‘ศักดิ์สยาม’ ยื่น ‘ชวน’ คัดค้านส่งเรื่องให้ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ วินิจฉัยความเป็น ‘รัฐมนตรี’ สิ้นสุดหรือไม่ ชี้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย-จงใจใช้ ‘ประธานสภาฯ-ศาลฯ’ เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง
.....................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อชาติ เข้ายื่นคำร้องถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอคัดค้านกรณีขอให้เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 โดยมีเนื้อหา ดังนี้
“ข้าพเจ้านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้คัดค้าน ขอคัดค้านคำร้องของผู้ร้อง กรณี ร้องขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้คัดค้านสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 โดยมีเหตุผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังจะกราบเรียนต่อไปนี้
ผู้ร้องได้บรรยายคำร้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ก่อนผู้คัดค้านเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (วันที่ 10 กรกฎาคม 2562) ผู้คัดค้าน เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ประกอบกิจการ การรับเหมาก่อสร้าง และเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ประกอบกิจการ โรงโม่หิน
โดยผู้คัดค้านได้โอนหุ้นท้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 และได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 โดยผู้คัดค้านก็ไม่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นกรรมการในรายการจดทะเบียนของนิติบุคคลที่กล่าวมาอีกต่อไป
ข้อเท็จจริงนี้ปรากฏตามหลักฐานของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องกลับอ้างข้อเท็จจริงที่ไม่มีอยู่จริงอันขัดแย้งกับเอกสารมหาชนมาใช้เป็นเหตุในการเสนอเรื่องร้องผู้คัดค้านในครั้งนี้ว่า การโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ข้างต้น เป็นนิติกรรมอำพราง เป็นการแสดงเจตนาลวง เพื่อหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ที่กำหนดห้ามผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นหุ้นส่วน หรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้
คำกล่าวอ้างดังกล่าวล้วนเป็นเพียงข้อสงสัยของผู้ร้องแต่เพียงฝ่ายเดียว และยังไม่มีข้อยุติตามกฎหมาย อันจะนำมาเป็นเหตุในการยื่นร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้เสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 ได้
กล่าวคือ ผู้ร้องก็รู้ดีว่า ผู้ร้องได้เคยไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 เรื่องให้ตรวจสอบ บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้คัดค้าน ที่มีมูลน่าเชื่อว่าเป็นเท็จ กรณีที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยมีเนื้อหาคำร้องในทำนองเดียวกันกับคำร้องของผู้ร้องในเรื่องนี้
คำร้องของผู้ร้องดังกล่าว ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 จนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะได้มีมติในมูลคำร้องว่า ผู้คัดค้านได้กระทำการโดยผ่าฝืนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 หมวด 6 การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม มาตรา 126 (2) แต่อย่างใด
ผู้คัดค้านขอกราบเรียนต่อไปว่า โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2561 มาตรา 170 (5) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 187 คือ จะต้องปรากฎข้อเท็จจริงอันเป็นยุติจนสิ้นสงสัยเสียก่อนว่า รัฐมนตรีได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือยังคงไว้ ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทอยู่ต่อไป
ดังนั้น เมื่อได้ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามหลักฐานของผู้ร้องเองว่า ผู้คัดค้านมิได้มีชื่อปรากฏเป็นผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และมิได้คงไว้ในความเป็นหุ้นส่วนของห้างฯ ดังกล่าว และมิได้เป็นกรรมการหรือมีหุ้นในบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด จึงต้องถือว่า ผู้คัดค้านมิได้ถือหุ้นหรือคงหุ้นในนิติบุคคลทั้งสองแห่งดังกล่าวตามที่ผู้ร้องอ้างเหตุตามข้อสงสัย
จากข้อเท็จจริงข้างต้นจะเห็นได้ว่า การใช้สิทธิร่วมกันเข้าชื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 ได้ นั้น อย่างน้อยผู้ร้องต้องมีพยานหลักฐานที่บ่งชี้เป็นประจักษ์ว่า ผู้คัดค้านมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น หรือยังคงไว้ในหุ้น หรือยังคงเป็นกรรมการในนิติบุคคลอยู่เข้ามาประกอบด้วย ซึ่งหากตรวจพยานหลักฐานของผู้ร้องตามสิ่งที่ผู้ร้องส่งมาด้วยทั้ง 19 ฉบับ ก็จะเห็นว่าผู้ร้องไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะใช้ประกอบการพิจารณาคำร้องนี้ได้เลย
ผู้คัดค้านขอกราบเรียนว่า การยื่นคำร้องของผู้ร้อง โดยรู้หรือควรจะรู้อยู่แล้วว่า เหตุที่ผู้ร้องนำมาใช้สิทธินี้ไม่ใช่เหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตราดังกล่าวกำหนดไว้ และรู้ดีว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการไต่สวนว่า ผู้คัดค้านยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือถือหุ้นในนิติบุคคลตามคำร้องหรือไม่ เพราะผู้ร้องรู้ดีว่าหน้าที่การไต่สวนในมูลเหตุที่ร้องในครั้งนี้ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561
และผู้ร้องยังทราบดีว่าการจะพิพากษาชี้ขาดในเรื่องที่ผู้ร้องได้ร้องนี้ อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ประการสุดท้าย ผู้ร้องรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธินำประเด็นที่ยังไม่มีข้อยุติมาร้องผู้คัดค้าน เนื่องจากเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ได้ยื่นร้องไว้ต่อคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้ว
ดังนั้น การที่ผู้ร้องนำประเด็นซึ่งไม่ใช่เหตุที่รัฐธรรมนูญตามมาตราดังกล่าวกำหนดไว้ อันจะทำให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรสามารถเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้มายื่นร้องผู้คัดค้านในครั้งนี้
จึงเป็นการใช้สิทธิทางรัฐสภาโดยไม่สุจริต เพราะจงใจกระทำการในลักษณะใช้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้คัดค้าน เพื่อหวังประโยชน์ในทางการเมืองของผู้ร้อง และจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อใส่ความผู้คัดค้านโดยเจตนาทุจริต ทำให้ผู้คัดค้านได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เดือดร้อนรำคาญ ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการปกป้องสิทธิโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านไม่ให้เสียไป
ประการสำคัญ คือ ความจริงแล้วผู้ร้องมิได้หวังผลอันเป็นธรรมดาแห่งการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อต่อประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง อาศัยเหตุผลดังที่กราบเรียนมาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้างต้นนี้ จึงขอกราบเรียนมายังท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรได้โปรดเพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรม คุ้มครองและป้องกันการยื่นร้องเพื่อกลั่นแกล้งผู้คัดค้าน โดยมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง”
อ่านประกอบ :
คลี่12ปมส่อขายหุ้นให้นอมินี! เปิดคำร้องส่ง'ศาล รธน.'วินิจฉัย'ศักดิ์สยาม'พ้น‘รมต.’หรือไม่
ปย.ขัดกัน! ฝ่ายค้าน'ยื่น‘ชวน’ส่ง‘ศาล รธน.’วินิจฉัย‘ศักดิ์สยาม’สิ้นสภาพ‘รมต.-ส.ส.’หรือไม่
‘สภา’ ตีกลับหนังสือฝ่ายค้านยื่น ‘ชวน’ ชงศาลรธน.ถอดถอน ‘ศักดิ์สยาม’
ภูมิใจไทย อัดฝ่ายค้าน ถอดถอน ‘ศักดิ์สยาม’ ใช้สิทธิไม่สุจริต - เป็นเกมการเมือง
หจก.บุรีเจริญฯ สินทรัพย์ 205 ล้าน ไฉน!‘ศักดิ์สยาม’ ขายให้เพื่อน 119 ล.
4 ปีหลัง ‘ศักดิ์สยาม’ ขายกิจการให้เพื่อน 119 ล. ! หจก.บุรีเจริญฯ รายได้ 2,012 ล.
เอื้องบบุรีรัมย์-เอี่ยวผู้รับเหมา! พรรคร่วมฝ่ายค้าน ลุยยื่นคำร้องถอดถอน 'ศักดิ์สยาม'
ย้อนดูข้อมูลอิศรา คุ้ย 'หจก.บุรีเจริญฯ' ก่อน ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ 'ศักดิ์สยาม'
อภิปรายไม่ไว้วางใจ :'ศักดิ์สยาม-อนุทิน'เผยสเตทเม้นท์ หจก.บุรีเจริญ โอนหุ้น 2 ปีก่อน ลต.