"...การพิจารณาวาระเรื่องนี้ ใช้เวลาในการพิจารณานานเกือบ 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะการพิจารณาข้อมูลในรายการที่ 2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ กรรมการ ป.ป.ช.บางรายเห็นว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ก็ควรจะเปิดเผยให้หมด แต่ พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า "จะเป็นอันตรายถ้าเปิดเผยความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่" ..."
นับเป็นท่าทีและความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ! ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ต่อกรณีศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยข้อมูลคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชร ให้แก่นายวีระ สมความคิด ผู้ฟ้องคดี จำนวน 3 รายการ ได้แก่ 1.รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมดในคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 2.ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ 3.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันนี้ (3 พฤษภาคม 2566) ว่า มีการพิจารณาวาระเรื่องนี้เป็นทางการอีกครั้ง และมีมติสำคัญ 3 ส่วน
แยกเป็น
1. ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์เปิดเผยข้อมูลตามรายการที่ 1.รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมดในคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, 3. รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้
2. ส่วนรายการที่ 2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ปงช. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ไม่เปิดเผยข้อมูล โดยกรรมการ ป.ป.ช.ข้างน้อย 2 เสียง คือ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข
3. นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติเอกฉันท์ ส่งขอพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯและของดการบังคับคดีชั่วคราวด้วย
หลังจากก่อนหน้านี้ มีข่าวปรากฏไปแล้วว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ได้มีการหารือกันถึงเรื่องนี้ไป และมีมติกรรมการ ป.ป.ช.เสียงส่วนใหญ่ เห็นว่า จะยังไม่เปิดเผยข้อมูลผลคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชร ให้แก่นายวีระ ตามคำพิพากษาของศาลฯ และเห็นควรให้ทำหนังสือถึงศาลปกครองสูงสุดทบทวนว่า ข้อมูลส่วนใดที่สามารถเปิดเผยได้ ข้อมูลส่วนใดไม่สามารถเปิดเผยได้อีกครั้ง
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับเบื้องหลังมติการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ครั้งล่าสุด ในวันนี้ ว่า การพิจารณาวาระเรื่องนี้ ใช้เวลาในการพิจารณานานเกือบ 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะการพิจารณาข้อมูลในรายการที่ 2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้
กรรมการ ป.ป.ช.บางรายเห็นว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ก็ควรจะเปิดเผยให้หมด
แต่ พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า จะเป็นอันตราย ถ้าเปิดเผยความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่
ในที่สุด ประธาน ป.ป.ช. จึงเสนอเสนอให้ศาลปกครองสูงสุด มีการพิจารณาคดีใหม่ ตามที่ตามมาตรา 75 (1) ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพจิารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
แม้จะมีกรรมการ ป.ป.ช.บางคน แย้งว่า ทำได้ยาก เพราะไม่มีพยานหลักฐานใหม่ หรือ ทางศาลปกครองสูงสุด คงไม่ยอมรับว่ามีการพิจารณาข้อเท็จจริงผิดพลาด
จนในที่สุด ประธาน ป.ป.ช. ได้ขอให้กรรมการ ป.ป.ช. ทุกคนลงมติเอกฉันท์เพื่อที่จะได้มีพลังในการขอพิจารณาคดีใหม่ต่อศาลปกครองสูงสุด
@ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพจิารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 75 ระบุว่า ในกรณีที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองเสร็จเด็ดขาดแล้ว คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีนั้นอาจมีคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ศาลปกครองฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
(2) คู่กรณีที่แท้จริงหรือบุคคลภายนอกนั้นมิได้เข้ามาในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีหรือได้เข้ามาแล้วแต่ถูกตัดโอกาสโดยไม่เป็นธรรมในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกระบวนพิจารณา
(3) มีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม
(4) คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ทำขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด และต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
การยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคู่กรณีหรือบุคคลภายนอกไม่ทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณาคดีครั้งที่แล้วมา โดยมิใช่ความผิดของผู้นั้นการยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่ต้องกระทำภายในเก้าสิบวัน
นับแต่วันที่ผู้นั้นได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ได้ แต่ไม่เกินห้าปีนับแต่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาด
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ไม่เปิดเผยข้อมูล รายการที่ 2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ นั้น ขณะนี้มีการวิเคราะห์กันว่า อาจจะมีข้อมูลความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่สำคัญหลายส่วน ที่น่าจะมีผลต่อการพิจารณาขั้นตอนการพิจารณาสำนวนคดีของป.ป.ช.ร่วมอยู่ จึงทำให้ ป.ป.ช.ไม่กล้าที่จะเปิดเผยข้อมูลนี้ ต่อสาธารณชน
เหล่านี้ คือ ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเบื้องหลัง มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการพิจารณาวาระเรื่องผลคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลล่าสุด
ขณะที่มีรายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.แจ้งว่า นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เตรียมจะเปิดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงมติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องนี้ เป็นทางการในเร็วๆ นี้
รายละเอียดเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตามดูกันอีกครั้ง
แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด
อ่านเพิ่มเติม
- ศาลปกครองสูงสุดสั่ง ป.ป.ช.ส่งข้อมูลคดีนาฬิกาประวิตรให้ 'วีระ สมความคิด'ภายใน 15 วัน
- จะทำให้ ป.ป.ช.โปร่งใส! ฉบับเต็ม คำพิพากษาศาล ปค.สูงสุด สั่งเปิดผลคดี 'นาฬิกาประวิตร'
- ป.ป.ช.นัดถกวาระผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม 26 เม.ย.นี้ - 'วีระ' ลั่นไม่ได้เข้าขบวนการบังคับ
- ขอถามศาลฯอีกครั้ง! ป.ป.ช.ลงมติ 5 :1 เสียง ยังไม่เปิดเผยผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อมให้ 'วีระ'
- ยอมแค่ 2 รายการ! ป.ป.ช.มติเอกฉันท์เปิดเผยผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม ให้ 'วีระ' แล้ว