียงหนุน! เบื้องหลังป.ป.ช.ส่งศาลรธน.ชี้ขาดเปิดเอกสารคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม
- 'วัชรพล' แจงเปิดเอกสารคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม รอศาลรธน.ชี้ขาด มีคำสั่งอย่างไรปฏิบัติตามนั้น