‘สภาองค์กรผู้บริโภค’ ออกแถลงการณ์คัดค้านการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า 104 บาทตลอดสาย จี้ ‘รัฐบาล-กทม.’ ทบทวนสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสาย กำหนดค่าโดยสารไป-กลับไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ
.....................
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกแถลงการณ์คัดค้านการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมทั้งเสนอให้ทบทวนสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสายและกำหนดอัตราค่าบริการรถไฟฟ้าที่ทำให้ทุกคนต้องขึ้นได้ โดยการกำหนดอัตราค่าบริการรถไฟฟ้าทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับไม่เกิน 10% ของรายได้ขั้นต่ำในกรุงเทพฯ หรือไม่เกิน 33 บาทต่อวัน
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค อ่านแถลงการณ์ว่า ตามที่พล.ต.อ.เอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศกรุงเทพมหานครเลื่อนการ จัดเก็บอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียว BTS พร้อมส่วนต่อขยายในอัตราสูงสุด 104 บาท ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.พ.2564 โดยอ้างเหตุผลได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนค่าโดยสารให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาระของกรุงเทพมหานครให้เกิดความเหมาะสมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด 19
สภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะผู้แทนผู้บริโภคทุกคน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้านตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ให้นโนบายสั่งเลื่อนการเก็บค่าโดยสาร 104 บาท เพราะการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561
โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กำหนดราคาแต่เพียงลำพัง ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นขององค์กรผู้บริโภค หน่วยงานต่าง ๆ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ รวมทั้งขัดต่อกฎหมายมาตรา 96 ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ที่กำหนดไว้ว่า ในกรณีจำเป็น กรุงเทพมหานครอาจมอบอำนาจให้เอกชนกระทำกิจการ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการหรือค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องแทนกรุงเทพมหานครได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน
ประชาชน ผู้บริโภค มีข้อกังขาเกี่ยวกับสัญญาที่เสียเปรียบของกรุงเทพมหานครในการจ้างเดินรถ จนทำให้เป็นหนี้ที่มากกว่าควรจะเป็นและไม่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้า การโฆษณาบนรถไฟฟ้า เพื่อนำมาใช้ในการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า
สภาองค์กรของผู้บริโภค ตระหนักถึงภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและวิกฤติสภาพอากาศ (PM 2.5) ขอให้รัฐมีมาตรการราคาที่เข้าถึงได้ทุกคน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น ทำให้บริการรถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนของประชาชนทุกคน โดยปัจจุบันคนส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว 43% ใช้รถมอเตอร์ไซด์ 26% และใช้บริการรถขนส่งสาธารณะเพียง 24% จากรถโดยสาร 15.96% รถแทกซี่ 4.2% ระบบรางหรือรถไฟฟ้าเพียง 2.68% รถตู้ 1.28% เรือ 0.28%
จึงขอเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ในการใช้บริการรถไฟฟ้าต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและครม. โดยมีข้อเสนอระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
ข้อเสนอเร่งด่วน
1.ขอให้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กรุงเทพมหานครเปิดเผยสัญญาการให้บริการรับจ้างวิ่งรับส่งผู้โดยสารในส่วนต่อขยายที่เกินสัญญาสัมปทานหลัก และยืนยันการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายทุกเส้นตลอดสายอีกเพียง 15 บาท รวมไม่เกิน 59 บาท(44 บาทตามสัญญาสัมปทานเดิมและส่วนต่อขยาย 15 บาท) พร้อมเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริง พื้นฐานรายได้ โครงสร้างหนี้ หรือรายละเอียดกับสภาองค์กรของผู้บริโภคหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น การพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานหลักสายสีเขียว หรือ สัญญาการให้บริการรับจ้างวิ่งรับส่งผู้โดยสารในส่วนต่อขยายที่เกินสัญญาสัมปทานหลัก หรือ การขึ้นราคาในส่วนต่อขยาย เป็นต้น
2.ขอให้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ว่า บริการรถไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้ และเร่งดำเนินการให้มีการกำหนดราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยกำหนดค่าบริการขนส่งมวลชน ไม่เกินร้อยละ 10% ของรายได้ขั้นต่ำหรือเพดานค่าใช้จ่ายสูงสุดในการใช้บริการขนส่งมวลชนต่อวันของประชาชน ในการดำเนินดังกล่าวขอให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะทำงานที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีเป้าหมายในการกำหนดราคาสูงสุดของบริการรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อทั้งระบบ เนื่องจากปัจจุบันมีรถไฟฟ้าให้บริการจำนวน 6 สาย และจะมีทั้งหมดไม่น้อยกว่า 34 สายในอนาคต
3.ขอให้ชะลอการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียวและสายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเร่งกำหนดราคาสูงสุดในการใช้บริการรถไฟฟ้าในการเดินทาง เพราะหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ผู้บริโภคต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 107 บาท หากต้องการเดินทางจากบางใหญ่มายังสยามสแควร์ในปัจจุบัน หรือถึงแม้รัฐบาลจะยกเว้นค่าบริการแรกเข้าในการใช้บริการรถไฟฟ้าในอนาคต ค่าบริการรถไฟฟ้าก็ยังมีราคาแพงเช่น สูงถึง 99 บาทจากมีนบุรีมายังสยามสแควร์
ข้อเสนอระยะยาว
1.ขอให้คิดค่าโดยสารตลอดสายไปกลับไม่เกิน 33 บาทต่อวัน หรือร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำต่อวันและมีการบริหารจัดการตั๋วร่วมของรถไฟฟ้า
2.ขอให้เร่งดำเนินการการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมของบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท ได้แก่ บริการรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือโดยสาร เป็นต้น
3.ขอให้เร่งดำเนินการกำหนดค่าโดยสารสูงสุดต่อวันของทั้งระบบบริการขนส่งมวลชน ได้แก่ บริการรถไฟฟ้ารถเมล์ เรือโดยสาร เป็นต้น
น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า เนื่องจากสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะสิ้นสุดในปี 2572 หรือยังเหลือเวลาอีก 8-9 ปี ดังนั้น การพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ควรเป็นหน้าที่ของผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจดีกว่า แทนที่จะเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯคนปัจจุบันไม่ได้มาจากประชาชน จึงไม่ฟังเสียงประชาชน แต่ฟังเสียงคนที่แต่งตั้งตนเองเข้ามา ในขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯน่าจะมีขึ้นในปีนี้
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจีสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะกรรมการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การที่กทม.ชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสารสายสีเขียว 104 บาทตลอดสาย ถือว่าเป็นทางออกระยะสั้น แต่คำถาม คือ ในระยะต่อไปอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการควรเป็นเท่าไหร่ โดยเฉพาะอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในภาพรวม
“การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบันจะพิจารณาเป็นรายเส้นทาง ทำปัญหาหลักที่เจอในปัจจุบันและในอนาคต คือ ประชาชนที่ใช้งานรถไฟฟ้าหลายสาย หรือต้องเปลี่ยนสายจะเสียค่าใช้จ่ายแพงมาก เช่น ถ้าจะเดินทางจากสี่แยกพระรามเก้าไปมีนบุรี หากไม่มีการยกเว้นค่าแรกเข้า ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 109 บาท/เที่ยว หรือเฉลี่ย 3 บาทกว่าๆต่อกม. หรือที่แพงที่สุด คือ จากสยามไปมีนบุรี ค่าโดยสารจะสูงถึง 113 บาท/เที่ยว” นายสุเมธกล่าว
นายสุเมธ เสนอว่า หากภาครัฐต้องการให้มีการใช้ประโยชน์จากรถไฟฟ้าอย่างเต็มที่ และประชาชนเข้าถึงได้ น่าจะถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องนำสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสายมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบในอัตราที่เหมาะสม แทนที่จะเป็นการคิดค่าโดยสารแยกเป็นรายเส้นทาง ซึ่งทำให้อัตราค่าโดยสารแพงจนประชาชนไม่สามารถใช้บริการได้เช่นในปัจจุบัน ซึ่งบางคนแม้บ้านจะอยู่ใกล้รถไฟฟ้า แต่ต้องขึ้นรถตู้ เพราะค่าโดยสารรรถไฟฟ้าแพง
“รัฐบาลต้องพิจารณายกเว้นค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าทุกโครงการ และกำหนดเพดานสูงสุดของรถไฟฟ้าทั้งระบบ” นายสุเมธกล่าว
นายสุเมธ ยังกล่าวถึงแนวทางในการทบทวนอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบว่า สำหรับกรณีสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าที่ทำไปแล้ว หากมีกฎหมายหรือการกำหนดเงื่อนไขใดๆที่ไปกระทบกับสัญญาสัมปทานของเอกชน รัฐบาลต้องมีการปรับปรุงสัญญาที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย แต่คงไม่ถึงขั้นที่รัฐบาลต้องเข้าไปชดเชย เพราะการลดค่าโดยสารนั้น แม้ว่าจะทำให้รายได้ต่อเที่ยวลดลง แต่ก็จะมีประชาชนมาใช้บริการเพิ่มขึ้น
“คำถามคือรายได้ที่ลดลงกับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมชองกำไรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และหากภาครัฐจะชดเชยก็ควรชดเชยเฉพาะส่วนของกำไร ไม่ใช่ไปชดเชยรายได้ค่าโดยสารทั้งหมดที่หายไป ถ้ามีสัญญาสัมปทานไปแล้ว จะแก้หรือไปปรับมันยากแน่ และการเจรจาคงใช้เวลานาน แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องทำขณะที่สัญญาสัมปทานที่จะทำในอนาคตจะต้องไม่สร้างปัญหาเพิ่มเติม ดังนั้น ภาครัฐต้องหาแนวทางแก้ไข โดยไม่สร้างปัญหาใหม่” นายสุเมธกล่าว
ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สภาองค์กรของผู้บริโภคออกมาเปิดประเด็นนั้น หากประชาชนและผู้บริโภครู้เท่าทัน ก็จะได้ตัดสินใจได้ว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯคนต่อไป จะเลือกคนที่ฟังเสียงประชาชน หรือเลือกคนที่ฟังเสียงผู้ที่มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคจะนำเสนอข้อมูลต่างๆต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง
อ่านประกอบ :
กทม.เลื่อนเก็บค่ารถไฟฟ้า'สายสีเขียว' 104 บาท หวั่นเป็นภาระประชาชนช่วงโควิด
ถูกกว่าสายสีเขียว! รฟม.แจงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 'สายสีส้ม' ส่วนตะวันตก 15-45 บาท
แพงสวนทางรายได้ขั้นต่ำ! 'มพบ.'ค้านขึ้นค่าโดยสารสายสีเขียว 104 บาท-จี้นายกฯสั่งเบรก
ไม่ชี้นำ! ‘บิ๊กตู่’ ปัดตอบปมสายสีเขียว-‘บอสใหญ่บีทีเอส’ ร่อนหนังสือขอความเป็นธรรม
แบกขาดทุนปีละ 4 พันล.! กทม.ปรับค่าโดยสาร 'สายสีเขียว' ตลอดสายไม่เกิน 104 บาท
เปิดเงื่อนไขขยายสัมปทาน ‘สายสีเขียว’ 30 ปี-‘คมนาคม’ ร่อนหนังสือหนุน 3 ฉบับ ก่อนกลับลำ ‘ค้าน’
สร้างแล้วทุบทิ้งไม่ได้! ‘บิ๊กตู่’ เผยลดค่าตั๋วรถไฟฟ้า ‘สายสีเขียว’ ตลอดสาย อยู่ในขั้น 'เจรจา'
รุมค้านต่อสัญญาสายสีเขียว! วงเสวนาฯชี้มีเวลาอีก 9 ปี-จี้เปิดประมูลแข่งขันหลังหมดสัมปทาน
‘บีทีเอส’ แจงขึ้นค่าตั๋วรถไฟฟ้า ‘สีเขียว’ เป็นอำนาจ ‘กทม.’-รอความชัดเจนครม.ต่อสัมปทาน
ขย่ม 4 ปม 'คมนาคม' ค้านต่อสัมปทาน ‘บีทีเอส’ 30 ปี-รอ ‘บิ๊กตู่’ ชี้ชะตาผลประโยชน์ 2 แสนล.
ครม.ยังไม่หารือ! ‘บิ๊กตู่’ สั่งถกเพิ่มต่อสัมปทานรถไฟฟ้า ‘สีเขียว’ ลั่นค่าโดยสารต้องถูก-แก้หนี้
เบรกต่อสัมปทานรถไฟฟ้า 'บีทีเอส’ อีก 30 ปี! ครม.สั่ง ‘มท.-กทม.-คลัง’ ทบทวนให้รอบคอบ
ขวางรัฐต่อสัมปทานรถไฟฟ้า‘บีทีเอส’อีก 40 ปี
ลุ้นครม.ชี้ขาดสัมปทาน 'ทางด่วน-รถไฟฟ้า' แสนล้าน-ส.ส.ซัดกมธ.ทำรายงานเละเทะ
‘สมคิด’ โชว์ รถไฟฟ้า-รถไฟทางคู่-อีอีซี ผลงานศก. เลิกกินบุญเก่าป๋าเปรม 30 ปี
กสม.แนะ ก.คมนาคม-รฟม. เร่งแก้ปัญหาผลกระทบจราจรจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage