"...นาฬิกาจำนวน 14 เรือน ตรวจพบ Serial Number ได้จากตัวเรือนภายนอก และอีก 1 เรือน ตรวจพบ Serial Number ได้จากทั้งตัวเรือนและใบเสร็จรับเงิน ซึ่งได้ตรวจสอบโดยการขอทราบข้อเท็จจริงจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนาฬิกาทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังไม่ปรากฎรายชื่อว่าผู้ใดเป็นผู้ซื้อนาฬิกาหรือเคยรับบริการหลังการขาย นาฬิกา..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
ผลการสอบสวนคดีนาฬิกาหรูและแหวน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำภาพรวมกระบวนการสอบสวนคดีนี้ ของ ป.ป.ช. ทั้งในส่วนภายในประเทศ และต่างประเทศ ที่มีการประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ ในการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง หรือมอบหมายให้เอกอัครราชทูตหรือกงสุลของประเทศไทยหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยในต่างประเทศเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องและความมีอยู่จริงของนาฬิกาข้อมือ 16 เรือน จากผู้ผลิตนาฬิกาและผู้จำหน่ายนาฬิกาใน 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรีย และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชนชนจีน แต่ไม่ได้รับทราบข้อมูลอะไรมากนัก รวมไปถึงคำชี้แจงข้อเท็จจริง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ สรุปได้ว่า นาฬิกาตามภาพที่ปรากฏเป็นข่าว 25 เรือน ที่พล.อ ประวิตร เป็นผู้สวมใส่นั้น เป็นนาฬิกาของนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ทั้งหมด
โดยพล.อ. ประวิตร ยืมมาจากนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) เพื่อสวมใส่ และได้คืนนาฬิกาแล้วทุกเรือน
สำหรับแหวนตามภาพที่ปรากฎเป็นข่าว 12 วง พล.อ. ประวิตร ชี้แจงว่า มารดานำมาให้ใส่ จำนวน 3 วง ส่วนวงอื่น ๆ นั้น บางวงเป็นแหวนที่มีราคาในห้วงเวลาที่ซื้อประมาณหมื่นกว่าบาท บางวงเป็นแหวนพระราชทาน แหวนวัตถุมงคล
ขณะที่จากการตรวจสอบนาฬิกาที่บ้านของนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) และร่วมกับนางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ) เพื่อยืนยันคำชี้แจงของ พล.อ. ประวิตร พบนาฬิกาข้อมือทั้งหมด 137 เรือน สำหรับนาฬิกาที่เป็นข่าวทั้งหมด 25 ภาพ นางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ) พิจารณาจากภาพข่าวแล้วคาดว่ามีภาพถ่ายนาฬิกาซื้อจากเรือนเดียวกัน 3 คู่ รวม 6 ภาพ ดังนั้น นางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ) จึงคาดว่ามีนาฬิกาที่เป็นข่าวทั้งหมดเพียง 22 เรือน
- โหมโรง! เปิดผลสอบคดีนาฬิกาหรู บิ๊กป้อม ยัน Blancpain/Limited edition คืนเพื่อนด้วยตัวเอง
- เปิดผลสอบคดีนาฬิกาหรูบิ๊กป้อม (1) ป.ป.ช.ล่าข้อมูล Richard Mille, Patek 4 ปท. 'เหลว'
ในตอนนี้ สำนักข่าวอิศรา จะขอนำเสนอผลสรุปการตรวจสอบนาฬิกาจำนวน 22 เรือน ที่มีการจัดแบ่งกลุ่มไว้จำนวน 6 กลุ่ม แบบชัดๆ ดังนี้
@ ข้อมูลนาฬิกาหรู 22 เรือน
สำนักข่าวอิศรา สรุปข้อมูลจากเอกสารผลการสอบสวนคดีนาฬิกาหรูและแหวน ที่ปรากฎภาพข่าว พล.อ.ประวิตร สวมใส่ต่อสาธารณะ ของ ป.ป.ช. และจากคำให้การของพยาน คือ นางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ) มีการระบุถึงข้อมูลนาฬิกา จำนวน 22 เรือน ดังนี้
1. นาฬิกายี่ห้อ Richard Mille รุ่น RM010 หมายเลขเครื่อง RM010AMWG/3085
2. นาฬิกายี่ห้อ Richard Mille รุ่น RM011 หมายเลขเครื่อง AN CA/4223 PELIPEMAS
3. นาฬิกายี่ห้อ Rolex หมายเลขเครื่อง 4676 P160
4. นาฬิกายี่ห้อ Patek Philippe หมายเลขเครื่อง 5825121
5. นาฬิกายี่ห้อ Audemars Piguet Royal Oak Chronograph Automatic Blue Dial หมายเลขเครื่อง D-99316
6. นาฬิกายี่ห้อ Rolex หมายเลขเครื่อง 66s340M1
7. นาฬิกายี่ห้อ Patek Philippe รุ่น 5205R หมายเลขเครื่อง 5757131
8. นาฬิกายี่ห้อ Patek Philippe รุ่น 5960P Serial Number 7019863
9. นาฬิกายี่ห้อ Rolex รุ่น Pro Hunter Deepsea Green รุ่น 116660 หมายเลขเครื่อง G702317
10. นาฬิกายี่ห้อ Rolex รุ่น Daytona Serial Number 32W5Z738
11. นาฬิกายี่ห้อ Rolex รุ่น Yacht-Master Rose Glod 2-tone Chocolate ราคาตลาดประมาณ 460,000 บาท
12. นาฬิกายี่ห้อ Audemars Piguet Serial Number D-12489
13. นาฬิกายี่ห้อ Rolex รุ่น Oyster Perpetual Datejust หมายเลขเครื่อง 797UT707
14. นาฬิกายี่ห้อ Patek Philippe หมายเลขเครื่อง 324/393 5521069
15. นาฬิกายี่ห้อ Blancpian
16. นาฬิกายี่ห้อ Rolex หมายเลขเครื่อง 0A218157
17. นาฬิกายี่ห้อ Patek Philippe หมายเลขเครื่อง 324/205 3650646
18. นาฬิกายี่ห้อ Rolex หมายเลขเครื่อง 339649Q7
19. นาฬิกายี่ห้อ Lang & Heyne รุ่น FAI-56
20. นาฬิกายี่ห้อ Patek Philippe รุ่น 5396/1 G หมายเลขเครื่อง 5684445
21. นาฬิกายี่ห้อ Rolex รุ่น Oyster Perpetual Cosmograph Daytona หมายเลขเครื่อง 392629 V2
22. นาฬิกายี่ห้อ Patek Philippe Serial Number 5540562 324/206
(หมายเหตุ: ภาพถ่ายนาฬิกาที่ปรากฏบนสื่อต่าง ๆ ที่ พลเอกประวิตร สวมใส่นาฬิกา 25 เรือน จากคำให้การของ นางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ) ระบุว่า นาฬิกาที่ปรากฏเป็นภาพข่าวในภาพที่ 10 เป็นนาฬิกาเรือนเดียวกับภาพที่ 1, นาฬิกาที่ปรากฏเป็นภาพข่าวที่ 20 และ 21 เป็นนาฬิาเรือนเดียวกัน, นาฬิกาที่ปรากฏเป็นภาพข่าวที่ 22 เป็นนาฬิกาเรือนเดียวกับภาพที่ 11)
@ ผลการตรวจสอบ
ในการสำนวนการสอบสวนคดีนี้ มีการระบุว่า จากการตรวจสอบนาฬิกาจำนวน 22 เรือน ตามภาพข่าว จำแนกตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 : พบตัวเรือนแต่ไม่ทราบ Serial Number จำนวน 1 เรือน ได้แก่ นาฬิกาปรากฏตามภาพข่าวเรือนที่ 16
นางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ) ได้นำนาฬิกายี่ห้อ Blancpain มาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และระบุว่าเป็นนาฬิกาปรากฏตามภาพข่าว เรือนที่ 16 แต่ตรวจสอบ Serial Number ไม่ได้
พลเอก ประวิตร ชี้แจงว่า ไม่สามารถระบุวัน เวลา สถานที่ ยี่ห้อ และรุ่นได้ เนื่องจากเป็นระยะเวลานานมาแล้ว และการส่งคืนนาฬิกา ตนได้ส่งคืนให้กับนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) โดยตรงด้วยตนเอง
กลุ่มที่ 2 : พบตัวเรือนและทราบ Serial Number จำนวน 15 เรือน
โดยนาฬิกาจำนวน 14 เรือน ตรวจพบ Serial Number ได้จากตัวเรือนภายนอก และอีก 1 เรือน ตรวจพบ Serial Number ได้จากทั้งตัวเรือนและใบเสร็จรับเงิน ซึ่งได้ตรวจสอบโดยการขอทราบข้อเท็จจริงจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนาฬิกาทั้งในและต่างประเทศ
แต่ยังไม่ปรากฎรายชื่อว่าผู้ใดเป็นผู้ซื้อนาฬิกาหรือเคยรับบริการหลังการขาย นาฬิกา
ในกลุ่มนี้ได้แก่ นาฬิกาตามภาพข่าวที่ 1-7, 13- 15, 17-19 และ 23-24
กลุ่มที่ 3 : ไม่พบตัวเรือนแต่พบใบรับประกัน จำนวน 1 เรือน ตรงกับนาฬิกาตามภาพข่าวที่ 9
แม้ไม่พบตัวเรือนแต่จากการตรวจสอบพบใบรับประกันซึ่งระบุรุ่นนาฬิกาตรงตามที่ระบุในภาพข่าว จึงตรวจสอบโดยการขอทราบข้อเท็จจริงจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนาฬิกาทั้งในและต่างประเทศ
แต่ยังไม่ปรากฎรายชื่อว่าผู้ใดเป็นผู้ซื้อนาฬิกาหรือเคยรับบริการหลังการขาย
กลุ่มที่ 4 : ไม่พบทั้งตัวเรือนและใบรับประกัน จำนวน 1 เรือน ตรงกับนาฬิกาตามภาพข่าวที่ 12 จึงไม่ปรากฏ Serial Number หรือข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการตรวจสอบกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนาฬิกา
กลุ่มที่ 5 : ยังไม่ชัดแจ้งว่าเป็นเรือนใดเรือนหนึ่ง จำนวน 1 เรือน ได้แก่ นาฬิกาตามภาพข่าวที่ 20
โดยนางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ) ให้การว่านาฬิกาตามภาพข่าวที่ 20 และ 21 เป็นเรือนเดียวกัน คือ นาฬิกายี่ห้อ A.Lange & Sohne รุ่น FAI - 56 แต่เอกสารประกอบการให้ถ้อยคำ ซึ่งนางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ) มอบให้เจ้าหน้าที่พร้อมระบุว่าเป็นนาฬิกาเรือนที่ 20 และ 21 นั้น เป็นภาพนาฬิกาและหลักฐานการซื้อขายนาฬิกา ยี่ห้อ Lang & Heyne รุ่น FAI - 56
ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร ชี้แจงว่านาฬิกาที่ตนสวมใส่ตามภาพข่าวที่ 20 และ 21 เป็นนาฬิกาเรือนเดียวกัน และคาดว่าเป็นนาฬิกายี่ห้อ A.Lange & Sohne แต่จำรุ่นไม่ได้ ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวกันกับยี่ห้อตามคำให้การของ นางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ)
กลุ่มที่ 6 : พบตัวเรือนและทราบชื่อผู้ซื้อหรือผู้จำหน่าย จำนวน 3 เรือน ดังนี้
6.1 นาฬิกาที่ปรากฎชื่อนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) คือ นาฬิกาตามภาพข่าวที่ 25 ยี่ห้อ Patek Philtippe รุ่น 5205G ตรวจสอบพบชื่อของนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) บนใบรับประกัน ซึ่งระบุ Serial Number เลขเดียวกันกับ Serial Number บนเรือนนาฬิกา คือ 5540562 โดยนาย ซื้อนาฬิกาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554
6.2 นาฬิกาที่ปรากฎชื่อ “(ปิดคาดดำทับชื่อ)” เป็นผู้ซื้อ จำนวน 1 เรือน คือ นาฬิกาตามภาพข่าวที่ 11 ตรวจสอบพบนาฬิกา Rolex รุ่น DAYTONA Serial Number 32W5Z738 ตรวจสอบพบใบรับประกันปรากฎชื่อผู้ซื้อนาฬิกาว่า "(ปิดคาดดำทับชื่อ)" ตรวจสอบชื่อที่พ้องกันในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรตรงกับชื่อ "นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ)" นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ให้การ สรุปได้ว่า นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ชื้อนาฬิกาเรือนดังกล่าวที่สนามบินชูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จริงด้วยสกุลเงินฟรังส์สวิส คิดเป็นเงินบาทไทยราคาประมาณ 300,000 - 450,000 บาท เพื่อมอบเป็นรางวัลให้แก่ นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ผู้ใต้บังคับบัญชา
ต่อมา นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) อ้างว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินชำระหนี้บัตรเครดิต จึงขายนาฬิกาให้แก่นางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ) โดยนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) อ้างว่ารู้จักกับนางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ) ที่บริษัท จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเป็นเพื่อนทำงานที่บริษัทเดียวกัน ในการติดต่อขอซื้อนาฬิกาเรือนดังกล่าว นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ได้ส่งไลน์รูปนาฬิกา และแจ้งราคา ซึ่งนางสาว ให้การว่าในขณะนั้นตนได้นั่งในรถอยู่กับนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ)
นางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ) ได้สอบถามนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ว่าสนใจนาฬิกาเรือนนี้หรือไม่ นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ดูรูปแล้วก็ชอบและบอกแก่ตนว่าให้ซื้อนาฬิกาไว้ ตนจึงซื้อนาฬิกาจากนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ในราคาประมาณ 300,000 - 400,000 บาท และชำระเป็นเงินสด ซึ่งช่วงเวลาที่ซื้อนาฬิกาคือ ประมาณปี 2558 - 2559
นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) อ้างว่านำเงินที่ได้จากการขายนาฬิกาไปใช้ชำระหนี้บัตรเครดิตส่วนหนึ่ง มอบให้บิดามารดา 100,000 บาท และซื้อกองทุน 100,000 บาท แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวแตกต่างจากที่ นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นหนังสือต่อมาว่าได้มอบเงินให้แก่นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) พี่ชาย เป็นจำนวน 50,000 บาท ต่อมา นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) นำเงินไปซื้อกองทุนเปิดบัวหลวงระยะยาว BLTF จำนวน 100,000 บาท โดยเป็นการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ เลขที่ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 99,959 บาท และนำเงินไปจ่ายบัตรครดิตธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 43,628 บาท วันที่ 6 มีนาคม 2559 จำนวนเงิน 20,000 บาท และวันที่ 7 เมษายน 2559 จำนวน 114,672.86 บาท ต่อมานำเงินไปจ่ายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เลขที่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 29,482 บาท เป็นต้น
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
6.3 นาฬิกาที่ไม่ระบุชื่อผู้ซื้อบนใบรับประกัน จำนวน 1 เรือน
คือ นาฬิกาตามภาพข่าวที่ 8 ตรวจสอบแล้วพบนาฬิกายี่ห้อ Patek Philippe รุ่น 5960P Serial Number 7019863 ตรวจสอบพบใบรับประกันปรากฎชื่อผู้จำหน่ายนาฬิกา คือ “(ปิดคาดดำทับชื่อ)” จากการสอบถามไปยังผู้จำหน่าย ผู้จำหน่ายชี้แจงว่าได้จำหน่ายนาฬิกาเรือนดังกล่าวให้แก่ นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ต่อมา นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ได้มาให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2561 สรุปข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบได้ว่า
นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) เป็นรุ่นพี่ของนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ที่โรงเรียน โดยบริษัท จำกัด เป็นธุรกิจของครอบครัวนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ตกลงซื้อนาฬิกาเรือนดังกล่าวจากนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ในราคา 2,100,000 บาท เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560 ตกลงแบ่งผ่อนชำระ 3 งวด คือ งวดแรกตกลงชำระในวันที่ 18 มีนาคม 2561 ชำระงวดที่ 2 ภายในวันที่ 18 เมษายน 2561 และชำระงวดที่ 3 ภายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ในราคางวดละ 700,000 บาท ปรากฎรายละเอียดตามใบยืมสินค้า เลขที่ 0444 เล่มที่ 008 ลงวันที่ 18 มกราคม 2560
นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ให้การว่าเพิ่งเคยซื้อนาฬิการาคาสูงระดับนี้เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ เนื่องจากนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) คาดว่าจะได้รับเงินจากการขายหุ้น BFIT (บริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาธร จำกัด (มหาชน) มูลค่า 100,000,000 บาท โดยนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) อ้างว่าตนได้ตกลงขายหุ้นในเดือนธันวาคม 2559 และได้รับการยืนยัน จากบริษัทหลักทรัพย์จำกัด นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) คาดว่าจะนำเงินที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งชำระค่านาฬิกาปรากฎว่า นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ชำระราคาค่านาฬิกา 3 งวด งวดที่ 1 ชำระด้วยเงินสด เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 จำนวน 700,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสดที่เก็บไว้ที่บ้าน งวดที่ 2 ชำระเงินด้วยเงินที่ได้มาจากการขายหน่วยลงทุน ในกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี จำนวน 700,000 บาท เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 และงวดที่ 3 ชำระด้วยเงินสด จำนวน 700,000 บาท
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ให้การว่าตนได้มอบนาฬิกาเรือนนี้ให้แก่นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ขณะที่นาย ไปเยี่ยมนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ที่โรงพยาบาล นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) พบกับนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ที่ร้าน โดยนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) เห็นนาฬิกาที่นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) สวมใส่แล้วชมว่าสวยดี จึงขอให้นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ช่วยสั่งนาฬิกาแบบเดียวกันนี้ให้นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) จึงได้มอบนาฬิกาเรือนนี้ให้แก่นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) เพราะก่อนหน้านี้นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ได้รับนาฬิการาคาสูงจากนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) มาก่อนแล้ว ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2560 นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) จึงส่งมอบใบรับประกันให้นาย (ปิดคาดดำทับชื่อ)
อนึ่ง สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือถึงกรมศุลกากร เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้านาฬิกาทุกเรือนข้างต้นแล้ว กรมศุลกากรแจ้งว่า ไม่พบว่า พลเอก ประวิตร และนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) เคยนำเข้านาฬิกาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กรมศุลกากร ชี้แจงว่าไม่พบข้อมูลการนำเข้าทั้ง 20 เรือน เพราะฐานข้อมูลจัดเก็บข้อมูลเฉพาะยี่ห้อและรุ่นของนาฬิกาซึ่งใช้สำหรับการประเมินอากรเพื่อเรียกเก็บค่าภาษีอากร โดยไม่จำเป็นต้องใช้ Serial Number
ดังนั้น จึงไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันการสำแดงการนำเข้าได้
(ข้อมูลส่วนนี้ยังไม่จบ ยังมีรายละเอียดผลการตรวจสอบแหวน 10 วง ของ พล.อ.ประวิตร ด้วย รายละเอียดเป็นอย่างไร ติดตามตอนต่อไป)