เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา 'สมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์' อดีตอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานการเหมืองแร่- พวก 5 ราย อนุญาตให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือไม่เป็นไปตามรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อม ปล่อยให้ก่อสร้างขยายโรงงานติดตั้งเครื่องจักรจนแล้วเสร็จ ช้งานเดินเครื่องทดลองโดยมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนกม. - ป.ป.ช.ค้าน อสส. ไม่อุทธรณ์สู้ต่อ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานการเหมืองแร่ กับพวก คือ นายสัจจาวุธ หรือจิณณะ นาคนิยม นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ นายคันธศักดิ์ แข็งแรง บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) นายปกรณ์ สุขุม อนุญาตให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือไม่เป็นไปตามรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อม และปล่อยให้ก่อสร้างขยายโรงงานติดตั้งเครื่องจักรจนแล้วเสร็จ และใช้งานหรือเดินเครื่องทดลองการผลิตในส่วนที่เป็นโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) โดยมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลย
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 พิจารณาแล้ว มีมติไม่เห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในส่วนที่พิพากษายกฟ้อง
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่งเกี่ยวกับ คดีนี้ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2563 นายวรวิทย์ สุขบุญ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดแถลงข่าวชี้มูลความผิดนายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ กับพวกรวม 6 ราย กรณีอนุญาตให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือโดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนดังกล่าว เป็นทางการ
ระบุว่าจากพยานหลักฐานข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การพิจารณาอนุญาตของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 ที่ให้บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมือง ซึ่งรวมถึงการย้ายตำแหน่งที่ตั้งบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดำเนินการ ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยการปฏิบัติหรือละเว้นไม่สั่งการตามอำนาจหน้าที่ให้บริษัทฯ เสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพร้อมกับมาตรการป้องกันที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบด้านสิ่งแวดล้อมก่อนอนุญาตให้บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงแผนผังในวันที่ 11 มี.ค. 2554 ตามที่มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดไว้
กระทำการโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงขนาดบ่อกักเก็บกากแร่ที่ใหญ่กว่าเดิม และเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานที่ก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) ทั้งที่บ่อกักเก็บกากแร่ มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นสถานที่ทิ้งกากแร่ในการประกอบโลหกรรมซึ่งมีสารไซยาไนด์และสารเคมีต่างๆ ในการประกอบโลหกรรม และมีขนาดพื้นที่กว่า 1,351 ไร่ โดยเปลี่ยนไปก่อสร้าง ณ สถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทราย ซึ่งเป็นสถานที่ที่เกี่ยวกับขั้นตอนการ ทำเหมือง เช่น การเปิดเปลือกดินและขุดตักสินแร่ทองคําที่เป็นเพียงสถานที่เก็บเศษหิน ดิน ตะกอน ในการขุดเจาะเหมืองเท่านั้น เห็นได้ชัดว่าสถานที่ทั้งสองแห่งมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญของการใช้งานและผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ย่อมแตกต่างกัน ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม แหล่งน้ำ พื้นที่ทำกิน ที่ตั้งชุมชน และวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ที่ผู้พิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมใช้ในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้สถานที่ทั้งสองแห่งดังกล่าว เป็นการกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด สามารถเริ่มกระบวนการก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) หลังจากได้รับอนุญาตในทันทีเพื่อให้แล้วเสร็จได้ทันรองรับกากแร่จากบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 1 ที่กำลังจะปิดตัวลงเนื่องจากได้พัฒนามาจนถึงที่ได้ยื่นแบบอนุมัติไปแล้ว อันเป็นการลดความเสี่ยงในการประกอบโลหกรรมของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งหากกระบวนการก่อสร้างและเปิดใช้งานบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันเพื่อรองรับกากแร่ต่อจากบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 1 (TSF1) จะทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการประกอบโลหกรรมซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งอาจทำให้ทางบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ไม่สามารถดำเนินกระบวนการประกอบ โลหกรรมต่อไปได้ และจงใจหลีกเลี่ยงขั้นตอนการตรวจสอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบและมีความเชี่ยวชาญในการพิจารณา ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน มิให้มีโอกาสได้เสนอความเห็นและเพิ่มมาตรการต่างๆ ตามข้อเท็จจริงที่จะได้จากการตรวจสอบ
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว อาจสร้างความเสียหายให้เกิดแก่สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างร้ายแรงได้ เพราะเมื่อขนาดและสถานที่ก่อสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หรือแตกต่างไปจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับเดิมที่เคยได้รับความเห็นชอบไว้ และเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบราชการ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ และสำนักงานนโยายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของนายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ นายสัจจาวุธ นาคนิยม ผู้อำนวยการสำนักการอนุญาต นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม และนายคันธศักดิ์ แข็งแรง วิศวกรเหมืองแร่ชำนาญการ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (1) ส่วนการกระทำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และนายปกรณ์ สุขุม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด มีมูลความผิดทางอาญา ฐานสนับสนุน ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ส่วนนายกำภู คุณารักษ์ วิศวกรชำนาญการ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ทั้งนี้ ในระหว่างการแถลงข่าวมีการถามถึง กรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ส่งข้อมูลและหลักฐานที่ได้รับจาก Australian Securities and Investment Commission (ASIC) กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย ผู้ถูกกล่าวหา เรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้กลุ่มบริษัท คิงส์เกต ได้ประโยชน์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ จ.สระบุรี จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก โดยมิชอบนั้น นายวรวิทย์ ตอบว่า เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวน และตรวจสอบเส้นทางการเงิน คณะอนุกรรมการไต่สวนฯยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
ปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันความคืบหน้าการไต่สวนคดีนี้ เป็นทางการออกมา