‘จิราพร’ อัด ‘ประยุทธ์’ ปมเหมืองทองอัครา ระบุหน่วยงานรัฐ-ส.ส.อภิปรายตักเตือนรวม 9 ครั้งตั้งแต่ปี 59 ให้เลิกม.44 และเปิดเวทีเจรจา แต่ไม่ฟัง จนเอกชนฟ้องอนุญาโตฯ ถึงขยับยอมถกด้วย ระบุเตรียมยื่น ป.ป.ช.ฟันนายกฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 กรณีสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 11 คน ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ ภายใต้ยุทธการณ์ ‘เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.2565 ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ 3 ของการอภิปราย
นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากากรระทรวงกลาโหม กรณีเหมืองทองอัคราว่า แม้คดีนี้จะถูกอภิปรายหลายครั้ง แต่เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด จึงต้องอภิปรายต่อไป ล่าสุด อนุโตตุลาการได้เลื่อนการอ่านคำชี้ขาดออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้ความเสียหายอาจจะบานปลายไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวการ
ดักคอ อย่าโยนบาปให้ทักษิณ
ก่อนอื่น อย่าโยนความผิดให้พรรคไทยรักไทย เพราะแม้จะมีการเริ่มผลิตทองคำเชิงพาณิชย์มนปี 2554 แต่จริงๆแล้ว บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทยตั้งแต่ปี 2536 และได้สิทธิ์สำรวจแร่และทำเหมือง 5 ฉบับตั้งแต่ปี 2537-2543 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพียงไปเปิดงานในปี 2544 เท่านั้น ศูนย์กลางปัญหาจึงเกิดจากการใช้ม. 44 ของพล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์มาสร้างปัญหาไม่ได้มาแก้ปัญหา
ทั้งนี้ ในการอภิปรายรอบที่แล้ว ได้แสดงหลักฐานหน่วยงานหลายแห่งคัดค้านการใช้ม. 44 เพราะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า การทำเหมืองมีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ฟัง ลุแก่อำนาจใช้ม. 44 จนถูกต่างชาติฟ้องร้อง และจากการสืบค้นเพิ่มเติม พบว่า มีหน่วยงานตักเตือนอีกหลายครั้ง และเสนอความเห็นเพื่อป้องกันความเสียหายด้วย
โดยหลังจากปิดเหมืองเมื่อปี 2559 บจ. คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ขอเจรจา ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานอัยการสูงสุด เห็นตรงกันว่า ควรเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาท เพราะไทยมีโอกาสแพ้คดีสูงมากและต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นวงเงินที่มาก เนื่องจากยังไม่พบว่า ผู้ประกอบการทำผิดละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย แต่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ฟังไม่ยอมเจรจา จนสุดท้าย คิงส์เกตก็ฟ้องร้องในปี 2560
และมีบุคคลลึกลับ 2 คน คือ รองนายกรัฐมนตรี 1 ท่านเชี่ยวชาญด้านกฎหมายอย่างดี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 1 ท่าน ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งใหม่ และทั้ง 2 คนไม่มีรายชื่อในคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ไม่ปรากฎในรายงานการประชุม แต่รับคำสั่งพล.อ.ประยุทธ์ไปนั่งหัวโต๊ะการประชุม ทำให้ขาดอิสระในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
เปิดหนังสือลับ อัยการสูงสุด
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงไม่ละความพยายามในการบรรเทาความเสียหาย โดยมีเอกสารลับจากองค์กรอิสระแห่งหนึ่ง ซึ่งตนจะใช้เอกสารนี้ดำเนินคดีกับพล.อ.ประยุทธ์ด้วย เอกสารลับนี้ยาว 5 หน้า ร่างโดยสำนักงานอัยการสูงสุด ส่งถึงพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี เอกสารนี้มีชื่อว่าเอกสารลับด่วนที่สุด เรื่องแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างคิงส์เกตและไทย อัยการสูงสุดให้ข้อสังเกตว่า ให้ยกเลิกคำสั่งม.44 ที่ 72/2559 โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 ของคำสั่งเดียวกัน เพื่อคืนสิทธิ์และประโยชน์ต่างๆให้ผู้ประกอบการ พร้อมชดเชยให้เอกชนด้วยการขยายเวลาสัมปทานออกไป
“อยากถามท่านว่า เคยเห็นหนังสือฉบับนี้ไหม ได้อ่านบ้างหรือยัง ทำไมท่านไม่ฟังคำทัดทาน แต่สันนิษฐานว่า อาจจะไม่เคยอ่าน เพราะเคยภาพท่านเปิดอ่านเอกสารที่เป็นกระดาษเปล่า หากยังไม่อ่านจะส่งผ่านท่านประธานให้ได้อ่าน แล้วทีหลังอย่าทำ ถ้าอ่านแล้วสงสัยก็ถามดิฉันได้” น.ส.จิราพรกล่าว
หลังการเลือกตั้งปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง 3 ปีที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยเปิดโปงประเด็นนี้ 5 ครั้งแล้ว แต่พล.อ.ประยุทธ์ยังเพิกเฉย จนปัญหาซับซ้อนมากขึ้น แม้จะสามารถยกเลิกคำสั่งนี้ตามมาตรา 279 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ตาม หากรวบรวมการตักเตือนของหน่วยงานต่างๆ เตือนทั้งหมด 9 ครั้งด้วยกัน (ภาพด้านล่าง) เท่ากับตั้งแต่ปี 2559 มีการแจ้งเตือนทุกปี เท่ากับพล.อ.ประยุทธ์จงใจทำผิดซ้ำซาก และจะหนีความผิดด้วยการเอาสมบัติของชาติไปประเคนให้บริษัทเอกชนด้วย
ซึ่งความเสียหายที่จะตามมาหลังจากนี้ คือ ค่าใช้จ่ายในการระงับข้อพิพาทปีงบประมาณ 2560-2564 รวม 731 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้เมื่อปี 2561 ประกอบด้วย ค่าจ้างที่ปรึกษากฎหมาย วงเงิน 518 ล้านบาท, ค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ วงเงิน 99 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการ 25 ล้านบาท, ค่าประชุมคณะกรรมการระงับข้อพิพาท 4 ล้านบาท และอื่นๆ , ค่าภาคหลวงของรัฐหายไป 600 ล้านบาท/ปี หรือรวม 4 ปี 2560-2564 ที่ 3,000 ล้านบาท และหากไทยแพ้คดีจะเสียค่าเสียหายขั้นต่ำ 720 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าประกันความเสียหายจากความเสี่ยงทางการเมือง 55 ล้านเหรียญสหรัฐที่คิงส์เกตทำกับบริษัทประกันไว้ ซึ่งบริษัทประกันอาจจะไล่บี้เอากับรัฐบาลได้
ยอมเจรจาจนเสียเปรียบ ถึงขั้นล้มคดีให้
น.ส.จิราพร เปิดหนังสือลับของกระทรวงอุตสาหกรรม ช่วงเดือน ก.พ. 2563 ทำขึ้นหลังจากการสืบพยานที่สิงคโปร์แล้วเสร็จ โดยที่ปรึกษาทางกฎหมายตั้งข้อสังเกตว่า อนุญาโตตุลาการให้ทั้ง 2 ฝ่ายทำแบบจำลองค่าเสียหาย แสดงว่าต้องมีการชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งอัคราจะทำหรือไม่ทำเหมืองทอ ไทยก็ต้องจ่ายอยู่ดี จากจุดนี้จึงนำมาสู่การเจรจาที่โรงแรมเดอะสุโกศล โดยคิงส์เกตมีข้อเสนอ 11 ข้อ ซึ่งข้อเรียกร้องทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์นี้มีความคล้ายคลึงกัน แล้วทำไม พล.อ.ประยุทธ์ไม่เจรจาตั้งแต่ปี 2560 ทำไมปล่อยให้คิงส์เกตฟ้องอนุญาโตตุลาการ จนสุดท้ายเสี่ยงจะแพ้คดี แล้วถึงค่อยกลับมาดำเนินการ
นอกจากนั้น จากข้อเสนอของคิงส์เกต รัฐบาลรับข้อเสนอในการต่ออายุ คำขอใบอนุญาตการสำรวจให้ จากเดิมที่คิงส์เกตมีที่สำรวจแร่เพียง 3,000 ไร่ แต่รัฐบาลอนุมัติให้จำนวน 44 แปลง รวม 397,226 ไร่ เมื่ออนุมัติแล้วทนายของคิงส์เกตส่งอีเมล์ถึงอนุญาโตตุลาการ โดยได้แจ้งถอนการเคลมค่าเสียหาย เพราะไทยอนุมัติให้เอาผงทองคำผงเงิน 8.8 ล้านเหรียญสหรัฐไปขายได้ และการให้ที่ 44 แปลง ยังไม่ทำให้คิงส์เกตพอใจ เพราะอัครายังไม่ได้รับการเปิดให้เข้าไปทำเหมืองชาตรีที่ถูกปิดในปี 2560 จำนวน 4 แปลง สุดท้ายรัฐบาลก็ยอมเปิดให้เข้าไปทำด้วย และให้คิงส์เกตได้กู้เงินจำนวน 500 ล้านบาทกับธนาคารแห่งหนึ่ง เพื่อเข้าไปปรับพื้นที่ให้ทันเปิดทำการได้ในปลายปีนี้
และยังมีการต่อรองให้แก้ปัญหาทางกฎหมายทั้งหมด คือ การให้ ป.ป.ช., กรมการสอบสวนคดีพิเศษ, ปปง. และกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ยุติการดำเนินคดีที่กำลังตรวจสอบ บมจ.อัคราด้วย ซึ่งมีแนวโน้มว่าไทยจะเอาด้วย เพราะมีการส่งข้อมูลล่าช้าให้กรมสอบสวนคดีพิเศษในบางคดี หากไทยยอมรับข้อเสนอนี้ จะเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ-นิติธรรม มีแต่ข้อเจรจาที่ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์เลย และคดีเหมืองทองอัครา ประเทศไทยแพ้คดีนี้แน่นอน
“สรุปแล้วถ้าไทยแพ้คดี พล.อ.ประยุทธ์ จะรับมืออย่างไร จ่ายเป็นเงินหรือทองคำ หรือใช้ทรัพย์สมบัติแผ่นดินไปจ่ายเอง รวมต้องรับข้อเสนอของคิงส์เกตทั้งหมดหรือไม่ ต้องดำเนินการล้มคดีความอื่นด้วยหรือไม่ และตัวพล.อ.ประยุทธืจะรับผิดชอบอย่างไร ตอบมาให้ชัดๆ ถ้าตอบโต้ว่าไม่ได้ทำผิด ใช้ม.44ปิดเหมือง เพราะคำนึงถึงระบบสุขภาพ และแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมา และอย่าอ้างว่าเงินที่ชดใช้ค่าเสียหายไปใช้หนี้จำนำข้าว ถามอะไรรัฐบาลนี้มักจะอ้างแต่จำนำข้าวจนดิฉันสงสัยว่า ถ้าไม่มีรัฐบาลที่แล้วคนที่เสียหายที่สุดน่าจะเป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะไม่มีอะไรใช้ในการอ้างตอบคำถามสภา และจะนำเรื่องนี้ยื่นป.ป.ช. เพื่อเอาผิดด้วย” น.ส.จิราพรระบุช่วงท้าย
'สุริยะ'ยันทนายฝ่ายไทยประเมินผลคดีชนะ 66% แพ้ 34%
ต่อมาเมื่อเวลา 20.20 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กรณีปิดเหมืองทองอัครา โดยนายสุริยะ ได้เริ่มต้นด้วยการเปิดคลิปวิดีโออธิบายที่มาของการใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 แก้ปัญหาเหมืองแร่ทองคำ โดยระบุว่าเป็นเรื่องที่มีประชาชนร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองมาตั้งแต่ปี 2557 กระทั่งมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบ และมีคำสั่งปิดเหมืองในที่สุด
นายสุริยะ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ใช้เวลาตรวจสอบอย่างรอบคอบถึง 3 ปี ก่อนใช้ ม.44 ตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนกรณีที่ น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อ้างว่า เห็นเอกสารที่กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ทักท้วงการออกคำสั่งดังกล่าว แต่นายกรัฐมนตรีไม่รับฟังและฝืนออกคำสั่งเป็นการพูดความจริงครึ่งเดียว เพราะเอกสารฉบับดังกล่าวมีข้อความที่บอกด้วยว่า หากมีความจำเป็นที่ต้องบังคับใช้ ม.44 การบังคับใช้ต้องเป็นไปเพื่อการป้องกันรักษาสุขภาพประชาชน และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งกรณีนี้เข้าเงื่อนไขว่าเป็นการออกคำสั่งที่คำนึงถึงสุขภาพประชาชนเป็นสำคัญ
ส่วนประเด็นที่ น.ส.จิราพร อภิปรายว่า บริษัททนายฝ่ายไทย ประเมินว่าฝ่ายไทยแพ้คดีแน่นอน ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เพราะหนังสือฉบับดังกล่าว ตนได้รายงานสถานการณ์ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ และทนายฝ่ายไทยประเมินว่ามีโอกาสชนะคดี 66% และมีโอกาสแพ้คดีแค่ 34% ไม่ใช่แพ้คดีแน่นอนตามที่ น.ส.จิราพร กล่าวอ้าง
กรณี น.ส.จิราพร อ้างถึงหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) มีหนังสือทักท้วงและเสนอให้ยกเลิก ม.44 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ฟังนั้น ขอเรียนว่า หนังสือดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมไม่เคยได้รับ แต่เท่าที่เห็นรูปแบบหนังสือตามสไลด์ที่ น.ส.จิราพรนำเสนอ น่าจะเป็นหนังสือที่ส่งกันภายในหน่วยงาน เพราะเป็นบันทึกข้อความ ไม่ใช่หนังสือทางการออกจาก อสส. และไม่ทราบว่าเป็นหนังสือส่งถึงคณะทำงาน ไม่ใช่กราบเรียนนายกรัฐมนตรี จึงสันนิษฐานว่าเป็นหนังสือหารือความเห็นภายในหน่วยงานซึ่งอาจจะยังไม่ได้ข้อยุติ
นายสุริยะ กล่าวด้วย่วา นอกจากนี้ ที่อ้างว่ามีไอ้โม่ง 2 คน สั่งการและเข้ามาควบคุมการแก้ปัญหา ทั้งที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด เข้าใจว่าหมายถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งการให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ถือเป็นผลดีต่อการดำเนินการฝ่ายไทย ไม่เห็นว่าจะเสียประโยชน์หรือแทรกแซงการทำงานแต่อย่างใด