“สมมติว่าเงินเดือนครู 30,000 บาท ต้องกันให้เหลือ 30% คิดเป็น 9,000 บาท ฉะนั้นเงินที่ตัดจ่ายหนี้ได้ เท่ากับ 21,000 บาท และเมื่อนำยอดเงิน 21,000 บาท เมื่อนำมาคำนวณระยะเวลาผ่อนจ่าย 20 ปี ยอดหนี้ที่จะสามารถกู้ได้โดยหักจ่ายจากเงินเดือนจะอยู่ที่ 2.93 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าครูกู้ไปแล้ว 3-4 ล้านบาท จึงทำให้เกิดปัญหาเพราะไม่มีการควบคุมยอดหนี้ที่ครูแต่ละคนกู้ได้”
‘หนี้ครู’ หรือ หนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นปัญหาที่อยู่ต่อเนื่องมาทุกยุคทุกสมัย และเป็นปัญหาเรื้อรัง เหมือนดินพอกหางหมูที่ทุกรัฐบาลให้ความสนใจ
ปัจจุบัน ครูทั่วประเทศประมาณ 9 แสนราย คิดเป็น 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท
โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 64% รองลงมา คือ ธนาคารออมสิน วงเงิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25% และอีก 11% เป็นของสถาบันการเงินอื่นๆ แบ่งเป็น ธนาคารกรุงไทยประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้พูดคุยกับ ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงสาเหตุว่า ทำไมการแก้ไขปัญหาหนี้ครูจึงมีความสำคัญและเป็นวาระที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน มีรายละเอียด ดังนี้
ประเด็นที่ 1 เงินเดือนที่ครูได้รับหลังจากการหักชำระหนี้ในแต่ละเดือน (residual income) เหลือไม่เพียงพอสำหรับใช้ดำรงชีพ
ดร.ขจร กล่าวว่า ครูทั่วประเทศประมาณ 9 แสนราย คาดว่า มีครูไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือหลายหมื่นราย และจากการสำรวจพบว่า ครูครึ่งหนึ่งของการสำรวจ มีเงินเดือนเหลือหลังจากการหักชำระหนี้ต่ำกว่า 30% ของเงินเดือน และเคยพบต่ำสุดเหลือเงินเดือนเพียง 34 บาท
"โดยปกติแล้ว เงินเดือนหลังจากหักชำระหนี้ควรที่จะเหลือ 40-50% ไว้สำหรับใช้จ่ายดำรงชีพและการออม แต่จากข้อมูลจากเขตพื้นที่การศึกษาชี้ว่าครูประมาณ 1 ใน 4 มีเงินเหลือใช้หลังจากจ่ายหนี้แล้วไม่ถึง 30%"
นอกจากนี้ ข้อมูลที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างครูหลายหมื่นราย พบว่า ครูมากกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่าง มีเงินเดือนเหลือไม่ถึง 30% เพราะนอกจากหนี้ที่หักโดยตรงจากเงินเดือนแล้ว ครูยังมีหนี้อื่นที่ยังต้องจ่ายอีก เช่น หนี้บัตรเครดิตและหนี้นอกระบบ
ถ้าดูรายละเอียดลึกลงไปจะพบว่า ครูจำนวนไม่น้อยมีเงินเดือนเหลือใช้ หลังจากจ่ายหนี้แล้วไม่ถึง 10% ของเงินเดือน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สมมุติครูมีเงินเดือน 50,000 บาท แต่หลังจาก หักชำระหนี้แล้ว จะมีเงินเหลือใช้ไม่ถึงเดือนละ 5,000 บาท เฉลี่ยวันละ 166 บาท หรือถ้าครูเงินเดือน 30,000 บาทก็จะมีเงินเดือนเหลือใช้ไม่ถึง 3,000 บาท เฉลี่ยน้อยกว่าวันละ 100 บาท
สำหรับหลักเกณฑ์ปัจจุบันของการกู้ยืมสหกรณ์ระบุว่า จะต้องมีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% ถึงจะสามารถกู้ยืมได้ ดร.ขจร กล่าวว่า เนื่องจากหนี้สินเงินกู้ครูมาจาก 2 แหล่ง คือ สหกรณ์และธนาคาร ปัญหาคือ หน่วยงานที่รับผิดชอบหักเงินเดือนเพื่อจ่ายหนี้ ไม่มีใครรู้ว่า ครูแต่ละรายมียอดเงินกู้เท่าไหร่ เจ้าหนี้แต่ละรายก็แยกและแย่งกันปล่อยกู้ อีกทั้งยอดเงินกู้สามารถกู้ได้สูงกว่ายอดที่ควรจะเป็น
“สมมติว่าเงินเดือนครู 30,000 บาท ต้องกันให้เหลือ 30% คิดเป็น 9,000 บาท ฉะนั้นเงินที่ตัดจ่ายหนี้ได้ เท่ากับ 21,000 บาท และเมื่อนำยอดเงิน 21,000 บาท เมื่อนำมาคำนวณระยะเวลาผ่อนจ่าย 20 ปี ยอดหนี้ที่จะสามารถกู้ได้โดยหักจ่ายจากเงินเดือนจะอยู่ที่ 2.93 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าครูกู้ไปแล้ว 3-4 ล้านบาท จึงทำให้เกิดปัญหาเพราะไม่มีการควบคุมยอดหนี้ที่ครูแต่ละคนกู้ได้”
ประเด็นที่ 2 แม้เกษียณอายุแล้ว ยังมีภาระที่ต้องจ่ายหนี้ต่ออีกหลายปี
ดร.ขจร เปิดเผยว่า ครูแม้อายุเยอะแล้ว เกษียณอายุที่ 60 ปี และเมื่อเกษียณแล้ว เงินเดือนก็ถูกปรับลดลง แต่ก็ยังมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายต่ออีกหลายปี จากการสำรวจพบว่า ครูที่มีหนี้อายุมากสุดที่พบ คือ 103 ปี
ตัวอย่าง สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งหนึ่งที่มีสมาชิกที่มีหนี้ 6,042 ราย พบว่า 1 ใน 4 หรือมากกว่า 1,500 รายเป็นข้าราชการครูบำนาญที่เกษียณแล้ว อายุมากกว่า 61 ปีขึ้นไป โดยรายที่มีอายุมากที่สุด คือ 95 ปี
ส่วนสาเหตุหนึ่งที่ครูกลุ่มนี้ยังมีภาระหนี้อยู่แม้จะเกษียณแล้ว เพราะไม่สามารถนำหุ้นที่มีนำมาหักลดหนี้ที่มีอยู่ได้ เนื่องจากหลักเกณฑ์ในปัจจุบันกำหนดไว้ว่า การที่จะนำหุ้นมาหักลดยอดหนี้ที่มีอยู่ได้จะต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกของสหกรณ์ฯ และการลาออกจะทำให้เสียสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกพึงได้
และอีกส่วนที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่อายุ 75 ปีขึ้นไป จำนวน 117 ราย จากข้อมูลจะเห็นว่ามูลหนี้ที่มีนั้น น้อยกว่ามูลค่าของหุ้นที่ถืออยู่ แต่ก็ไม่สามารถปลดหนี้ได้ เนื่องจากติดปัญหาเกณฑ์ดังกล่าว ถ้าหากหลักเกณฑ์นี้ถูกแก้ไข ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินครูสำหรับครูที่เกษียณแล้วได้ ดังเช่นสหกรณ์ในหลายประเทศที่อนุญาตให้สมาชิกสามารถขายหุ้นที่ตนมีบางส่วนได้โดยไม่ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกของสหกรณ์
ประเด็นที่ 3 มีครูทั้งส่วนของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน กำลังถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องดำเนินคดีมากกว่า 2 หมื่นราย
ดร.ขจร กล่าวถึงสถานการณ์หนี้สินครูในปัจจุบัน ว่า สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น มีครูที่ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ มีสถานะหนี้เสีย และกำลังถูกฟ้องร้องเป็นจำนวนมาก มีครูไม่น้อยกว่าหมื่นราย กำลังถูกฟ้องดำเนินคดี ซึ่งตัวเลขนี้ไม่รวมผู้ค้ำประกัน
ส่วนกรณีการชำระหนี้ของครู คือการหักเงินเดือน ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ แต่ยังถูกฟ้องดำเนินคดี ดร.ขจร อธิบายว่า เนื่องจาก การหักชำระหนี้จากเงินเดือน จะหักหนี้สหกรณ์ก่อน แล้วจึงดำเนินการหักของสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคาร เมื่อไม่เหลือไม่เพียงพอสำหรับการหักชำระหนี้อื่นๆ จึงถูกดำเนินการฟ้อง
“จากการสำรวจ ตัวเลขครูที่ถูกฟ้องดำเนินคดีจากสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว จำนวน 7,000 ราย ซึ่งโดยปกติผู้กู้ 1 ราย อาจมีผู้ค้ำประกันมาถึง 2-5 ราย ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ข้าราชการครูนับหมื่นรายกำลังเดือดนร้อนจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งในฐานะผู้กู้และผู้ค้ำประกัน”
ดร.ขจร ได้กล่าวถึงสาเหตุของหนี้สินครู ว่า การที่ครูหรือข้าราชการเป็นที่หมายปองของเจ้าหนี้ เนื่องจาก การชำระจ่ายหนี้เป็นแบบการตัดเงินเดือนหน้าซอง มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก และกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่จัดเก็บหนี้ให้ ทำให้ที่ผ่านมาการแข่งขันปล่อยสินเชื่อให้ครูรุนแรงมาก
อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครูต้องจ่ายสูงเกินความเสี่ยงของสินเชื่อที่หักจ่ายจากเงินเดือน เนื่องจากการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้มีความเสี่ยงผิดชำระหรือหนีหนี้ที่ต่ำมาก ทำให้เงินที่ครูจ่ายชำระหนี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปตัดชำระดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ตัดเงินต้นไม่มาก
รวมถึงการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสถาบันการเงินสร้างภาระแก่ครู และผู้ค้ำประกันเกินสมควร ทั้งที่สินเชื่อหักเงินเดือนหน้าซองความเสี่ยงต่ำมาก และระบบในปัจจุบัน ยังขาดกลไกที่จะควบคุมการก่อหนี้ของครู ทำให้ครูส่วนหนึ่งมีภาระหนี้เกินกว่าที่จะหักจ่ายจากเงินเดือนที่ได้รับอีกด้วย
ทั้งหมดนี้ คือ ภาพรวมสาเหตุของปัญหาหนี้สินครูว่าทำไมจึงต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เป็นรูปธรรม และยั่งยืน การแก้ไขปัญหาหนี้ครู อาจจะไม่ใช่เพียงแค่การแก้ไขปัญหารายบุคคล เช่น การสร้างวินัยทางด้านการเงินของตัวครูเองเท่านั้น แต่อาจจะรวมถึงการแก้ไขระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage