สบน.รายงานครม. ระบุมีการกู้เงินตามพ.ร.ก.กู้เงินฯแล้ว 3.48 แสนล้านบาท เบิกจ่ายจริง 3.32 แสนล้านบาท เหลือวงเงินกู้ที่ยังไม่อนุมัติอีก 5.09 แสนล้านบาท ‘โฆษกรัฐบาล’ เผย ณ สิ้นเดือนก.ย.63 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 49.34%
...............
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ณ วันที่ 1 ธ.ค.2563 สบน.กู้เงินตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ไปแล้วทั้งสิ้น 3.48 แสนล้านบาท จากกรอบวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และมีการเบิกจ่ายแล้ว 3.32 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายละเอียดการเบิกจ่ายเงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงินฯ พบว่า ครม.อนุมัติให้มีการอนุมัติให้ใช้วงเงินกู้แล้ว 4.902 แสนล้านบาท และมีวงเงินคงเหลือ 5.09 แสนล้านบาท โดยวงเงินที่ได้รับอนุมัติดังกล่าวมีการเบิกจ่าย 3.32 แสนล้านบาท มีเงินที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย 1.57 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีการเบิกจ่ายเงินกู้ภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจเพียง 2.22 หมื่นล้านบาท จากกรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. วันนี้ (15 ธ.ค.) รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ และรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง ณ 30 ก.ย. 2563 หรือวันสิ้นปีงบประมาณ 2563 พบว่า หนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ที่ 7,848,155.88 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 49.34%
ขณะที่สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณอยู่ที่ 25.38% สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 1.78% และสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 0.01%
กระทรวงการคลังรายงานว่า หนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรงอยู่ที่ 6,267,230.04 ล้านบาท คิดเป็น 79.86% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด เป็นหนี้เงินกู้ที่เป็นภาระตามกฎหมาย สัญญา มติครม. หรือข้อตกลงที่รัฐบาลต้องชำระคืนเมื่อถึงกำหนด ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เงินกู้ตามพ.ร.ก.เงินกู้ฯ และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกัน ส่วนหนี้อีก 1,580,925.84 ล้านบาท หรือ 20.14% เป็นหนี้ของหน่วยงาน ซึ่งไม่เป็นภาระต่องบประมาณ
นายอนุชา กล่าวว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะที่อยู่ที่ 49.34% ของจีดีพี ยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดไม่เกิน 60% ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากรัฐบาลกู้โดยตรงเพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สร้างขีดความสามารถของประเทศผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
“มั่นใจว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ดีขึ้น การลงทุนของรัฐบาลจะขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจไทยสามารถกลับเติบโตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็จะเป็นผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะลดน้อยลงในอนาคต” นายอนุชาระบุ
อ่านประกอบ :
ชำแหละแผนบริหารหนี้ปีงบ 64 จับตากู้ชดเชยขาดดุลพุ่ง-หนี้สาธารณะทะลุเพดาน
‘4 นักเศรษฐศาสตร์’ มองศก.ปี 64 ยังเสี่ยงสูง-เชื่อรัฐไม่ถังแตก แต่ต้องใช้เงินให้ตรงจุด
ประกาศใช้พ.ร.บ.งบปี 64! วงเงิน 3.28 ล้านล้าน-'แบงก์ชาติ' ห่วงรัฐเก็บรายได้ต่ำเป้า
ก่อหนี้ใหม่ 1.46 ล้านล้าน! ครม.เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 64
สภาถกงบปี 64 ปรับลดน้อย-จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า เสี่ยงกู้ชดเชยจนทะลุเพดานหนี้
สภาเริ่มถกงบปี 64 วาระสอง ปรับลดเหลือ 3.28 ล้านล้าน ฝ่ายค้านห่วงเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า
หนี้พุ่ง-ฐานะ รบ.เปราะบาง? กางข้อสังเกต กมธ.วิสามัญฯหั่นงบปี 64 เหลือ 3.28 ล้านล.
หนุนรัฐกระตุ้นศก.! ‘วิรไท’ ชี้ขยายกรอบหนี้สาธารณะได้หากจำเป็น-'คลัง' โต้ ‘ถังแตก’
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
เปิดรายงานกนง. : ความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบค่าเงิน-หนุนนโยบายการคลังกระตุ้นศก.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/