“…ผมมารับหน้าที่ใหม่ ก็อยากทราบว่าเรื่องราวต่างๆมีการดำเนินการกี่เรื่อง และทางเราทำเสร็จกี่เรื่อง จะได้เกิดความเข้าใจว่า มีอะไรบ้างที่ยังค้างอยู่ และประเด็นใดบ้างที่ทำแล้ว จะได้ไม่ต้องร้องซ้ำเข้ามาอีก แล้วจะทำอย่างไรต่อ ซึ่งการโต้ตอบเป็นหนังสือใช้เวลานาน จึงอยากสื่อสารทางตรงดีกว่า…”
แม้ว่าขณะนี้ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งได้รับประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ 4 แปลง ในพื้นที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ได้กลับมาเปิดทำเหมืองทองคำอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร ได้ให้ใบอนุญาตเปิดการทำเหมืองและการประกอบโลหกรรมแก่บริษัทฯแล้ว
แต่ทว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ถูกชาวบ้านในอาศัยอยู่พื้นที่รอบเหมืองทอง ซึ่งรวมตัวกันในนาม ‘กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ’ ร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ที่อาจเข้าข่ายว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายในกรณีต่างๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ พ.ต.ต.สุริยา สิงกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ก.พ.2566 ที่ผ่านมา ได้นัดหมายแกนนำกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำเข้าหารือ เพื่อสร้างความเข้าใจว่าที่ผ่านมา DSI ได้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีเหมืองแร่ทองคำของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ไปแล้วอย่างไร และมีข้อติดขัดในเรื่องใดบ้าง
“ผมมารับหน้าที่ใหม่ ก็อยากทราบว่าเรื่องราวต่างๆมีการดำเนินการกี่เรื่อง และทางเราทำเสร็จกี่เรื่อง จะได้เกิดความเข้าใจว่า มีอะไรบ้างที่ยังค้างอยู่ และประเด็นใดบ้างที่ทำแล้ว จะได้ไม่ต้องร้องซ้ำเข้ามาอีก แล้วจะทำอย่างไรต่อ ซึ่งการโต้ตอบเป็นหนังสือใช้เวลานาน จึงอยากสื่อสารทางตรงดีกว่า” พ.ต.ต.สุริยา กล่าวกับแกนนำกลุ่มฯ
(พ.ต.ต.สุริยา สิงกมล อธิบดี DSI รับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ภายหลังจากที่ DSI ได้สรุปความคืบหน้าคดีเหมืองทองอัคราฯ ให้กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรฯ รับทราบ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2566)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอผลสรุปรายละเอียดการหารือระหว่าง DSI กับแกนนำกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ โดยเฉพาะในประเด็นที่มีการร้องเรียนและกล่าวหาว่า บมจ.อัครา รีซอร์สเซส กระทำผิดกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งความคืบหน้าล่าสุดในแต่ละเรื่อง มีดังนี้
@‘ดีเอสไอ’ตั้งเรื่องสืบสวนคดี‘เหมืองทองอัคราฯ’ 10 เรื่อง
DSI รับเรื่องร้องเรียนกรณีเหมืองทองของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส โดยตั้งเป็นเรื่องสืบสวน 10 เรื่อง และรับไว้เป็นคดีพิเศษ 3 เรื่อง ประกอบด้วย
เรื่องสืบสวน 10 เรื่อง ได้แก่
1.เรื่องสืบสวน เมื่อปี 2558 กรณีชาวบ้านในพื้นที่บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และพื้นที่ใกล้เคียง ร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อน เจ็บป่วย ไม่สบาย จากสารพิษที่รั่วไหลออกจากเหมืองแร่ทองคำของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส (เดิม คือ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด) โดย DSI รับเป็นคดีพิเศษที่ 17/2559
2.เรื่องสืบสวนที่ 22/2561 กรณีกล่าวหาว่า บมจ.อัครา รีซอร์สเซส มีพฤติกรรมเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลต่างด้าวหรือไม่
3.เรื่องสืบสวนที่ 64/2563 กรณีร้องเรียนว่า บมจ.อัครา รีซอร์สเซส กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 หรือไม่ เนื่องจากปรากฏหลักฐานในรายงานประจำปีของ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด (ออสเตรเลีย) ว่า ถือหุ้นใน บมจ.อัครา รีซอร์สเซส 100% ซึ่ง DSI รับเป็นคดีพิเศษที่ 27/2564
4.เรื่องสืบสวนที่ 63/2563 กรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อน เจ็บป่วย ไม่สบาย จากสารพิษรั่วไหลจากเหมืองของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งเป็นการร้องซ้ำ โดยมีการกล่าวหาว่า บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ทำผิด พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 หรือไม่
อย่างไรก็ดี DSI ได้อนุมัติยุติเรื่องสืบสวนดังกล่าวไปแล้ว เนื่องจากยังไม่พบมูลความผิดทางอาญาที่ชัดเจนที่จะรับเป็นคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
5.เรื่องสืบสวนที่ 249/2563 กรณีการสืบสวนในประเด็นสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่รอบเหมือง
โดยเรื่องนี้ DSI อนุมัติให้ยุติเรื่องสืบสวนนี้แล้ว เนื่องจากผลการสืบสวนพบว่า ยังไม่มีข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่าการประกอบกิจการเหมืองทองคำของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนรอบเหมือง ประกอบกับยังไม่ปรากฏหลักฐานทางการแพทย์ว่า การเจ็บป่วยของประชาชนเกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ
6.เรื่องสืบสวนที่ 241/2563 กรณีร้องเรียนว่า บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ลักลอบทำเหมืองแร่บนทางหลวงหมายเลข 1301 และทางสาธารณประโยชน์ โดยไม่ได้รับอนุญาต โดย DSI ได้ทำการสอบสวนจนเสร็จแล้ว และส่งสำนวน รวมทั้งส่งหลักฐานต่างๆเพิ่มเติม เช่น ภาพถ่ายการขุดขุมเหมืองในบริเวณถนนหลวงไปให้กับทางอัยการ
แต่อัยการได้ขอให้ DSI ทำการสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่ง DSI ได้สอบสวนเพิ่มเติมตามที่อัยการร้องขอ และส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวไปให้กับอัยการแล้ว ส่วนกรณีการลักลอบขุดถนนหลวงดังกล่าว จะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ หรือไม่ นั้น เป็นอำนาจของอัยการที่จะพิจารณาในประเด็นนี้อย่างไร
6.เรื่องสืบสวนที่ 249/2563 กรณีการสืบสวนในประเด็นสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่รอบเหมือง
โดยเรื่องนี้ DSI อนุมัติให้ยุติเรื่องสืบสวนนี้แล้ว เนื่องจากผลการสืบสวนพบว่า ยังไม่มีข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่าการประกอบกิจการเหมืองทองคำของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนรอบเหมือง ประกอบกับยังไม่ปรากฏหลักฐานทางการแพทย์ว่า การเจ็บป่วยของประชาชนเกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ
7.เรื่องสืบสวนที่ 77/2564 ซึ่งเป็นกรณีการขยายผลจากเรื่องสืบสวนที่ 241/2563 ในประเด็นที่เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีและการฟอกเงินนั้น ปัจจุบันได้ส่งเรื่องไปให้อธิบดี DSI เพื่อพิจารณาสั่งการว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปแล้ว
8.เรื่องสืบสวน 254/2564 กรณีกล่าวหา รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ได้ออกใบอาชญาบัตรให้ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยเรื่องนี้ DSI สืบสวนเสร็จแล้ว และส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการต่อไปแล้ว
9.เรื่องสืบสวน 244/2565 กรณีร้องเรียนว่า บมจ.อัครา รีซอร์สเซส กระทำความผิดเกี่ยวกับการถลุงแร่และการประกอบโลหะกรรมหรือไม่ ซึ่ง DSI รับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 39/2562
10.เรื่องสืบสวนที่ 11/2566 กรณีร้องเรียนว่า บมจ.อัครา รีซอร์สเซส มีการครอบครองและทำให้สารพิษรั่วไหลออกสู่พื้นที่ภายนอกเหมืองทองคำ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 237 และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ฯ โดยขณะนี้ DSI อยู่ระหว่างการสืบสวนเรื่องนี้
@ 2 คดีค้างในขั้นตอนของ‘อัยการ’-1 คดี‘อสส.’สั่งไม่อุทธรณ์
คดีที่รับไว้เป็นคดีพิเศษ 3 เรื่อง ได้แก่
1.คดีพิเศษที่ 17/2559 กรณีชาวบ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และพื้นที่ใกล้เคียง ร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อน เจ็บป่วย ไม่สบาย จากสารพิษที่รั่วไหลออกจากเหมืองแร่ทองคำของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส นั้น DSI ได้ส่งสำนวนไปให้อัยการเพื่อสั่งฟ้องแล้ว และสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
2.คดีพิเศษที่ 39/2562 กรณีการถลุงแร่และการประกอบโลหะกรรมของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งคดีนี้ DSI ส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช. พิจารณา ก่อนที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดฯ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ก.พ.ร.) กับพวก กรณีเปลี่ยนแผนผังทำเหมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีการจัดทำรายงานผลกระทบ
จากนั้น ป.ป.ช. ส่งสำนวนคดีให้อัยการเพื่อนำคดีฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แต่ต่อมาศาลฯยกฟ้อง และอัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งไม่อุทธรณ์คดี เนื่องจากเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรอุทธรณ์
3.คดีพิเศษที่ 27/2564 กรณี บมจ.อัครา รีซอร์สเซส กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยในช่วงต้นเดือน ธ.ค.2565 ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดี DSI ในขณะนั้น มีความเห็นสั่งฟ้อง บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ในข้อหาเป็นนอมินีให้บริษัทต่างชาติ และส่งสำนวนคดีไปให้กับทางอัยการแล้ว (อ่านประกอบ : คดีสั่งฟ้อง‘บ.อัคราฯ’ข้อหานอมินี ถึงมือ‘อัยการสูงสุด’แล้ว-เร่ง‘ดีเอสไอ’สอบเพิ่มคดีเก่า)
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ยืนยันว่า บริษัทฯประกอบการด้วยมาตรฐานระดับสากลภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยึดหลักธรรมาภิบาลที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมุ่งหวังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ของชุมชนโดยรอบและประเทศมาโดยตลอด
เหล่านี้เป็นความคืบหน้าคดีเหมืองทองคำของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ที่ DSI แจ้งกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบเหมืองทองอัคราฯในนาม ‘กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ’ ทราบ ซึ่งมีทั้งเรื่องสืบสวนที่อยู่ระหว่างการสืบสวน เรื่องที่ยุติการสืบสวนแล้ว และที่น่าสนใจ คือ คดี DSI ส่งเรื่องให้ ‘อัยการ’ ฟ้องคดีนั้น มี 2 คดีที่อัยการยังอยู่ระหว่างดำเนินการ!
อ่านประกอบ :
DSI แถลงผลคดีพิเศษ 4 ด้าน ยกความสำเร็จปมโรงพัก สตช.-ป.ป.ช.ชี้มูลเหมืองทองอัครา
มีรั้วกั้นเขตแต่ไม่ตรวจสอบ! พลิกคดีออกโฉนด‘บ.อัคราฯ’มิชอบ-ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ชี้มูลฯ
‘ป.ป.ช.’ชี้มูลความผิด‘จนท.รัฐ-บ.อัคราฯ’ คดีออกโฉนดรุกพื้นที่ป่าไม้-ส่งสำนวน‘อัยการ’แล้ว
‘ดีเอสไอ’ตั้งเรื่องสืบสวนฯ กรณีร้องเรียน‘บ.อัคราฯ’ทำสารพิษรั่วไหลออกนอกเหมืองทองคำปี 60
ไม่มีเหตุอันควร! แพร่คำสั่ง‘อัยการสูงสุด’ไม่อุทธรณ์ คดีเปลี่ยนแปลงแผนผังเหมืองทองอัคราฯ
ยกฟ้อง! อดีตอธิบดีกรมอุตฯ-พวก ไฟเขียว บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทอง- ป.ป.ช.ค้าน อสส.
DSI สั่งฟ้อง‘บ.อัคราฯ’ข้อหานอมินี-เครือข่ายปชช.จี้‘อัยการ’สาง 4 คดี ชี้ 4 ปีไม่คืบหน้า
ร้อง‘นายกฯ’ตรวจสอบ กรณี‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่รอบเหมืองทอง‘อัคราฯ’
ครม.รับทราบคืบหน้าเจรจา 'คิงส์เกต' ชี้สัญญาณดี ปมเหมืองทองอัครา
อภิปรายไม่ไว้วางใจ :‘จิราพร’ ย้ำปมเหมืองทองอัครา เตือน 9 ครั้ง ไม่ฟังทำชาติเสียหาย
กพร.แพร่งานวิจัยบ่อเก็กกากแร่ที่ 1 เหมืองทองอัครารั่ว กระทบแหล่งน้ำใต้ดินโดยรอบ