‘อธิบดีดีเอสไอ’ สั่งตั้งเรื่องสืบสวน กรณี ‘กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรฯ’ ร้องเรียน ‘บ.อัคราฯ’ ทำสารพิษรั่วไหลออกนอกเหมืองทองคำ เมื่อปี 2560
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีคำสั่งให้ทำการสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีที่มีการกล่าวหาว่า บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ครอบครองสารพิษอันตราย ได้ทำให้สารพิษดังกล่าวรั่วไหลออกสู่ภายนอกพื้นที่ทำเหมือนแร่ทองคำ โดย DSI รับกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องสืบสวนที่ 11/2566 และขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวน
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ยื่นเรื่องร้องเรียน โดยขอให้ DSI สอบสวนและดำเนินคดีกับ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กรณีบริษัทฯได้ทำให้สารพิษรั่วไหลออกสู่ภายนอกพื้นที่ทำเหมือนแร่ ทั้งนี้ DSI ได้ตั้งเป็นเรื่องสืบสวนเลขที่ 63/2563 และเรื่องสืบสวนเลขที่ 249/2563
ต่อมาวันที่ 30 ก.ย.2565 DSI ทำหนังสือแจ้งกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรฯ ว่า อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้อนุมัติให้ยุติเรื่องสืบสวนเลขที่ 63/2563 เนื่องจากยังไม่พบมูลความผิดทางอาญาที่ชัดเจนที่จะรับเป็นคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
และอนุมัติให้ยุติเรื่องสืบสวนเลขที่ 249/2563 เนื่องจากผลการสืบสวนพบว่า ยังไม่มีข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่าการประกอบกิจการเหมืองทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนรอบเหมือง ประกอบกับยังไม่ปรากฏหลักฐานทางการแพทย์ว่า การเจ็บป่วยของประชาชนเกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรฯ ได้ทำหนังสือ 2 ฉบับ ได้แก่ หนังสือลงวันที่ 19 ต.ค.2565 และหนังสือลงวันที่ 27 ธ.ค.2565 ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และรมว.ยุติธรรม คัดค้านกรณีที่ DSI ยุติเรื่องสืบสวนเลขที่ 63/2563 และเรื่องสืบสวนเลขที่ 249/2563 เพราะเห็นว่า DSI ทำการสืบสวนไม่ตรงประเด็น และเป็นการใช้ดุลพินิจยุติเรื่องสืบสวนโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อรูปคดีสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เนื่องจากทางกลุ่มฯ ขอให้สอบสวนกรณีบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งครอบครองสารพิษ ได้มีการทำให้สารพิษรั่วไหลออกนอกพื้นที่ทำเหมืองทองหรือไม่ ไม่ได้ต้องการให้พิสูจน์ทราบว่าสารพิษเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยหรือไม่
ขณะเดียวกัน กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรฯ ได้ส่งข้อมูลหลักฐานที่ชี้ว่า บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) อาจมีการทำสารพิษรั่วไหลออกนอกพื้นที่ทำเหมืองทองคำ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 237 และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ฯ
ได้แก่ เอกสารข่าวของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2561 ที่ระบุว่า ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ พบว่าบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มีการรั่วไหล
และรายงานผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำรอบพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2560 ซึ่งสรุปเป็นเอกสารในเดือน ธ.ค.2560 โดยพบว่า คุณภาพน้ำรอบพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำฯ มีค่าแมงกานีสเกินมาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดินทุกจุด ,จุดที่ 2 ป่าบัวพบว่านิกเกิล ตะกั่ว และสังกะสี เกินมาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดินที่กำหนดไว้ เป็นต้น
กระทั่งต่อมาในวันที่ 24 ก.พ.2566 พ.ต.ท.อมร หงส์ศรีทอง ผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำหนังสือแจ้งความคืบหน้ากรณีการดำเนินการกรณีร้องเรียนว่า บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด มีการทำสารพิษรั่วไหลออกสู่ภายนอกพื้นที่ทำเหมือนแร่ทองคำ เป็นหนังสือที่ ยธ 0809/167
โดยมีเนื้อหาว่า กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอเรียนว่ากรณีดังกล่าว อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีคำสั่งให้ทำการสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยรับเป็นเรื่องสืบสวนที่ 11/2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวน หากผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป
อ่านประกอบ :
ไม่มีเหตุอันควร! แพร่คำสั่ง‘อัยการสูงสุด’ไม่อุทธรณ์ คดีเปลี่ยนแปลงแผนผังเหมืองทองอัคราฯ
ยกฟ้อง! อดีตอธิบดีกรมอุตฯ-พวก ไฟเขียว บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทอง- ป.ป.ช.ค้าน อสส.
DSI สั่งฟ้อง‘บ.อัคราฯ’ข้อหานอมินี-เครือข่ายปชช.จี้‘อัยการ’สาง 4 คดี ชี้ 4 ปีไม่คืบหน้า
ร้อง‘นายกฯ’ตรวจสอบ กรณี‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่รอบเหมืองทอง‘อัคราฯ’
ครม.รับทราบคืบหน้าเจรจา 'คิงส์เกต' ชี้สัญญาณดี ปมเหมืองทองอัครา
อภิปรายไม่ไว้วางใจ :‘จิราพร’ ย้ำปมเหมืองทองอัครา เตือน 9 ครั้ง ไม่ฟังทำชาติเสียหาย
กพร.แพร่งานวิจัยบ่อเก็กกากแร่ที่ 1 เหมืองทองอัครารั่ว กระทบแหล่งน้ำใต้ดินโดยรอบ