“…แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-5 ก็หาได้สอบถามจากผู้นำเดินสำรวจหรือผู้ปกครองท้องที่ที่ร่วมลงพื้นที่เดินสำรวจว่าที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตประทานบัตรหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่จะต้องทำการตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อนว่า เป็นพื้นที่ต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินหรือไม่…”
.....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินจังหวัดพิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เพชรบูรณ์-นครสวรรค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 และชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรง
กรณีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 20996 และ 21037 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิษณุโลก เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ ให้แก่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พร้อมกันนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติชี้มูลความผิดอาญา บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กรรมการบริษัทฯ ผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ผู้นำเดินสำรวจ ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎมายอาญา มาตรา 151 ,157 ประกอบมาตรา 86 ด้วย
ขณะที่ล่าสุด สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนรายงานการไต่สวนเรื่องกล่าวกล่าวให้อัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณา และส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยแล้ว นั้น (อ่านประกอบ : ‘ป.ป.ช.’ชี้มูลความผิด‘จนท.รัฐ-บ.อัคราฯ’ คดีออกโฉนดรุกพื้นที่ป่าไม้-ส่งสำนวน‘อัยการ’แล้ว)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ,บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ ก่อนที่ ป.ป.ช.จะมีมติชี้มูลความผิดฯ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ที่มาคดีออก‘โฉนด 2 แปลง’ทับพื้นที่‘ประทานบัตร’
ผู้ถูกกล่าวหา 11 ราย ได้แก่ สอาด กระจ่างพัฒน์วงษ์ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1) , กัญจนา ดีอุดม (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) , นิเวส เคนวิเศษ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) , วัลลภ เอี่ยมสุดแสง (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4) , ธัญวรัตม์ หรือนวพร โบแก้ว (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5) , กิติพงษ์ คงสวัสดิ์ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6)
ยุทธกิจ กล่ำทวี (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7) , อิศระพงษ์ เผื่อทะนา (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8) , ปกรณ์ สุขุม (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9) , ไมเคิล แพทริค โมนากาน (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10) และ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11)
คดีนี้ เดิม บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งต่อมาแปรสภาพเป็น บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ยื่นคำขอประทานบัตร และได้รับประทานบัตร 2 ฉบับ ได้แก่ ประทานบัตรที่ 26922/15805 และประทานบัตรที่ 26920/15807 ออกเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2551 สิ้นอายุวันที่ 20 ก.ค.2571
เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2556 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจังหวัดที่จะทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่เพื่อออกโฉนด ปีงบฯ 2557 ซึ่งประกาศฯดังกล่าวกำหนดให้ จ.พิจิตร เป็นหนึ่งในจังหวัดที่จะทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดิน
ต่อมา กรมที่ดิน มีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามโครงการเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ประจำปีงบฯ 2557 โดยแต่งตั้ง สอาด กระจ่างพัฒน์วงษ์ นักวิชาการที่ดินชำนาญการ เป็นผู้อำนวยการศูนย์เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินจังหวัดพิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เพชรบูรณ์-นครสวรรค์
กัญจนา ดีอุดม นักวิชาการที่ดินชำนาญการ เป็นผู้กำกับการเดินสำรวจ , นิเวส เคนวิเศษ นายช่างรังวัดชำนาญงาน เป็นผู้กำกับการรังวัด ,วัลลภ เอี่ยมสุดแสง นายช่างรังวัดชำนาญการ เป็นเจ้าหน้าที่เดินสำรวจแผนที่ และ ธัญวรัตน์ โบแก้ว เจ้าพนักงานที่ดินชำนาญการ เป็นเจ้าหน้าที่สอบสวนสิทธิ
จากนั้นได้มีคำสั่งศูนย์ฯ ที่ 3/2556 เรื่อง จัดสายสำรวจออกปฏิบัติงานในพื้นที่ฯ แต่งตั้ง นิเวส เคนวิเศษ และ กัญจนา ดีอุดม รับผิดชอบควบคุมดูแล บังคับบัญชา และเร่งรัดการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สายสำรวจที่ 1-4 โดยสายสำรวจที่ 4 จะรับผิดชอบในท้องที่ อ.บางมูลนาก อ.ทับคล้อ อ.ตะพานหิน อ.เมือง จ.พิจิตร
ในขณะที่อำเภอทับคล้อ ได้แต่งตั้งตัวแทนผู้ปกครองท้องร่วมเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและสอบเขตที่ดิน มี กิติพงษ์ คงสวัสดิ์ กำนัน ต.เขาเจ็ดลูกขณะนั้น เป็นตัวแทนฯ ส่วน อบต.เขาเจ็ดลูก ได้มอบหมาย ยุทธกิจ กล่ำทวี หัวหน้าส่วนงานโยธา เข้าร่วมในการระวังชี้และลงชื่อรับรองแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ฯ
ต่อมา บมจ.อัครา รีซอร์สเซส โดย ไมเคิล แพทริค โมนากาน และ ปกรณ์ สุขุม ได้มอบอำนาจให้ อิสระพงษ์ เผือทะนา เข้าร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดิน ในการนำรังวัดปักเขตที่ดิน รับรองแนวเขตที่ดิน และแปลงข้างเคียงตามแปลงที่ดินไม่มีหลักฐาน ในท้องที่ หมู่ที่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร 2 แปลง ได้แก่
1.โฉนดเลขที่ 20996 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เนื้อที่ 13 ไร่เศษ และ 2.โฉนดเลขที่ 21037ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เนื้อที่ 2 ไร่เศษ โดยที่ดินที่ 2 แปลงดังกล่าว บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ได้ซื้อจากบริษัทแห่งหนึ่งเมื่อปี 2556 ขณะที่บริษัทเอกชนรายนี้ได้ซื้อที่ดินต่อมาจากผู้ครอบครองรายอื่นอีกทอดหนึ่ง
ต่อมาในเดือน เม.ย.2557 ได้มีประกาศฯ แจกโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงให้ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส
แต่ปรากฎว่าในอีกเกือบ 6 ปีต่อมา ได้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 824/2563 และที่ 825/2563 ลงวันที่ 13 มี.ค.2563 ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง เนื่องจากเป็นการออกโฉนดที่ดินทับพื้นที่ประทานบัตรที่ 26922/15805 และ26920/15807
@ที่ดินเขต‘ประทานบัตร’ ผู้ถือประทานบัตรไม่มีสิทธิครอบครอง
ทั้งนี้ จากการไต่สวนฯของคณะผู้ไต่สวนข้อเท็จจริงฯ ปรากฎข้อเท็จจริงใน 4 ประการ ว่า
ประการแรก บมจ.อัครา รีซอร์สเซสฯ ไม่มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20996 และโฉนดเลขที่ 21037 เนื่องจาก
กรณีโฉนดที่ดินเลขที่ 20996 แม้ที่ดินแปลงนี้จะเคยเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน น.ส.3 ที่อยู่ในการครอบครองของ นาง บ. และต่อมานาง บ. ได้นำที่ดินส่วนหนึ่งไปออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 5391 และ 53920 แล้วขายที่ดินมีโฉนดทั้ง 2 แปลง ให้ผู้ซื้อ 2 ราย นั้น
พบว่า นาง บ. ไม่ได้ขายที่ดินส่วนที่ยังไม่ได้ออกโฉนด ซึ่งต่อมาเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 20996 ให้แก่บุคคลใด
ส่วนกรณีที่ในปี 2526 ได้มีการออกประกาศให้ที่ดินบริเวณดังกล่าว เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ก่อนที่จะมีการปรับปรุงเขตปฏิรูปที่ดินในเวลาต่อมา ซึ่งมีผลทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่รกร้างว่างเปล่า นั้น
ไม่ได้ทำให้ บมจ.อัครา รีซอร์สเซสฯ มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงนี้ได้ เพราะในขณะนั้นที่ดินดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตประทานบัตรที่ 26922/15805 และ ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 73 (1) ได้กำหนดว่า 'ผู้ถือประทานบัตรไม่ให้ถือว่า เป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง'
กรณีโฉนดที่ดินเลขที่ 21307 เดิม นาง บ. ครอบครองที่ดินเป็นรายแรกและได้ก่นสร้างที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อปี 2515 แต่ภายหลังที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว นาง บ. ย่อมเป็นเพียงอยู่ในที่ดินโดยพลการเท่านั้น หาได้มีสิทธิครอบครองในที่ดินของรัฐไม่
นอกจากนี้ กรณีที่ในปี 2526 ได้มีการออกประกาศให้ที่ดินดังกล่าว เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ก่อนที่จะมีการปรับปรุงเขตปฏิรูปที่ดินในเวลาต่อมา ซึ่งมีผลทำให้ที่ดินแปลงนี้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า นั้น
ไม่ได้ทำให้ บมจ.อัครา รีซอร์สเซสฯ มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากในขณะนั้นที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตประทานบัตรที่ 26920/15807 ซึ่งตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 73 (1) กำหนดว่า ผู้ถือประทานบัตรไม่ให้ถือว่า เป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง
@เจ้าหน้าที่รัฐละเว้นปฏิบัติหน้าที่-'คนบ.อัคราฯ'ปกปิดข้อมูล
ประการที่ 2 เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถออกโฉนดที่ดินเลขที่ 20996 และโฉนดที่ดินเลขที่ 21307 ให้กับ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ได้ เนื่องจาก
การออกโฉนดที่ดินในเขตประทานบัตรที่ยังไม่สิ้นอายุนั้น แม้ว่าจะสามารถดำเนินการออกเอกสารสิทธิได้ แต่ที่ดินที่จะนำมาออกเอกสารสิทธินั้น ต้องเป็นที่ดินที่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนที่จะได้รับประทานบัตร
ส่วนกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 303/2559 ว่า สามารถออกเอกสารสิทธิในที่ดินที่อยู่ในพื้นที่เขตประทานบัตรได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการออกโฉนดที่ดินภายหลังจากที่ประทานบัตรที่สิ้นอายุแล้ว และมีบุคคลอื่นเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินภายหลังจากที่ประทานบัตรสิ้นอายุแล้ว
ประการที่ 3 เจ้าพนักงานที่ดิน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯ ในการตรวจสอบที่ดินที่ขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 20996 และโฉนดที่ดินเลขที่ 21307
กล่าวคือ แม้ว่าเจ้าพนักงานที่ดินที่ถูกกล่าวหา 5 ราย (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-5) ชี้แจงว่าไม่มีการลงรูปแปลงขอบเขตประทานบัตรในระวางแผนที่ เป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-5 ไม่ทราบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเขตประทานบัตรนั้น จะสามารถรับฟังได้
แต่เมื่อปรากฎว่า ที่ดินของผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 (บมจ.อัครา รีซอร์สเซส) มีรั้วล้อมรอบ ประกอบกับบุคคลทั่วไปทราบว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นของผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินการกิจการ คือ การประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและเงิน
แต่ผู้ถูกกล่าวหา หาได้สอบถามจากผู้นำเดินสำรวจหรือผู้ปกครองท้องที่ที่ร่วมลงพื้นที่เดินสำรวจว่า ที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตประทานบัตรหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ที่จะต้องทำการตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อนว่า เป็นพื้นที่ต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินหรือไม่
นอกจากนี้ ยุทธกิจ กล่ำทวี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ซึ่งได้รับมอบหมายให้ระวังชี้แนวเขตที่สาธารณประโยชน์ นั้น จากการไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่า ยุทธกิจ กล่ำทวี มิได้ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบในวันเดินสำรวจ แต่กลับลงชื่อร่วมตรวจสอบเดินสำรวจ
แม้ ยุทธกิจ กล่ำทวี จะอ้างว่ารู้จักพื้นที่ที่ออกโฉนดเป็นอย่างดี และไม่มีการรุกล้ำที่สาธารณประโยชน์แต่อย่างใด แต่การที่ ยุทธกิจ กล่ำทวี มิได้ร่วมตรวจสอบ แต่กลับรับรองว่าตนได้ร่วมตรวจสอบแล้ว จึงเป็นการรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ
ประการที่ 4 บมจ.อัครา รีซอร์สเซส มีการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประทานบัตร
กล่าวคือ อิสระพงษ์ เผือทะนา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ผู้นำเดินสำรวจ ทราบดีอยู่แล้วว่าพื้นที่ที่นำเดินสำรวจตั้งอยู่ในเขตประทานบัตร แต่กลับปกปิดข้อเท็จจริง ไม่ยอมแจ้งแก่เจ้าหน้าที่เดินสำรวจ เป็นเหตุให้มีการออกโฉนดในพื้นที่ประทานบัตร ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ประกอบ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 12 และมาตรา 74
@มติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดอาญา‘เจ้าหน้าที่รัฐ-บมจ.อัคราฯ’
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า
การกระทำของ สอาด กระจ่างพัฒน์วงษ์ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1) , กัญจนา ดีอุดม (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) , นิเวส เคนวิเศษ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) , วัลลภ เอี่ยมสุดแสง (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4) และ นวพร หรือธัญวรัตม์ โบแก้ว (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5)
มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาลสุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และมาตรา 157
และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 85 (1) และ (4)
การกระทำของ ยุทธกิจ กล่ำทวี (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7) จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า ได้กระทำความผิดทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่การกระทำของ ยุทธกิจ กล่ำทีวี (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7) มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล จังหวัดพิจิตร เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 28 ธ.ค.2544 ข้อ 5 วรรคหนึ่ง
การกระทำของ อิสระพงษ์ เผือทะนา (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8) , ปกรณ์ สุขุม (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9) และ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11)
มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
ส่วน กิติพงษ์ คงสวัสดิ์ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6) จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับ ไมเคิล เพทริค โมนากาน (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10) มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทย และยังไม่ทราบว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด หากรอให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาจะทำให้ไม่สามารถลงโทษผู้ถูกกล่าวหารายอื่นได้ จึงให้แยกเรื่องกล่าวหาและออกเป็นเลขคดีใหม่ โดยมอบหมายคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นคณะเดิมเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป
ทั้งนี้ ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ 1.สอาด กระจ่างพัฒน์วงษ์ 2.กัญจนา ดีอุดม 3.นิเวส เคนวิเศษ 4.วัลลภ เอี่ยมสุดแสง 5.นวพร หรือธัญวรัตม์ โบแก้ว 6.อิสระพงษ์ เผือทะนา 7.ปกรณ์ สุขุม และ 8.บมจ.อัครา รีซอร์สเซส
และส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับ สอาด กระจ่างพัฒน์วงษ์ ,กัญจนา ดีอุดม ,นิเวส เคนวิเศษ ,วัลลภ เอี่ยมสุดแสง ,นวพร หรือธัญรัตม์ โบแก้ว และยุทธกิจ กล่ำทวี ตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป
อนึ่ง การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยของคณะผู้ไต่ส่วนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดที่ดิน 2 แปลง ให้แก่ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ก่อนที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติเอกฉันท์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐ และบมจ.อัครา รีซอร์สเซส ร่วมกันกระทำความผิด และส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องต่อไป รวมทั้งลงโทษทางวินัยแก่ผู้เกี่ยวข้อง
อ่านประกอบ :
‘ป.ป.ช.’ชี้มูลความผิด‘จนท.รัฐ-บ.อัคราฯ’ คดีออกโฉนดรุกพื้นที่ป่าไม้-ส่งสำนวน‘อัยการ’แล้ว
‘ดีเอสไอ’ตั้งเรื่องสืบสวนฯ กรณีร้องเรียน‘บ.อัคราฯ’ทำสารพิษรั่วไหลออกนอกเหมืองทองคำปี 60
ไม่มีเหตุอันควร! แพร่คำสั่ง‘อัยการสูงสุด’ไม่อุทธรณ์ คดีเปลี่ยนแปลงแผนผังเหมืองทองอัคราฯ
ยกฟ้อง! อดีตอธิบดีกรมอุตฯ-พวก ไฟเขียว บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทอง- ป.ป.ช.ค้าน อสส.
DSI สั่งฟ้อง‘บ.อัคราฯ’ข้อหานอมินี-เครือข่ายปชช.จี้‘อัยการ’สาง 4 คดี ชี้ 4 ปีไม่คืบหน้า
ร้อง‘นายกฯ’ตรวจสอบ กรณี‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่รอบเหมืองทอง‘อัคราฯ’
ครม.รับทราบคืบหน้าเจรจา 'คิงส์เกต' ชี้สัญญาณดี ปมเหมืองทองอัครา
อภิปรายไม่ไว้วางใจ :‘จิราพร’ ย้ำปมเหมืองทองอัครา เตือน 9 ครั้ง ไม่ฟังทำชาติเสียหาย
กพร.แพร่งานวิจัยบ่อเก็กกากแร่ที่ 1 เหมืองทองอัครารั่ว กระทบแหล่งน้ำใต้ดินโดยรอบ