"...มีแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่น่าสนใจในคดีที่ อบ. 311/2565 โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรอิสระ เท่านั้น ..."
จนถึงเวลานี้ ยังไม่มีคำชี้แจงเป็นทางจากผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ต่อกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2566 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 4 ต่อ 1 เสียง ให้ส่งเรื่องศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ไม่รับพิจารณาคดีใหม่ กรณี สำนักงาน ป.ป.ช.ร้องขอให้ศาลทบทวนพิจารณาคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลสอบคดี นาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แก่ นายวีระ สมความคิด ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องอำนาจหน้าที่ศาลปกครอง เกี่ยวกับการวินิจฉัยตัดสินคดีนี้ว่าเป็นเรื่องที่เกินเลยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ โดยกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย คือ นาย สุชาติ ตระกูลเกษมสุข
โดยในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาว่า ควรยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ศาลปกครองหรือไม่ประการใด ดังกล่าว พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่า ควรยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิบัติโดยขัดหรือแย้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 และมาตรา 180 (ดูข้อกฎหมายประกอบ https://www.nacc.go.th/files/article/attachments/main_old_article_20190614144916.pdf)
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้มีการหารือว่า ควรเปิดเอกสารรายการ ที่ 2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ หรือไม่เพียงใดพล.ต.อ.วัชรพล ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และนางสาวสุภา กรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ภายหลังจากยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 3 พ.ย.2566 ควรไปยื่นคำขอต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อชะลอการบังคับคดีต่อไปด้วย
ล่าสุด แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราถึงเบื้องหลังการลงมติในการส่งศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการหารือเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ได้ข้อยุติ โดยนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นว่า ถ้าฝ่ายบริหารส่วนใหญ่เห็นว่า มีช่องทางในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ไม่ขัดข้อง ซึ่งทุกวันพฤหัสบดี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จะประชุมผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการสำนักขึ้นไปอยู่แล้ว
ดังนั้น ในช่วงเช้าวันที่ 2 พ.ย.2566 พล.ต.อ.วัชรพล ประธาน ป.ป.ช. จึงนำเรื่องนี้เข้าหารือในประชุมผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. และมีการลงมติ แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายเสียงข้างมาก เห็นควรยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก่
1. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
2. พลตำรวจตรี อรุณ อมรวิริยะกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
3. นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
4. นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 4
5. นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้ตรวจราชการสำนักงาน ป.ป.ช.
6. นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
7. น.ส.ภูริสุดา นิลวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
8. นายวัฒนชัย ส้มมี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
9. นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
10. นายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
11. นายมงคล วุฒินิมิต ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
12. นางวาธินี สุริยวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
13. ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 1
14. ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 2
15. ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 5
16. ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6
17. ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย
18. ผู้อำนวยการสำนักคดี
19. ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ
20. ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานกลาง
ฝ่ายเสียงข้างน้อย เห็นควรไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก่
1. นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
2. นายสุรพงษ์ อินทรถาวร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
3. ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8
4. ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 9
โดยผลการลงมติที่ประชุมผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. ดังกล่าว ได้มีการเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ จากที่ยืนยันความเห็นต่อกรณีการส่งเรื่อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องอำนาจหน้าที่ศาลปกครอง ในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า โดยหลักการควรปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ส่วนการหารือศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอีกกรณีหนึ่ง ยอมลงมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องอำนาจหน้าที่ศาลปกครองดังกล่าว เช่นเดียวกับ กรรมการ ป.ป.ช.คนอื่น
เหลือเพียง นาย สุชาติ ตระกูลเกษมสุข ที่ยืนยันความเห็นว่า ไม่ควรยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่ปรากฎเป็นข่าวไปแล้ว
อย่างไรก็ดี ต่อกรณีนี้ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนในแวดวงกฎหมายว่า การส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องอำนาจหน้าที่ศาลปกครองดังกล่าว เป็นความพยายามของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) คือ คดีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กร เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาการปฎิบัติตามคำพิพากษา ระหว่าง คณะกรรมการ ป.ป.ช. กับศาลปกครอง
แต่ในเรื่องนี้มีแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่น่าสนใจในคดีที่ อบ. 311/2565 โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรอิสระ เท่านั้น
หาได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ “องค์กรอิสระ” กับ “องค์กรศาล” ซึ่งใช้อำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายแต่อย่างใดไม่
คำถามสำคัญคือ ป.ป.ช.รับทราบแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดข้างต้นบ้างหรือไม่
ถ้าหากรับทราบแล้ว ทำไมยังพยายามใช้ช่องทางกฎหมายส่วนนี้อีก
หรือเอกสารรายการคดีนาฬิกาหรูรายการที่ 2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ มีจุดตายสำคัญอะไร กับใคร มากกว่าความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ถึงทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องพยายามต่อสู้ดิ้นรน ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน
แบบที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้
อ่านเพิ่มเติม
- ไม่รับคำขอพิจารณาใหม่! ศาลปค.สูงสุด สั่ง ป.ป.ช.เปิดเอกสารคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม ให้ 'วีระ'
- 'วีระ' ขู่ฟ้องอาญา ป.ป.ช.ให้เอกสารคดี'นาฬิกาหรู'ไม่ครบ- 'นิวัติไชย'แจงทำแถบดำคุ้มครองพยาน
- ศาลปกครองสูงสุดสั่ง ป.ป.ช.ส่งข้อมูลคดีนาฬิกาประวิตรให้ 'วีระ สมความคิด'ภายใน 15 วัน
- จะทำให้ ป.ป.ช.โปร่งใส! ฉบับเต็ม คำพิพากษาศาล ปค.สูงสุด สั่งเปิดผลคดี 'นาฬิกาประวิตร'
- ป.ป.ช.นัดถกวาระผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม 26 เม.ย.นี้ - 'วีระ' ลั่นไม่ได้เข้าขบวนการบังคับ
- ขอถามศาลฯอีกครั้ง! ป.ป.ช.ลงมติ 5 :1 เสียง ยังไม่เปิดเผยผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อมให้ 'วีระ'
- ยอมแค่ 2 รายการ! ป.ป.ช.มติเอกฉันท์เปิดเผยผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม ให้ 'วีระ' แล้ว
- ความเห็นจนท.อันตราย! เบื้องหลัง มติ ป.ป.ช. ทำไม? ยอมเปิดผลคดีนาฬิกาหรู แค่ 2 รายการ
- รอคำพิพากษาทางการ! ป.ป.ช.จ่อชง คกก.ชุดใหญ่ เคาะเปิดเอกสารคดีนาฬิกาหรูบิ๊กป้อม ให้ 'วีระ'